หากอยู่ในสถานการณ์ที่ต้องเลือก..

 
Nareopak
วันที่  8 ก.พ. 2555
หมายเลข  20515
อ่าน  2,002

ระหว่างความถูกต้อง (ในความเห็นของคนส่วนใหญ่) กับความดี (ในความเห็นของเรา) แต่ขัดแย้งกับคนส่วนใหญ่ ไม่ขอถามว่าจะทำเช่นไร แต่ขอความอนุเคราะห์จากท่านผู้รู้ ท่านวิทยากรช่วยยกตัวอย่างชาดก หรือพระสูตร ในครั้งพุทธกาลว่ามีผู้ใดเคยถามพระพุทธองค์เช่นนี้หรือไม่ หรือพระพุทธองค์เคยตรัสสอนเรื่องนี้ไว้อย่างไร (เพื่อน้อมนำมาพิจารณาในการหาคำตอบของข้าพเจ้า)

ขอบพระคุณค่ะ


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
paderm
วันที่ 8 ก.พ. 2555

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

ก่อนอื่น ขออธิบาย เรื่อง ความถูกต้อง และความดี ว่าคือ อย่างไร เพื่อให้เข้าใจตรงกันก่อนครับ

ความถูกต้อง ต้องเป็น ความดี คือ กุศลธรรม กุศลธรรม ไม่ทำให้เดือดร้อนกับตนเอง และ ผู้อื่น เพราะเป็นสภาพธรรมที่เป็นฝ่ายดี อันจะนำมาแต่ความสุขกับตนเองที่เกิด กุศลธรรม เกิดกุศลจิต คือ ความดี และเป็นประโยชน์กับผู้อื่นด้วย ดังนั้น ความดี กุศลธรรม ที่เป็นความถูกต้อง ไม่เปลี่ยนแปลงลักษณะ เพราะเป็นปรมัตถธรม เป็นอภิธรรม เป็นสัจจะ ความจริง ไม่ว่าเกิดกับใคร ที่ไหน ลักษณะของสภาพธรรมไม่เปลี่ยนแปลง คือ เป็นกุศล เป็นสภาพธรรมที่ดี เป็นความดี ความถูกต้อง จึงเป็นสิ่งที่เป็นกุศลธรรม ความถูกต้อง ที่เป็นความดี จึงไม่ได้อยู่ที่คนส่วนใหญ่เห็นด้วย หรือ คนส่วนใหญ่ไม่เห็นด้วย ไม่ได้อยู่ที่ค่านิยมสมัยนั้น ไม่ได้อยู่ที่กาลเวลา และที่สำคัญที่สุด ไม่ได้อยู่ที่ตัวเรา ที่ตัดสินว่า หากสิ่งนี้เราชอบ เราคิดว่าถูก สิ่งนั้นจะต้องถูกและเป็นความดี ความดี จึงไม่ใช่เรื่องของปัจเจก คือ เรื่องของเฉพาะคนที่แต่ละคนคิดว่าสิ่งนั้นถูก ก็ต้องถูกตามความคิดของบุคคลนั้นครับ แต่ความดี ตามที่กล่าวมา เป็นสัจจะ ไม่เปลี่ยนลักษณะ คือ เป็นกุศลธรรม แม้โลกทั้งโลก จะบอกว่าไม่ดี แต่สิ่งนั้นเป็นความดี สิ่งนั้น คือ สภาพธรรมนั้นก็เป็นความดีอยู่ แม้โลกทั้งโลกจะบอกว่าดี แต่สภาพธรรมนั้นเป็นอกุศลธรรม เป็นสภาพธรรมไม่ดี สภาพธรรมนั้นก็ไม่ได้เปลี่ยนแปลงไปตามโลก แต่สภาพธรรมนั้นก็ไม่ดีอยู่นั่นเองครับ และแม้เรา หรือ ใครจะบอกว่าดี หรือ ไม่ดี ก็ไม่ได้ขึ้นอยู่กับตัวเราอีกเช่นกัน สภาพธรรมนั้นเป็นอย่างไร ก็เป็นอย่างนั้น ซึ่งความถูกต้อง คือ ความดี ที่เป็นกุศลธรรม มี เมตตา ความเป็นมิตร การช่วยเหลือเกื้อกูล หรือ จิตที่ดีเกิดขึ้น เป็นต้น ความไม่ถูกต้อง คือ ความไม่ดี เป็นอกุศลธรรม มี โลภะ โทสะ โมหะ เป็นต้น

ดังนั้น อะไรล่ะครับ ที่จะเป็นตัวตัดสินว่า อะไรดี หรือ ไม่ดี อะไรถูกต้อง หรือไม่ถูกต้อง แน่นอนครับว่า ไม่ใช่อกุศลธรรมแน่นอน ที่จะตัดสินได้ เช่น ความชอบ ความไม่ชอบที่เป็นอคติ อกุศลประการต่างๆ เพราะ ความไม่ดีที่เป็นกิเลส จะเห็นตามความเป็นจริงไม่ได้เลย เพราะ มีความไม่รู้ เกิดร่วมด้วย ความคิดที่ไม่ใช่ปัญญา ก็ไม่สามารถตัดสินได้เลยว่าอะไรดี อะไรไม่ดี ดังนั้น ปัญญาเท่านั้นที่เป็นสภาพธรรมที่เห็นตามความเป็นจริง ย่อมรู้ว่าอะไรดี อะไรไม่ดี อะไรถูกต้อง อะไรไม่ถูกต้อง ครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
paderm
วันที่ 8 ก.พ. 2555

ซึ่ง หากอยู่ในสถานการณ์ที่ต้องเลือก อะไรเลือกครับ ถ้าเป็นเรา ที่ไม่ใช่ปัญญา ก็เลือกได้ แต่ก็เลือกไม่ถูกต้อง ตรงตามความเป็นจริง ไม่ว่าคนส่วนใหญ่ ส่วนน้อยจะคิดอย่างไร หากปราศจากปัญญาที่เห็นถูกจริงๆ ในปัญหาส่วนนั้นก็ย่อมเลือกผิด แต่เพราะ มีปัญญา รู้ตามความเป็นจริง ก็ไม่อาศัย อกุศล มีความไม่รู้ ความลำเอียง และอกุศล ประการต่างๆ เลือก แต่พิจารณาด้วยปัญญา ย่อมเลือกในสิ่งที่ถูกต้อง โดยไม่ได้สนใจว่า จะตรงกับความชอบของเราส่วนตัว หรือ ไม่ตรง หรือ ตรงกับความคิดเห็นส่วนใหญ่เลย เพราะเลือกความดี ความถูกต้อง นั่นคือ สภาพธรรมที่เป็นปัญญา เลือก ในสิ่งที่ถูก ต้องครับ

ซึ่งผู้ถามให้ยกตัวอย่างในพระไตรปิฎก ก็มีดังนี้ครับ

อย่างตัวอย่างการเลือก ในสมัยพุทธกาล คนที่เห็นผิด และ มีปัญญาน้อย ย่อมมีมากกว่า ความเห็นถูก และผู้มีปัญญา มากมาย ท่านสีหเสนาบดี เป็นผู้ที่เลื่อมใสในพวกนิครนถ์ ที่เห็นผิด ต่อมาท่านได้ฟังธรรมจากพระพุทธเจ้า เกิดความเลื่อมใส เกิดปัญญา แม้พระพุทธเจ้าจะทรงถามว่า ให้คิดให้ดีก่อนที่จะเลื่อมใส เพราะท่านมีคนรู้จักมาก ที่สำคัญ คนที่เห็นผิดก็มีมากกว่าด้วย ท่านคิดให้ดี ก่อนที่จะเลือกเลื่อมใสพระพุทธศาสนา ท่าน สีหเสนาบดี ไม่ได้สนใจเลยว่า คนส่วนใหญ่ ส่วนมากต่างก็นับถือ สิ่งที่ผิด และก็กล่าวว่า พระพุทธศาสนานั้นผิด ส่วนที่เขาเลื่อมใส คือ ความเห็นผิด เป็นสิ่งที่ถูก แต่ ท่าน สีหเสนาบดี ก็เลือกเลื่อมใสในพระรัตนตรัย แม้จะส่วนที่น้อยกว่า ความเห็นผิดก็ตาม เพราะอะไร เพราะปัญญาท่านเกิด รู้ตามความเป็นจริง ว่าสิ่งอะไรควร สิ่งอะไรไม่ควร ด้วยปัญญานั่นเองครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
paderm
วันที่ 8 ก.พ. 2555

อีกตัวอย่างหนึ่ง ใน ชาดก พระโพธิสัตว์เป็นพระราชาที่มีคุณธรรม มีพระราชาไม่ดี บุกมาเพื่อจะยึดราชสมบัติของพระองค์ ทั้งๆ ที่ พระโพธิสัตว์ เป็นเมืองที่ใหญ่กว่า มีทหารเก่งที่สุด ซึ่ง ในความเป็นจริง หากรบกัน พระราชาไม่ดี ไม่สามารถสู้ได้เลย เมื่อข่าวทราบถึงทหารของพระโพธิสัตว์ที่เก่งกาจ ก็ขออาสาไปรบ จะจับพระราชาโกงมาตั้งแต่อยู่ที่ชายแดนเท่านั้น แต่พระโพธิสัตว์ก็ไม่ยอมให้ทำ เพราะคิดว่า เราอย่าให้ใครเดือดร้อนเพราะเราเลย ปล่อยให้พระราชาโกงเข้ามา พระราชาโกงก็เข้ามาเรื่อยๆ ทหารก็ขอออกไปรบ แต่พระโพธิสัตว์ก็ห้าม จะเห็นนะครับว่า คนส่วนใหญ่ก็ต้องคิดว่า จะต้องรักษาบ้านเมือง ให้ทหารออกไปรบ ป้องกันบ้านเมือง ซึ่งคนส่วนใหญ่คิดอย่างนั้น แต่ พระโพธิสัตว์ไม่เลือก เพราะท่านเลือกความถูกต้อง คือ ความดีที่จะไม่ทำร้ายใครเลย และไม่ให้เดือดร้อนด้วย แม้คนส่วนใหญ่จะไม่เห็นด้วย จนในที่สุด พระราชาโกงก็มาถึงประตูเมือง ทหารก็ขออกไปรบ พระโพธิสัตว์ก็บอกให้เปิดประตูเมืองเลย ให้เข้ามา พระราชาโกงก็จับพระโพธิสัตว์ จับฝังดิน เหลือแค่คอ พระโพธิสัตว์ มีเมตตา กับพระราชาโกง จึงนึกถึงด้วยความเมตตา กับพระราชาโกง จนพระราชาโกงตัวร้อนเป็นไฟ ต้องยอมปล่อยพระโพธิสัตว์ และยกพระราชสมบัติคืนดังเดิม นี่แสดงให้เห็นว่า พระโพธิสัตว์ เลือกความดี แม้คนส่วนมากจะไม่เห็นด้วย แต่พระองค์ก็เลือกความดี เพราะ ปัญญาของท่านเกิดนั่นเองครับ

อีกตัวอย่างหนึ่ง สัจจนิครนถ์ สำคัญตนว่าเก่ง จึงขอโต้วาทะ กับ พระพุทธเจ้า พระพุทธเจ้าตรัสถามว่า ท่านมีความเห็นอย่างไร สัจจนิครนถ์ ทูลว่า โลกเที่ยง และ ประชุมชนโดยมาก ก็คิดอย่างนั้น คือ คนทั่วไปโดยมากก็คิดเหมือนข้าพระองค์ พระพุทธเจ้าตรัสว่า ประชุมชนจะทำอะไรได้ ความหมายคือ ความจริงแท้ที่ถูกต้อง ไม่ได้อยู่ที่คนจำนวนมาก และพระพุทธองค์ก็แสดงธรรมที่ขัดแย้งกับความคิดของชาวโลกส่วนใหญ่ คือ ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ และไม่มีเรา ไม่มีสัตว์ บุคคล เพราะพระองค์ทรงรู้ด้วยปัญญา พระองค์ทรงเลือกความถูกต้องด้วยพระปัญญาครับ

ดังนั้น การจะเลือกสิ่งใด ในสถานการณ์ใด ก็เป็นไปตามเหตุปัจจัยของบุคคลนั้น ซึ่งก็แล้วแต่ว่าเหตุปัจจัยพร้อมอย่างไร ก็บังคับบัญชาไมได้เลย ตามการสะสมมาของแต่ละคนครับ เมื่อสภาพธรรมถึงเวลานั้น ก็จะต้องเป็นไปตามนั้น อันแสดงถึงความเป็นอนัตตา

ขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 4  
 
Nareopak
วันที่ 9 ก.พ. 2555

ได้คำตอบแล้วค่ะ ขออนุโมทนาและขอบคุณมากค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 5  
 
khampan.a
วันที่ 9 ก.พ. 2555

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

พระธรรมที่พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงแสดง เป็นสิ่งที่มีจริงทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นอกุศลธรรมหรือกุศลธรรม ก็เป็นสภาพธรรมที่มีจริง เป็นธรรม ไม่ใช่เรา ไม่อยู่ในอำนาจบังคับบัญชาของใครทั้งสิ้น

ปกติในชีวิตประจำวันของผู้ที่ยังมีกิเลส ยังถูกผูกมัดไว้ด้วยกิเลสประการต่างๆ จึงมีอกุศลจิตเกิดขึ้นเป็นปกติธรรมดา และเกิดมากกว่ากุศลด้วย ตามความเป็นจริง อกุศลธรรม เป็นสภาพธรรมที่ไม่ดีงาม ไม่นำประโยชน์อะไรๆ มาให้ใครเลย มีแต่จะนำทุกข์มาให้ในภายหลังอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ขณะที่จิตเป็นอกุศลย่อมเร่าร้อน เพราะอกุศลเจตสิกประการต่างๆ ที่เกิดร่วมด้วย และถ้ามีกำลังถึงขั้นล่วงเป็นอกุศลกรรมบถที่ครบองค์ ยิ่งเร่าร้อนมาก กล่าวได้ว่า เร่าร้อนทั้งในขณะที่ทำ และในขณะที่ได้รับผลของอกุศลกรรมนั้นๆ ด้วย

อกุศลธรรมทั้งหมด เป็นสิ่งที่ไม่ดี เป็นสิ่งที่ไม่สมควร เป็นสิ่งที่ไม่ถูกต้อง โดยประการทั้งปวง ไม่ว่าจะเกิดกับใคร ก็ไม่ดี ไม่ถูกต้อง ไม่สมควร ทั้งนั้น ในทางตรงกันข้าม ขณะที่จิตเป็นกุศลนั้นย่อมผ่องใส ไม่ขุ่นมัว เพราะไม่มีอกุศลเจตสิกเกิดร่วมได้เลย มีแต่สภาพธรรมฝ่ายดี เช่น ศรัทธา (สภาพธรรมที่เลื่อมใสในกุศล) สติ (สภาพธรรมที่ระลึกเป็นไปในกุศล) หิริ (ความละอายต่ออกุศล) โอตตัปปะ (ความเกรงกลัวต่ออกุศล) เป็นต้น เกิดร่วมด้วย และถ้ามีความเข้าใจถูกเห็นถูกเกิดร่วมด้วย ก็เป็นกุศลจิตที่ประกอบด้วยปัญญา

ดังนั้น กุศลธรรม อันได้แก่ กุศลจิต และ เจตสิกธรรมที่เกิดร่วมด้วย นี้แหละ คือ สิ่งที่ถูกต้อง สิ่งที่ดีงาม สิ่งที่สมควร ไม่ว่าจะเกิดกับใคร ก็ดีทั้งนั้น ไม่ว่าจะอยู่ ณ ที่ใด สถานที่ใด สิ่งที่ขาดไม่ได้ ก็คือ ความดี (กุศลธรรม) ท่านอุปติสสะ (พระสารีบุตร) และ โกลิตะ (พระมหาโมคคัลลานะ) ก่อนที่จะได้เข้ามาสู่พระธรรมวินัยนี้ ท่านเคยเป็นลูกศิษย์ของสัญชัยปริพาชก ท่านทั้งสองพิจารณาแล้วว่า คำสอนของอาจารย์ไม่ได้เป็นไปเพื่อความหลุดพ้นจากทุกข์ เป็นคำสอนที่ไม่เป็นไปกับด้วยสาระ ก็ไม่ได้อยู่ในสำนักอีกต่อไป ไม่เลือกที่จะอยู่ในที่นั้นอีกต่อไป แต่เลือกที่จะออกแสวงหาหนทางที่เป็นไปเพื่อความหลุดพ้น จนกระทั่งท่านทั้งสองได้เข้ามาสู่พระธรรมวินัยนี้

อุบาสิกาท่านหนึ่ง ในกรุงสาวัตถี ได้บำรุงอาชีวกคนหนึ่ง พอนางได้ยินชาวเมืองกล่าวสรรเสริญพระคุณของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าโดยประการต่างๆ ก็มีความประสงค์ที่จะได้ฟังพระธรรม จึงขออนุญาตอาชีวก เพื่อไปฟังพระธรรม ที่วิหาร แต่อาชีวกก็ไม่ยอมให้ไป ด้วยความตั้งใจอย่างแน่วแน่ เมื่ออาชีวกไม่ยอมให้ไปฟัง จึงมีความประสงค์ที่จะกราบอาราธนาพระสัมมาสัมพุทธเจ้า มาเสวยภัตตาหารที่บ้านและจะได้ฟังพระธรรมจากพระองค์ในครั้งนี้ด้วย จนในที่สุด นางก็ได้ฟังพระธรรม เข้าใจธรรมตามความเป็นจริง กล่าวชื่นชมสรรเสริญในพระธรรมที่พระองค์ทรงแสดง อาชีวกได้ยินคำสรรเสริญของนางออกมา ด่าด้วยคำหยาบคาย ทำให้นางจิตใจฟุ้งซ่าน พระสัมมาสัมพุทธเจ้า จึงตรัสพระธรรมเทศนา ว่า ไม่ควรทำคำอันหยาบคายของคนอื่นไว้ในใจ แต่ควรพิจารณาถึงกิจที่กระทำแล้วและยังไม่ได้กระทำของตนเอง ดีกว่า ผลจากการฟังพระธรรมในครั้งนี้ คือ ได้รู้แจ้งอริยสัจจธรรมถึงความเป็นพระโสดาบัน

จะเห็นได้ว่า อุบาสิกาท่านนี้เลือกที่จะได้กระทำในสิ่งที่ถูกต้องดีงาม โดยเฉพาะอย่างยิ่ง คือ ฟังพระธรรมที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดง ความดี (กุศลธรรม) เท่านั้น ที่จะเป็นที่พึ่งของสัตว์ทั้งหลายได้อย่างแท้จริง จนกว่าจะได้รู้แจ้งอริยสัจจธรรม ถึงความเป็นพระอรหันต์ดับกิเลสทั้งหลายทั้งปวงได้ในที่สุด ไม่มีการเกิดอีกในสังสารวัฏฏ์

ทั้งหมดทั้งปวงนั้น เป็นธรรมที่เกิดขึ้นเป็นไปตามเหตุปัจจัยทั้งสิ้น ไม่มีตัวตนที่จะเลือกหรือไม่เลือก แต่กุศลธรรมจะค่อยๆ เจริญขึ้น ตามระดับขั้นของปัญญาที่เห็นโทษของอกุศลธรรมและเห็นประโยชน์ของกุศลธรรม ครับ.

...ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ...

 
  ความคิดเห็นที่ 6  
 
Nareopak
วันที่ 9 ก.พ. 2555

"พระสัมมาสัมพุทธเจ้า จึงตรัสพระธรรมเทศนา ว่า ไม่ควรทำคำอันหยาบคายของคนอื่นไว้ในใจ แต่ควรพิจารณาถึงกิจที่กระทำแล้วและยังไม่ได้กระทำของตนเอง ดีกว่า "

ขอบคุณและอนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 7  
 
jaturong
วันที่ 9 ก.พ. 2555

ขอบคุณ และขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 8  
 
wannee.s
วันที่ 9 ก.พ. 2555

ถ้าเราทำความดี ทำสิ่งที่ดี แม้จะไม่ถูกใจคนอื่น ก็ไม่เป็นไร ในพระไตรปิฎก ก็มีแสดงไว้ เช่น คนที่ทำดี คนดีก็รัก แต่คนชั่วไม่รัก ตรงกันข้าม คนที่ทำไม่ดี ทำชั่ว คนชั่วรัก แต่คนดีรังเกียจ ไม่ชื่นชมในความไม่ดีนั้น ฯลฯ ค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 9  
 
thorn
วันที่ 9 ก.พ. 2555

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย จตุกนิบาต เล่ม ๒ - หน้าที่ 210

๕. รูปสูตร

ว่าด้วยบุคคลเลื่อมใส ๔ จำพวก

[๖๕] ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย บุคคล ๔ จำพวกนี้ มีปรากฏอยู่ในโลก บุคคล ๔ จำพวกคือใคร คือ รูปปฺปมาโณ รูปปฺปสนฺโน

บุคคลถือรูปเป็นประมาณ เลื่อมใสในรูป

โฆสปฺปมาโณ โฆสปฺปสนฺโน

บุคคลถือเสียงกึกก้องเป็นประมาณเลื่อมใสในเสียงกึกก้อ

ลูขปฺปมาโณ ลูขปฺปสนฺโน

บุคคลถือความเศร้าหมองเป็นประมาณ เลื่อมใสในความเศร้าหมอง

ธมฺมปฺปมาโณ ธมฺมปฺปสนฺโน

บุคคลถือธรรมเป็นประมาณ เลื่อมใสในธรรม

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย นี้แลบุคคล ๔ จำพวก มีปรากฏอยู่ ในโลก. บุคคลเหล่าใดถือรูปเป็นประมาณก็ดี บุคคลเหล่าใดคล้อยไปตามเสียงกึกก้องก็ดี บุคคลเหล่านั้น อยู่ในอำนาจความพอใจรักใคร่แล้ว ย่อมไม่รู้จักชนผู้นั้น. คนโง่ย่อมไม่รู้ (คุณธรรม) ภายใน ทั้งไม่เห็น (ข้อปฏิบัติ) ภายนอก (ของชนผู้นั้น) ถูกรูปและเสียงปิดบัง (ปัญญา) เสียจนรอบ คนโง่นั้นจึงถูกเสียงกึกก้องพัดพาไปได้. บุคคลใดไม่รู้ภายใน แต่เห็นภายนอก เห็นแต่ผล (คือลาภสักการะที่ผู้นั้นได้) ในภายนอกแม้บุคคลนั้นก็ยังจะถูกเสียงกึกก้องพัดพาไปได้.

บุคคลใดทั้งรู้ภายในทั้งเห็นภายนอก เห็นแจ้งไม่มีอะไรเป็นเครื่องปิดบัง บุคคลนั้นย่อมไม่ถูกเสียงกึกก้องพัดพาไป.

จบรูปสูตรที่ ๕

อรรถกถารูปสูตร

พึงทราบวินิจฉัยในรูปสูตรที่ ๕ ดังต่อไปนี้ :-

... เพราะแบ่งสรรพสัตว์ออกเป็นสามส่วน สองส่วนถือรูปเป็นประมาณ. ส่วนหนึ่ง ไม่ถือรูปเป็นประมาณ.

เพราะแบ่งสรรพสัตว์ออกเป็นห้าส่วน สี่ส่วน ถือเสียงกึกก้องเป็นประมาณ ส่วนหนึ่งไม่ถือเสียงกึกก้องเป็นประมาณ.

เพราะแบ่งสรรพสัตว์ออกเป็น ๑๐ ส่วน เก้าส่วน ถือความปอนเป็นประมาณ ส่วนหนึ่งไม่ถือความปอนเป็นประมาณ.

แต่เมื่อแบ่งสรรพสัตว์ออกเป็นแสนส่วน ส่วนเดียวเท่านั้น ถือธรรมเป็นประมาณ ที่เหลือ พึงทราบว่า ไม่ถือธรรมเป็นประมาณ ดังนี้ :-

... จากพระสูตรนี้ จะเห็นว่า มีเพียง ๑ ใน ๑๐๐,๐๐๐ คน ที่ ถือธรรมเป็นประมาณ

ขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 10  
 
เซจาน้อย
วันที่ 9 ก.พ. 2555

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

ขอบคุณ และขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 11  
 
Nareopak
วันที่ 10 ก.พ. 2555

ขออนุโมทนาในทุกความคิดเห็นค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 12  
 
nong
วันที่ 11 ก.พ. 2555

ขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 13  
 
พุทธรักษา
วันที่ 12 ก.พ. 2555
อ้างอิงจาก : หัวข้อ 20515 ความคิดเห็นที่ 6 โดย Nareopak

"พระสัมมาสัมพุทธเจ้า จึงตรัสพระธรรมเทศนา ว่า ไม่ควรทำคำอันหยาบคาย

ของคนอื่นไว้ในใจ แต่ควรพิจารณาถึงกิจที่กระทำแล้วและยังไม่ได้กระทำ

ของตนเอง ดีกว่า "

ขอบคุณและอนุโมทนาค่ะ

ขออนุโมทนาค่ะ

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ