จับขโมย
ถ้าเราจับขโมยส่งตำรวจ ดำเนินคดี มันจะเป็นการผูกเวรมั้ยคะ คือบางทีก็สงสารเหมือนกัน แต่มันก็เยอะขึ้นๆ ตัดสินใจไม่ถูกเลยค่ะ - * -
ไม่อยากจะต้องไปอาฆาตพยาบาทกับใครด้วยค่ะ เพราะเคยฟังเรื่องเกี่ยวกับภิกษุณีในพระไตรปิฎก กับขโมย คล้ายๆ ว่าให้เลี่ยงๆ ถ้าจำไม่ผิดนะคะ
ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น
พระธรรมเป็นเรื่องละเอียดลึกซึ้งมากครับ แม้แต่ในเรื่องที่ผู้ถามยกมาถามก็เป็นสิ่งที่ลึกซึ้ง ลึกซึ้งเพราะเป็นเรื่องของจิตใจ ที่เป็นนามธรรม ซึ่งจะรู้ได้ก็ด้วยปัญญา ซึ่ง สำหรับในเรื่องการขโมย การจับขโมยผิดหรือไม่อย่างไร โดยผู้ถามได้ยกประเด็น เรื่อง ภิกษุณีที่ให้เลี่ยง ไม่จับผู้ที่ขโมย เป็นต้น กระผมขอธิบายเรื่องของพระภิกษุณี ใน ประเด็นเรื่องการจับขโมยก่อนครับว่า จริงๆ แล้ว ความจริงเป็นอย่างไร
สำหรับ ในพระวินัย สำคัญที่เจตนาเป็นสำคัญครับ หากว่ามีโจรขโมยบริขารของ ภิกษุณี หากภิกษุณี แจ้งกับเจ้าหน้าที่รักษากฎหมาย ด้วยเจตนาประสงค์หวังร้าย ให้ โจรพินาศกับโจรคนนั้นด้วยเพราะความโกรธที่ขโมยของตน การแจ้งเจ้าหน้าที่นั้น ก็ไม่ควร เพราะเพศบรรพชิตเป็นเพศที่ขัดเกลา เจตนาไม่ดีนั่นเอง แต่หากว่า ภิกษุณี ถูกขโมยของ มี บริขาร หากภิกษุแจ้งกับเจ้าหน้าที่ เพื่อให้อารักขา และต้องการเอาของที่ตนถูกขโมยคืนเท่านั้น เจตนาดี โดยไม่ได้ประสงค์หวังร้ายกับโจร โดยไม่ได้ระบุ ตัวโจร แต่ให้เป็นหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ในการสืบสวน โดยเพียงต้องการความปลอดภัย และต้องการได้ของคืน การแจ้งความนั้น ควรอยู่ ไม่ผิด แจ้งความกับเจ้าหน้าที่ได้ครับ
นี่แสดงให้เห็นถึงว่า สำคัญที่เจตนาเป็นสำคัญ หากเจตนาดี ต้องการของๆ ตนคืน เท่านั้น แต่ต้องแจ้งกับเจ้าหน้าที่ให้ทราบ เพราะเราไม่มีความสามารถจะเอาคืนได้ อันนี้ก็ควรแจ้ง และข้อความในพระไตรปิฎก็แสดงครับว่า หากภิกษุณี เห็นโจรกำลัง ขโมย ก็รีบบอกเจ้าหน้าที่ ด้วยหวังความพินาศกับโจร อันนี้ไม่ควร แต่ว่า เมื่อโจรกำลังขโมยของภิกษุณีอยู่ ภิกษุณีเรียกเจ้าหน้าที่ ด้วยเจตนาต้องการเอาของคืนเท่านั้น ไม่ได้หวังร้าย และกล่าว หรือ คิดว่า อย่าเอาผิดกับโจรคนนั้น อย่างนี้ชื่อว่า การฟ้องเจ้าหน้าที่ ไม่ผิด ควรอยู่ นี่แสดงให้เห็นชัดที่ว่า เจตนาดี ต้องการเอาของคืน ไม่ได้มีเจตนาร้าย และ ยังกล่าว หรือ คิดว่าอย่าเอาผิดกับโจร ด้วยเมตตา จึงไม่ผิด ในการแจ้งเจ้าหน้าที่กฎหมายครับ
ดังนั้น ในกรณีของคฤหัสถ์ ที่ถูกขโมยของ เราไม่มีความสามารถที่จะเอาคืนได้แน่นอน จึงแจ้งเจ้าหน้าที่รักษากฎหมาย ด้วยเจตนานำของคืนเท่านั้น ส่วนผู้ที่ถูกจับ นั่นก็เป็น ไปตามกระบวนการของบ้านเมือง แต่เราไม่ได้มีเจตนาที่จะหวังร้ายกับโจรนั้นเลยที่จะให้ติดคุก การฟ้องร้องนั้น ก็ควรอยู่ครับ แต่หากมีเจตนาทำร้ายโจร ด้วยโทสะ หวังร้าย อันนี้ จิตไม่ดีแล้ว ไม่สมควรครับ เพราะเป็นอกุศล ดังนั้น สำคัญที่เจตนาเป็นสำคัญ ตามที่กล่าวมาครับ แม้แต่เรื่องภิกษุณีก็โดยนัยนี้เช่นกันครับ
ซึ่งหากว่าขโมยนั้นเป็นคนใกล้ตัว และไม่ได้เป็นอาชีพ สามารถกล่าวเตือนได้ ก็ควรกล่าวเตือน ไม่จำเป็นต้องแจ้งความ และสามารถขอของเราคืนได้ ก็ไม่ต้องแจ้งความอะไร แต่หากเป็นขโมยที่เป็นอาชีพ ทำบ่อยครั้งและของที่เราหายไป ไม่สามารถเอาคืนได้ ก็ควรแจ้ง ด้วยเจตนาเอาของๆ เราคืนครับ ไม่ได้มุ่งทำร้ายโจรนั่นเอง และ อีกประการหนึ่ง หากมีเจตนาที่ดี เพื่อไม่ให้ผู้นั้นทำอกุศลกรรมบถ มีการขโมยมากขึ้น และรักษาความสงบเรียบร้อยของบ้านเมือง ก็สมควรแจ้งอยู่ครับ เพราะด้วยความหวังดี ไม่ให้ทำบาปมากขึ้น และเพื่อประโยชน์คือ ความสงบกับส่วนรวมด้วย ครับ
ขออนุโมทนา
ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น
ขอบคุณ และขออนุโมทนาครับ
ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น
การผูกเวร เป็นเรื่องของความโกรธ ความผูกโกรธ ความพยาบาทที่มุ่งให้ผู้อื่นประสบกับความทุกข์ความเดือดร้อน ซึ่งเป็นอกุศลจิตที่ประกอบด้วยโทสะ และเจตนาที่เป็นอกุศล เป็นเรื่องที่ละเอียดลึกซึ้งมาก เพราะเป็นธรรมที่มีจริง ถ้ามุ่งให้ผู้อื่นประสบกับความทุกข์ความเดือดร้อน ด้วยจิตที่ไม่ดี ย่อมเป็นสิ่งที่ไม่สมควรโดยประการทั้งปวง เพราะเป็นอกุศล จะเป็นสิ่งที่สมควรไม่ได้ ไม่ว่าจะเป็นใครก็ตาม การกระทำใดๆ ก็ตาม ที่ประกอบด้วยเมตตา ย่อมเป็นสิ่งที่ควร ไม่ว่าผู้นั้นจะเป็นคนที่มีความประพฤติที่ไม่ดีอย่างไร ถึงแม้จะเป็นโจรผู้ร้ายก็ไม่ควรที่จะไปโกรธเขา เนื่องจากว่าบุคคลผู้ควรแก่การโกรธ นั้น ไม่มีเลย
ไม่มีใครที่ไม่เคยทำผิด ไม่มีใครที่ไม่เคยกระทำไม่ดี เมื่อผู้อื่นผิดพลาดแล้ว ควรที่จะได้คิดถึงใจเขาใจเรา แม้เราก็ต้องเคยกระทำผิดมาแล้ว การให้คำตักเตือนที่ดี ให้โอกาสในการแก้ไขปรับปรุงด้วยจิตที่ประกอบด้วยเมตตา ไม่ใช่การซ้ำเติม นั่นจึงจะเป็นสิ่งที่สมควรที่สุด ครับ
...ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ...