ความประพฤติมักน้อยเป็นความดี

 
Nareopak
วันที่  24 ก.พ. 2555
หมายเลข  20621
อ่าน  4,107

คำว่า มักน้อย เข้าใจ แต่เมื่อรวมกับความประพฤติแล้ว ไม่แน่ใจว่าเข้าใจถูกหรือไม่ จึงขอให้ท่านผู้รู้/ท่านวิทยากร ช่วยยกตัวอย่าง ที่ตรงกับความหมายของ "ความประพฤติมักน้อยเป็นความดี" เพื่อความเข้าใจที่ถูกต้องด้วยค่ะ ขอบพระคุณค่ะ


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
khampan.a
วันที่ 24 ก.พ. 2555

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

ธรรมเป็นสิ่งที่มีจริง กุศลธรรม เป็นกุศลธรรม อกุศลธรรม เป็นอกุศลธรรม เป็นธรรมที่มีจริง ไม่มีสัตว์ ไม่มีบุคคล ไม่มีตัวตนแทรกอยู่ในสภาพธรรมเหล่านั้นเลย สำคัญที่ความเข้าใจอย่างถูกต้องว่า เป็นธรรมที่เกิดขึ้นเป็นไปตามเหตุตามปัจจัย ไม่มีสัตว์ ไม่มีบุคคล ไม่มีตัวตน แม้แต่ "ความมักน้อย" ก็เป็นธรรมที่มีจริง เป็นธรรมฝ่ายดี ที่ค่อยๆ ขัดเกลาโลภะ ความติดข้องยินดีพอใจไปตามลำดับ ทั้งความติดข้องในวัตถุสิ่งของปัจจัยต่างๆ และ ในคุณธรรม กล่าวคือ ไม่โลภในวัตถุสิ่งของต่างๆ และ ไม่แสดงตนว่าเป็นคนดี มีคุณธรรมอย่างไร ย่อมเป็นสภาพธรรมที่ดีงามในขณะนั้น จนกว่าจะถึงความเป็นผู้ไม่มีโลภะโดยประการทั้งปวง จึงไม่มีตัวตนที่มักน้อย ไม่มีตัวตนที่ประพฤติมักน้อย ขณะที่สภาพธรรมฝ่ายดีเช่นนี้เกิดขึ้น ก็เรียกว่า ความประพฤติมักน้อย เพราะมีความประพฤติเป็นไปในความเป็นผู้มักน้อย ขัดเกลากิเลสในชีวิตประจำวัน แสดงถึงความประพฤติเป็นไปของสภาพธรรม ไม่ใช่อย่างอื่น ความประพฤติมักน้อย เป็นความดี เป็นธรรมฝ่ายดีที่เป็นไปเพื่อขัดเกลา โลภะ ขัดเกลา ความเป็นผู้มักมากในชีวิตประจำวัน ครับ

...ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ...

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
paderm
วันที่ 24 ก.พ. 2555

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

ความมักน้อย ภาษาบาลี คือ อัปปิจโฉ ในอรรถกถาอังคุตตรนิกายอธิบายไว้ว่า ผู้ไม่มีความปรารถนา คือ ไม่มีความโลภ (โลภะ) ซึ่งความไม่มีความโลภก็ย่อมมีวัตถุที่จะไม่โลภ มีปัจจัยต่างๆ คือไม่โลภในปัจจัยต่างๆ หรือ คุณธรรมต่างๆ คือไม่โลภ คือไม่แสดงตนว่ามีคุณธรรมต่างๆ ซึ่งขณะนั้นไม่มีความต้องการให้คนอื่นรู้ว่ามีคุณธรรมอะไรบ้าง จึงชื่อว่าความเป็นผู้ปรารถนาน้อย แต่ขณะนั้นไม่มีโลภะครับ ไม่เป็นอกุศล

ซึ่งความมักน้อยนั้น เป็นกุศลธรรมซึ่งก็คือ จิต เจตสิก ที่เกิดขึ้น เป็นกุศลจิตในขณะที่มักน้อย และเมื่อมีความมักน้อบ ที่เกิดทางใจแล้ว ก็ย่อมมีการแสดงออกทางกายและวาจา การแสดงออกทางกายและวาจานี้เอง เรียกว่า ความประพฤติที่เป็น จริยา (ความประพฤติ) อันเป็นการแสดงออกมาทางกาย วาจาให้รู้ ชื่อว่า ความประพฤติ ครับ

ซึ่งเราควรเข้าใจความมักน้อยให้ถูกต้อง เพราะอาจจะคิดว่าเข้าใจแล้วในเรื่องความมักน้อย ครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
paderm
วันที่ 24 ก.พ. 2555

ผู้ปรารถนาน้อยหรือมักน้อย คือผู้ไม่มีความปรารถนา ไม่มีโลภะที่ต้องการให้คนอื่นรู้ว่า ตนเองมีคุณธรรมอะไร โดยไม่ใช่การหลอกลวงซ้อนว่าแสดงเหมือนเป็นผู้มักน้อยเพื่อให้ผู้อื่นสำคัญว่าเป็นผู้มักน้อย แต่จิตขณะนั้นเป็นผู้ไม่มีความต้องการจริงๆ ในขณะนั้น และรู้จักประมาณในการรับด้วยใจจริง นี่ก็ชื่อว่าเป็นผู้ปรารถนาน้อย มักน้อยครับ

ซึ่งความมักน้อย มี ๔ ประการคือ

๑. มักน้อยในปัจจัย

๒. มักน้อยในธุดงค์

๓. มักน้อยในปริยัติ

๔. มักน้อยในอธิคม

มักน้อยในปัจจัย คือ เป็นผู้รู้จักพอในการรับ ไม่มีความปรารถนาเพิ่มในสิ่งที่ตนเองก็มีอยู่แล้ว คือต้องดูทั้งคนให้ และตัวเองและศรัทธาของผู้ให้ครับ ถ้าผู้ให้มีของมาก แต่มีศรัทธาน้อยก็รับน้อย ถ้าผู้ให้มีของน้อยแต่มีศรัทธาในการให้มาก ก็รับน้อย แต่ถ้าผู้ให้มีของมากและมีศรัทธามากก็ต้องรับพอดีครับ นี่คือความมักน้อย ความไม่โลภในปัจจัยนั่นเองครับ

ดังนั้น ความประพฤติมักน้อย ก็เป็นการกระทำทางกายและวาจาที่จะพูดด้วยวาจาว่าไม่รับอาหารเพิ่ม หรือ แสดงด้วยอาการทางกาย มีการสั่นหน้าที่จะไม่รับอาหารเพิ่ม เป็นต้น นี่คือ ความประพฤติมักน้อยในปัจจัย ที่เป็นการแสดงออกทางกายและวาจา ครับ

มักน้อยในธุดงค์ คือ ตัวเองเป็นผู้สมาทานรักษาธุดงค์ก็ไม่มีความปรารถนา ต้องการให้คนอื่นรู้ว่าตัวเองรักษาธุดงค์ครับ ความประพฤติมักน้อยนี้ จึงไม่แสดงออกด้วยกายและวาจาที่จะให้คนอื่นรู้ว่าตนเองรักษาธุดงค์

มักน้อยในปริยัติ คือตัวเองเป็นผู้ฟังมากและเข้าใจมากแต่ก็ไม่ปรารถนาให้ใครรู้ว่าตัวเองเป็นพหูสูต ฟังมาก เข้าใจมากครับ ความประพฤติมักน้อยในปริยัติ จึงกล่าววาจาที่ไม่ให้ผู้อื่นรู้คุณธรรมของตน และไม่กล่าววาจาว่าตนเองมีคุณธรรม คือ ฟังมามากเป็นต้น

มักน้อยในอธิคม หมายถึง ตัวเองบรรลุธรรม แล้วก็ไม่ปรารถนาให้คนอื่นรู้ว่าบรรลุธรรมครับ ความประพฤติมักน้อย จึงแสดงออกด้วยกาย วาจาที่มักน้อย และไม่แสดงออกด้วยกาย วาจาที่มักมาก ปรารถนาให้คนอื่นรู้คุณธรรม มีกล่าวว่าตนเองบรรลุ เป็นต้น หรือ แสดงกิริยาอาการว่าได้บรรลุ ซึ่งผู้ที่มักน้อยในอธิคมจะไม่แสดงความประพฤติที่เป็นกายและวาจาเช่นนั้น ครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 4  
 
paderm
วันที่ 24 ก.พ. 2555

การศึกษาพระธรรม จึงเป็นเรื่องของการน้อมประพฤติปฏิบัติด้วยความจริงใจทั้งทางกาย วาจาและใจเป็นสำคัญครับ การขัดเกลากิเลสก็เริ่มจากปัญญาที่เจริญขึ้น อันเนื่องมาจากการศึกษาพระธรรม ฟังพระธรรม เห็นโทษของกิเลส ค่อยๆ ขัดเกลากิเลส

พระธรรม จึงเป็นประโยชน์กับผู้ที่มีความจริงใจและเป็นผู้ตรง ว่าศึกษาพระธรรมเพื่อประโยชน์คือการขัดเกลากิเลสของตนเอง อันเป็นไปเพื่อความมักน้อย เป็นไปเพื่อความไม่มีโลภะ ทีละเล็กละน้อยครับ นี่คือประโยชน์ของการศึกษาพระธรรมครับ

ความเป็นผู้มักน้อยจึงเป็นคุณธรรมที่ควรอบรม เพราะเป็นธรรมเครื่องขัดเกลาแต่จะมีได้เพราะอาศัยการฟังพระธรรม เห็นประโยชน์ว่าถ้าลดความโลภลง เพราะมีปัญญา ประโยชน์ก็ย่อมเกิดกับคนรอบข้าง ที่สำคัญที่สุด ประโยชน์ใหญ่คือขัดเกลากิเลสของตนเองครับ พระธรรมเท่านั้นที่จะเกื้อกูลครับ ความประพฤติมักน้อยจึงเป็นความดี เพราะเป็นกุศลธรรมและเป็นไปเพื่อละ สละกิเลส

ขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 5  
 
Nareopak
วันที่ 25 ก.พ. 2555

ขอบคุณ และขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 6  
 
เซจาน้อย
วันที่ 25 ก.พ. 2555

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

ขอบคุณ และขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 7  
 
bsomsuda
วันที่ 26 ก.พ. 2555

" ความมักน้อย ... เป็นธรรมฝ่ายดี ที่ค่อยๆ ขัดเกลาโลภะความติดข้องยินดีพอใจไปตามลำดับ ทั้งความติดข้องในวัตถุสิ่งของปัจจัยต่างๆ และในคุณธรรม กล่าวคือ ไม่โลภะในวัตถุสิ่งของต่างๆ และไม่แสดงตนว่าเป็นคนดี มีคุณธรรมอย่างไร ... จนกว่าจะถึงความเป็นผู้ไม่มีโลภะโดยประการทั้งปวง จึงไม่มีตัวตนที่มักน้อย ไม่มีตัวตนที่ประพฤติมักน้อย "

"พระธรรม ... จึงเป็นประโยชน์กับผู้ที่มีความจริงใจ และเป็นผู้ตรงว่าศึกษาพระธรรมเพื่อประโยชน์ คือ การขัดเกลากิเลสของตนเอง อันเป็นไปเพื่อความมักน้อย เป็นไปเพื่อความไม่มีโลภะ ทีละเล็กละน้อย"

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาในกุศลจิตของ อ.คำปั่น, คุณผเดิมและทุกท่านค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 8  
 
JANYAPINPARD
วันที่ 28 ก.พ. 2555

ความมักน้อยเป็นนามธรรม ... สภาพธรรมเป็นอโลภะ ส่วนความประพฤติมักน้อยได้แก่สิ่งที่แสดงออกมาปรากฏทางกายและวาจา ... มีบางลัทธิประพฤติมักน้อยด้วยการไม่นุ่งอะไรเลยความประพฤติมักน้อยอาจมาจากความมักน้อยหรือไม่ใช่ก็ได้ ... การศึกษาพระธรรมทำให้เข้าใจความแตกต่างของรูปธรรมที่ปรากฏให้เห็นได้และนามธรรมที่เข้าใจความมักน้อยที่แท้จริง ... ความดีเป็นนามธรรมไม่ใช่รูปธรรม

.ขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 9  
 
สิริพรรณ
วันที่ 4 ต.ค. 2567

ขอบพระคุณและยินดีในกุศล ด้วยการให้ธรรมคือความจริงค่ะ

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ