ความสำเร็จในทางสมถะ

 
Nareopak
วันที่  18 ก.พ. 2555
หมายเลข  20578
อ่าน  1,389

ขอความเข้าใจเพิ่มเติมเกี่ยวกับ

๑. ความสำเร็จในทางสมถะ

๒. ความสำเร็จในทางวิปัสสนา

ขอบพระคุณค่ะ


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
paderm
วันที่ 19 ก.พ. 2555

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

ก่อนอื่นก็ต้องเข้าใจความหมายของคำว่า สมถะ สมถภาวนา และวิปัสสนาภาวนาก่อนครับ

สมถะ หมายถึง ความสงบ อะไรสงบ จิตที่สงบ สงบจากอกุศลธรรม คือ สงบจากกิเลส เรียกว่า สมถะ ดังนั้นกุศลจิตจึงเป็นสมถะ

สมถภาวนา คือ การอบรมทำให้มีขึ้น ทำให้เจริญซึ่งความสงบจากกิเลส (กุศล) บ่อยๆ เนืองๆ จนตั้งมั่นเป็นความสงบจากกิเลส คือ กุศลจิตเกิดบ่อยๆ แนบแน่นตั้งมั่นถึงได้ฌาน โดยการนึกถึงอารมณ์หนึ่งอารมณ์ใด แล้วเกิดกุศลบ่อยๆ นั่นเองครับ เป็นการเจริญสมถภาวนา

วิปัสสนาภาวนา คือ การอบรมเจริญปัญญาเพื่อรู้สภาพธรรมตามความเป็นจริงที่กำลังปรากฏว่าเป็นธรรม ไม่ใช่เรา

เมื่อพูดถึงความสำเร็จในทางสมถะ และ ความสำเร็จในทางวิปัสสนา คำว่าสำเร็จกล่าวได้หลายนัย เมื่อกล่าวความสำเร็จที่หมายถึงผล

ความสำเร็จ หรือ ผลของ สมถภาวนา คือ ความสงบจากกิเลส ในขณะที่กำลังเจริญสมถภาวนา และมีความตั้งมั่นในอารมณ์หนึ่งอารมณ์ใด โดยที่ความตั้งมั่นนั้นเป็นไปกับกุศลจิตที่เกิดต่อเนื่อง จึงระงับกิเลส ระวังนิวรณ์ อันเป็นธรรมที่ปิดกั้นกุศลไม่ให้เกิดในขณะนั้น สมถภาวนา จึงมีความสำเร็จ หรือ ผล คือ ระงับนิวรณ์ ระงับอกุศลไม่ให้เกิดชั่วขณะ และได้ฌาน ได้ความสงบแห่งจิตที่เป็นกุศลตั้งมั่นแนบแน่น และเมื่อฌานไม่เสื่อม ย่อมเข้าถึงพรหมโลก นี้เป็นความสำเร็จ หรือ ผลของสมถภาวนา แต่สมถภาวนาไม่ได้รู้ความจริงว่าเป็นแต่เพียงธรรม ไม่ใช่เรา จึงไม่สามารถดับกิเลสได้จริง เพียงระงับไว้ชั่วคราวในขณะที่เจริญสมถภาวนาเท่านั้นครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
paderm
วันที่ 19 ก.พ. 2555

ส่วนความสำเร็จ หรือ ผลของการเจริญวิปัสสนา คือ รู้ตามความเป็นจริงของสภาพ ธรรมที่กำลังปรากฏว่าเป็นธรรม ไม่ใช่เรา การรู้เช่นนี้ ย่อมนำมาซึ่งความสำเร็จ หรือ ผล คือ การรู้แจ้งอริยสัจจธรรม เห็นพระนิพพานและดับกิเลสได้หมดสิ้นครับ นี่คือ ความสำเร็จ หรือ ผลของการเจริญวิปัสสนา

และเมื่อกล่าวถึง ความสำเร็จอีกนัยหนึ่ง คือ ก็มีธรรมที่เป็นเครื่องให้ถึงความสำเร็จ คือ อิทธิบาท ๔ ซึ่ง การจะถึงความสำเร็จในขั้นสมถภาวนา คือ การได้ฌานขั้นต่างๆ ก็ต้องอาศัยการเจริญกุศลธรรมประการต่างๆ รวมทั้ง เจริญธรรมที่ทำให้สำเร็จ คือ อิทธิ บาท ๔ อันประกอบด้วย ฉันทะ วิริยะ จิตตะและวิมังสา (ปัญญา) ดังนั้น จะเห็นได้ว่า การจะถึงความสำเร็จ คือ การได้ฌานขั้นต่างๆ ขาดปัญญา ความเข้าใจไม่ได้เลย ดังนั้น เพราะมีปัญญา จึงทำให้ถึงคามสำเร็จ คือ จิตสงบจากกิเลสสชั่วขณะจนได้ฌาน ครับ

ส่วนในฝ่ายการเจริญวิปัสสนา ก็ต้องมีธรรมที่เป็นเครื่องให้ถึงความสำเร็จ คือ อิทธิบาท ๔ อันเป็นธรรมส่วนหนึ่ง อันจะทำให้ถึงการตรัสรู้ ดับกิเลส ดังนั้นอิทธิบาท คือ ฉันทะ วิริยะ จิตตะ วิมังสา (ปัญญา) ธรรมเหล่านี้ เป็นธรรมที่เป็นเครื่องให้ถึงความสำเร็จ คือ การดับกิเลสและบรรลุเป็นพระอริยบุคคลขั้นต่างๆ เพราะมีกาเรจริญอิทธิบาท ๔ และการเจริญวิปัสสนา ครับ

จะเห็นได้ว่า ทั้งการเจริญสมถภาวนา และ การเจริญวิปัสสนาภาวนา จะสำเร็จได้ ขาดปัญญาไมได้เลย เพราะธรรมที่ทำให้ถึงความสำเร็จ ที่จะทำให้แม้จิตสงบจากกิเลสและถึงการดับกิเลส สำคัญที่ปัญญา เป็นสำคัญ การศึกษาพระธรรม ฟังพระธรรมให้เข้าใจ ย่อมนำมาซึ่งความสำเร็จประการต่างๆ คือ สงบจากกิเลสและถึงการดับกิเลส นำมาซึ่งการเจริญสมถภาวนาและวิปัสสนา เพราะเริ่มจากการเห็นถูกขั้นการฟังให้เข้าใจถูกต้องนั่นเอง ครับ

ขออนุโมทนา

 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
khampan.a
วันที่ 19 ก.พ. 2555

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

การอบรมเจริญสมถภาวนาไม่สามารถดับกิเลสได้ เพียงระงับกิเลสได้ด้วยการข่ม เท่านั้น ยังไม่สามารถดับกิเลสได้อย่างเด็ดขาด กิเลสยังมีโอกาสเกิดขึ้นกลุ้มรุมจิตใจได้อีก สำหรับผู้ที่อบรมเจริญสมถภาวนา ได้ฌานขั้นต่างๆ เมื่อฌานไม่เสื่อมก่อนจุติ ก็ เป็นเหตุให้ไปเกิดเป็นพรหมบุคคล ในพรหมโลก ตามระดับขั้นของฌานที่ได้ ซึ่งยังไม่พ้นไปจากสังสารวัฏฏ์ ยังไม่หลุดพ้นจากกองทุกข์ทั้งปวง ยังต้องเวียนว่ายตายเกิดอีก แต่การอบรมเจริญปัญญา (วิปัสสนาภาวนา) เริ่มที่การฟังพระธรรม ศึกษาพระธรรม ที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดง สะสมความเข้าใจถูกเห็นถูกไปตามลำดับ เป็นไป เพื่อ ความเจริญขึ้นของปัญญา จนกระทั่งสามารถดับกิเลสทั้งปวงได้อย่างหมดสิ้น ทำให้ ผู้ที่อบรมเจริญสามารถดับกิเลสได้ตามลำดับขั้น จนกระทั่งสูงสุดถึงความเป็น พระอรหันต์ พ้นจากทุกข์โดยประการทั้งปวง ครับ

...ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ...

 
  ความคิดเห็นที่ 4  
 
peeraphon
วันที่ 19 ก.พ. 2555

เรียนสอบถามอาจารย์ครับ

สนใจตรงคำว่าระงับกิเลสไม่ให้เกิดขึ้น จากผลของ สมถภาวนา เพียงชั่วขณะ หมายถึง อกุศลจิต ที่เกิดขึ้นแล้ว หรืออกุศลกรรมที่เกิดขึ้นแล้ว แต่มี ผลของสมถภาวนา เพื่อระงับ อกุศลจิต ที่เกิดขึ้น แสดงว่า อกุศลจิตก็ยังคงเกิดอยู่ เช่น เกิดโทสะ จากการที่มีใครมาทำอะไรให้ไม่พอใจ แต่ระงับได้และหยุดไว้ตรงนั้น (แต่ไม่ใช่เพราะ ปัญญา แต่ด้วยความสงบของจิตที่ได้จาก สมถภาวนา) ใช่หรือไม่ครับ

และอีกประเด็นหนึ่งคือ มีอกุศลจิต เกิดขึ้น แต่ระงับไว้ได้ด้วยปัญญา จากการฟังธรรม ศึกษาธรรมะ รู้ว่าสิ่งที่เกิดขึ้นล้วนแล้วแต่เป็นธรรม. แต่ยังไง ก็ตาม อกุศลจิต ก็ยังเกิดขึ้นก่อนอยู่ดี เช่น เกิดโทสะ ก่อนระลึกได้อยู่ดีใช่หรือไม่ครับ

ขออนุญาตอาจารย์ช่วยอธิบายเพิ่มเติมด้วยครับ เพราะอาจจะตั้งคำถามได้ไม่ตรงกับที่คิด แต่คิดว่าอาจารย์น่าจะทราบว่าผมกำลังสงสัยตรงจุดไหนครับ

ขอขอบพระคุณอาจารย์ และขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 5  
 
paderm
วันที่ 19 ก.พ. 2555

เรียนความเห็นที่ 4 ครับ

จากคำถามที่ว่า

สนใจตรงคำว่าระงับกิเลสไม่ให้เกิดขึ้น จากผลของ สมถภาวนา เพียงชั่วขณะ หมายถึง อกุศลจิต ที่เกิดขึ้นแล้ว หรืออกุศลกรรมที่เกิดขึ้นแล้ว แต่มี ผลของสมถภาวนาเพื่อระงับ อกุศลจิต ที่เกิดขึ้น แสดงว่า อกุศลจิตก็ยังคงเกิดอยู่ เช่น เกิดโทสะ จากการที่มีใครมาทำอะไรให้ไม่พอใจ แต่ระงับได้และหยุดไว้ตรงนั้น (แต่ไม่ใช่เพราะ ปัญญา แต่ด้วยความสงบของจิตที่ได้จาก สมถภาวนา) ใช่หรือไม่ครับ


การระงับกิเลสของสมถภาวนา หมายถึง ระงับกิเลสที่กำลังเกิดขึ้น ที่เป็นนิวรณ์คือ อกุศลจิตที่กำลังเกิดขึ้น ในขณะปัจจุบัน คือ กุศลจิตเกิดแทนอย่างยาวนาน ต่อเนื่อง ไม่มีโอกาสของอกุศลที่จะเกิดในขณะนั้นนั่นเองครับ ดังนั้น จึงหมายถึง อกุศลจิตไม่ใช่อกุศลกรรมที่ ระงับด้วยสมถภาวนา ครับ แต่เพราะอาศัยปัญญา จึงทำให้เกิดกุศลจิต ไม่เกิดอกุศลจิตในขณะนั้น ครับ


จากคำถามที่ว่า

และอีกประเด็นหนึ่งคือ มีอกุศลจิต เกิดขึ้น แต่ระงับไว้ได้ด้วยปัญญา จากการฟังธรรมศึกษาธรรมะ รู้ว่าสิ่งที่เกิดขึ้นล้วนแล้วแต่เป็นธรรม. แต่ยังไง ก็ตาม อกุศลจิต ก็ยังเกิดขึ้นก่อนอยู่ดี เช่น เกิดโทสะ ก่อนระลึกได้อยู่ดีใช่หรือไม่ครับ


ผู้ถามมุ่งหมายถึงว่า ทุกสิ่งที่เกิดขึ้นล้วนเป็นธรรมและเป็นอนัตตา คือ บังคับบัญชา ไม่ได้ ดังนั้น อกุศลจึงเกิดขึ้นเป็นธรรมดาและเกิดบ่อยๆ ซึ่งก็เป็นการสลับกันระหว่าง อกุศล และ กุศลจิต อกุศลจิตเกิดขึ้น ถ้าสติเกิด ก็เป็นปัจจัยให้กุศลจิตระลึกได้ในสภาพธรรมนั้นว่าเป็นแต่เพียงสภาพธรรม ไม่ใช่เรา ครับ ดังนั้น อกุศลจิตจะเกิดขึ้นก่อน หรือ กุศลจิตเกิดขึ้นก่อนก็ได้ เพราะแม้กุศลจิตเกิดขึ้นก่อน สติเกิดระลึกรู้ลักษณะ ของกุศลที่เกิดขึ้นในขณะนั้นว่า เป็นธรรม ไม่ใช่เรา ครับ ดังนั้น อกุศลเกิดก่อน กุศลเกิด ต่อก็ได้ หรือ กุศลเกิดก่อน กุศลเกิดต่อก็ได้ และแม้ อกุศลเกิดก่อน อกุศลเกิดต่อไปอีก ก็ได้ครับ อันแสดงถึงความเป็นธรรมและเป็นอนัตตา

ขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 6  
 
Nareopak
วันที่ 19 ก.พ. 2555

ขออนุโมทนาและขอบคุณเป็นอย่างมากค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 7  
 
เซจาน้อย
วันที่ 20 ก.พ. 2555

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

ขอบคุณ และขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 8  
 
jaturong
วันที่ 20 ก.พ. 2555

ขอบคุณ และขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 9  
 
chaweewanksyt
วันที่ 26 ก.พ. 2555

ขออนุโมทนาค่ะ

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ