ซื่อ...กินไม่หมด คด...กินไม่นาน.

 
พุทธรักษา
วันที่  12 ก.พ. 2555
หมายเลข  20535
อ่าน  8,571

ข้อความข้างต้น เป็น "สุภาษิต" ที่ได้ยินมา

ขอเรียนถามท่านวิทยากร พระผู้มีพระภาคเจ้า ทรงตรัสสอนเกี่ยวกับเรื่องนี้ไว้บ้างหรือไม่ อย่างไร มีอยู่ในพระไตรปิฎกส่วนไหน ขอความกรุณาด้วยค่ะ


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
paderm
วันที่ 13 ก.พ. 2555

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

ซื่อ กินไม่หมด คดกินไม่นาน ไม่มีข้อความนี้ในพระไตรปิฎก ตามที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงไว้ครับ แต่พระพุทธเจ้าทรงแสดง เรื่อง ความซื่อ และ เรื่องของความคดไว้ดังนี้

ความซื่อ ในที่นี้ ไม่ได้หมายถึง ความโง่ ความไม่รู้อะไร พระพุทธเจ้าทรงแสดงว่า คือ ความซื่อตรง ซื่อตรงในที่นี้ จะต้องเป็นกุศล เพราะขณะที่เป็นอกุศล ไม่ตรงเลย เพราะเอนเอียงด้วยอำนาจกิเลส มีโลภะ โทสะ เป็นต้น เพราะเป็นกุศลจิต ชื่อว่า ซื่อตรง ใจที่ตรง เมื่อใจตรง วาจาก็ซื่อตรง ไม่คด ด้วยอกุศล วาจาก็เป็นไปโดยชอบ ไม่พูดเท็จ พูดหยาบ พูดส่อเสียด พูดเพ้อเจ้อ แต่พูดวาจาด้วยกุศลจิต ชื่อว่า เป็นผู้ซื่อตรง การกระทำทางกาย ก็ทำโดยชอบ คือ ไม่ฆ่าสัตว์ ลักทรัพย์ นี่คือ ความเป็นผู้ตรง ซื่อตรง ทางกาย วาจาและใจ และ กุศลทุกระดับ ชื่อว่า ซื่อตรง ความไม่โอ้อวด ไม่มีมายา ชื่อว่า ซื่อตรงในขณะนั้น และ การเจริญสมถภาวนา และ เจริญวิปัสสนา คือ ขณะที่ระลึกรู้ลักษณะของสภาพะรรมที่กำลังปรากฏว่าเป็นธรรมไม่ใช่เรา ขณะนั้น ชื่อว่า ซื่อตรง ตรงต่อสภาพธรรมตามความเป็นจริง ว่าไม่ใช่เรา เป็นแต่เพียงธรรมครับ ดังข้อความในพระไตรปิฎกที่แสดงว่า ความซื่อตรง คือ อะไรครับ

[เล่มที่ 46] พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต เล่ม ๑ ภาค ๕ - หน้าที่ 373

เป็นผู้ตรงเพราะความเป็นผู้ไม่โอ้อวด เป็นผู้ซื่อตรง เพราะความเป็นผู้ไม่มีมายา เป็นผู้ตรง ด้วยการละ การคดทางกายและทางวาจา เป็นผู้ซื่อตรง ด้วยการละ การคดทางใจ หรือเป็นผู้ตรง ด้วยการไม่โปรยคุณที่ไม่มี เป็นผู้ซื่อตรง ด้วยการ ไม่รับลาภที่เกิดขึ้นด้วยคุณที่ไม่มี พึงเป็นผู้ตรงและเป็นผู้ซื่อตรง ด้วยอารัมมณูปนิชฌาน (สมถภาวนา) และลักขณูปนิชฌาน (วิปัสสนาภาวนา)


ส่วน ความคด ชื่อว่า คดแล้ว คือ ไม่ตรง ขณะที่คด คือ ขณะที่เป็นอกุศลจิต เพราะขณะนั้นไม่ตรงตามความเป็นจริง เพราะกิเลส เป็นสภาพธรรมที่ไม่ตรง เอนเอียงไปตามความชอบ ไม่ชอบ ด้วยกิเลส ขณะที่เป็นอกุศลจิต จิตคดแล้ว การกระทำทางวาจาด้วยอกุศลจิต ก็คดด้วย เพราะไม่ตรง ไม่เป็นสิ่งที่ถูกต้อง มีการพูดเท็จ เป็นต้น การกระทำทางกาย ที่คด ก็คือ การฆ่าสัตว์ เป็นต้น

สรุปได้ว่า ขณะใดที่เป็นอกุศลทุกระดับ ชื่อว่า คด ไม่ตรงแล้วตามความเป็นจริง

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
paderm
วันที่ 13 ก.พ. 2555

ซึ่งสำหรับ คำว่า ซื่อ กินไม่หมด คดกินไม่นาน

ในทางโลก ก็หมายถึง การที่เป็นคนไม่ตรง ทำสิ่งที่ไม่ดี ไม่ว่าจะเป็นการค้าขาย การคบกันเป็นเพื่อน หากคดโกง ไม่ตรง ทำสิ่งที่ไม่ดี กับลูกค้า หรือ เพื่อนที่คบหา ก็กินไม่นาน คือ ไม่ได้สิ่งที่ดี มีการได้ลูกค้า ได้ความเป็นมิตร ได้ไม่นานเลย เพราะผู้อื่นย่อมไม่ไว้ใจและไม่คบหา เป็นต้นครับ แต่ หากมีความซื่อตรง ทำดี ด้วยใจจริง มีความเป็นมิตร แม้การค้าขาย ก็ตรงไปตรงมา ซื่อตรง กล่าวคำจริง ผู้ที่เป็นลูกค้า และมิตรสหายที่คบหาก็เชื่อใจ และไว้ใจ ย่อมคบหาไปด้วยกันนานครับ นี่คือ ความหมายทางโลกครับ

ส่วนเรื่องราวในพระไตรปิฎก ที่แสดง ถึง ความซื่อตรง ทำให้ได้ความเป็นมิตร ได้ประโยชน์จากความดี และ การไม่ตรง คดโกง กับได้ประโยชน์เพียงชั่วขณะ และก็ทำลายประโยชน์ผู้นั้น ก็มีเรื่องงราวในพระไตรปิฎกครับ ชื่อเรื่องว่า เสรีววาณิชชาดก

เรื่องราวมีอยู่ว่า มีพ่อค้า ๒ คน พ่อค้าคนแรก เป็นพระโพธิสัตว์ พ่อค้าอีกคน เป็นท่านพระเทวทัต พ่อค้าทั้งสอง เป็นคนเลี้ยงชีพด้วยการนำของๆ ตน มีเครื่องประดับ เป็นต้น ไปแลกของเก่า พ่อค้าผู้โลเล ไม่ตรง ได้เดินเข้าไปในละแวกบ้าน ร้องรียกว่า ใครมีของเก่าให้ออกมาขาย จะแลกกับเครื่องประดับ ณ ละแวกบ้านนั้น มีตระกูลเศรษฐีเก่า มีแต่ยายและหลาน ทรัพย์ไม่ค่อยมี ถึงความยากจน มีแต่เพียงถาดทองที่ใช้อยู่ แต่เพราะการใช้บ่อย เขม่าจับ จึงไม่รู้ว่าเป็นถาดทอง หลานอยากได้เครื่องประดับ จึงบอกให้ยายเอาถาดเก่าใบนี้ไปขายแลกเครื่องประดับมา พ่อค้าโลเล มาถึง คิดว่าอาจเป็นถาดทองก็ได้ เลยแอบเอาเข็มขีด รู้ว่าเป็นถาดทอง มีราคามาก คิดด้วยความไม่ซื่อ คือ คด หรือ คิดด้วยอกุศลนั่นเองครับ คือว่าเราจะไม่ให้ทรัพย์อะไรเลยกับ ยาย หลาน แต่จะเอาถือแต่ถาดทองไปอย่างเดียว นี่แสดงให้เห็นถึง ความคดโกง ด้วยอกุศลครับ

เมื่อคิดดังนี้ ก็แกล้งกล่าว ไม่ตรงความจริง (คดแล้ว) กล่าวว่า ถาดนี้ไม่มีค่าอะไรเลย จะแลกกับของมีค่าอะไรเราได้อย่างไร จึงทำเป็นเหวี่ยงถาดทองทิ้ง คิดว่าจะมาเอาทีหลังนั่นเองครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
paderm
วันที่ 13 ก.พ. 2555

เมื่อพ่อค้าโลเลได้ไปแล้ว คิดจะมาภายหลัง พระโพธิสัตว์ก็ร้องเรียก ค้าขายเดินตามมา หลานก็อยากได้เครื่องประดับอีก จึงเอาถาดทองมาขาย พระโพธิสัตว์พิจารณารู้แล้ว กล่าวกับยาย หลาน ว่าเป็นถาดทอง มีราคา แสนหนึ่ง จะเห็นนะครับว่า นี่กล่าวด้วยสัจจะความจริง เป็นผู้ซื่อตรง ด้วยกุศล ท่านก็บอกว่า ท่านไม่มีทรัพย์เพียงพอที่จะซื้อถาดทองได้ พูดตามความเป็นจริงอีกเช่นกัน ยาย กล่าวว่า ถาดทองนี้เกิดขึ้นเพราะบุญของท่าน เพราะความเป็นผู้ตรง ดังนั้น เราขายให้ท่าน ท่านให้ตามที่ท่านมี พระโพธิสัตว์จึงให้ทรัพย์เท่าที่มีทั้งหมด รวมทั้งของ รวมมูลค่า พันกหาปณะ และขอไว้ ๘ กหาปณะ และตาชั่ง ไว้เดินทางและขายของ เมื่อให้เสร็จแล้ว ก็รีบไปที่ท่าเรือ เดินทาง

ฝ่ายพ่อค้าโกง รีบกลับมาที่เรือนของยายและหลาน กล่าวว่าเราอาจให้ของนิดนึงกับถาดใบนี้ ยายได้ด่า ว่า พ่อค้าที่โกหกแล้ว และกล่าวว่าเราขายให้กับพ่อค้าที่ซื่อตรง เป็นคนดีแล้ว พ่อค้าโกงได้ฟังโกรธ เสียใจถึงกับสลบไป เมื่อฟื้น ก็รีบตามพระโพธิสัตว์ไป พระโพธิสัตว์ขึ้นเรือออกไปแล้ว พ่อค้าโกง บอกให้คนแจวเรือหยุด พระโพธิสัตว์ไม่ให้หยุด เมื่อพ่อค้าโกงเห็นดังนั้น ก็เสียใจอย่างมาก โกรธอย่างมาก ถึงกับเลือดออกจากปาก และก็ตายตรงนั้น แต่ก่อนตายได้ผูกอาฆาตพระโพธิสัตว์ นี่คือ ความผูกอาฆาตของพระเทวทัตที่มีต่อพระพุทธเจ้าครั้งแรก ครับ

จากตัวอย่างนี้ จะเห็นได้ว่า ความซื่อตรง ย่อมนำมาซึ่งสิ่งที่ดี มีประโยชน์ ไม่เสื่อมทรัพย์ และ คนก็ไว้ใจ กินได้นาน คบกันได้นาน และทรัพย์ก็งอกเงยขึ้นครับ แต่ คนที่คดโกง ก็ย่อมเสื่อมจากทรัพย์ เสื่อมจากมิตร มียายและหลาน เป็นต้น ย่อมกินไม่ได้นานครับ

อีกหลายตัวอย่างที่ ความคด ไม่ตรง มีความอกตัญญู เป็นต้น ย่อมกินไม่ได้นาน คือไม่มีใครคบได้นาน เพราะไม่อยากคบ ดังเช่น มีคนหลงทางในป่า ออกจากป่าไม่ได้ ร้องคร่ำครวญ พระโพธิสัตว์เกิดเป็นลิง เห็นเขาน่าสงสาร จึงเดินพาออกไป หลายๆ วัน เมื่อคนนั้นเริ่มมีแรงบ้าง คิดว่า ลิงก็เป็นอาหารมนุษย์ เมื่อพระโพธิสัตว์หลับพักอยู่ ก็เอาก้อนหินทุบหัวพระโพธิสัตว์ แต่เพราะความที่มีแรงน้อย จึงทำให้หัวแตกเท่านั้น ไม่ถึงตาย แต่พระโพธิสัตว์ก็ยังพาไป จนออกจากทางและไม่คบหาอีก แต่เพราะกรรมนั้น ทำให้เกิดเป็นโรคเรื้อน ทั่วตัวจนตาย นี่คือ ความเสื่อม เสียจากมิตร กินได้ไม่นาน เพราะความคดทางกาย เพราะใจที่คดนั่นเอง ครับ

กุศลทุกระดับ เป็นความซื่อตรง อกุศลทุกระดับ เป็นความคด กุศลย่อมให้ผลเป็นสุข กินได้นาน เพราะผลของกุศลให้ผลที่ดี อกุศลกินได้ไม่นาน เพราะย่อมตัดรอนประโยชน์เมื่อกุศลนั้นให้ผลครับ และสำคัญที่สุด ความซื่อตรงที่เป็นการเจริญสติปัฏฐานระลึกลักษณะของสภาพธรรมที่มีจริงในขณะนี้ ย่อมถึง ความสุข ที่แท้จริง คือ การดับกิเลสได้ ครับ ซึ่งก็ต้องอาศัยการฟังพระธรรม ศึกษาพระธรรมนั่นเองครับ

ขออนุโมทนา

 
  ความคิดเห็นที่ 4  
 
khampan.a
วันที่ 13 ก.พ. 2555

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

ชีวิตของแต่ละบุคคลที่เกิดมา ไม่มีใครเหมือนใครซักคนเดียว ตั้งแต่เกิดมา ไม่ว่าจะเป็นรูปร่าง หน้าตา ฐานะ ความเป็นอยู่ เป็นต้น นอกจากนั้นเวลาที่มีชีวิตอยู่ ก็ยังต่างกันไป มีความประพฤติที่แตกต่างกันออกไปตามเหตุปัจจัยที่ได้สะสมมา เป็นความหลากหลายอย่างยิ่งของธรรม ซึ่งใครก็บังคับบัญชาไม่ได้เลย ต้องเป็นอย่างนี้และกำลังเป็นอย่างนี้ทุกขณะ

ชีวิต ไม่ได้จบลงเฉพาะในชาตินี้ชาติเดียวเท่านั้น เพราะยังเป็นผู้มีกิเลสอยู่ ยังต้องเกิดในภพใหม่ต่อไป ชาติต่อไป ก็ต้องมี และชาติต่อๆ ไปก็ต้องมี ถ้าเป็นผู้ที่ประมาทมัวเมา ไม่เห็นโทษของอกุศลกรรมประการต่างๆ เป็นไปตามอำนาจของกิเลส เป็นผู้มีความคด ไม่ตรงทั้งทางกาย ทางวาจา และทางใจ กล่าวได้ว่าเป็นผู้ที่เห็นเพียงโลกนี้โลกเดียว เพราะไม่ได้คิดถึงผลที่จะตามมาจากการกระทำอกุศลกรรม ที่จะให้ผลที่ไม่ดี ไม่น่าปรารถนาไม่น่าใคร่ ไม่น่าชอบใจ โดยไม่มีใครทำให้เลย ซึ่งจะตรงกันข้ามกับผู้ที่เห็นโทษของอกุศลและเห็นคุณของกุศล ย่อมจะเป็นผู้ที่ไม่ประมาท แม้จะเป็นผู้ที่ยังละกิเลสไม่ได้ ก็ไม่ทอดทิ้งฉันทะในการเจริญกุศล โดยเฉพาะอย่างยิ่งคือ การฟังพระธรรม ศึกษาพระธรรม อบรมเจริญปัญญา เมื่อมีความเข้าใจเพิ่มมากขึ้น กุศลธรรมทั้งหลายก็จะค่อยๆ เจริญขึ้น คล้อยตามความเข้าใจที่เพิ่มขึ้น กุศลธรรม เท่านั้นที่จะเป็นที่พึ่งได้อย่างแท้จริง นำมาซึ่งผลที่น่าปรารถนา น่าใคร่ น่าพอใจเท่านั้น เป็นไปไม่ได้เลยที่กุศล จะให้ผลเป็นสิ่งที่ไม่ดี

การได้ฟัง ได้ศึกษาพระธรรม ตามที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดง ย่อมเป็นไปเพื่อประโยชน์เกื้อกูลในการดำเนินชีวิตของแต่ละบุคคล ถ้าเป็นผู้ที่เข้าใจตามความเป็นจริงถึงกุศลและอกุศล ว่า อกุศลเป็นโทษ ให้ผลเป็นทุกข์ และเป็นสิ่งที่ควรละ ไม่ควรทำเลย ส่วนกุศล ความดีทั้งหลายทั้งปวงนั้นเป็นสิ่งที่ควรทำ แม้จะไม่มีใครเห็นก็ตาม เมื่อเข้าใจในเหตุและผลของกุศลและอกุศลแล้ว ย่อมจะเป็นผู้มีความละอาย มีความเกรงกลัวต่ออกุศล ไม่ประมาทในอกุศลแม้จะเล็กน้อย ทำให้เป็นผู้ถอยกลับจากอกุศล และเพิ่มพูนกุศลในชีวิตประจำวัน ขัดเกลากิเลสของตนเองยิ่งๆ ขึ้นไป

"ถ้ากลัวความเดือดร้อนเสียใจในภายหลัง ก็ต้องงดเว้นจากสิ่งที่ไม่ดี ต้องไม่ทำในสิ่งที่ไม่ดี อย่างเด็ดขาด และนอกจากนั้นยังจะต้องเพิ่มพูนความดีในชีวิตประจำวัน ให้ยิ่งๆ ขึ้นไปด้วย" ครับ

ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ...

 
  ความคิดเห็นที่ 5  
 
เซจาน้อย
วันที่ 13 ก.พ. 2555

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

ขอบคุณ และขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 6  
 
jaturong
วันที่ 14 ก.พ. 2555

ขอบคุณ และขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 7  
 
chatchai.k
วันที่ 15 ก.ค. 2563

ขออนุโมทนาครับ

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ