สัตตวณิชชา มังสวณิชชา มัชชวณิชชา วิสวณิชชา

 
พิมพิชญา
วันที่  15 ก.พ. 2555
หมายเลข  20554
อ่าน  18,616

กราบเรียนทุกท่านในที่นี้ รบกวนขอคำตอบอย่างละเอียดดังนี้ค่ะ

ขอเจาะถามเป็นข้อๆ ดังนี้นะคะ

๑. สัตตวณิชชา บางคนบอกว่าหมายถึงการค้าขายมนุษย์ บางคนบอกว่าหมายถึง สัตว์เป็นๆ ทุกชนิด ไม่ใช่แค่มนุษย์ ขอความกระจ่างทีค่ะ

๒. มังสวณิชชา บางคนบอกว่าหมายถึงสัตว์เป็นๆ บางคนบอกว่าหมายถึงเนื้อสัตว์ทุกชนิด ทั้งสุกและดิบ ขอความกระจ่างทีค่ะ

๓. มังสวณิชชา หากหมายถึงทุกอย่างที่เป็นเนื้อสัตว์ทั้งสุกและดิบ แบบนี้ก็ผิดกันเต็มบ้านเต็มเมืองเลย ใช่มั้ยคะ เข้าเซเว่นก็เจอไส้กรอก ปากซอยก็มีหมูปิ้ง กลางซอยก็ก๋วยเตี๋ยวหมู ท้ายซอยก็ไก่ย่าง รู้สึกเอะใจที่มีคนบอกว่ามังสวณิชชาคือขายเนื้อสัตว์ทั้งสุกและดิบ แบบนี้ก็ผิดกันหมด อยากรบกวนขอความกระจ่างทีค่ะ

๔. มัชชวณิชชา บางคนบอกว่าไม่ใช่แค่เหล้าเบียร์ แต่ยังรวมถึงสิ่งเสพติดอื่นๆ ด้วย ไม่เว้นแม้แต่กาแฟที่มีคาเฟอีนและสารแต่งกลิ่นทำให้ติด รวมทั้งสินค้าที่เป็นกลิ่นอันทำให้ติดและลุ่มหลง บางคนถึงกับบอกว่าหมายถึงสิ่งที่ทำให้คนหลงมัวเมาในรูป-รส-กลิ่น-เสียง-สัมผัสทั้งหมด เพราะทำให้ขาดสติ สติไม่เกิด หมกมุ่นในกามราคะ และตั้งอยู่ในความประมาทด้วยกันทั้งสิ้น รบกวนขอความกระจ่างในเรื่องนี้ทีค่ะ

๕. วิสวณิชชา บางคนบอกว่าไม่ใช่แค่ของที่บอกว่าเป็นยาพิษหรือยาฆ่าแมลง แต่รวมของที่มีผลข้างเคียงรุนแรงได้หากใช้ผิดวิธีหรือใช้ไปนานๆ อยากขอความละเอียดในเรื่องของวิสวณิชชาทีค่ะ

ขอรบกวนช่วยอธิบายอย่างละเอียดทีนะคะ

ขอบพระคุณมากค่ะ


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
paderm
วันที่ 15 ก.พ. 2555

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

[เล่มที่ 36] พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ปัญจก-ฉักกนิบาต เล่ม ๓ - หน้าที่ 376

๗. วณิชชสูตร

ว่าด้วยการค้าขายที่อุบาสกไม่ควรประกอบ

[๑๗๗] ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย การค้าขาย ๕ ประการนี้ อันอุบาสกไม่พึงกระทำ ๕ ประการเป็นไฉน คือ

การค้าขายศัสตรา ๑

การค้าขายสัตว์ ๑

การค้าขายเนื้อสัตว์ ๑

การค้าขายน้ำเมา ๑

การค้าขายยาพิษ ๑

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย การค้าขาย ๕ ประการนี้แล อันอุบาสกไม่พึงกระทำ.


จากคำถามที่ว่า

๑. สัตตวณิชชา บางคนบอกว่าหมายถึง การค้าขายมนุษย์ บางคนบอกว่าหมายถึง สัตว์เป็นๆ ทุกชนิด ไม่ใช่แค่มนุษย์ ขอความกระจ่างทีค่ะ


สัตตวณิชชา คือ การค้าขายสัตว์ ซึ่งในความเป็นจริง ข้อความอธิบายเพิ่มเติมจากอรรถกถา ได้อธิบายว่า การค้าขายสัตว์ ในที่นี้ มุ่งหมายถึง การค้าขายมนุษย์ เช่น การค้าขายทาส เป็นต้น ไม่ได้หมายถึง การค้าขายสัตว์อื่นๆ ทั่วไป ครับ

อรรถกถาวณิชชสูตร

พึงทราบวินิจฉัยในวณิชชสูตรที่ ๗ ดังต่อไปนี้ :-

บทว่า วณิชฺชา ได้แก่ ทำการค้าขาย.

บทว่า อุปาสเกน ได้แก่ผู้ถึงสรณะ ๓.

บทว่า สตฺถวณิชฺชา ได้แก่ ให้เขาทำอาวุธแล้วก็ขายอาวุธนั้น.

บทว่า สตฺตวณิชฺชา ได้แก่ ขายมนุษย์


๒. มังสวณิชชา บางคนบอกว่าหมายถึงสัตว์เป็นๆ บางคนบอกว่าหมายถึงเนื้อสัตว์ทุกชนิด ทั้งสุกและดิบ ขอความกระจ่างทีค่ะ


มังสวณิชชา หรือ การค้าขายเนื้อสัตว์ ในอรรถกถา ท่านมุ่งอธิบายว่า หมายถึง การเลี้ยงสัตว์ด้วย มีการเลี้ยงสุกร เป็นต้น แล้วเอาไปขาย คือ ต้องมีการเลี้ยงด้วย เพราะว่า เมื่อมีการเลี้ยงสัตว์นั้นเป็นๆ การจะเอาไปขาย ก็มีโอกาสที่จะต้องฆ่าสัตว์นั้น จึงมีโอกาสล่วงศีลได้ง่าย ครับ ไม่ใช่การขายเนื้อทั่วไป แต่ต้องมีการเลี้ยงด้วย ครับ ดังข้อความในอรรถกถาที่ว่า

บทว่า มํสวณิชฺชา ได้แก่ เลี้ยงสุกรและเนื้อเป็นต้นขาย

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
paderm
วันที่ 15 ก.พ. 2555

๓. มังสวณิชชา หากหมายถึง ทุกอย่างที่เป็นเนื้อสัตว์ทั้งสุกและดิบ แบบนี้ก็ผิดกันเต็มบ้านเต็มเมืองเลย ใช่มั้ยคะ เข้าเซเว่นก็เจอไส้กรอก ปากซอยก็มีหมูปิ้ง กลางซอยก็ก๋วยเตี๋ยวหมู ท้ายซอยก็ไก่ย่าง รู้สึกเอะใจที่มีคนบอกว่ามังสวณิชชาคือขายเนื้อสัตว์ทั้งสุกและดิบ แบบนี้ก็ผิดกันหมด อยากรบกวนขอความกระจ่างทีค่ะ


ตามที่กล่าวแล้วในข้อ ๒ ต้องหมายถึง มีการเลี้ยงด้วย การขายเนื้อทั่วไป ไม่ได้มีการเลี้ยง ไม่เข้า ข้อ มังสวณิชชา การค้าขายเนื้อสัตว์ ครับ แต่ถ้ามีการเลี้ยง ดังเช่น เลี้ยงไก่ แล้วก็ขายไก่ ขายเนื้อไก่อีกที ซึ่งโดยมากก็การฆ่า ส่งไปฆ่า แล้วเอาเนื้อไปขาย อย่างนี้ ก็เข้าข้อมังสวณิชชา การค้าขายเนื้อสัตว์ ครับ

ดังนั้น ขายก๋วยเตี๋ยว เป็นต้น ที่มีเนื้อ ขายเนื้อ ไม่ได้เลี้ยงสัตว์เอง อันนี้จึงไม่เข้าข่าย การค้าขายเนื้อสัตว์ ตามอรรถกถาได้อธิบายไว้ครับ


๔. มัชชวณิชชา บางคนบอกว่าไม่ใช่แค่เหล้าเบียร์ แต่ยังรวมถึงสิ่งเสพติดอื่นๆ ด้วย ไม่เว้นแม้แต่กาแฟที่มีคาเฟอีนและสารแต่งกลิ่นทำให้ติด รวมทั้งสินค้าที่เป็นกลิ่นอันทำให้ติดและลุ่มหลง บางคนถึงกับบอกว่าหมายถึงสิ่งที่ทำให้คนหลงมัวเมาในรูป-รส-กลิ่น-เสียง-สัมผัสทั้งหมด เพราะทำให้ขาดสติ สติไม่เกิด หมกมุ่นในกามราคะ และตั้งอยู่ในความประมาทด้วยกันทั้งสิ้น รบกวนขอความกระจ่างในเรื่องนี้ทีค่ะ


มัชชาวิณิชชา การค้าขายน้ำเมาที่เป็นอาชีพที่ไม่ควรประกอบ หมายถึง การทำน้ำเมา ของมึนเมา หรือ ให้ผู้อื่นทำแล็วก็เอาไปขาย นี่คือ การค้าขายน้ำเมาครับ ดังนั้น ของมึนเมาในที่นี้ หมายถึง สิ่งที่ดื่มแล้ว ทำให้เมาได้ ซึ่ง กาแฟยังไม่ทำให้ถึงมึนเมา แต่ ยาเสพติดอย่างอื่นที่ทำให้มึนเมา จัดว่าเป็นของมึนเมาได้ ถ้าทำเอง หรือ ให้คนอื่นทำ แล้วขาย เป็นการค้าขายน้ำเมา เป็นอาชีพที่ไม่ควรประกอบ ครับ ดังข้อความอรรถกถา ที่ว่า

บทว่า มชฺชวณิชฺชา ได้แก่ ให้เขาทำของเมาอย่างใดอย่างหนึ่งแล้วก็ขายของเมา.


๕. วิสวณิชชา บางคนบอกว่าไม่ใช่แค่ของที่บอกว่าเป็นยาพิษหรือยาฆ่าแมลง แต่รวมของที่มีผลข้างเคียงรุนแรงได้หากใช้ผิดวิธีหรือใช้ไปนานๆ อยากขอความละเอียดในเรื่องของวิสวณิชชาทีค่ะ


วิสวณิชชา การค้าขายยาพิษ ก็มุ่งหมายถึง ของที่นำซึ่งมีพิษ มีโทษต่อร่างกาย และสัตว์อื่นนั่นเองครับ คือ เป็นยาพิษที่มุ่งเพื่อทำร้ายร่ายของผู้อื่น สัตว์อื่นโดยตรง เช่น นำไปเพื่อฆ่า เป็นต้น ดังเช่น ยาฆ่าแมลง ยาพิษรุนแรงเพื่อการฆ่าสัตว์ ครับ แต่ที่มีผลข้างเคียงที่ใช้ผิดวิธี อันนี้ไม่รวมเป็นยาพิษนะครับ อย่างเช่น การทายารักษาโรค ยาแทบทุกชนิด ใช้ผิดวิธีก็มีผลรุนแรงกับร่างกาย เช่น เอายาทาภายนอก ไปดื่ม อันนี้ ไม่ใช่ยาพิษ เพราะสำหรับรักษา แต่การใช้ผิดวิธี นั่นเป็นความผิดและเป็นโทษของผู้ใช้เอง เพราะยารักษาโรค มุ่งที่จะรักษาครับ การค้าขายยารักษาโรค จึงไม่เป็นการค้าขายยาพิษตามที่กล่าวมา ยาบางตัว มีผลข้างเคียงสูงมาก ถ้าทาน แต่ก็รักษาด้วย แต่ยานี้ มุ่งเจตนารักษา ไม่ใช่เจตนาทำลาย ไม่ใช่การค้าขายยาพิษ

การค้าขายยาพิษ คือที่ขายยาพิษเพื่อฆ่าสัตว์อื่น เป็นต้น ครับ

ขออนุโมทนา

เชิญคลิกอ่านข้อความในอรรกถาที่อธิบายเรื่องนี้ที่นี่ครับ

ว่าด้วยการค้าขายที่อุบาสกไม่ควรประกอบ [วณิชชสูตร]

 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
khampan.a
วันที่ 15 ก.พ. 2555

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

พระธรรมที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้า ทรงแสดงตลอด ๔๕ พรรษานั้น เป็นความจริงทั้งหมด ไม่มีเปลี่ยนแปลง พระองค์ทรงแสดงตามความเป็นจริง อกุศล เป็นอกุศล, กุศล เป็นกุศล, อกุศลเป็นธรรมที่ไม่ดี ให้โทษ มีผลเป็นทุกข์ เป็นสภาพธรรมที่ควรละ, ส่วน กุศลเป็นธรรมที่ดี ไม่มีโทษ พร้อมทั้งให้ผลเป็นสุข เป็นธรรมที่ควรเจริญ ควรอบรมให้มีขึ้นในชีวิตประจำวัน

บุคคลผู้ที่ได้ฟัง ได้ศึกษา พร้อมทั้งเห็นประโยชน์อันเนื่องมาจากความเข้าใจที่เพิ่มขึ้นไปตามลำดับ ก็จะสามารถละคลายหรือขัดเกลาอกุศลธรรมที่เกิดขึ้นกับตนได้ยิ่งขึ้น พร้อมทั้งมีจิตใจที่น้อมไปในทางกุศลมากยิ่งขึ้นด้วย แม้แต่ในเรื่องของศีล ซึ่งเป็นเรื่องของความประพฤติเป็นไปทางกาย ทางวาจา

ผู้ที่เห็นโทษของอกุศล เห็นโทษของความเบียดเบียนผู้อื่นให้เดือดร้อน เป็นต้น ก็มีเจตนาที่จะงดเว้นจากสิ่งที่ไม่ดีเหล่านั้น โดยที่ไม่มีการบังคับเลย เพราะธรรมเป็นอนัตตา ไม่อยู่ในอำนาจบังคับบัญชาของใคร แต่เป็นไปตามเหตุตามปัจจัย และ อาชีพที่คฤหัสถ์ไม่ควรประกอบก็เช่นเดียวกัน เป็นอาชีพที่เป็นไปเพื่อความเดือดร้อนต่อผู้อื่น ต่อสัตว์อื่น ไม่ควรที่จะทำ ดังที่ปรากฏในพระสูตร คือ

๑. ค้าศาตราอาวุธ

๒. ค้ามนุษย์

๓. ค้าสัตว์สำหรับฆ่า

๔. ค้าน้ำเมา

๕. ค้ายาพิษ (ซึ่งจะต้องอาศัยข้อความในอรรถกถาด้วย จึงจะเข้าใจอย่างถูกต้อง ตรงตามพระธรรมที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดง)

อาชีพ ๕ ประการนี้ เป็นอาชีพที่ไม่สุจริต เป็นไปเพื่อเบียดเบียนผู้อื่นให้เดือดร้อน ไม่ควรที่จะกระทำ เนื่องจากว่าอาชีพสุจริต มีเยอะมากที่จะสามารถประกอบเพื่อประคับประคองชีวิตให้ดำเนินไปอย่างไม่เดือดร้อน โดยไม่ได้เกี่ยวกับอาชีพที่ควรเว้นเหล่านี้เลย

ธรรมเป็นอนัตตาไม่อยู่ในอำนาจบังคับบัญชาของใครทั้งสิ้น ถ้ามีโอกาสได้ฟังพระธรรม ศึกษาพระธรรมในแนวทางที่ถูกต้อง มีความเข้าใจพระธรรมไปตามลำดับ ย่อมจะทำให้ค่อยๆ ละอาชีพที่ไม่ควรประกอบเหล่านั้น แล้วเป็นผู้ประกอบอาชีพที่สุจริต (หมายถึง เว้นจากกายทุจริต เว้นจากวจีทุจริตที่เนื่องด้วยอาชีพ) เลี้ยงชีพในทางที่ถูกต้อง ตรงตามพระธรรมคำสอนได้ในที่สุด

ความเข้าใจพระธรรม จึงเป็นสาระสำคัญของชีวิต ซึ่งจะทำให้กาย วาจา ใจ เป็นไปในทางที่เป็นกุศลยิ่งขึ้น คล้อยตามความเข้าใจที่ค่อยๆ เจริญขึ้น นั่นเอง ครับ.

...ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ...

 
  ความคิดเห็นที่ 4  
 
เซจาน้อย
วันที่ 15 ก.พ. 2555

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

ขอบคุณ และขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 5  
 
pat_jesty
วันที่ 15 ก.พ. 2555

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 6  
 
Thanapolb
วันที่ 16 ก.พ. 2555

เรียนถามเพิ่มเติมจากท่านอื่นครับ

ที่อ. ผเดิมเขียน " มังสวณิชชา หรือ การค้าขายเนื้อสัตว์ ในอรรถกถา ท่านมุ่งอธิบายว่า หมายถึง การเลี้ยงสัตว์ด้วย "

ถ้ากรณีเลี้ยงสัตว์ไม่เป็นไปเพื่อเป็นอาหาร เช่น เลี้ยงสุนัขไว้เฝ้าบ้าน เลี้ยงแมวไว้ไล่หนูหรือเป็นเพื่อน เลี้ยงปลาไว้ดู คิดว่าคงไม่ห้าม ใช่ไหมครับ ปุถุชนทั่วไปก็อาจเป็นเรื่องปกติ

แต่ก็อยากถามความคิดเห็นว่า บุคคลที่ท่านมีปกติศึกษาพระธรรมและมุ่งสู่การค่อยๆ ละ ลดกิเลสทั้งหลาย ท่านก็จะไม่นิยมขวานขวาย ที่จะนำสัตว์มาเลี้ยง ไม่ว่าจะเพื่อความเพลิดเพลิน เพื่อความ (ติด) สุขหรือเพื่อคลายเหงา หรือเพื่อความปลอดภัยของตนไหมครับ

ที่ถามเพราะ เช่นผม ก็อาจชอบเลี้ยงปลาไว้หน้าบ้านไว้เพลิดเพลิน หรือเคยเลี้ยงสุนัขไว้เฝ้าบ้าน (ตอนนี้ก็ไม่ได้เลี้ยงสุนัขหลังจากเขาสิ้นอายุขัยไปแล้ว) แต่ยังเลี้ยงปลาอยู่เพราะเขายังมีชีวิตอยู่

 
  ความคิดเห็นที่ 7  
 
paderm
วันที่ 16 ก.พ. 2555

เรียน ความเห็นที่ 6 ครับ

การเลี้ยงสัตว์ก็เพราะยังยินดี พอใจติดข้องในรูป เสียง กลิ่น รส สิ่งที่กระทบสัมผัส ซึ่งพระอนาคามีถึงจะละได้ครับ ดังนั้น เป็นธรรมดาเหลือเกินที่ปุถุชนผู้หนาด้วยกิเลส จะมีความยินดีพอใจในสิ่งต่างๆ และก็ยังเลี้ยงสัตว์เพราะความรัก ความชอบ เป็นธรรมดา แม้แต่ผู้ที่ศึกษาธรรม มุ่งขัดเกลากิเลส แต่กิเลสมีมาก และต้องละเป็นลำดับ ไม่ใช่ว่าจะไปละโลภะ ความติดข้อง พอใจในรูป เสียง กลิ่น ... ได้เลยทันที แต่ก็ยังมีอยู่เต็ม ดังนั้น ปัญญาขั้นการฟัง ทำอะไรกิเลสไม่ได้ เพียงเข้าใจขั้นการฟังเท่านั้น

ดังนั้น เป็นธรรมดาที่ผู้ที่ศึกษาธรรมมุ่งดับกิเลส แต่ยังเป็นปุถุชน ก็ยังเลี้ยงสัตว์ เป็นธรรมดา เพราะยังละความยินดี ติดข้องต่างๆ ไม่ได้ครับ เพียแต่ว่า หนทางการอบรมปัญญาที่ถูกต้อง ไม่ใช่พยายามไปละโลภะ ความติดข้องที่เหลือวิสัยที่จะละ เพราะละได้หมด เมื่อเป็นพระอนาคามี แต่จะต้องเป็นพระโสดาบันก่อน กิเลสที่จะต้องละเป็นอันดับแรก คือ ความยึดถือ เห็นผิดว่าเป็นสัตว์ บุคคล ตัวตน

ดังนั้น การเจริญสติปัฏฐานในชีวิตประจำวัน ก็ทำชีวิตเป็นปกติ ตามเหตุปัจจัย แต่ก็เข้าใจสิ่งที่เกิดขึ้นในขณะที่โลภะเกิด ในขณะยินดีในสัตว์เลี้ยง ว่าเป็นธรรมไม่ใช่เรา นี่คือ หนทางการอบรมปัญญาที่ถูกต้อง ครับ

ขออนุโมทนา

 
  ความคิดเห็นที่ 8  
 
Thanapolb
วันที่ 17 ก.พ. 2555

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 9  
 
พิมพิชญา
วันที่ 18 ก.พ. 2555

ขอบพระคุณเป็นอย่างสูง

ขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 10  
 
nong
วันที่ 18 ก.พ. 2555

ชัดเจนค่ะ ขออนุโมทนา

 
  ความคิดเห็นที่ 11  
 
papon
วันที่ 8 มี.ค. 2559

ขอบพระคุณและขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 12  
 
sompawan
วันที่ 5 ก.พ. 2561

ขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 13  
 
chatchai.k
วันที่ 2 ม.ค. 2564

ขออนุโมทนาครับ

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ