จุติจิต

 
วิริยะ
วันที่  13 ก.พ. 2555
หมายเลข  20544
อ่าน  2,015

จุติจิต หมายถึงอะไร


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
khampan.a
วันที่ 13 ก.พ. 2555

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

ก่อนอื่น ต้องเข้าใจก่อนว่า จุติจิต หมายถึงอะไร?

จุติจิต หมายถึง จิตดวงสุดท้ายของชาตินี้ ที่ทำกิจเคลื่อนจากความเป็นบุคคลนี้ สิ้นสุดความเป็นบุคคลนี้ในชาตินี้ เมื่อดับแล้วก็เป็นปัจจัยให้จิตขณะต่อไป คือ ปฏิสนธิจิตในชาติต่อไปเกิดสืบต่อทันที (สำหรับผู้ที่ไม่ใช่พระอรหันต์)

จุติจิต เรียกตามกิจของจิต เพราะจิตที่กระทำจุติกิจได้ เมื่อกล่าวโดยประมวลแล้ว มี ๑๙ ดวง ตามสมควรแก่แต่ละบุคคล คือ มหาวิบาก ๘ (ดวงใดดวงหนึ่ง) อุเบกขาสันตีรณกุศลวิบาก ๑ อุเบกขาสันตีรณอกุศลวิบาก ๑ รูปาวจรวิบาก ๕ และอรูปาวจรวิบาก ๔ อย่างเช่น ผู้ที่เกิดมาเป็นมนุษย์ที่ไม่พิการตั้งแต่กำเนิดนั้น ต้องเป็นมหาวิบาก ๘ ดวงหนึ่งดวงใด ที่กระทำจุติกิจในชาตินั้น และจุติจิต เป็นจิตที่เกิดขึ้นโดยไม่ต้องอาศัยทวารหนึ่งทวารใดเลย กล่าวคือ จุติจิต ไม่ใช่วิถีจิต

ดังนั้น จุติจิตจะเกิดในขณะที่เป็น วิถีจิต ไม่ได้ แต่ก่อนตายต้องมีวิถีจิตเกิดขึ้น มีชวนจิตเกิด ๕ ขณะอย่างแน่นอน ซึ่งเป็นจิตที่มีกำลังอ่อนมากแล้ว ก่อนที่จุติจะเกิดขึ้น และประการที่สำคัญ จุติจิต เป็นวิบากจิตเป็นผลของกรรม ไม่สามารถบังคับบัญชาหรือยับยั้งได้เลย

เมื่อสิ้นสุดวิถีจิตทางตา หรือ ทางหู เป็นต้นแล้ว จุติจิตสามารถเกิดได้ หรือ สิ้นสุดวีถีจิตทางหนึ่งทางใดแล้ว ภวังคจิตเิกิด จุติจิตก็สามารถเกิดต่อจากภวังคจิต ได้ ขอยกคำบรรยายของท่านอาจารย์สุจินต์ บริหารนเขตต์ มาไว้ ณ ที่นี้ ดังนี้ ครับ

"จุติจิตจะเกิดหลังการสิ้นสุดวิถีหนึ่งวิถีใดย่อมได้ คือ หลังจักขุทวารวิถีจิตดับไปหมดแล้ว จุติจิตเกิดก็ได้ หรือ หลังจากที่จักขุทวารวิถีจิตเกิดขึ้นเห็นสิ่งที่กำลังปรากฏดับไปหมดแล้ว แล้วภวังคจิตยังไม่เกิด จุติจิตเกิดก็ได้ หรือ จะเป็นในขณะที่กำลังได้ยินเสียงในขณะนี้ โสตทวารวิถีจิตเกิดขึ้นได้ยินเสียงทางโสตทวาร ดับไปหมดแล้ว ภวังคจิตเกิด แล้วจุติจิตเกิดก็ได้ หรือว่าเมื่อได้ยินเสียงแล้ว โสตทวารวิถีจิตเกิดดับไปหมดแล้ว ภวังคจิตยังไม่เกิด จุติจิตเกิดก็ได้ หรือว่า บางท่านในขณะนี้กำลังคิดนึกเรื่องหนึ่งเรื่องใด แล้วมโนทวารวิถีจิตดับหมดแล้ว จุติจิตเกิดก็ได้

นี่แสดงให้เห็นว่า จุติจิตซึ่งกระทำกิจเคลื่อนจากความเป็นบุคคลนี้ จะเกิดในขณะไหนได้ทั้งสิ้น หลังจากวิถีจิตทางตา หรือทางหู หรือทางจมูก หรือทางลิ้น หรือทางกาย หรือทางใจ ก็ได้ หรือหลังจากภวังคจิตก็ได้"

ดังนั้น จากประเด็นคำถามที่ว่า "จุติจิต สามารถเกิดได้ทุกขณะ เช่นจิตเห็น เห็นแล้วสิ้นชีวิต หรืออาจจะสิ้นชีวิตลงในวิถีใดวิถีหนึ่ง ใช่หรือไม่อย่างไร" ก็ควรจะได้เข้าใจตั้งแต่เบื้องต้นว่า ขณะที่เห็นเป็นวิถีจิต ยังไม่ตาย จุติจิตยังไม่เกิด แต่เมื่อสิ้นสุดวิถีจิตทางตาแล้ว จุติจิต สามารถเกิดได้ จุติจิตจะไม่เกิดในขณะที่เป็นวิถีจิต ครับ

ขอเชิญคลิกอ่านข้อความเพิ่มเติมได้ที่นี่ครับ

จุติจิตและปฏิสนธิจิตหมายถึงอะไร

จุติจิต

...กราบเท้าบูชาคุณท่านอาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์ ที่เคารพยิ่ง

และขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ...

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
เซจาน้อย
วันที่ 13 ก.พ. 2555

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

ขอบคุณ และขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
วิริยะ
วันที่ 13 ก.พ. 2555

เรียนถาม

ที่ท่านอาจารย์สุจินต์บรรยายว่า "หลังจากจักขุทวารวิถีจิตดับไปหมดแล้ว จุติจิตเกิดก็ได้" นั่นหมายถึงวิถีจิตตั้งแต่ตาเห็นรูป จนถึงชวนะ หรือถึงตทาลัมพนะ แล้วภวังค์ยังไม่ทันเกิด จุติจิตเกิดก่อน สิ้นชีวิตจากความเป็นคนๆ นี้ เป็นเช่นนั้นใช่หรือไม่คะ

 
  ความคิดเห็นที่ 4  
 
khampan.a
วันที่ 13 ก.พ. 2555
อ้างอิงจาก : หัวข้อ 20544 ความคิดเห็นที่ 3 โดย วิริยะ

เรียนถาม

ที่ท่านอาจารย์สุจินต์บรรยายว่า "หลังจากจักขุทวารวิถีจิตดับไปหมดแล้ว จุติจิตเกิดก็ได้" นั่นหมายถึงวิถีจิตตั้งแต่ตาเห็นรูป จนถึงชวน หรือถึงตทาลัมพน แล้วภวังค์ยังไม่ทันเกิด จุติจิตเกิดก่อน สิ้นชีวิตจากความเป็นคนๆ นี้ เป็นเช่นนั้นใช่หรือไม่คะ


ดังที่คุณวิริยะได้กล่าวมา ก็ถูกต้อง แต่ขอเพิ่มเติมว่า วิถีจิตแรกทางตา เป็นจักขุทวาราวัชชนจิต ไม่ใช่จักขุวิญญาณ เมื่อจักขุทวาราวัชชนจิตดับไปแล้ว จักขุวิญญาณ จึงเกิดต่อ, จิตทุกขณะที่เกิดโดยอาศัยจักขุ (ตา) เป็นทวาร ทั้งหมด ตั้งแต่จักขุทวาราวัชชนจิต จนถึง ชวนจิต หรือ ถ้ารูปยังไม่ดับ ตทาลัมพณจิตก็เกิดต่ออีก ๒ ขณะ ชื่อว่า วิถีจิตทางตา [จักขุทวารวิถีจิต] ดังนั้น เมื่อจักขุทวารวิถีจิต ดับไปหมดแล้ว จะสิ้นสุดตรงชวนะ (หรือสิ้นสุดที่ตทาลัมพนจิต) แล้วภวังคจิต ยังไม่เกิด จุติจิตก็เกิดขึ้น สิ้นสุดความเป็นบุคคลนี้ได้ ครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 5  
 
วิริยะ
วันที่ 13 ก.พ. 2555

เรียนถาม

และที่ท่านกล่าวว่า อุเบกขา สันตีรณะ กุศลวิบาก อุเบกขา สันตีรณะ อกุศลวิบาก และวิบากจิตอื่นๆ ที่ทำหน้าที่จุติกิจนั้น เป็นอย่างไร จิตเหล่านั้น ทำจุติกิจ และ จุติจิตเกิดขึ้น ในขณะใดขณะหนึ่ง ความหมายเหมือนกันหรือไม่คะ หรือหมายความว่า อุเบกขาสันตีรณะ กุศล อกุศล วิบาก เป็นตัวที่บ่งชี้ถึงการสิ้นสุดของจิตนั้นๆ ว่า สิ้นสุดแล้ว จะมีปฏิสนธิจิตอย่างได้

ต้องขอประทานโทษอาจารย์คำปั่นด้วยค่ะ ดิฉันมีข้อสงสัยมาก แต่ไม่สามารถเรียบเรียงคำพูดได้

 
  ความคิดเห็นที่ 7  
 
paderm
วันที่ 13 ก.พ. 2555

เรียนความเห็นที่ 5 ครับ

จากคำถามที่ว่า

อุเบกขา สันตีรณะ กุศลวิบาก อุเบกขา สันตีรณะ อกุศลวิบาก และวิบากจิตอื่นๆ ที่ทำหน้าที่จุติกิจนั้น เป็นอย่างไร

จุติกิจ

จุติ (เคลื่อน, ตาย) + กิจฺจ (หน้าที่) หน้าที่ของจิต คือ เคลื่อนจากภพ หมายถึง กิจหน้าที่อย่างหนึ่งของจิตที่ทำให้พ้นจากความเป็นสัตว์ บุคคลนั้น ในบรรดากิจทั้งหมด ๑๔ กิจ จิตทุกดวงจะต้องมีกิจการงานหน้าที่ จะเกิดขึ้นลอยๆ โดยไม่ทำกิจการงานไม่ได้ จุติกิจเป็นหน้าที่ของวิบากจิต ๑๙ ดวง คือ ...

อุเบกขาสันตีรณอกุศลวิบากจิต ๑ ดวง ทำจุติกิจ เคลื่อนจากความเป็นสัตว์ในอบายภูมิ ๔ อุเบกขาสันตีรณกุศลวิบากจิต ๑ ดวง ทำจุติกิจ เคลื่อนจากความเป็นมนุษย์ ที่พิการแต่กำเนิดหรือเกิดเป็นเทวดาชั้นจาตุมหาราชิกา มหาวิบาก ๘ ดวง ทำจุติกิจ เคลื่อนจากความเป็นมนุษย์หรือเทวดา ในกามสุคติภูมิ ๗ มหัคคตวิบากจิต ๙ ดวง ทำจุติกิจ เคลื่อนจากความเป็นรูปพรหมบุคคลใน ๑๕ ภูมิ และอรูปพรหมบุคคลใน ๔ ภูมิ

วิบากจิตประเภทใดทำกิจปฏิสนธิกิจ วิบากประเภทนั้นก็ทำภวังคกิจและจุติกิจด้วยในชาติเดียวกัน ฉะนั้น วิบากจิตที่ทำปฏิสนธิกิจ ภวังคกิจ และจุติกิจจึงมี ๑๙ ดวงเท่ากัน


และจากคำถามที่ว่า

จิตเหล่านั้น ทำจุติกิจ และ จุติจิตเกิดขึ้น ในขณะใดขณะหนึ่ง ความหมายเหมือนกันหรือไม่คะ


ความหมายเหมือนกันครับ ไม่ว่า จุติจิตจะเกิด ในขณะใด หลังจาก ชวนจิต เป็นต้น ไม่ว่าเกิดในขณะใด เมื่อจุติจิตเกิด ก็ทำหน้าที่เคลื่อนพ้นจากความเป็นบุคลนี้ คือ ตาย นั่นเอง ครับ


จากคำถามที่ว่า

จุติจิตเกิดขึ้น ในขณะใดขณะหนึ่ง ความหมายเหมือนกันหรือไม่คะ หรือหมายความว่า อุเบกขาสันตีรณะ กุศล อกุศล วิบาก เป็นตัวที่บ่งชี้ถึงการสิ้นสุดของจิตนั้นๆ ว่า สิ้นสุดแล้วจะมีปฏิสนธิจิตอย่างไร


อุเบกขาสันตีรณกุศลวิบาก หรือ อุเบกขาสันตีรณกุศลอกุศลวิบาก ทั้ง ๒ จิตนี้ ทำกิจปฏิสนธิด้วย ภวังคจิตด้วย และจุติจิตด้วย ครับ ดังนั้น อุเบกขาสันตีรณกุศลวิบาก หรือ อุเบกขาสันตีรณกุศลอกุศลวิบาก ไม่ได้เป็นตัวบ่งชี้ถึง จุติจิตเท่านั้น เพราะทำกิจทั้งปฏิสนธิ ภวังค์ ด้วยครับ

ขออนุโมทนา

 
  ความคิดเห็นที่ 8  
 
วิริยะ
วันที่ 13 ก.พ. 2555

เรียนถาม

จากความเห็นที่ 7 จิตทุกจิตต้องมีกิจ มีหน้าที่ของจิตนั้นๆ

อาวัชชนจิต เริ่มรับอารมณ์ หลังจากสิ้นสุดภวังค์

ปัญจวิญญาณจิต ทำหน้าที่เห็น ได้ยิน ได้กลิ่น ลิ้มรส และ กระทบสัมผัส

สัมปฏิจฉันนจิต ทำหน้าที่รับอารมณ์ต่อจากปัญจวิญญาณจิต

สันตีรณจิต ทำหน้าที่พิจารณาอารมณ์

โวฏฐัพพนจิต ทำหน้าที่โวฏฐัพพนกิจทางปัญจทวาร

ชวนจิต ทำหน้าที่ เป็นกุศลจิต หรืออกุศลจิต

ตฑาลัมพนจิต ถ้ารูปยังไม่ดับก็เสพย์อารมณ์ที่ดีต่ออีก ๒ ขณะ

จุติจิต อาจเกิดขณะต่อไปทันทีก็ได้ หรือ มีภวังค์ เกิดขึ้นก่อน แล้ว จุติจิตเกิดขึ้นต่อทันทีก็ได้ หรือ วิถีทางมโนทวารเกิดขึ้นแล้ว ดับแล้ว จุติจิตเกิดต่อทันทีก็ได้เช่นกัน และอุเบกขา สันตีรณะ กุศล อกุศล วิบาก ข้างบนนั่นเองที่ทำจุติกิจ แล้วก็ปฏิสนธิกิจในชาติต่อไป เมื่อปฏิสนธิจิตเกิดขึ้นแล้วในชาติต่อไป จากนั้น ก็มีภวังคจิตเกิดตามมา ที่ได้พยายามเรียบเรียงมานี้ถูกต้องหรือไม่คะ

 
  ความคิดเห็นที่ 9  
 
khampan.a
วันที่ 13 ก.พ. 2555

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

หลายท่านอาจจะสงสัย ว่า จุติจิต (รวมไปถึง ปฏิสนธิจิต และ ภวังคจิต) เป็นจิตประเภทใด ในจิต ๘๙ เพราะในจิต ๘๙ ไม่มีคำว่า ปฏิสนธิจิต ภวังคจิต และ จุติจิตเลย ตามความเป็นจริงแล้ว จิต แต่ละขณะ เมื่อเกิดขึ้นย่อมกระทำกิจของตน เช่น จักขุวิญญาณ กระทำทัสสนกิจ (ทำกิจเห็น) โสตวิญญาณ ทำสวนกิจ (กิจได้ยิน) เป็นต้น สำหรับจิต ๓ ประเภท คือ ปฏิสนธิจิต ภวังคจิต และ จุติจิต ก็เป็นหนึ่งในจิต ๘๙ นั่นเอง แต่เรียกชื่อตามกิจของจิต เพราะจิตที่จะกระทำกิจ ๓ กิจนี้ได้มีเพียง ๑๙ ดวงเท่านั้น (ตามควรแก่บุคคล) อย่างเช่น ในประเด็นคำถามในความคิดเห็นที่ 5 คือ อุเบกขาสันตรีรณกุศลวิบาก เป็นอเหตุกจิต เป็นผลของกุศลกรรมอย่างอ่อน เป็นจิตที่กระทำปฏิสนธิกิจ ภวังคกิจ และ จุติกิจ ในชาติเดียวกัน สำหรับผู้ที่เกิดมนุษย์พิการบ้าใบ้บอดหนวกตั้งแต่กำเนิด กล่าวคือ เมื่อกระทำปฏิสนธิกิจ ก็กระทำภวังคกิจ และจุติกิจด้วย, ส่วนอุเบกขาสันตีรณอกุศลวิบาก ก็เป็นอเหตุกจิต เป็นผลของอกุศลกรรม ทำปฏิสนธิกิจ ภวังคกิจ และจุติกิจ ในชาติเดียวกัน สำหรับผู้ที่เกิดเป็นสัตว์ในอบายภูมิ เมื่อกระทำปฏิสนธิกิจ ก็กระทำภวังคกิจ และ จุติกิจ ด้วย ถ้าเกิดในสุคติภูิมิ คือ เป็นมนุษย์ หรือ เทวดา ก็เป็นมหาวิบากดวงหนึ่งดวงใดใน ๘ ดวง กระทำปฏิสนธิกิจ ภวังคกิจ และ จุติกิจ ในชาตินั้น, ถ้าเกิดเป็นรูปพรหมบุคคลในรูปพรหมภูมิ ก็เป็นรูปาวจรวิบาก ดวงหนึ่งดวงใด ใน ๕ ดวง กระทำปฏิสนธิกิจ ภวังคกิจ และ จุติกิจ ในชาตินั้น และถ้าเกิดเป็นอรูปพรหมบุคคล ในอรูปพรหมภูมิ ก็เป็นอรูปาวจรวิบาก ดวงหนึ่งดวงใดใน ๔ ดวง กระทำปฏิสนธิกิจ ภวังคกิจ และจุติกิจ ในชาตินั้น จึงไม่มีใครทำอะไรเลย มีแต่จิตเกิดขึ้นทำกิจหน้าที่เท่านั้น แม้กระทั่งกระทำกิจเคลื่อนจากความเป็นบุคคลนี้ในชาตินี้ ก็เป็นจิตที่เกิดขึ้นทำกิจนี้ (จุติกิจ) ครับ

...ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ...

 
  ความคิดเห็นที่ 10  
 
วิริยะ
วันที่ 13 ก.พ. 2555

เรียนถาม

จากความเห็นที่ 9

ตอนนี้ดิฉันเป็นมนุษย์ พอดิฉันจะตายลงไป มหาวิบากจิต ๘ ดวงใดดวงหนึ่ง ทำจุติกิจ หรือคะ ถ้าเป็นสัตว์ เมื่อจุติจิตจะเกิด นั่นเป็นกิจของ สันตีรณ อกุศลวิบาก ทำกิจ เป็นเช่นนั้นใช่หรือไม่

 
  ความคิดเห็นที่ 11  
 
mari
วันที่ 13 ก.พ. 2555

ไม่เข้าใจภาษาบาลีเลยยากที่จะถามค่ะ

ขอบคุณ และขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 12  
 
paderm
วันที่ 14 ก.พ. 2555

เรียนความเห็นที่ 8 ครับ

ถูกต้องครับ


เรียนความเห็นที่ 10 ครับ

หากเกิดเป็นมนุษย์ ที่ไม่พิการตั้งแต่กำเนิด ก็ต้องเกิดปฏิสนธิด้วย มหาวิบาก ใน ๘ ดวง ดวงใดดวงหนึ่ง ซึ่ง เมื่อปฏิสนธิด้วย มหาวิบากดวงใด ภวังคจิต ก็ต้อง มหาวิบากประเภทนั้ และ จุติจิต ก็ต้อง มหาวิบากประเภทเดียวกับ ปฏิสนธิจิตและภวังคจิตในชาตินี้เช่นกันครับ เพราะ ปฏิสนธิจิต ภวังคจิต และจุติจิตในชาตินี้ ล้วนเป็นจิตประเภทเดียวกันทั้งสิ้น เกิดด้วยจิตประเภทใด ในมหาวิบาก ๘ ภวังค์และจุติก็ประเภทเดียวกับปฏิสนธิจิต ครับ

ขออนุโมทนา

 
  ความคิดเห็นที่ 13  
 
วิริยะ
วันที่ 14 ก.พ. 2555

เรียนถาม

จากความเห็นที่ 12

ถ้าเป็นเช่นนั้น มนุษย์ ก็ต้องปฏิสนธิเป็นมนุษย์ตลอดเลยสิคะ ชาติต่อไป ปฏิสนธิจิตก็มีอารมณ์เดียวกับจุติจิตในชาติก่อน

 
  ความคิดเห็นที่ 14  
 
paderm
วันที่ 14 ก.พ. 2555

เรียนความเห็นที่ 13 ครับ

ปฏิสนธิในชาติหน้า ไม่ใช่ เป็นจิตประเภทเดียวกับ จุติในชาตินี้ครับ ยกตัวอย่าง ชาตินี้ เกิดเป็นมนุษย์ ปฏิสนธิด้วย มหาวิบากดวงที่ ๑ ภวังคจิตในชาตินี้ก็เป็นจิตประเภทมหาวิบากดวงที่ ๑ และจุติชาตินี้ก็เป็นมหาวิบากดวงที่ ๑ สรุปได้ว่า ปฏิสนธิในชาตินี้ ภวังคจิตในชาตินี้และจุติจิตในชาตินี้ เป็นจิตประเภทเดียวกันทั้งหมด แต่ จุติจิตชาตินี้ ไม่จำเป็นจะต้องเป็นจิตประเภทเดียวกันกับ ปฏิสนธิจิตในชาติหน้าครับ ซึ่งปฏิสนธิจิตใน ชาติหน้า แล้วแต่กรรมใดให้ผล ทำให้เกิดในคติแตกต่างกันไป ตามกรรม ครับ

ส่วนเมื่อกล่าวถึงอารมณ์ ปฏิสนธิจิตชาตินี้ ภวังคจิตชาตินี้และจุติจิตชาตินี้มีอารมณ์ เดียวกัน เหมือนกันครับ คือ มีอารมณ์เดียวกับ ชวนจิตสุดท้ายของชาติก่อน แต่ถ้าเป็น ปฏิสนธิจิตชาติหน้า ไม่จำเป็นจะต้องมีอารมณ์เดียวกับจุติจิตชาตินี้ แต่ปฏิสนธิจิตชาติหน้า จะมีอารมณ์เดียวกับชวนจิตสุดท้ายก่อนตายในชาตินี้ครับ

ขออนุโมทนา

 
  ความคิดเห็นที่ 15  
 
วิริยะ
วันที่ 14 ก.พ. 2555

ปฏิสนธิจิตชาติต่อไป ขึ้นอยู่กับว่า กรรมใดให้ผล และเมื่อให้ผลแล้ว ก็เป็นปฏิสนธิจิตประเภทนั้นๆ ภวังค์ก็เป็นประเภทนั้นๆ จนกว่าจุติจิตจะเกิด ก็เป็นจิตประเภทเดียวกันที่ทำให้สิ้นชีวิตลง ส่วนเมื่อสิ้นชีวิตลงแล้ว จะปฏิสนธิเป็นอะไร ก็ขึ้นอยู่กับชวนจิตสุดท้ายอย่างที่อาจารย์ผเดิมได้กรุณาอธิบายมาในความเห็นข้างต้น วนเวียนอยู่เช่นนี้ตลอด ถูกต้องหรือไม่คะ

 
  ความคิดเห็นที่ 16  
 
paderm
วันที่ 14 ก.พ. 2555

เรียนความเห็นที่ 15 ครับ

ถูกต้องครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 17  
 
วิริยะ
วันที่ 14 ก.พ. 2555

ขอขอบพระคุณอาจารย์ผเดิม, อาจารย์คำปั่น ที่ได้กรุณาอธิบายให้เกิดความเข้าใจ

และขออนุโมทนา

และขอกราบท่านอาจารย์สุจินต์ มา ณ ที่นี้ด้วยค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 18  
 
wanipa
วันที่ 14 ก.พ. 2555

ปัญญายังน้อยค่ะ จะศึกษาเพิ่มเติมเรื่องจุติจิตจากที่ใดได้บ้างคะ

ขอขอบพระคุณ และขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 19  
 
paderm
วันที่ 14 ก.พ. 2555

เรียนความเห็นที่ 18 ครับ

หากต้องการเข้าใจในส่วนพระอภิธรรมที่เป็นธรรมะเอียดลึกซึ้ง เริ่มจากการอ่านพระอภิธรรมเบื้องต้น ที่บรรยายจากท่านผู้รู้ คือ ท่านอาจารย์ สุจินต์ บริหารวนเขตต์ ซึ่งท่านอธิบาย พระอภิธรรมจากพระไตรปิฎกให้เข้าใจได้เป็นอย่างดี หากไปอ่านพระอภิธรรมในพระไตรปิฎกเลยจะไม่เข้าใจและเข้าใจคลาดเคลื่อนได้ครับ หนังสือที่อ่านพอเข้าใจได้ และเป็นเบื้องต้น ปูพื้นพระอภิธรรรม คือ

เชิญคลิกดาวโหลดหนังสือที่นี่ครับ ...

พระอภิธรรมในชีวิตประจำวัน

และ หนังสือ ... ปรมัตถธรรมสังเขป

ซึ่ง หากต้องการอ่านเป็นหนังสือเลย สามารถขอหนังสือได้ ทางไปรษณีย์ โดยเขียนจดหมายมาถึงมูลนิธิฯ สอดแสตมป์ ๒๐ บาท มาในซองจดหมาย และเขียนระบุ ชื่อหนังสือนั้น ครับ ซึ่งชื่อที่อยู่ มูลนิธิฯ มีอยู่แล้วในเว็บนี้ครับ หนังสือพระอภิธรรมในชีวิตประจำวันของมูลนิธิฯ เหลือน้อยมาก ขอได้อยู่ แต่ปรมัตถธรรมสังเขป หมดครับ เริ่มจากหนังสือ พระอภิธรรมในชีวิตประจำวันก่อนครับ จะเข้าใจอภิธรรมได้ดียิ่งขึ้นมากครับ เมื่ออ่านเล่มนี้เข้าใจ

ขออนุโมทนาที่สนใจในพระธรรม

 
  ความคิดเห็นที่ 20  
 
wanipa
วันที่ 14 ก.พ. 2555

ขอขอบพระคุณ และขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 21  
 
pat_jesty
วันที่ 15 ก.พ. 2555

ค่อยๆ ศึกษา ค่อยเข้าใจขึ้นๆ ไปเรื่อยๆ เพราะต้องเป็นปัญญาระดับสูงมากถึงจะประจักษ์แจ้งโดยละเอียดขนาดนี้ได้ แต่ที่พระองค์ทรงแสดงก็เพื่อให้เข้าใจว่าทุกอย่างเป็นสภาพธรรม ที่เกิดขึ้นทำหน้าที่ ตามเหตุตามปัจจัย ไม่ใช่คน สัตว์ บุคคล ไม่มีเราแม้เพียงขณะเดียว ตราบใดที่ไม่ขาดการฟัง และพิจารณาไตร่ตรอง ย่อมจะเข้าใจได้ในสักวัน

ได้อ่านการสนทนาเรื่องนี้ทำให้ระลึกขึ้นได้ว่า การเกิดเป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์ไม่พิการแต่กำเนิดนี่ยากขนาดไหน และยิ่งมีโอกาสได้ยินได้ฟังพระธรรม ได้เข้าใจความจริง ยิ่งยากเข้าไปอีก นึกถึง คำโบราณที่ว่า "เกิดมาอย่าให้เสียชาติเกิด ... ที่ได้เกิดมาเป็นมนุษย์และพบพระธรรม" ด้วยการสะสมความดี และศึกษาพระธรรมต่อไปค่ะ

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกท่านค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 22  
 
วิริยะ
วันที่ 16 ก.พ. 2555

เรียนถาม

ขอเรียนถามเพิ่มเติมว่า พระอริยบุคคล ถ้าท่านไม่ได้เป็นผู้ที่เจริญฌาน เมื่อจุติจิตเกิดขึ้นแล้วและดับไปแล้ว ท่านจะไม่ได้ปฏิสนธิในรูปพรหม หรืออรูปพรหมภูมิแน่นอนใช่หรือไม่คะ ท่านจะปฏิสนธิบนสวรรค์หรือโลกมนุษย์เท่านั้น ถูกต้องหรือไม่คะ

 
  ความคิดเห็นที่ 23  
 
paderm
วันที่ 16 ก.พ. 2555

เรียนความเห็นที่ 22 ครับ

ขึ้นอยู่กับว่าเป็นพระอริยบุคคลขั้นไหนครับ ถ้าเป็นพระโสดาบัน พระสกทาคามีที่ไม่ไ่ด้ฌาน จะไม่เกิดที่พรหมโลกแน่นอนครับ ซึ่งอาจเกิดเป็นเทวดา หรือ มนุษย์ แต่ถ้าเป็นพระอนาคามี เมื่อเป็นมนุษย์ เมื่อจุติจิตเกิด สิ้นชีวิต ท่านต้องเกิดบนพรหมโลก แม้ไม่ได้อบรมสมถภาวนาในตอนเป็นมนุษย์ ไม่ได้ฌานตอนเป็นมนุษย์ แต่เพราะความสงบของจิตที่ดับโลภะที่พอใจรูป เสียง ... และโทสะได้ เมื่อก่อนจุติ ก็เทียบเท่าปฐมฌาน เกิดในพรหมโลก ครับ แม้ ตอนเป็นมนุษย์ไม่ได้ฌานในช่วงมีชีวิตที่เป็นปกติอยู่ ครับ

ขออนุโมทนา

 
  ความคิดเห็นที่ 24  
 
Nataya
วันที่ 11 ก.พ. 2562

กราบอนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 25  
 
chatchai.k
วันที่ 1 ก.ค. 2564

ขออนุโมทนาครับ

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ