คลาดเคลื่อนจากความเป็นกุศล

 
เมตตา
วันที่  13 ก.พ. 2555
หมายเลข  20539
อ่าน  2,970

เมื่อกล่าวถึงความวิปลาสที่เกิดขึ้นในชีวิตประจำวัน ทุกอย่างก็ไม่พ้นธรรมะ ขณะที่ไม่รู้ความจริงขณะนี้ ...ก็วิปลาส ขณะที่เป็นอกุศลขณะนั้นวิปลาส ฟังธรรมแล้วหาเรื่องหรือจะค่อยๆ เข้าใจหาความจริงของสิ่งที่กำลังปรากฏ ไม่รู้ความจริงเลยของสิ่งที่กำลังปรากฏ ไปหาเรื่องอื่นคิด หรือไปพยามยามเข้าใจสิ่งที่เกินวิสัย จะคิดเรื่องราวต่างๆ เป็นสัตว์ บุคคล สิ่งของต่างๆ ขณะนั้นก็คลาดเคลื่อนจากความเป็นจริง คิดเรื่องราวของวิปลาสต่อไป

ถ้ายังไม่รู้ความจริง ของสิ่งที่กำลังปรากฏก็จะละวิปลาสและอกุศลต่างๆ ไม่ได้เลย แม้กุศลที่ไม่ประกอบด้วยปัญญาจะไม่วิปลาสก็จริง แต่กุศลนั้นยังไม่สามารถดับวิปลาสได้ เพราะกุศลนั้นยังเป็นเรา หนทางที่ละวิปลาสคือการอบรมเจริญปัญญาอบรมความเข้าใจถูก เห็นถูกในสิ่งที่มีจริงที่กำลังปรากฏในชีวิตประจำวัน พระธรรมทั้งหมดที่ทรงแสดงตามความเป็นจริง เป็นวาจาสัจจะ ผู้ที่อบรมเจริญปัญญารู้ความจริงที่ทรงแสดงไว้สามารถที่จะละวิปลาสได้

พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดงเรื่องวิปลาส ก็เพื่อเตือนให้ไม่ประมาทในอกุศล เพื่อให้รู้ว่าอกุศลมีมากแค่ไหน ถ้าอยู่ด้วยความไม่รู้ความจริงไปเรื่อยๆ วิปลาสจะมากแค่ไหน?

...กราบเท้าบูชาคุณท่านอาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์ ด้วยความเคารพอย่างยิ่งค่ะ...


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
paderm
วันที่ 13 ก.พ. 2555

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

ข้อความจากธัมมนิเทส

วิปลาส

(วิปัลลาส) ความคลาดเคลื่อน ความตรงกันข้าม ความผันแปร หมายถึง ความคลาดเคลื่อนจากความเป็นจริงด้วยอาการ ๓ ที่เกิดกับอกุศลจิต ๑๒ ดวงเท่านั้น คือสัญญาวิปลาส ๑ จิตตวิปลาส ๑ ทิฏฐิวิปปลาส ๑

วิปลาส ๓ นี้ เป็นไปในอาการ ๔ คือ

ในสิ่งที่ไม่งามว่างาม ๑

ในสิ่งที่เป็นทุกข์ว่าเป็นสุข ๑

ในสิ่งที่ไม่เที่ยงว่าเที่ยง ๑

ในสิ่งที่ไม่ใช่ตัวตนว่าเป็นตัวตน ๑

จึงกลายเป็นวิปลาส ๑๒ อย่าง คือ

๑. สัญญาวิปลาส จำผิดว่ารูปเป็นของงาม พระอนาคามีจึงละได้

๒. สัญญาวิปลาส จำผิดว่าเวทนาเป็นสุข พระอรหันต์จึงละได้

๓. สัญญาวิปลาส จำผิดว่าจิตเที่ยง พระโสดาบันจึงละได้

๔. สัญญาวิปลาส จำผิดว่าธรรมเป็นตัวตน พระโสดาบันจึงละได้

๕. จิตตวิปลาส คิดผิดว่ารูปเป็นของงาม พระอนาคามีจึงละได้

๖. จิตตวิปลาส คิดผิดว่าเวทนาเป็นสุข พระอรหันต์จึงละได้

๗. จิตตวิปลาส คิดผิดว่าจิตเที่ยง พระโสดาบันจึงละได้

๘. จิตตวิปลาส คิดผิดว่าธรรมเป็นตัวตน พระโสดาบันละได้

๙. ทิฏฐิวิปลาส เห็นผิดว่ารูปเป็นของงาม พระโสดาบันละได้

๑๐. ทิฏฐิวิปลาส เห็นผิดว่าเวทนาเป็นสุข พระโสดาบันละได้

๑๑. ทิฏฐิวิปลาส เห็นผิดว่าจิตเที่ยง พระโสดาบันละได้

๑๒. ทิฏฐิวิปลาส เห็นผิดว่าธรรมเป็นตัวตน พระโสดาบันละได้

พระโสดาบันและพระสกทาคามี ละวิปลาสได้ ๘ ประเภท คือ

สัญญาวิปลาสในธรรมที่ไม่ใช่ตัวตนว่าเป็นตัวตน ๑

ในธรรมที่เที่ยง ๑

จิตตวิปลาสในธรรมที่ไม่ใช่ตัวตนว่าเป็นตัวตน ๑

ในธรรมที่เที่ยง ๑ และ

ทิฎฐิวิปลาสในอาการทั้ง ๔

พระอนาคามี ละวิปลาสได้อีก ๒ คือ

สัญญาวิปลาสในรูปที่ไม่งามว่างาม ๑ และ

จิตตวิปลาสในรูปที่ไม่งามว่างาม ๑

พระอรหันต์ ละวิปลาสที่เหลือทั้งหมดอีก ๒ คือ

สัญญาวิปลาสและจิตตวิปลาสในเวทนาที่เป็นทุกข์ว่าเป็นสุข ๒

อกุศลจิตทุกดวงเป็นจิตตวิปลาสอย่างหนึ่งในอาการ ๔ สัญญาเจตสิกที่เกิดกับอกุศลจิตทุกดวง เป็นสัญญาวิปลาสอย่างใดอย่างหนึ่งในอาการ ๔ ทิฏฐิเจตสิกที่เกิดกับโลภมูลจิตทิฎฐิคตสัมปยุตต์ ๔ ดวง เป็นทิฏฐิวิปลาสอย่างใดอย่างหนึ่งในอาการ ๔

พระผู้มีพระภาคทรงแสดงสติปัฏฐาน ๔ เพื่อละวิปลาสทั้ง ๔ แต่ไม่ควรเจาะจงละวิปลาสอย่างใดอย่างหนึ่งโดยเฉพาะ เพราะว่าทุกท่านที่ไม่ใช่พระอริยบุคคล ย่อมมีวิปลาสครบทั้ง ๔ ขณะที่สติปัฎฐานเกิดขึ้นระลึกรู้สภาพธรรมอย่างใดอย่างหนึ่งโดยความเป็นอนัตตา เพราะความเข้าใจจากการฟังพระธรรมที่ถูกต้อง จึงเป็นสังขารขันธ์ปรุงแต่งให้สติฯ เกิดขึ้น ขณะนั้นย่อมเป็นสติปัฏฐานอย่างใดอย่างหนึ่งในสติปัฏฐาน ๔ และความเข้าใจสภาพธรรมที่ค่อยๆ เกิดขึ้น ก็ย่อมค่อยๆ ละคลายวิปลาสนั้นๆ จนกว่าจะละได้เด็ดขาดเมื่อมรรคจิตเกิดขึ้น

สำคัญที่สุด ไม่ใช่การไปหาว่าขณะไหนวิปลาส เพราะหากไม่มีปัญญา แม้การเข้าใจว่า ขณะนี้เป็นธรรมหรือไม่อย่างไร ด้วยสติ สัมปชัญญะที่เกิดระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมว่าเป็นธรรมไม่ใช่เรา ก็ไม่มีทางรู้เลยว่าขณะใด วิปลาส ไม่วิปลาส เพียงแต่ค่อยๆ เข้าใจขั้นการฟังว่า ปกติโดยมากก็วิปลาส คลาดเคลื่อนจากความเป็นจริง เป็นธรรมดา เพราะโดยมากก็เกิดอกุศลบ่อยๆ หนทางการละวิปลาส จึงไม่ใช่การไปหาวิปลาส แต่การเข้าใจความจริงว่าเป็นธรรมไม่ใช่เรา โดยเริ่มจากการฟังให้เข้าใจ คือ หนทางการละวิปลาส ครับ

ขออนุโมทนา

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
pamali
วันที่ 13 ก.พ. 2555

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
JANYAPINPARD
วันที่ 13 ก.พ. 2555

ขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 4  
 
daris
วันที่ 13 ก.พ. 2555

เข้าใจเรื่องวิปลาสขึ้นมากเลยครับ

ขอกราบขอบพระคุณและขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 5  
 
khampan.a
วันที่ 13 ก.พ. 2555

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

วิปลาส ต้องเป็นเฉพาะในขณะที่จิตเป็นอกุศลเท่านั้น ในชีวิตประจำวันของบุคคลผู้ที่ยังมีกิเลส ย่อมเป็นผู้ถูกกิเลสมารกลุ้มรุมจิตใจ ทำให้จิตใจเศร้าหมองอยู่เป็นประจำ ซึ่งไม่ใช่เฉพาะวันนี้ ชาตินี้เท่านั้น เคยเป็นอย่างนี้มาแล้วนับชาติไม่ถ้วน อกุศลจิตจึงเกิดขึ้นเป็นไปมาก ขณะที่วิปลาส จึงมีมาก เมื่อไม่ได้ฟังพระธรรม ไม่ได้ศึกษาพระธรรม เพื่อความเข้าใจที่ถูกต้องตามความเป็นจริงแล้ว การที่จะดับกิเลสให้หมดไปนั้น ย่อมเป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้ จึงต้องเริ่มฟัง เริ่มศึกษาพระธรรม เพื่อสะสมปัญญาต่อไป เพราะเหตุว่ากิเลสที่มีมาก ต้องอาศัยปัญญาเท่านั้น จึงจะดับได้ และปัญญาจะเกิดขึ้นได้นั้น ก็ต้องอาศัยการอบรมเจริญในชีวิตประจำวัน ด้วยการฟัง การศึกษาบ่อยๆ เนืองๆ สะสมไปทีละเล็กทีละน้อย นั่นเอง

ที่สำคัญ จะขาดการฟังพระธรรมไม่ได้เลยทีเดียว หนทางแห่งการอบรมเจริญปัญญาเท่านั้นที่จะเป็นไปเพื่อละคลายกิเลส ดับวิปลาสได้ในที่สุด ครับ.

...ขอบพระคุณและขออนุโมทนาในกุศลจิตของพี่เมตตาและทุกๆ ท่านด้วยครับ...

 
  ความคิดเห็นที่ 6  
 
ผู้ร่วมเดินทาง
วันที่ 13 ก.พ. 2555

เรียน อาจารย์ผเดิม ความเห็นที่ 1 ครับ

ในหัวข้อที่ ๙. ที่ว่า ทิฏฐิวิปลาส มีความเห็นผิดว่ารูปเป็นสุข พระโสดาบันละได้ ตรงนี้เข้าใจว่าน่าจะเป็น เห็นผิดว่ารูปเป็นของงาม นะครับ

และขออนุญาตเรียนสอบถามเพิ่มเติมครับว่า "รูป" ในที่นี้หมายถึง รูป ๒๘ ทั้งหมดเลยใช่หรือไม่ครับ หรือ หมายเอาเฉพาะรูปบางรูปครับ

ขอบพระคุณและขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 7  
 
เซจาน้อย
วันที่ 13 ก.พ. 2555

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

ขอบคุณ และขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 8  
 
paderm
วันที่ 13 ก.พ. 2555

เรียนความเห็นที่ 6 ครับ

ใช่ครับ ข้อมูลมีการพิมพ์ผิด พระโสดาบัน ละความเห็นผิดในรูปว่างามได้แล้วครับ

ส่วน รูปในที่นี้ หมายถึง รูปทั้งหมดครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 9  
 
ผู้ร่วมเดินทาง
วันที่ 13 ก.พ. 2555

ขอบพระคุณและขออนุโมทนาอาจารย์ผเดิมมากครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 10  
 
chulalak
วันที่ 14 ก.พ. 2555

ขออนุโมทนา

 
  ความคิดเห็นที่ 11  
 
jaturong
วันที่ 14 ก.พ. 2555

ขอบคุณ และขออนุโมทนาครับ

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ