จริงหรือที่ว่า สติ กำกับปัญญา

 
ปุ้ม
วันที่  21 ม.ค. 2555
หมายเลข  20413
อ่าน  2,315
สติ แตกต่างจากปัญญาตรงที่เป็นตัวกำกับปัญญาอีกทีหนึ่ง ถ้าเปรียบเป็นรถ ตัวสติก็คือ ตัวห้ามล้อหรือเบรก ส่วนปัญญาเป็นตัวความเร็วหรือตัวล้อ รถที่มีแต่ความเร็วโดยไม่มี ห้ามล้อจะมีสภาพเป็นอย่างไรก็ลองนึกภาพดูเองเถิด คนที่มีแต่ปัญญาโดยขาดสติ ก็มีสภาพเช่นเดียวกันกับรถที่ไม่มีเบรก

  ความคิดเห็นที่ 1  
 
paderm
วันที่ 21 ม.ค. 2555

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

ขอแสดงความคิดเห็น ตามที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงไว้ครับ ก่อนอื่น ก็เข้าใจ คำว่า สติ และปัญญา และความแตกต่างระหว่าง สติและปัญญาครับ

สติ เป็นเจตสิกฝ่ายดี ทำหน้าที่ระลึก และ กั้นกระแสของกิเลส

ปัญญา เป็นเจตสิกฝ่ายดีเช่นกัน ทำหน้าที่รู้ตามความเป็นจริง และ ตัด ละ กิเลส

สติเป็นเจตสิกฝ่ายดี ที่เกิดกับจิตที่ดีทุกประเภท ดังนั้นขณะใดที่กุศลจิตเกิด ก็ต้องมีสติเจตสิกเกิดขึ้นร่วมด้วยเสมอครับ

ปัญญา เป็นเจตสิกฝ่ายดี แต่ไม่ได้เกิดร่วมกับจิตที่ดีทุกประเภท ดังนั้น ขณะที่กุศลจิตเกิด ก็มีทั้งกุศลที่ประกอบด้วยปัญญา และไม่ประกอบด้วยปัญญา เพราะฉะนั้น จากคำกล่าวที่ว่า คนที่มีแต่ปัญญาโดยขาดสติก็มีสภาพเช่นเดียวกันกับรถที่ไม่มีเบรก


ขณะที่ปัญญาเกิด ขณะนั้นต้องเป็น จิตที่ดี มีกุศลจิต เป็นต้น เมื่อจิตที่ดีเกิด เพราะมีปัญญา จะขาดสติไม่ได้ เพราะ สติ เป็นโสภณสาธารณเจตสิก คือ เป็นเจตสิกที่ดีที่เกิดร่วมกับจิตที่ดีทุกประเภทครับ ดังนั้น เมื่อใดปัญญาเกิด จะต้องมีสติเจตสิกเกิดร่วมด้วยเสมอครับ มีปัญญา ก็ต้องมีสติด้วย มีปัญญา โดยไม่มีสติไม่ได้ครับ

แต่ มีสติ ไม่จำเป็นจะต้องมีปัญญาครับ เพราะ ปัญญาไม่ได้เกิดกับกุศลจิต หรือ จิตที่ดีทุกประเภท กุศลที่ไม่ประกอบด้วยปัญญาก็มี แต่ก็มีสติในขณะนั้น แต่ไม่มีปัญญาครับ

ดังนั้นเมื่อพูดถึงการอบรมปัญญา ที่เป็นอริยมรรคมีองค์ ๘ ก็ต้องมีทั้ง สติและปัญญา และสภาพธรรมฝ่ายดีประการต่างๆ มี ศรัทธา หิริ เป็นต้น ดังนั้นสติและปัญญาแตกต่างกันก็จริง แต่ทำหน้าที่ร่วมกัน สติทำหน้าที่ระลึก และรักษาจิตในขณะนั้น ส่วนปัญญารู้ ตามความเป็นจริง ซึ่งในธรรมที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงนั้น ทรงแสดงว่า ทั้ง สติ และ ปัญญา ธรรมทั้งสองอย่างนี้ ต่างก็เปรียบเหมือนสารถี ที่คอยคุมรถให้เดินไปในทางที่ถูกและด้วยดี เพราะอาศัย สติ จึงระลึกทั่วไปในสภาพธรรมทั้งที่เป็นกุศล อกุศล และ เพราะอาศัยปัญญา ทำหน้าที่เป็นสารถี ก็ทำให้กุศลธรรมประการอื่นๆ เกิดตามมา เพราะมี ปัญญา เป็นหัวหน้า เป็นสารถีนำทางที่ถูกต้องนั่นเองครับ

ดังนั้น ไม่ว่ากล่าวโดยนัยใด ทั้ง สติและปัญญา ก็เป็นสารถี ที่คอยควบคุมให้เดินไปในทางที่ถูกต้อง คือ อริยมรรค นั่นเอง โดยไม่มีตัวเราที่จะพยายามที่จะเดิน ที่จะทำสติ ที่จะทำปัญญา แต่เป็นหน้าที่ ของธรรมที่เกิดขึ้น เพราะฉะนั้น อาศัยทั้งสติและปัญญารวมทั้งสภาพธรรมฝ่ายดีอื่นๆ เกิดขึ้น ก็จะสามารถละกิเลส ได้ในที่สุดครับ

หากเราเข้าใจ ไม่ว่ากล่าวโดนัยใด ทั้งสติ นำหน้าก็ได้ ปัญญานำหน้าก็ได้ ก็ให้เข้าใจว่า เป็นการทำหน้าที่ของสภาพธรรมร่วมกัน นั่นเองครับ ดังข้อความในพระสูตรที่แสดง เรื่อง สติและปัญญาโดยนัยต่างๆ ครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
paderm
วันที่ 21 ม.ค. 2555

อุปมา เรื่องรถ (อริยมรรค) กับ สภาพธรรมฝ่ายดีต่างๆ

[เล่มที่ 24] พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สคาถวรรค เล่ม ๑ ภาค ๑ - หน้าที่ 249

๖. อัจฉราสูตร

[๑๔๔] พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสตอบว่า

ทางนั้นชื่อว่าเป็นทางตรง (อริยมรรค) ทิศ (พระนิพพาน) นั้นชื่อว่าไม่มีภัย รถชื่อว่าไม่มีเสียงดัง ประกอบด้วยล้อคือธรรม หิริเป็นฝาของรถนั้น สติเป็นเกราะกั้นของรถนั้น เรากล่าวธรรมมีสัมมาทิฏฐิ (ปัญญา) นำหน้าว่าเป็นสารถี ยาน (อริยมรรค) ชนิดนี้มีอยู่แก่ผู้ใด จะเป็นหญิงหรือชายก็ตาม เขา (ย่อมไป) ในสำนักพระนิพพานด้วยยานนี้แหละ.


[เล่มที่ 30] พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย มหาวารวรรค เล่ม ๕ ภาค ๑ - หน้าที่ 13

พราหมณสูตร

อริยมรรคญาณนั้นมีธรรม คือ ศรัทธากับปัญญาเป็นแอก มีศรัทธาเป็นทูบ มีหิริเป็นงอน มีใจเป็นเชือกชัก มีสติเป็นสารถีผู้ควบคุม รถนี้มีศีลเป็นเครื่องประดับ มีฌานเป็นเพลา มีความเพียรเป็นล้อ มีอุเบกขากับสมาธิเป็นทูบ ความไม่อยากได้เป็นประทุน กุลบุตรใดมีความไม่พยาบาท ความไม่เบียดเบียน และวิเวกเป็นอาวุธ มีความอดทนเป็นเกราะหนัง กุลบุตรนั้น ย่อมเป็นไปเพื่อความเกษมจากโยคะ พรหมยานอันยอดเยี่ยมนี้ เกิดแล้วในตนของบุคคลเหล่าใด บุคคลเหล่านั้น เป็นนักปราชญ์ ย่อมออกไปจากโลกโดยความแน่ใจว่า มีชัยชนะโดยแท้

 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
ปุ้ม
วันที่ 22 ม.ค. 2555

ขอรับ กล่าวโดยนัยไหนก็ได้ เป็นสภาพธรรมร่วมกันนั้นเอง เป็นธรรมที่เอื้อกันไม่สำคัญว่าใครจะเด่นกว่าโดยคำพูด แล้วแต่กาล

ขอบคุณครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 4  
 
khampan.a
วันที่ 22 ม.ค. 2555

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

ธรรมเป็นสิ่งที่มีจริง เป็นจริงอย่างไรก็เป็นจริงอย่างนั้น ไม่เปลี่ยนแปลงลักษณะเป็นอย่างอื่นไปได้ พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงตรัสรู้สภาพธรรมตามความเป็นจริงแล้วทรงแสดงพระธรรมเพื่อให้ผู้อื่นได้รู้ตาม ไม่ใช่เพื่อให้ไม่รู้ แต่เพื่อให้รู้สภาพธรรมตามความเป็นจริง ไม่ผิดไม่คลาดเคลื่อนจากความเป็นจริง สิ่งสำคัญสำหรับผู้ฟังผู้ศึกษา คือ เริ่มเข้าใจตั้งแต่ต้นว่า ทุกอย่างเป็นธรรม แม้แต่ สติ และ ปัญญา ก็เป็นสภาพธรรมที่มีจริง เป็นเจตสิกธรรมที่ดีงาม ไม่ใช่จิต แต่เวลาเกิดก็ต้องเกิดร่วมกับจิตที่ดีงามเท่านั้น จะไม่เกิดร่วมกับจิตที่เป็นอกุศลเลย ทุกครั้งที่ปัญญา (ความเข้าใจถูกเห็นถูก) เกิด จะไม่ปราศจากสติเลย (สติเป็นสภาพธรรมที่ระลึกเป็นไปในกุศลธรรม) แต่เวลาที่สติเกิดนั้น บางครั้งอาจจะมีปัญญาเกิดร่วมด้วยก็ได้ ไม่มีปัญญาเกิดร่วมด้วยก็ได้ แต่ถ้าเป็นการอบรมเจริญปัญญา อบรมเจริญสติปัฏฐาน ระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏตามความเป็นจริง ขณะนั้น มีทั้งสติ มีทั้งปัญญา ครับ

...ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ...

 
  ความคิดเห็นที่ 5  
 
เซจาน้อย
วันที่ 22 ม.ค. 2555

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

ขอบคุณ และขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 6  
 
pat_jesty
วันที่ 22 ม.ค. 2555

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 7  
 
jaturong
วันที่ 23 ม.ค. 2555

ขอบคุณ และขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 8  
 
chatchai.k
วันที่ 15 ม.ค. 2564

ขออนุโมทนาครับ

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ