ความดี

 
pong100000
วันที่  5 ก.พ. 2555
หมายเลข  20496
อ่าน  3,050

ความดีคืออะไร บางครั้งผมเคยได้ฟังผู้ที่บรรยายได้บรรยายว่าความดีนั้น เกิดจากการที่ เราได้กระทำการอย่างใดอย่างหนึ่งแล้วเกิดความสุขทั้งเขาและก็เรา แต่ผมเป็นคนชอบ สงสัยเลยสงสัยว่า การที่เราทำแล้วเกิดความสุขทั้งเขาแล้วก็เรานั้นผมขอยกตัวอย่างนะ ครับ สมมติว่ามีคนขายสารเสพติดให้กับผู้ซื้อและการกระทำของคนขายนั้นมีความสุข และคนซื้อก็เต็มใจซื้อและก็มีความสุขด้วย อย่างนี้เรียกว่าความดีไหมครับ แล้วอะไรกันแน่ ที่เรียกว่าความดี คำว่าความดีนั้นสำหรับผมม้นกว้างเกินไปและเข้าใจยาก


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
paderm
วันที่ 5 ก.พ. 2555

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

ในความเป็นจริง ความดี ไม่ได้มุ่งหมายถึงความสุข เพราะเป็นสภาพธรรมคนละอย่างกัน ความสุข คือ ความรู้สึกประเภทหนึ่ง ซึ่งตัวธรรม คือ เวทนาเจตสิก ซึ่งหากได้ศึกษาก็จะเข้าใจได้ครับว่า ความรู้สึก ที่เป็นเวทนาเจตสิก เกิดกับจิตใจทุกประเภท คือ เกิดกับจิตที่ดี ที่เป็นกุศล (ความดี) และเกิดกับจิตที่ไม่ดี เป็นอกุศล (ความไม่ดี) ด้วย แสดงว่า ความรู้สึกที่เป็นความสุข โสมนัสที่เกิดที่ใจ เกิดได้กับความดี และ ความไม่ดี ก็ได้ครับ

และควรเข้าใจ ความดี และ ความไม่ดีให้ถูกต้องด้วยครับว่า คืออะไร

ความดี มีได้ เพราะ มีจิต เจตสิก ความดี จึงเป็นสภาพธรรมที่เป็น จิต เจตสิกที่เกิดขึ้นนั่นคือ มีเจตสิกที่ดี มี ศรัทธา สติ ปัญญา เป็นต้น เกิดกับจิตนั้น และก็มีความรู้สึกที่เป็นเวทนาเกิดร่วมด้วย ซึ่ง ความรู้สึกเฉยๆ ที่ไม่ใช่ความสุขก็เกิดกับความดีได้ เช่น ขณะที่ให้ทาน แต่ไม่ได้มีความรู้สึกสุขใจ แต่ด้วยความรู้สึกเฉยๆ ก็ได้ แต่ขณะนั้นก็เป็นความดีแล้ว ด้วยจิตที่ดี นั่นเอง เป็นความดีที่มีความรู้สึกเฉยๆ แม้จะไม่สุขใจก็เป็นความดี นี่ยกตัวอย่าง ความดี โดยนัย ความรู้สึกต่างๆ กัน แม้เฉยๆ ก็เป็นความดี

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
paderm
วันที่ 5 ก.พ. 2555

ส่วนความไม่ดี คือ สภาพธรรมที่เป็น เจตสิกที่ไม่ดี คือ โลภะเกิดขึ้น ติดข้อง ที่เกิดพร้อมจิต ทำให้จิตนั้นไม่ดี เป็นจิตที่เป็นโลภะ ก็เป็นโลภมูลจิต เป็นความไม่ดี เพราะจิตไม่ดีในขณะนั้นครับ ซึ่ง ความรู้สึก ที่เป็นความสุขใจ โสมนัสเวทนา เกิดกับอกุศลจิตได้ คือ เกิดกับความไม่ดีได้ เช่น ขณะที่ติดข้อง พอใจด้วยความสุขใจ ก็เป็นจิตไม่ดีเพราะ โสมนัสเวทนา (ความสุขใจ) เกิดกับจิตที่เป็นโลภะก็ได้ (ความไม่ดี) เกิดกับจิตที่เป็นกุศล ความดีก็ได้ ดังเช่น ตัวอย่างที่ผู้ถามยกมาในการขายยาเสพติด ผู้ขายก็มีความสุขแต่เป็นจิตไม่ดี ที่ติดข้องพอใจในขณะนั้นครับ ดังนั้น ความรู้สึกที่เป็นสุขใจจึงไม่ใช่เครื่องวัดว่า เมื่อเป็นสุขใจแล้วเป็นความดี เพราะความรู้สึกสุขใจเกิดกับความดีและความไม่ดีก็ได้ ตามที่กล่าวมาครับ

ดังนั้น ความดี ตัดสินที่ สภาพธรรมอื่นที่ประกอบหลายๆ ประเภทร่วมด้วย คือ มีเจตสิกที่ดีอื่นๆ มาประกอบ เช่น มีสติ หิริ ปัญญา ขณะนั้น เป็นความดี แต่ จิตใดที่ประกอบด้วยเจตสิกที่ไม่ดี มีโลภะ เป็นต้น แม้จะสุขใจก็ไม่ใช่ความดี แต่เป็นความไม่ดีครับ

ขออนุโมทนาที่ร่วมสนทนา

 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
khampan.a
วันที่ 5 ก.พ. 2555

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

ในชีวิตประจำวัน การที่กุศล (ความดี) ในด้านใดๆ จะเกิดขึ้นนั้น ก็ย่อมเป็นไปตามการสะสมมาของแต่ละบุคคล ซึ่งจะเห็นได้ว่าอัธยาศัยในการเจริญกุศลของแต่ละบุคคลจึงมีความแตกต่างกันออกไป บางคนมีอัธยาศัยในการให้ทาน บางคนมีอัธยาศัยในการรักษาศีล และบางคนมีอัธยาศัยในภาวนา (การอบรมเจริญปัญญา) และควรที่จะพิจารณาว่า ทาน (การให้) การสงเคราะห์ อนุเคราะห์บุคคลอื่น มีเป็นครั้งคราว ไม่สามารถให้ทานได้ตลอดเวลา เพราะกุศลขั้นทาน จะเกิดขึ้นได้เมื่อมีวัตถุที่จะให้ มีศรัทธาที่จะให้ และ จะต้องมีผู้รับด้วย ดังนั้น กุศลขั้นทานจึงไม่ได้เกิดขึ้นตลอดเวลา ส่วน ศีล นั้น เป็นความประพฤติเป็นไปทางกาย ทางวาจา ที่จะต้องมีอยู่ตลอดเวลา ถ้าหากว่าบุคคลใด มีการสละวัตถุสิ่งของเพื่อประโยชน์แก่ผู้อื่น แต่ว่าไม่ได้ละเว้นการเบียดเบียนผู้อื่นให้เดือดร้อนทั้งด้วยกาย วาจา และใจแล้ว การให้ทานของผู้นั้นยังไม่สมบูรณ์ เพราะว่าการให้ที่สมบูรณ์นั้น ผู้ให้ จะต้องละเว้นจากการเบียดเบียนผู้อื่นให้เดือดร้อน ด้วยบุคคลผู้ที่รักษาศีลจนเป็นอุปนิสัย ผู้นั้นก็จะมีกาย วาจา ที่สะอาด ไม่เบียดเบียนใครให้เดือดร้อนเลย ถึงแม้ว่าการให้ทานของบุคคลประเภทนี้จะมีน้อยกว่าบุคคลผู้มีอัธยาศัยในการให้ทานก็ตาม

เมื่อกล่าวโดยสรุปแล้ว สำหรับบุคคลผู้ที่เห็นโทษภัยของกิเลส เห็นโทษภัยของอกุศล ก็ย่อมจะเป็นผู้เจริญกุศลทุกอย่างทุกประการ เท่าที่ตนมีโอกาส ไม่ว่าจะเป็นโอกาสของกุศลประเภทใดก็ตาม กล่าวคือ ถ้าเป็นโอกาสของการให้ทาน ก็ให้ทาน สละวัตถุสิ่งของเพื่อประโยชน์สุขแก่ผู้อื่น, ถ้าเป็นโอกาสของการวิรัติงดเว้นจากทุจริตประการต่างๆ ก็งดเว้น ซึ่งเป็นการรักษาศีล (รวมถึงกุศลประการอื่นๆ ที่สงเคราะห์ลงในศีลด้วย เช่น ความอ่อนน้อมถ่อมตน การขวนขวายกระทำในสิ่งที่เป็นประโยชน์แก่ผู้อื่น เป็นต้น) และถ้าเป็นโอกาสของการอบรมเจริญปัญญา ก็อบรมเจริญปัญญา เพิ่มพูนปัญญา ด้วยการฟังพระธรรม ศึกษาพระธรรมบ่อยๆ เนืองๆ เป็นปกติในชีวิตประจำวัน ทั้งหมดทั้งปวงนั้น ไม่ใช่เพื่ออย่างอื่น แต่เพื่อขัดเกลากิเลสของตนเองเท่านั้น ครับ.

...ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ...

 
  ความคิดเห็นที่ 4  
 
เซจาน้อย
วันที่ 5 ก.พ. 2555

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

ขอบคุณ และขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 6  
 
Khun
วันที่ 7 ก.พ. 2555

ขออนุโมทนาค่ะ

เมื่อไม่รู้จักสิ่งที่ทำให้เกิดทุกข์ โดยคิดว่าสิ่งนั้นทำให้เกิดสุข แล้วก็คลุกคลีอยู่กับสิ่งนั้น ก็จะเป็นทุกข์อยู่เรื่อยๆ จนกว่าจะรู้แล้วละสิ่งที่ทำให้เกิดทุกข์นั้น เริ่มศึกษาโดยการฟังแล้วพิจารณา ไปเรื่อยๆ จนเหตุและปัจจัยพร้อม

 
  ความคิดเห็นที่ 7  
 
jaturong
วันที่ 7 ก.พ. 2555

ขอบคุณ และขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 8  
 
thanrawit
วันที่ 24 ธ.ค. 2561

ขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 9  
 
chatchai.k
วันที่ 19 มี.ค. 2564

ขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 10  
 
สิริพรรณ
วันที่ 15 พ.ย. 2564

กราบขอบพระคุณยินดีในความดีค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 11  
 
ก.ไก่
วันที่ 9 ก.พ. 2565

อนุโมทามิ

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ