ความเข้าใจในสิ่งที่กำลังปรากฎทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ อยู่หมวดไหนของการเจริญสติปัฏฐาน ๔ คะ?

 
ภพฺพาคมโน
วันที่  23 ม.ค. 2555
หมายเลข  20428
อ่าน  2,145

อ่านพระไตรปิฎกเล่ม ๑๘ สฬายตนวรรค มานาน และท่าน อ.สุจินต์ก็เน้นเรื่องนี้ แต่ดิฉันไม่ทราบว่าเชื่อมโยงกันอย่างไร อยู่ในหมวดธัมมานุปัสสนาสติปัฏฐาน หรือ ได้โปรดช่วยชี้แนะผู้โง่เขลาด้วยค่ะ


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
paderm
วันที่ 23 ม.ค. 2555

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

สติปัฏฐาน คือ การระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏในขณะนี้ โดยรู้ว่าเป็นธรรมไม่ใช่เรา ซึ่ง สติปัฏฐาน มี ๔ หมวด คือ กายานุปัสสนาสติปัฏฐาน เวทนานุปัสสนาสติปัฏฐาน จิตตานุปัสสนาสติปัฏฐาน และ ธัมมานุปัสสนาสติปัฏฐาน ที่แบ่งเป็น ๔ หมวด เพราะ สัตว์โลก มีการสะสมอุปนิสัย จริตที่แตกต่างกันไป แต่ก็ไม่พ้นจากการระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมทั้ง ๔ อย่างนี้ครับ ดังนั้น ใน ๔ หมวด ก็ไม่พ้นจากสภาพธรรมที่มีจริง ที่กำลังมี กำลังปรากฏอยู่ในขณะนี้ ครับ

ซึ่ง สำหรับ ธัมมานุปัสสนาสติปัฏฐาน คือ การพิจารณาเห็นธรรมบ่อยๆ เนืองๆ หมายถึง สติปัฏฐานขณะที่มีนามธรรมหรือรูปธรรมที่นอกเหนือจากกาย เวทนา จิตเป็นอารมณ์ เป็นการระลึกศึกษาที่ลักษณะของนามหรือรูป ซึ่งเคยยึดถือว่าเป็นตัวตนหรือสิ่งหนึ่งสิ่งใดตามปกติ

ธัมมานุปัสสนาสติปัฏฐาน แบ่งเป็นส่วนย่อยได้ดังนี้ คือ นิวรณบรรพ ขันธบรรพ อายตนบรรพ โพชฌงคบรรพ สัจจบรรพ

นิวรณบรรพ ก็คือ สติและปัญญา เกิดระลึกรู้ลักษณะของ นิวรณ์ มี กามฉันทะ ที่เป็นโลภะ เป็นต้น

ขันธบรรพ คือ สติที่ระลึกรู้ลักษณะของขันธ์ต่างๆ มี รูปขันธ์ เป็นต้น

อายตนบรรพ คือ สติที่ระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรม ที่เป็นอายตนะภายใน คือ ตา หู จมูก ลิ้น กายและใจ และ อายตนะภายนอก คือ สี เสียง กลิ่น รส สิ่งที่กระทบสัมผัส และ ธัมมารมณ์

โพชฌงคบรรพ คือ สติที่ระลึกในองค์แห่งการตรัสรู้ มี สติสัมโพชฌงค์ เป็นต้น และ

สัจจบรรพ คือ สติที่ระลึกในอริยสัจ ๔

ซึ่ง จากที่ผู้ถามได้ถามนั้น ที่สติระลึกสภาพธรรมที่เป็นไปในทาง ตา หู จมูก ลิ้น กายและใจ ก็คือ อยู่ในหมวด ธัมมานุปสัสสนาสติปัฏฐาน ในบรรพ ที่เป็น อายตนบรรพ คือ อายนตนะภายในและอายตนะภายนอก ซึ่ง คำว่า อายตนะ คือ สภาพปรมัตถธรรมที่ประชุมกัน เมื่อจิตเกิดขึ้นรู้อารมณ์ขณะหนึ่งๆ เป็นเครื่องต่อ หรือบ่อเกิด หรือเหตุให้เกิดจิตและเจตสิก ซึ่งจำแนกเป็นอายตนะภายใน ๖ และอายตนะภายนอก ๖

อายตนะภายใน ได้แก่ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ (จิต)

อายตนะภายนอก ได้แก่ รูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส และธัมมารมณ์

คำว่า ธัมมารมณ์ หมายถึง อารมณ์ที่รู้ได้เฉพาะทางใจเท่านั้น ได้แก่ จิต เจตสิก ปสาทรูป สุขุมรูป นิพพาน บัญญัติ ซึ่ง สติปัฏฐาน จะต้องมีปรมัตถธรรมเป็นอารมณ์และเป็นสภาพธรรมที่ปรากฏในชีวิตประจำวัน เพราะฉะนั้น การเจริญสติปัฏฐาน จึงไม่หมายรวม นิพพานและบัญญัติ เป็นอารมณ์ของสติปัฎฐานครับ

ซึ่งหากเรามีความเข้าใจที่ถูกต้อง ไม่ว่ากล่าวในหมวดไหน บรรพอะไร ก็คือ สติที่ระลึก ลักษณะของสภาพธรรมที่มีจริง ที่มีลักษณะให้รู้ ปรากฏในชีวิตประจำวัน และไม่มีตัวตน ที่จะไปเลือกว่าให้สติเกิดที่หมวดไหนอย่างไร เพราะมีแต่ธรรมไม่ใช่เรา และสติ ปัญญา ก็เป็นอนัตตาครับ เพียงแต่ว่า เมื่อสติเกิด ก็เกิดตามที่เคยสะสมและเหมาะอัธยาศัยเอง อาศัยการฟังพระธรรม ศึกษาพระธรรมในเรื่องสภาพธรรม สติก็เกิดระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรม ซึ่งขณะที่สติเกิด ขณะนั้นรู้ลักษณะ และก็ไม่ได้เรียก ใส่ชื่อเลยว่าเป็นหมวด ไหน เพราะ ปัญญากำลังรู้ตรงลักษณะของสภาพธรรมครับ สติปัฏฐาน จึงไม่พ้นจาก สภาพธรรมที่มีจริงในขณะนี้ ที่กำลังปรากฏในชีวิตประจำวัน

ขออนุโมทนา

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
khampan.a
วันที่ 23 ม.ค. 2555

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

เรื่องของสติปัฏฐาน เป็นเรื่องของการอบรมเจริญปัญญา เพื่อเข้าใจความจริงของสภาพธรรมที่มีในขณะนี้ว่า เป็นธรรม ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา สิ่งที่มีจริงๆ เป็นธรรม ซึ่งไม่พ้นไปจากขณะนี้เลย ทุกขณะเป็นธรรม ควรรู้ ควรศึกษาให้เข้าใจ จะเห็นได้ว่าพระธรรมที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดง ไม่ว่าจะเป็นส่วนใดของคำสอน ก็คือ เพื่อใ้ห้เข้าใจสภาพธรรมที่กำลังมีกำลังปรากฏในขณะนี้ หรือจะกล่าวว่า "ทุกคำในพระไตรปิฎก คือ ขณะนี้" ก็ได้ ถ้าไม่อาศัยการฟังเรื่องของสภาพธรรมซึ่งเป็นสิ่งที่มีจริงเป็นปกติ บ่อยๆ เนืองๆ จนมีความเข้าใจเพิ่มขึ้นไปตามลำดับแล้ว ย่อมไม่ได้เหตุได้ปัจจัยให้สติเกิดขึ้นหรือเจริญขึ้นได้ เพราะเหตุว่า ที่ตั้งให้สติระลึกและปัญญารู้ตรงลักษณะนั้น คือสภาพธรรมที่มีในขณะนี้นั่นเอง ไม่พ้นไปจากสภาพธรรมที่กำลังปรากฏเกิดขึ้นเป็นไปในชีวิตประจำวัน ทั้งทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกายและทางใจ โดยไม่มีการเลือกหรือเจาะจง เพราะธรรมเป็นอนัตตา ไม่อยู่ในอำนาจบังคับบัญชาของใครทั้งสิ้น และขณะที่ระลึกรู้ตรงลักษณะของสภาพธรรม นั้น ก็ไม่พ้นไปจากสติปัฏฐานหนึ่งสติปัฏฐานใด ในสติปัฏฐาน คือ กาย เวทนา จิต และ ธรรม สภาพธรรมที่นอกเหนือไปจากกาย เวทนา และจิต ก็เป็นธัมมานุปัสสนาสติปัฏฐาน ทั้งหมด การเจริญสติปัฏฐาน เป็นหนทางเดียวที่จะนำไปสู่การดับกิเลสทั้งหลายทั้งปวงได้ในที่สุด

เพราะฉะนั้น จึงต้องอาศัยการฟังพระธรรม ศึกษาพระธรรม พิจารณาพระธรรมที่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดง ให้มีความเข้าใจที่ถูกต้อง เพื่อเป็นเครื่องปรุงแต่งให้สติและปัญญาเกิดขึ้น ระลึกรู้ตรงลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ ซึ่งจะเป็นไปเพื่อการละคลายความยึดถือในสภาพธรรมที่กำลังปรากฏว่าเป็นสัตว์ เป็นบุคคล เป็นตัวตนได้

ดังนั้น หนทางเดียวที่จะเป็นไปเพื่อความบริสุทธิ์หมดจดแห่งสัตว์ทั้งหลาย คือ การเจริญสติปัฏฐาน โดยเริ่มที่การฟังพระธรรมให้เข้าใจ ครับ

ขอเชิญคลิกอ่านข้อความเพิ่มเติมได้ที่นี่ครับ

ธัมมานุปัสสนา

ธัมมานุปัสสนา [มหาสติปัฏฐานสูตร]

...ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ...

 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
เซจาน้อย
วันที่ 24 ม.ค. 2555

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

ขอบคุณ และขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 4  
 
jaturong
วันที่ 24 ม.ค. 2555

ขอบคุณ และขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 5  
 
JANYAPINPARD
วันที่ 24 ม.ค. 2555

สิ่งที่กำลังปรากฏหรือสิ่งที่เป็นอารมณ์ไม่พ้นที่กำลังปรากฏทางทวารทั้ง ๕ และทางใจ สิ่งที่เป็นอารมณ์ได้แก่จิต เจตสิก รูป เป็นสังขารธรรม การพิจารณาสังขารธรรม

พระไตรปิฎกกล่าวว่าต้องเป็นขณะที่ปรากฏตามข้อความ ...

[เล่มที่ 23] พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย อุปริปัณณาสก์ เล่ม ๓ ภาค ๒ - หน้าที่ 70-71

แท้จริง พระสาวกทั้งหลายย่อมไม่สามารถจะหาช่องทางพิจารณาสังขารที่เป็นส่วนอดีต ในขณะที่ไม่มีโอกาสเช่นเวลาอาบน้ำ ล้างหน้า เคี้ยว และดื่ม เป็นต้นได้ จะพิจารณาได้เฉพาะเมื่อมีโอกาสเท่านั้น ฉันใด พระพุทธเจ้าทั้งหลายไม่เป็นเหมือนเช่นนั้น ก็พระพุทธเจ้าทั้งหลาย ทรงพิจารณาสังขารที่ผ่านไปแล้วภายใน ๗ วัน ได้

 
  ความคิดเห็นที่ 6  
 
chatchai.k
วันที่ 5 ต.ค. 2563

ขออนุโมทนาครับ

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ