โทสะ คือ ตัณหา ใช่หรือไม่
โทสะ เทียบได้ กับ กามตัณหา ได้หรือไม่
โทสะ เทียบได้กับ ภวตัณหา ได้หรือไม่
โทสะ เทียบได้กับ วิภวตัณหา ได้หรือไม่
ถ้า โทสะ ไม่ใช่ ตัณหา
โทสะ ควรสงเคราะห์ ลง ในองค์ธรรมใด ในปฏิจจสมุปบาท
ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น
โทสะ คือ สภาพธรรมที่มีจริงที่เป็นเจตสิกที่ไม่ดี เป็นอกุศลธรรม มีลักษณะขุ่นเคืองใจ ไม่พอใจ เป็นต้น ส่วน ตัณหา เป็นสภาพธรรมที่มีจริง เป็นเจตสิกที่ไม่ดี เป็นอกุศลธรรม คือ โลภเจตสิก ซึ่งตัณหา หรือ โลภะ มีลักษณะติดข้อง พอใจ ไม่สละ เป็นลักษณะ ดังนั้น โทสะ กับ ตัณหา (โลภะ) จึงไม่ใช่สภาพธรรมเดียวกันครับ ซึ่งจะขออธิบาย ตัณหา ประเภทต่างๆ ดังต่อไปนี้ ครับ
ตัณหา เป็น ๓ ประการคือ
๑. กามตัณหา
๒. ภวตัณหา
๓. วิภวตัณหา
กามตัณหา หมายถึง ความยินดี พอใจติดข้องในรูป เสียง กลิ่น รส สิ่งที่กระทบสัมผัสที่มีในชีวิตประจำวัน เช่น เห็นสิ่งใดแล้วก็ชอบ เพียงแค่นี้ก็เป็นกามตัณหาแล้วครับ ได้ยินเสียง ก็ติดข้อง แม้เพียงเล็กน้อยก็เป็นกามตัณหาอีกเช่นกัน ดังนั้นจึงมีกามตัณหาเป็นปกติในชีวิตประจำวันโดยส่วนมากครับ
ภวตัณหา คือ ความยินดี พอใจ โลภเจตสิกที่ติดข้องยินดีในการเกิดขึ้นของนาม รูป ยินดีในความมีชีวิตอยู่ หรือ หมายถึง โลภเจตสิกที่เจือด้วยสัสสตทิฏฐิ คือมีความเห็นผิดยึดถือว่าเที่ยง คือ ยินดีพอใจ ในความเห็นผิดว่า ตายแล้วต้องเกิด มีสัตว์ บุคคล ที่เกิดต่อไปในภพหน้า (สัสสตทิฏฐิ) เห็นว่าโลกเที่ยง เคยเกิดเป็นสัตว์หรือบุคคลเช่นไร เมื่อตายไปแล้ว ก็จะเกิดเป็นบุคคลเช่นนั้นอีก ขณะที่มีความเห็นผิดเช่นนี้ ขณะนั้นต้องมีความยินดี พอใจเกิดร่วมด้วย ที่เป็นตัณหา หรือ โลภะ จึงเรียกว่าภวตัณหา
วิภวตัณหา คือ โลภะ หรือความยินดีพอใจ ในความเห็นที่ผิดว่า ตายแล้วก็ไม่เกิดอีก จบกัน ขาดสูญ (อุจเฉททิฏฐิ) การที่ยินดีพอใจในความเห็นนั้น ขณะนั้นเป็นวิภวตัณหา เป็นความยินดีพอใจในความเห็นผิดนั้นที่สัตว์ตายแล้วไม่เกิดอีกนั่นเองครับ
พระอภิธรรมปิฎก วิภังค์ เล่ม ๒ ภาค ๑ - หน้าที่ 353
บทว่า กามตณฺหา มีวิเคราะห์ว่า ตัณหาในกาม ชื่อว่า กามตัณหา. คำว่า กามตัณหานี้เป็นชื่อของราคะอันประกอบด้วยกามคุณ ๕.
ตัณหาในภพชื่อว่า ภวตัณหา. คำว่าภวตัณหานี้เป็นชื่อของราคะ (ความยินดี) ในรูปภพ อรูปภพและความพอใจในฌาน ที่สหรคตด้วยสัสสตทิฏฐิซึ่งเกิดขึ้นแล้วด้วยอำนาจปรารถนาภพ.
ตัณหาในวิภพ ชื่อว่า วิภวตัณหา. คำว่า วิภวตัณหานี้เป็นชื่อของราคะ (โลภะ) สหรคต (ประกอบด้วย) ด้วยอุจเฉททิฏฐิ. (ความเห็นผิดว่าขาดสูญ ตายแล้วไม่เกิดอีก)
ดังนั้นทั้ง กามตัณหา ภวตัณหา วิภวตัณหา มุ่งหมายถึง ราคะ หรือ โลภะจตสิกที่มีลักษณะติดข้อง พอใจ ไม่สละ แต่ไม่ใช่โทสเจตสิกที่มีลักษณะไม่พอใจ ไม่สบายใจ ขุ่นเคืองใจ ตัณหาและโทสะ จึงเป็นสภาพธรรมคนละอย่างกัน ครับ
ส่วนคำถามที่ว่า
ถ้า โทสะ ไม่ใช่ ตัณหา โทสะ ควรสงเคราะห์ ลง ในองค์ธรรมใด ในปฏิจจสมุปบาท
ถ้าเราเข้าใจให้ถูก เพราะมีโลภะ ตัณหา ความติดข้องในรูป เสียง กลิ่น รส ติดข้องในสิ่งต่างๆ เมื่อไม่ได้สิ่งนั้น หรือ สิ่งนั้นแปรปรวนไป ก็ทำให้ทุกข์ใจ เสียใจ โสกะ ปริเทวะ ทุกข์ โทมนัส อุปายาส ซึ่งสภาพธรรมเหล่านี้ ก็เป็นลักษณะของโทสะ ทั้งสิ้น ทั้งความทุกข์ใจ โศกเศร้า (โสกะ) ความคร่ำครวญ เป็นต้น ดังนั้น โทสะ จึงอยู่ในองค์ของปฏิจจสมุปบาทในองค์หลังๆ มีโสกะ ปริเทวะ ทุกข์ โทมนัส อุปายาส เพราะมีตัณหา จึงมีความเสียใจ ทุกข์ใจ ที่เป็นโทสะ ครับ
ขออนุโมทนา
ขอนอบน้อมแด่่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น
ตัณหา (โลภะ) กับโทสะ ถึงแม้จะเป็นอกุศลเจตสิก แต่ก็เป็นธรรมคนละประเภทกัน โลภะ เป็นสภาพธรรมที่ติดข้องต้องการยินดีพอใจ ส่วนโทสะ เป็นสภาพธรรมที่ขุ่นเคืองใจ โกรธ ไม่พอใจ โลภะเกิดร่วมกับอกุศลจิตประเภทที่มีโลภะเป็นมูลเท่านั้น (โลภมูลจิต) ส่วนโทสะ เกิดร่วมกับอกุศลจิตประเภทที่มีโทสะเป็นเป็นมูล (โทสมูลจิต) อกุศลธรรมที่กล่าวมาก็ไม่พ้นไปจากชีวิตประจำวัน เกิดขึ้นเป็นปกติในชีวิตประจำวันในฐานะของผู้ที่ยังมีกิเลสอยู่ ยากที่จะพ้นไปได้จริงๆ เกิดขึ้นเป็นไปตามการสะสมของแต่ละบุคคล ทั้งความยินดีพอใจติดข้อง และ ไม่พอใจ โกรธขุ่นเคืองใจ เวลาที่กระทบกับสิ่งหนึ่งสิ่งใดที่ไม่เป็นไปตามความปรารถนา ความต้องการ ก็เกิดโทสะ เกิดความเดือดร้อนใจขึ้นได้ ที่เป็นเช่นนี้ก็เพราะมีโลภะเป็นพื้นอยู่นั่นเอง มีโลภะติดข้องในสิ่งหนึ่งสิ่งใด เมื่อไม่ได้ตามที่ปรารถนาตามที่ติดข้องก็เป็นเหตุให้เกิดโทสะ จึงแสดงให้เห็นว่า ผู้ที่จะไม่มีโทสะเลย นั้น คือ พระอนาคามีบุคคล ก็เพราะว่าท่านดับโลภะที่ติดข้องยินดีพอใจในรูป เสียง กลิ่นรส โผฏฐัพพะ ได้แล้ว ด้วยอนาคามิมรรคจิต แต่พระอนาคามี ก็ยังมีโลภะ ที่เป็นความติดข้องยินดีในภพ อยู่ ซึ่งจะถูกดับได้อย่างหมดสิ้น เมื่อถึงความเป็นพระอรหันต์
กิเลสที่มีมาก มีโลภะ โทสะ โมหะ เป็นต้น จะค่อยๆ ละคลายลงไปได้ ก็ด้วยการอบรมเจริญปัญญา หนทางแห่งการอบรมเจริญปัญญาเป็นหนทางที่จะให้รู้สภาพธรรมตามความเป็นจริงและสามารถดับกิเลสได้เป็นลำดับขั้น และที่สำคัญ สังสารวัฏฏ์ จะหมดสิ้นไปได้ ไม่ต้องมีการเวียนว่ายตายเกิด ก็ด้วยการอบรมเจริญปัญญา ครับ.
...ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ...
ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น
ตัณหา (โลภะ) กับโทสะ ถึงแม้จะเป็นอกุศลเจตสิก แต่ก็เป็นธรรมคนละประเภทกัน
โลภะ เป็นสภาพธรรมที่ติดข้องต้องการยินดีพอใจ
ส่วนโทสะ เป็นสภาพธรรมที่ขุ่นเคืองใจ โกรธ ไม่พอใจ
"โทสะ กับ ตัณหา (โลภะ) จึงไม่ใช่สภาพธรรมเดียวกันครับ"
โทสะ จึงอยู่ในองค์ของปฏิจจสมุปบาทในองค์หลังๆ มีโสกะ ปริเทวะ ทุกข์ โทมนัส อุปายาสะ
ขอบคุณ และขออนุโมทนาในกุศลจิตวิริยะของอ.ผเดิม, อ.คำปั่นด้วยครับ