อธิบายอุทธัจจกุกกุจจะ

 
pirmsombat
วันที่  28 ม.ค. 2555
หมายเลข  20453
อ่าน  5,968

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ เล่ม ๑ ภาค ๑ - หน้าที่ 749


อธิบายอุทธัจจกุกกุจจะ

เมื่อใจไม่สงบ อุทธัจจกุกกุจจะย่อมเกิดขึ้นได้ โดยการไม่ได้ กระทำไว้ในใจโดยแยบคาย (ไม่มีโยนิโสมนสิการ) . อาการที่จิตไม่สงบ ชื่อว่า อวูปสมะ. โดยอรรถ คำว่า อวูปสมะนั้น คืออุทธัจจกุกกุจจะ นั่นเอง. เมื่อพระโยคาวจร ยังอโยนิโสมนสิการให้เป็นไปในอวูปสมะนั้น มากครั้งเข้า อุทธัจจกุกกุจจะย่อมเกิดขึ้น.

ด้วยเหตุนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงตรัสว่า มีอยู่ ภิกษุทั้งหลาย ความไม่สงบใจ การทำไว้ในใจโดยไม่แยบคาย และการทำให้มากครั้ง เข้า ในความไม่สงบใจนั้น นี้เป็นอาหาร (ปัจจัย) เพื่อให้อุทธัจจกุกกุจจะที่ยังไม่เกิด เกิดขึ้นบ้าง เพื่อความไพบูลย์ยิ่งๆ ขึ้นไปแห่งอุทธัจจกุกกุจจะที่เกิดขึ้นแล้วบ้าง.

ก็การละอุทธัจจกุกกุจจะนั้น มีได้ด้วยโยนิโสมนสิการในเพราะจิต สงบ กล่าวคือสมาธิ. ด้วยเหตุนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงตรัสว่า มีอยู่ ภิกษุทั้งหลาย ความสงบใจ การมนสิการโดยแยบคาย และการ กระทำมากครั้ง ในความสงบใจนั้น นี้เป็นอาหาร (ปัจจัย) เพื่อไม่ ให้อุทธัจจกุกกุจจะที่ยังไม่เกิด เกิดขึ้นบ้าง เพื่อละอุทธัจจกุกกุจจะที่เกิด ขึ้นแล้วบ้าง.

ละอุทธัจจกุกกุจจะด้วยธรรม ประการ

อีกอย่างหนึ่ง ธรรมทั้ง ๖ อย่าง ย่อมเป็นไปเพื่อละอุทธจัจกุก- กุจจะ คือ ความเป็นพหูสูต ๑ ความเป็นผู้สอบถาม ๑ ความเป็นผู้รู้ ปกติในพระวินัย ๑ การคบหาคนเจริญแล้ว ๑ ความเป็นผู้มีกัลยาณ มิตร ๑ การกล่าวถ้อยคำที่เป็นสัปปายะ ๑.

อธิบายว่า เธอแม้เรียนนิกาย ๑ บ้าง ๒ นิกายบ้าง ๓ นิกายบ้าง ๔ นิกายบ้าง ๕ นิกายบ้าง ทั้งโดยพระบาลีทั้งโดยอรรถกถา ย่อมละ อุทธัจจกุกกุจจะได้. เธอผู้มากไปด้วยการสอบถามซึ่งที่เป็นกัปปิยะและ อกัปปยยะก็ดี ผู้รู้ความเป็นปกติในวินัยบัญญัติ เพราะความเป็นผู้เป็นไป ในอำนาจวินัยที่ตนช่ำชองแล้วก็ดี เข้าไปหาท่านผู้เจริญ คือพระเถระผู้ ใหญ่ก็ดี คบหาสมาคมกับกัลยาณมิตรผู้ทรงวินัย เช่น พระอุบาลีเถระ ก็ดี ย่อมละอุทธัจจกุกกุจจะได้.

ในอิริยาบถทั้งหลาย มีการยืนและการนั่งเป็นต้น เธอย่อมละได้ ด้วยการกล่าวถ้อยคำที่เป็นสัปปายะเกี่ยวกับสิ่งที่เป็นกัปปิยะและอกัปปิยะ.

ด้วยเหตุนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้า จึงตรัสว่า ธรรม ๖ อย่างย่อม เป็นไปเพื่อละ อุทธัจจกุกกุจจะ. เธอย่อมรู้ว่า ๑ บรรดาอุทธัจจกุกกุจจะ ที่ละได้แล้ว ด้วยธรรม ๖ อย่างเหล่านี้ อุทธัจจะจะไม่เกิดขึ้นต่อไป เพราะอรหัตตมรรค กุกกุจจะไม่มีการเกิดขึ้นต่อไป ด้วยอนาคามิมรรค


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
paderm
วันที่ 28 ม.ค. 2555

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

อุทธัจจกุกกุจจนิวรณ์ ได้แก่ ความฟุ้งซ่าน และความรำคาญใจ ซึ่ง เป็นนิวรณ์ คือ เป็นสภาพธรรมที่กางกั้นจิต ปิดกั้นจิตไม่ให้กุศลธรรมเกิดนั่นเองครับ ซึ่ง เมือใดที่เกิด อกุศลจิตเกิดขึ้ น ย่อมมีความฟุ้งซ่านเป็นธรรมดา จะรู้ตัวหรือไม่รู้ก็ตามทีครับ ส่วน ความรำคาญใจ (กุกกุจจะ) ก็เป็นธรรมที่จริง เกิดขึ้นได้เป็นธรรมดา เช่น ทำควาไม่ดี ไว้ก็เกิดความรำคาญใจ หรือ จะทำความดี แต่ไมได้ทำก็เกิดความรำคาญใจเกิดขึ้นได้ ครับ ซึ่งการจะละ อุทธัจจกุกกุจจะ ได้ ก็ต้องเป็นเรื่องของปัญญา การจะละ อุทธัจจกุกกุจจได้หมดสิ้น ต้องเป้นปัญญาระดับมรรคจิต ผู้ที่จะละความ ฟุ้งซ่าน ไม่เกิดขึ้นอีกเลย คือ เป็นพระอรหันต์ครับ แต่ก่อนจะละหมดสิ้นนั้น ก็ต้อง ค่อยๆ ละทีละเล็กละน้อย ไปเรื่อยๆ

ซึ่งพระพุทธองค์ทรงแสดง เหตุในการละ อุทธัจจกุกกุจจะ ไว้ 6 ประการ คือ ความเป็นพหูสูต ๑ ความเป็นผู้สอบถาม ๑ ความเป็นผู้รู้ปกติในพระวินัย ๑ การคบหาคน เจริญแล้ว ๑ ความเป็นผู้มีกัลยาณมิตร ๑ การกล่าวถ้อยคำที่เป็นสัปปายะ ๑.

ความเป็นพหูสูต คือ สดับ ฟังพระธรรมาก และเกิดความเข้าใจพระธรรมนั้นด้วย เมื่อปัญญาเกิดจากการฟังมาก ย่อมทำให้ละความฟุ้งซ่านที่จะเกิดขึ้น เพราะมีปัญญา พิจารณาถูกต้อง และไม่เดือดร้อนรำคาญใจเพราะเข้าใจตามความเป็นจริง อันเกิด จากการฟังและเข้าใจมากครับ

ความเป็นผู้สอบถาม เพราะอาศัยการสอบถาม ผู้รู้ สิ่งที่สงสัยและทำเกิดความฟุ้งซ่าน เพราะไม่สามารถเข้าใจและหาคำตอบได้ ความฟุ้งซ่านในเรื่องนั้นก็หมดไปเมื่อได้คำ ตอบและเข้าใจในคำตอบทีได้ถามนั้นครับ รวมทั้งความรำคาญใจ ก็ค่อยๆ คลายไปเพราะ ได้ความเข้าใจที่ถูกต้อง จากการสอบถามครับ

ความเป็นผู้รู้ปกติในพระวินัย คือ รู้ว่าข้อห้าม และข้อควรประพฤติของพระภิกษุคือ อย่างไร ตัวพระภิกษุเอง ที่เข้าใจในพระบัญญัติ ย่อมประพฤติถูกต้อง ย่อมไ่ม่เดือดร้อน รำคาญใจภายหลังในการประพฤติของท่าน และไม่ฟุ้งซ่าน เพราะอาจเกิดจากการ กระทำผิดเพราะไม่รู้พระวินัยนั่นเอง แต่เมื่อรู้ ย่อมมละ ความฟุ้งซ่านและความเดือดร้อน รำคาญใจได้ครับ

การคบหาคนเจริญแล้ว ก็ทำให้ความฟุ้งซ่านและรำคาญใจก็ค่อยๆ ละ คือ คบหาผู้มี ปัญญา ก็จะได้ฟังสิ่งที่ถูกต้อง และละความไม่รู้และกิเลสประการต่างๆ

ความเป็นผู้มีกัลยาณมิตร เพราะได้มิตรที่ดี มีคุณธรรม ย่อมทำให้เจริญในคุณธรรม มี ปัญญา เป็นต้น ก็ย่อมละคลายกิเลสประการต่างๆ รวมทั้งความฟุ้งซ่านและความรำคาญ ใจครับ

การกล่าวถ้อยคำที่เป็นสัปปายะ คือ กล่าวในเรื่องที่ดี เรื่องที่ทำให้กุศลธรรมเจริญ และเรื่องที่ทำให้อกุศลธรรมเสื่อมไป มีการกล่าวพระธรรม เป็นต้น ย่อมละความฟุ้งซ่าน ที่เป็นอกุศลในขณะนั้นได้ครับ

อุทธัจจะ ความฟุ้งซ่านจะไม่เกิดขึ้นต่อไปเพราะอรหัตตมรรค หรือ ได้บรรลุเป็นพระ อรหันต์ครับ กุกกุจจะ ความรำคาญใจไม่มีการเกิดขึ้นต่อไป ด้วยอนาคามิมรรค หรือ บรรลุเป็นพระอนาคามีครับ ซึ่งทั้งหมดก็ต้องเริ่มจากการฟังพระธรรม ศึกษาพระธรรม ครับ

ขออนุโมทนาคุณหมอและทุกท่านครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
เซจาน้อย
วันที่ 28 ม.ค. 2555

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาในกุศลวิริยะของคุณหมอด้วยครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
ผู้ร่วมเดินทาง
วันที่ 28 ม.ค. 2555

ขอบพระคุณและขออนุโมทนาคุณหมอ อาจาย์ผเดิม และทุกๆ ท่านครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 4  
 
khampan.a
วันที่ 28 ม.ค. 2555

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

อุทธัจจกุกกุจจะ เป็นสภาพธรรมที่มีจริง เป็นอกุศเจตสิก ที่จะต้องเกิดร่วมกับอกุศลจิต เท่านั้น จะเกิดร่วมกับจิตชาติอื่น เช่น ชาติกุศล ชาติวิบาก และ ชาติกิริยาไม่ได้เลยต้องเกิดร่วมกับจิตชาติอกุศล เท่านั้น เพราะกุศลเจตสิก ก็จะต้องเกิดร่วมกับอกุศลจิต เท่านั้น ตามสมควรแก่อกุศลจิตประเภทนั้นๆ -อุทธัจจะ แปลว่า ความฟุ้งซ่าน ความไม่สงบแห่งจิต เป็นอกุศลเจตสิกที่จะต้องเกิดร่วมกับอกุศลจิตทุกดวง ทุกครั้งที่อกุศลจิตเกิด จะมีอุทธัจจเจตสิก เกิดร่วมด้วยทุกครั้ง ขณะที่จิตเป็นอกุศลนั้น จิตไม่สงบ จะเป็นจิตที่มีโลภะเป็นมูล มีโทสะเป็นมูล หรือ มีโมหะเป็นมูล ก็ตาม ความฟุ้งซ่านก็เกิดขึ้นแล้ว ซึ่งจะเห็นได้ว่า ในแต่ละวันอกุศลจิตเกิดขึ้นมากกว่ากุศล เพราะฉะนั้น จึงยังไม่พ้นไปจากความฟุ้งซ่าน แต่ในทางตรงกันข้ามขณะใดที่จิตเป็นกุศล ขณะนั้นไม่มีอุทธัจจเจตสิกเกิดร่วมด้วย ไม่มีความฟุ้งซ่านเกิดร่วมด้วยเลย กุศลจิตจึงเป็นสภาพธรรมที่สงบจากอกุศล กล่าวคือ สงบจากโลภะ โทสะ โมหะ เป็นต้น

ผู้ที่จะไม่มีความฟุ้งซ่าน เลย ต้องเป็นพระอรหันต์เท่านั้น พระอรหันต์ดับความฟุ้งซ่านได้อย่างเด็ดขาด แต่ตราบใดก็ตามที่ยังไม่ใช่พระอรหันต์ ก็ย่อมมีความฟุ้งซ่านทุกขณะที่อกุศลจิตเกิดขึ้น

-กุกกุจจะ เป็นสภาพธรรมที่มีจริง เป็นอกุศลเจตสิกที่เกิดร่วมกับโทสมูลจิตเท่านั้น บางวาระโทสมูลจิตก็มีกุกกุจจเจตสิกเกิดร่วมด้วย บางวาระโทสมูลจิตก็ไม่มีกุกกุจจ-เจตสิกเกิดร่วมด้วย กุกกุจจะเป็นสภาพธรรมที่เดือดร้อนรำคาญใจในอกุศลที่ได้กระทำแล้ว และ กุศลที่ยังไม่ได้กระทำ เกิดขึ้นเป็นไปตามเหตุตามปัจจัย ทุกครั้งที่สภาพธรรมนี้เกิดขึ้น พร้อมกับอกุศลเจตสิกอื่นๆ ย่อมทำให้จิตเศร้าหมอง ไม่ผ่องใส และเป็นเครื่องกางกั้นไม่ให้กุศลจิตเกิดขึ้นได้เลย

กิเลสทั้งหลายทั้งปวงที่มี ซึ่งไม่ใช่เฉพาะอุทธัจจกุกกุจจะเท่านั้น มีมากกว่านี้ จะดับให้หมดสิ้นไปได้ ด้วยการอบรมเจริญปัญญา ซึ่งจะต้องเริ่มสะสมความเข้าใจถูกเห็นถูกไปตามลำดับ จะขาดปัญญาไม่ได้เลยทีเดียว พระอริยบุคคลทั้งหลาย ล้วนเป็นผู้ห่างไกลจากกิเลส ด้วยปัญญา ทั้งนั้น ครับ.

... ขอบพระคุณและขออนุโมทนาในกุศลจิตของคุณหมอและทุกๆ ท่าน ครับ ...

 
  ความคิดเห็นที่ 5  
 
kinder
วันที่ 29 ม.ค. 2555
ขอบคุณและขออนุโมทนาครับ
 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ