รู้โทสเจตสิก กับ รู้โทสมูลจิต ฯลฯ ต่างกันอย่างไร

 
daris
วันที่  16 ก.พ. 2555
หมายเลข  20562
อ่าน  1,451

กราบสวัสดีอาจารย์และท่านผู้รู้ที่เคารพครับ

วันนี้มีเรื่องอยากจะรบกวนขอเรียนถามครับ เพราะพยายามพิจารณาไตร่ตรองแล้ว ยังไม่ค่อยเข้าใจ

๑. เวลาที่สติระลึกรู้ตรงลักษณะของ โทสเจตสิก กับระลึกตรงลักษณะของ โทสมูลจิต มีความแตกต่างกันอย่างไรครับ (และโดยนัยเดียวกัน เวลาสติระลึกรู้ โลภเจตสิก กับ โลภมูลจิต แตกต่างกันอย่างไร)

๒. เวลาที่สติระลึกรู้จิตเห็น กับ ระลึกรู้สิ่งที่ปรากฏทางตา นั้นต่างกันอย่างไร (และโดยนัยเดียวกัน ... จิตได้ยิน/เสียง, จิตได้กลิ่น/กลิ่น, จิตลิ้มรส/รส, จิตรู้สิ่งที่กระทบสัมผัสกาย/โผฏฐัพพารมณ์)

๓. เวลาที่สติระลึกรู้จิตคิดนึก (เป็นเรื่องราวต่างๆ เช่นนึกถึงบุคคลใดบุคคลหนึ่ง) กับระลึกรู้วิตกเจตสิก นั้นต่างกันอย่างไร

๔. จิตมีมากมายหลายประเภท เวลาสติระลึกรู้ จิตแต่ละประเภทมีความแตกต่างกันหรือไม่ (เช่นสติระลึกรู้จิตเห็น ต่างกับระลึกรู้จิตโกรธ หรือไม่ ในแง่ลักษณะของจิตที่สติระลึกรู้)

ขอกราบขอบพระคุณเป็นอย่างสูงครับ


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
paderm
วันที่ 17 ก.พ. 2555

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

๑. เวลาที่สติระลึกรู้ตรงลักษณะของ โทสเจตสิก กับระลึกตรงลักษณะของ โทสมูลจิต มีความแตกต่างกันอย่างไรครับ (และโดยนัยเดียวกัน เวลาสติระลึกรู้ โลภเจตสิก กับ โลภมูลจิต แตกต่างกันอย่างไร)


สติที่ระลึกรู้ลักษณะของโทสเจตสิก คือ ระลึกรู้ตรงลักษณะของสภาพธรรมที่เป็นโทสะ ที่เกิดขึ้นนั่นเองครับ เพราะโทสเจตสิก ก็คือ สภาพธรรมทีเป็นโทสะโดยตรง เพราะ โทสะเป็นเจตสิก เป็นเจตสิกที่ไม่ดี ดังนั้นขณะที่สติและปัญญาเกิดระลึกรู้ลักษณะของ โทสเจตสิก ก็รู้ลักษณะของโทสะ ที่เป็นธรรมไม่ใช่เรา และหากมีปัญญา ที่ละเอียด แหลมคมมากกว่านั้น ก็รู้ลักษณะความละเอียดของโทสเจตสิกที่มีลัษณะขุ่นใจ ไม่พอใจ ในขณะนั้น ครับ อันแสดงถึงลักษณะโทสะจริงๆ ที่เป็นแต่เพียงธรรมที่มีลักษณะขุ่นใจ ไม่พอใจ และไม่ใช่เราครับ เพราะมีลักษณะขณะนั้นให้รู้ ครับ

ส่วนขณะที่สติและปัญญาเกิดระลึกรู้ลักษระของโทสมูลจิต คือ ระลึกสภาพธรรมที่ เป็น ตัวจิต ที่เป็นสภาพรู้ ว่า ขณะนั้นเป็นแต่เพียงจิต ที่เป็นสภาพรู้ ไม่ใช่เรา ครับ แต่ ไม่ใช่รู้ลักษณะของโทสเจตสิก ที่มีลักษณะขุ่นเคืองใจ ครับ ดังนั้น จึงเป็นการรู้ตัวจิต ว่าเป็นธรรม ไม่ใช่เรา เป็นแต่เพียงสภาพรู้ ครับ โดยนัยเดียวกันกับ โลภเจตสิก กับ โลภมูลจิต ขณะที่สติระลึกลักษณะของโลภเจตสิก คือ ระลึกลักษณะที่ติดข้อง พอใจ ในขณะนั้นที่เป็นลักษณะของโลภะ ส่วนขณะที่สติระลึกลักษณะของโลภมูลจิต ก็ระลึก รู้ตัวจิตที่เป็นสภาพรู้ ว่าเป็นแต่สภาพรู้ที่เป็นธรรม ไม่ใช่เรา ครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
paderm
วันที่ 17 ก.พ. 2555

๒. เวลาที่สติระลึกรู้จิตเห็น กับ ระลึกรู้สิ่งที่ปรากฏทางตา นั้นต่างกันอย่างไร (และโดยนัยเดียวกัน ... จิตได้ยิน/เสียง, จิตได้กลิ่น/กลิ่น, จิตลิ้มรส/รส, จิตรู้สิ่งที่กระทบสัมผัสกาย/โผฏฐัพพารมณ์)


ขณะที่ระลึกรู้จิตเห็น ก็ระลึกลักษณะของจิต ตัวจิตที่เป็นแต่เพียงสภาพรู้ว่าเป็นธรรม ไม่ใช่เรา รู้ว่าเป็นแต่เพียงจิตเห็น ไม่ใช่เราครับ แต่ขณะที่ระลึกรู้สิ่งที่ปรากฏทางตา ขณะนั้นสติรู้ว่าเป็นแต่เพียงสี เพราะระลึกรู้ลักษณะของรูปที่กำลังปรากฏ ที่แตกต่างจากการรู้ลักษณะของนามธรรมที่เป็นจิตเห็นครับ เพราะรู้ลักษณะของรูปในขณะนั้น มีลักษณะปรากฏให้รู้ จึงรู้ว่าเป็นแต่เพียงธรรมไม่ใช่เรา จิตได้ยินและเสียง ... อื่นๆ ก็โดยนัยเดียวกันครับ


๓. เวลาที่สติระลึกรู้จิตคิดนึก (เป็นเรื่องราวต่างๆ เช่นนึกถึงบุคคลใดบุคคลหนึ่ง) กับระลึก รู้วิตกเจตสิก นั้นต่างกันอย่างไร

สติที่เกิดระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่คิดนึก คือ ลักษณะของจิตในขณะนั้น ว่าเป็นแต่เพียงสภาพรู้ คือ เข้าใจขณะที่คิดนึกว่า ไม่มีเราที่คิดนึก แต่เป็นเพียงจิตที่คิดก็คือรู้ลักษณะของจิตที่เป็นสภาพรู้นั่นเอง แต่ถ้าเป็น สติที่ระลึกรู้ลักษณะของวิตกเจตสิก คือ รู้ลักษณะที่จรด ในสภาพธรรมต่างๆ เพราะวิตกเจตสิก มีลักษณะอีกอย่างหนึ่ง คือ จรดในอารมณ์ในสภาพธรรมนั้น ครับ เมื่อรู้ลักษณะของวิตกเจตสิกที่ จรดในสภาพธรรมก็รู้ว่าเป็นแต่เพียงธรรม ที่ จรด ไม่ใช่เรา ครับ ซึ่งจะต้องเป็นปัญญาระดับสูงแล้วที่จะรู้ลักษณะของวิตก ได้ครับ


๔. จิต มีมากมายหลายประเภท เวลาสติระลึกรู้ จิตแต่ละประเภทมีความแตกต่างกันหรือไม่ (เช่นสติระลึกรู้จิตเห็น ต่างกับระลึกรู้จิตโกรธ หรือไม่ ในแง่ลักษณะของจิตที่สติระลึกรู้) ขอกราบขอบพระคุณเป็นอย่างสูงครับ


ก็ต้องแล้วแต่ระดับของปัญญาครับ ถ้าเป็นปัญญาเบื้องต้น ที่เพิ่งเริ่มเกิดสติปัฏฐาน ปัญญาเบื้องต้น ยังไม่รู้ลักษณะของความแตกต่างของจิตแต่ละประเภท แต่ปัญญา ทีเป็นสติปัฏฐานเบื้องต้น ไม่ว่าจะรู้จิตประเภทใด ก็รู้ว่าเป็นแต่เพียงธรรมไม่ใช่เรา แต่ยังไม่รู้ลักษณะของความแตกต่างของจิตแต่ละประภท เพราะปัญญายังไม่คมกล้าครับ แต่เมื่อสติและปัญญาคมกล้า มีกำลัง เป็นปัญญาระดับสูง ย่อมทำให้รู้ความแตกต่างของจิตแต่ละประเภทได้ครับ เพียงแต่ตอนนี้ฟังพระธรรมต่อไป ปัญญา สังขารขันธ์จะปรุงแต่งให้ถึงจุดนั้นเองครับ

ขออนุโมทนาที่ร่วมสนทนา

 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
เซจาน้อย
วันที่ 17 ก.พ. 2555

ขอนอบน้อมแ่ด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

ขอบคุณ และขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 4  
 
daris
วันที่ 17 ก.พ. 2555

ขอกราบขอบพระคุณอาจารย์ผเดิมที่กรุณาอธิบายอย่างละเอียดครับ

ผมเข้าใจว่า เมื่อสติปัฏฐานเกิดขึ้นแรกๆ ปัญญาที่เกิดร่วมด้วยยังไม่คมกล้าพอที่จะรู้ชัดในสภาพธรรมที่ปรากฏ ว่ามีลักษณะที่ละเอียดอย่างไร แต่รู้แค่ว่าสิ่งที่ปรากฏอยู่นั้น "เป็นสภาพธรรมไม่ใช่เรา" เช่นนี้ผมเข้าใจถูกหรือไม่ครับ

อย่างเช่น เป็นไปได้หรือไม่ว่า ขณะที่โกรธ สติอาจระลึกในขณะนั้นว่า "กำลังโกรธไม่ใช่เรา" แต่ปัญญาอาจจะยังแยกไม่ออกว่ากำลังรู้ตรง โทสเจตสิก หรือ โทสมูลจิต หรือ โทมนัสเวทนา แต่เมื่อระลึกบ่อยเข้า ปัญญาเจริญขึ้น ก็จะค่อยๆ เห็นความต่างของสภาพธรรมแต่ละอย่างมากขึ้น เป็นเช่นนี้หรือไม่ครับ

ขอกราบขอบพระคุณและขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 5  
 
paderm
วันที่ 17 ก.พ. 2555

เรียนความเห็นที่ สี่ ครับ

ถูกต้องทั้ง สองประเด็นตามที่คุณ darisกล่าวมาครับ

ขออนุโมทนา

 
  ความคิดเห็นที่ 6  
 
khampan.a
วันที่ 17 ก.พ. 2555

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

ไม่ว่าจะเป็นสภาพธรรมใด ที่กำลังมีกำลังปรากฏในขณะนั้น สติปัฏฐานก็สามารถเกิดขึ้นระลึกรู้ตามความเป็นจริงได้ ไม่ว่าจะเป็นจิต (เช่น จิตที่มีโลภะเป็นมูล จิตที่มีโทสะเป็นมูล) เป็นต้น เจตสิก (เช่น โทสะ ที่เกิดร่วมกับโทสมูลจิต โลภะที่เกิดร่วมกับโลภมูลจิต เป็นต้น) และรูป (เช่น สี เสียง กลิ่น เป็นต้น) ที่กำลังมีในขณะนั้น ซึ่งจะต้องเป็นทีละหนึ่ง ไม่ใช่พร้อมกันทีเดียวทั้งหมด สติปัฏฐานก็สามารถเกิดขึ้นระลึกรู้ตามความเป็นจริงได้ว่า เป็นธรรม ไม่ใช่เรา เพียงชั่วขณะสั้นๆ สำคัญที่ว่าความเข้าใจจากการฟัง การศึกษาพระธรรม มีเพียงพอหรือไม่ ที่จะให้สติปัฏฐานเกิด เพราะเป็นเรื่องของความเข้าใจถูกเห็นถูกทั้งหมด และ ไม่ใช่เรื่องบังคับบัญชาหรือเจาะจงที่จะไประลึกรู้สภาพธรรมหนึ่งสภาพธรรมใด เพราะขณะที่มีความเจาะจง หรือ ต้องการที่จะระลึกรู้ นั่นไม่ใช่สติปัฏฐาน แต่เป็นอกุศลจิตที่เกิดขึ้น เพราะฉะนั้นแล้ว จึงเป็นเรื่องของการอบรมเจริญปัญญา ที่ค่อยๆ เป็นค่อยๆ ไป เมื่อความเข้าใจมากขึ้น มั่นคงในความเป็นจริงของสภาพธรรมยิ่งขึ้น ก็เป็นเหตุให้สติปัฏฐานเกิดระลึกรู้สภาพธรรมหนึ่งสภาพธรรมใดที่กำลังปรากฏในขณะนั้น ได้ ครับ.

...ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ...

 
  ความคิดเห็นที่ 7  
 
daris
วันที่ 17 ก.พ. 2555

ขอกราบขอบพระคุณและขออนุโมทนาอาจารย์ผเดิมและอาจารย์คำปั่น

ที่กรุณาให้ความเข้าใจครับ จะขอตั้งใจฟังธรรมศึกษาธรรมต่อไปครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 8  
 
jaturong
วันที่ 17 ก.พ. 2555

ขอบคุณ และขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 9  
 
mari
วันที่ 17 ก.พ. 2555

ขอบคุณ และขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 10  
 
เซจาน้อย
วันที่ 17 ก.พ. 2555

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

ขอบคุณ และขออนุโมทนาในกุศลศรัทธาของทุกๆ ท่านครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 11  
 
pat_jesty
วันที่ 17 ก.พ. 2555

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกท่านค่ะ

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ