ในสมถภาวนาบอกเลือดเป็นธาตุน้ำ แต่ในวิปัสสนาภาวนาบอกไม่เป็น ?

 
natre
วันที่  12 ก.พ. 2555
หมายเลข  20531
อ่าน  1,740

ครับจากพระอภิธรรม ธาตุดิน น้ำ ไฟ ลม ธาตุน้ำไม่อาจเป็นอารมณ์ให้สติระลึก ให้เกิดปัญญาได้ แต่ในการพิจารณาในสมถภาวนาท่านบอกพิจารณาได้สองธาตุคือ ธาตุดิน เช่น ผม ขน ป็นต้นและธาตุน้ำเช่น เลือด น้ำหนอง เป็นต้นก็เป็นปัญญา จึง สงสัยว่าหากผู้ไม่ได้ศึกษาอภิธรรม จะมีหนทางใดให้วิปัสสนาญาณเกิด ก็ในเมื่อไม่รู้ชัดในธาตุ (รูปธาตุ นามธาตุ) แล้วจะมีอะไรให้สำเร็จมรรคผล แล้วในสมถภาวนาเป็น ธาตุน้ำและเป็นปัญญาด้วยเหตุผลใด ซึ่งดูคล้ายกับธาตุน้ำในภาวนาท้งสอง (สมถะ - วิปัสสนา) จะขัดแย้งกันและจะอธิบายให้ชาวพุทธส่วนมากเข้าใจปัญหานี้อย่างไร

กราบอาจารย์อธิบายด้วยครับ

กราบขอบคุณครับ


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
paderm
วันที่ 12 ก.พ. 2555

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

ธาตุน้ำ (อาโป) มีลักษณะไหลหรือเกาะกุม เป็นสุขุมรูป รู้ได้เฉพาะทางใจเท่านั้น ดังนํ้น ธาตุน้ำ จึงไม่ใช่ น้ำที่เห็น ทางตา เพราะนั่นเป็น สมมติอาโป และที่เราสัมผัสทางกายก็ไม่ใช่ธาตุน้ำ แต่เป็น เย็น ร้อน (ธาตุไฟ) - อ่อน แข็ง (ธาตุดิน) - ตึงไหว (ธาตุลม)

ซึ่งโดยนัยพระสูตร ที่เป็นการอบรมสมถภาวนา ที่มีบัญญัติ เป็นอารมณ์ ธาตุน้ำ ก็เช่น เลือด น้ำหนอง ดี เป็นต้น ซึ่งสำหรับการเจริญสมถภาวนา นั้น มุ่งหมายเพื่อความสงบจากกิเลส เพื่อละความยินดีพอใจ ที่เคนติดข้องในร่างกายนั้น เช่น ยินดีพอใจว่างาม สวย ซึ่งเมื่อพิจารณาธาตุน้ำ โดยความเป็นอสุภะ ไม่งาม ที่เป็นเลือด น้ำหนองอันเป็นสิ่งที่ปฏิกูล ไม่งามเลย เมื่อพิจาณาด้วยปัญญา ย่อมไม่ติดข้อง นี่คือ การพิจารณาโดยนัยสมถภาวนา ที่พิจารณาธาตุน้ำโดยความเป็นบัญญัติเรื่องราว แต่ไม่ใช่ด้วยการรู้ลักษณะของธาตุน้ำจริงๆ ที่มีลักษณะ ไหล เกาะกุม ครับ แต่โดยนัยพระอภิธรรม และการเจริญวิปัสสนา มุ่งถึงลักษณะของธาตุจริงๆ ที่เป็นธาตุน้ำ มีลักษณะเกาะกุม ไหลไป เพื่อให้เห็นถึงความเป็นอนัตตา เป็นธรรมไม่ใช่เรา นี่คือ การเจริญวิปัสสนา เพื่อเข้าถึงลักษณะของสภาพธรรม ดังนั้น การเจริญสติปัฏฐาน หรือ วิปัสสนา จึงมีปรมัตถธรรมที่เป็นลักษณะของสภาพธรรมเป็นอารมณ์โดยตรง เช่น ลักษณะของธาตุดิน ก็ อ่อน แข็ง เป็นต้น รู้ลักษณะของธาตุน้ำ เช่น เกาะกุม ไหล เป็นต้น เพื่อไม่ยึดถือว่า เป็นเลือดเรา เป็นน้ำหนองเรา แต่เป็นเพียงสภาพธรรมเท่านั้น เพื่อไถ่ถอนความเห็นผิดว่าเป็นเรา เป็นสัตว์ บุคคลครับ

ดังนั้น พระอภิธรรมก็แสดง เรื่องการรู้ธาตุน้ำตามความเป็นจริงด้วย แต่มุ่งถึงลักษณะของธาตุน้ำโดยตรง เพื่อละความยึดถือว่าเป็นเรา ไม่ใช่ การพิจารณาเรื่องราวของ เลือด น้ำหนอง ที่เป็นนัยสมถภาวนา เพื่อละความติดข้องในร่างกายครับ

พระธรรมจึงไม่ขัดแย้งกัน ทั้งพระอภิธรรม สมถภาวนา และวิปัสสนาภาวนา เพียงแต่ว่ามุ่งหมายถึง ปัญญาระดับใด ที่เป็นปัญญาการรู้ และละกิเลสแตกต่างกัน ตามระดับปัญญาที่เป็นสมถภาวนาและวิปัสสนาภาวนาครับ

ดังนั้น เลือด เป็นธาตุน้ำโดยนัยสมมติของพระสูตร และการอบรมสมถภาวนา แต่ถ้าพูดถึงการเจริญวิปัสสนา จะต้องรู้ลักษณะของธาตุน้ำ ไม่ใช่สมมติที่เป็นเลือด ซึ่งลักษณะของธาตุน้ำ จึงไม่ใช่ชื่อ เรื่องราวที่เป็น เลือด น้ำหนอง แต่ลักษณะ คือ ไหล เกาะกุม ซึ่ง วิปัสสนารู้ลักษณะนั้น เพื่อไถ่ถอนว่าเป็นเรา เป็นเลือด เป็นน้ำหนอง แต่เป็นเพียงธรรม ครับ

การฟังเรื่องสภาพธรรม แม้จะไม่ใช้ขื่อว่า ศึกษาอภิธรรม ก็ชื่อว่า กำลังศึกษาเพื่อเข้าใจอภิธรรม เพราะอภิธรรมก็คือ ความจริงที่กำลังมีในขณะนี้ครับ เพื่อถึงปัญญาที่รู้ว่าไม่ใช่เราเป็นแต่เพียงธรรม

ขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
khampan.a
วันที่ 12 ก.พ. 2555

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

ตามความเป็นจริงแล้ว สภาพธรรมที่มีจริงทุกอย่างทุกประการ สามารถเป็นที่ตั้งให้สติปัญญาเกิดขึ้นระลึกรู้ตามความเป็นจริงได้ ไม่มีเว้นเลย แม้แต่สภาพธรรมที่เป็นรูปธรรม มีธาตุดิน ธาตุน้ำ ธาตุไฟ และธาตุลม เป็นต้น ซึ่งเป็นสภาพธรรมที่มีจริงๆ เป็นธรรมแต่ละอย่างๆ ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน สำคัญ คือ ความเข้าใจถูกเห็นถูก อันเริ่มที่การฟัง การศึกษาพระธรรม ฟังในสิ่งที่มีจริงบ่อยๆ เนืองๆ สะสมความเข้าใจถูกเห็นถูกไปตามลำดับ

เพราะการที่ปัญญาจะเจริญขึ้นได้นั้น จะขาดการฟัง การศึกษาพระธรรมไม่ได้เลย ประโยชน์จริงๆ คือ สะสมความเข้าใจถูกเห็นถูกไปตามลำดับ จนกว่าสติจะเกิดขึ้นระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏตามความเป็นจริง ซึ่งเป็นไปตามเหตุตามปัจจัยทั้งหมด ไม่อยู่ในอำนาจบังคับบัญชาของใครทั้งสิ้น ครับ

...ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ...

 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
วิริยะ
วันที่ 12 ก.พ. 2555

ขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 4  
 
เซจาน้อย
วันที่ 14 ก.พ. 2555

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

ขอบคุณ และขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 5  
 
ภพฺพาคมโน
วันที่ 16 ก.พ. 2555

ในสมถภาวนา "เลือด" จะเจริญในหมวดอาโปกสิณ (เพ่งน้ำ) หรือโลหิตกสิณ (เพ่งสีแดง) ก็ได้

แต่ในการเจริญวิปัสสนา เลือดจัดเป็นธาตุน้ำ ซึ่งจัดอยู่ในสุขุมรูป ๑๖ (รูปที่ไม่ปรากฏชัด กำหนดยาก แทงตลอดลักษณะได้ยาก) จึงไม่นิยมในการเจริญวิปัสสนา

รูปที่ใช้ในการเจริญวิปัสสนา จะใช้โอฬาริกรูป ๑๒ คือ รูปที่ปรากฏชัดเจน พิจารณาด้วยปัญญาได้ ได้แก่ ปสาทรูป ๕ และวิสยรูป ๗ คือ รูปารมณ์ สัททารมณ์ คันธารมณ์ รสารมณ์ ปฐวี เตโช วาโย ซึ่งรูปเหล่านี้สักแต่ว่าเห็น ได้ยิน ได้กลิ่น รู้รส หรือถูกต้องสัมผัส ก็สามารถจะรู้ได้ชัดแจ้งจนถึงให้เกิดปัญญาญาณได้

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ