กรรม อกุศลกรรม กุศลกรรม อกุศลจิต กุศลจิต วิบาก

 
หนทาง
วันที่  26 ก.พ. 2555
หมายเลข  20635
อ่าน  36,758

กรรม วิบาก อกุศลกรรม กุศลกรรม อกุศลจิต กุศลจิต วิบาก มีความเกี่ยวข้องกันอย่างไรครับ


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
paderm
วันที่ 27 ก.พ. 2555

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

กรรม หมายถึงการกระทำ ซึ่งเมื่อว่าโดยสภาพธรรมแล้ว ได้แก่ เจตนาเจตสิก มีอยู่ด้วยกัน ๒ ประเภท คือ เจตนาที่เกิดร่วมกับจิตทุกดวง และ เจตนาที่เป็นตัวกระทำกรรมที่จะเป็นเหตุให้เกิดผลข้างหน้า ซึ่งเมื่อกล่าวโดยประมวลแล้ว ทุกครั้งที่จิตเกิดขึ้นจะมีเจตนาเจตสิกเกิดร่วมด้วยเสมอ

กุศลจิต คือ จิตที่ดีงาม ที่ประกอบด้วยเจตสิกที่ดี มีศรัทธา เป็นต้น ซึ่งก็ต้องมีเจตนาที่เป็นกรรมด้วย

อกุศลจิต คือ จิตที่ไม่ดี เพราะประกอบด้วยเจตสิกที่ไม่ดี มีโลภเจตสิก เป็นต้น

ความเกี่ยวข้องระหว่าง กรรมและกุศลจิต อกุศลจิต

กรรมที่เป็นเจตนาเจตสิก เกิดกับจิตทุกประเภทดังนั้นเจตนาที่เป็นกรรม จึงเกี่ยวข้องกับจิตที่ดี ที่เป็นกุศลจิต คือ เกิดพร้อมกับจิตที่ดี คือ กุศลจิต และเจตนาที่เป็นกรรม ก็เกิดพร้อมกับจิตที่ไม่ดีที่เป็นอกุศลจิต จึงเกี่ยวข้องด้วยการเกิดพร้อมกัน

กุศลกรรม คือ เจตนาในการกระทำกรรมดี ซึ่งโดยมากหมายถึง การกระทำกรรมดี ทางกาย วาจาและใจ ที่มีกำลังจนเป็นกุศลกรรม มีการให้ทาน รักษาศีล ไม่ใช่เพียงคิดที่จะให้ แต่ยังไม่ได้ให้ ที่เป็นเพียงกุศลจิตเท่านั้น

อกุศลกรรม คือ เจตนาในการกระทำกรรมไม่ดี ซึ่งโดยมาก หมายถึง การกระทำกรรมไม่ดีทางกาย วาจาและใจที่มีกำลัง จนครบองค์กรรมบถ เช่น การฆ่าสัตว์ ลักทรัพย์ เป็นต้น ไม่ใช่เพียงคิดจะฆ่า แต่ยังไม่ได้ฆ่าที่เป็นอกุศลจิตเท่านั้น

ความเกี่ยวข้องระหว่าง กุศลจิตและอกุศลจิต กับ กุศลกรรมและอกุศลกรรม

กุศลกรรมมีได้ เพราะมีกุศลจิต จึงมีกุศลกรรมเกิดขึ้น เพราะมีอกุศลจิต จึงมีอกุศลกรรมเกิดขึ้น ครับ หากไม่มีจิตที่เป็นกุศล ก็จะไม่มีการกระทำกรรมที่เป็นกุศลกรรมทางกาย วาจา และใจ แต่เพราะมีกุศลจิตเกิดขึ้น จึงมีการให้ทาน รักษาศีล เจริญวิปัสสนา ส่วนอกุศลจิตและอกุศลกรรม ก็โดยนัยเดียวกันครับ

ความเกี่ยวข้องระหว่าง กรรม กับ กุศลกรรม อกุศลกรรม

เพราะมีเจตนา (กรรม) ในการกระทำกรรมที่เป็นเจตนาที่มีกำลัง ที่สามารถให้ผลได้ในอนาคต จึงเป็นปัจจัยให้มีการกระทำกุศลกรรมและอกุศลกรรม ครับ

วิบาก หมายถึง จิตและเจตสิกที่เกิดขึ้นอันเป็นผลของกรรม ไม่พ้นไปจากวิบากจิต และ เจตสิกที่เกิดร่วมด้วย เช่น เห็น ในขณะนี้ เป็นผลของกรรม เป็นวิบากจิตได้ยิน ก็เป็นวิบากจิต การเกิดก็เป็นวิบากจิต (ปฏิสนธิจิต) เช่นเดียวกัน เพราะต้องเกิดขึ้นอันเนื่องมาจากเหตุคือกรรมที่ได้กระทำแล้ว นั่นเอง

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
paderm
วันที่ 27 ก.พ. 2555

ความเกี่ยวข้องระหว่าง วิบาก และกุศลกรรม อกุศลกรรม

กุศลกรรมและอกุศลกรรม มีความเกี่ยวข้องกับวิบาก คือ ผลของกรรม คือ เป็นเหตุและเป็นผลกันครับ คือ กุศลกรรม เป็นเหตุ ทำให้เกิดวิบาก ผลของกรรม มีการเห็นดี ได้ยินสิ่งที่ดี หรือ เกิดในภพภูมิที่ดี มีสวรรค์ เป็นต้น เพราะมีกุศลกรรมเป็นเหตุ อกุศลกรรมเป็นเหตุทำให้เกิดผลคือ วิบากที่ไม่ดี ทำให้เห็นไม่ดี ได้ยินสิ่งที่ไม่ดี รวมทั้งเกิดในภพภูมิที่ไม่ดี มีการเกิดในนรก เพราะมี อกุศลกรรมเป็นเหตุ ให้เกิดผล คือวิบากที่ไม่ดี ครับ

ความเกี่ยวข้องของกิเลส กรรม วิบาก

แต่ที่สำคัญ มีอีกส่วนหนึ่ง คือ เพราะมีกิเลส จึงทำให้มีการกระทำกรรม

กิเลส หมายถึง เครื่องเศร้าหมองของจิต เกิดขึ้นเมื่อใดก็ทำให้จิตเศร้าหมองเมื่อนั้น กิเลสจะเกิดขึ้นก็เฉพาะกับอกุศลจิตเท่านั้น จะไม่เกิดร่วมกับจิตชาติอื่นเลย ในขณะที่เกิดความติดข้องต้องการในสิ่งหนึ่งสิ่งใด จิตในขณะนั้นเป็นโลภมูลจิต ซึ่งก็จะต้องมีกิเลสเกิดร่วมด้วยอย่างแน่นอน มีโลภะ อหิริกะ (ความไม่ละอายต่ออกุศล) อโนตตัปปะ (ความไม่เกรงกลัวต่ออกุศล) และทุกครั้งที่จิตเป็นอกุศล จะมีโมหะ ซึ่งก็เป็นกิเลสประะเภทหนึ่งเหมือนกัน เกิดร่วมด้วย เป็นต้น

ดังนั้น เพราะมีกิเลส จึงมีการทำกรรมและเมื่อมีการกระทำกรรม คือ กุศลกรรมและอกุศลกรรม ก็เป็นปัจจัยให้เกิดวิบาก มีการเห็น ได้ยิน การเกิดในภพภูมิต่างๆ และเมื่อมีการเกิดในภพภูมิต่างๆ ก็ทำให้มีกิเลสที่สะสมมาไม่ได้หายไปไหน และก็เป็นปัจจัยให้ทำกรรม และก็ได้รับผลของกรรม วิบากอีก วนเวียนไปอย่างนี้ เป็นสังสารวัฏฏ์ ไม่มีที่สิ้นสุด เป็น กิลส กรรม วิบาก ครับ

ดังนั้น เพราะกิเลส มีความไม่รู้ เป็นเหตุที่สำคัญทำให้มีการทำกรรมและเกิดวิบากไม่พ้นไปจากทุกข์ ครับ

ขออนุโมทนา

 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
khampan.a
วันที่ 27 ก.พ. 2555

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

กรรม เป็นสภาพธรรมที่มีจริง เป็นเจตนาเจตสิก เกิดร่วมกับจิตทุกชาติ ทุกขณะ ไม่มีเว้น กล่าวคือ เจตนาเกิดร่วมกับจิตชาติกุศลก็ได้ เกิดร่วมกับชาติอกุศลก็ได้ เกิดร่วมกับชาติวิบากก็ได้ เกิดร่วมกับชาติกิริยาก็ได้ แต่ถ้าเป็นกรรมที่จะให้ผลภายภายหน้า ต้องเป็กรรมที่เป็นกุศลกรรม กับ อกุศลกรรมเท่านั้น

กุศลกรรม เป็นการกระทำที่ดีงาม ซึ่งจะต้องมีกุศลจิตเกิดขึ้น จึงมีการกระทำกรรมที่เป็นกุศลประการต่างๆ ซึ่งก็ไม่พ้นจากขณะจิตที่เป็นกุศล ที่เป็นไปในทานบ้าง ในศีลบ้าง ในการอบรมเจริญความสงบของจิตบ้าง ในการอบรมเจริญปัญญาบ้าง

ส่วนอกุศลกรรม เป็นการกระทำที่ไม่ดี มีการฆ่าสัตว์ ลักทรัพย์ ประพฤติผิดในกาม พูดเท็จ เป็นต้น อันเป็ผลมาจากการมีกิเลสและมีอกุศลจิตเกิดขึ้น แต่อกุศลจิตบางขณะที่เกิดขึ้นก็ไม่ได้มีการกระทำอกุศลกรรม เช่น ขณะที่ติดข้อง ยินดีพอใจในอาหาร เสื้อผ้า เป็นต้น เพราะ ไม่ได้มีการกระทำอกุศลกรรม เพียงแต่เกิดความติดข้องยินดีพอใจเท่านั้น

วิบาก เป็นจิตที่เกิดขึ้นเพราะกรรมเป็นปัจจัย ถ้าเป็นผลของกุศลกรรม ก็เป็นกุศลวิบาก ถ้าเป็นผลของอกุศลกรรม ก็เป็นอกุศลวิบาก

กรรมมี ๒ อย่างใหญ่ๆ คือ กุศลกรรม กับ อกุศลกรรม, กุศลกรรม ดับไปแล้วก็จริง สามารถเป็นปัจจัยให้กุศลวิบากซึ่งเป็นผลของกุศลกรรมเกิดได้ และ อกุศลกรรมดับไปนานแล้วก็จริง แต่ก็เป็นปัจจัยให้อกุศลวิบาก ซึ่งเป็นผลของอกุศลกรรม เกิดได้

เพราะฉะนั้น กุศลวิบากหรืออกุศลวิบาก ในชีวิตประจำวัน ก็คือ ทางตาที่เห็น ทางหูที่ได้ยิน ทางจมูกที่ได้กลิ่น ทางลิ้นที่ลิ้มรส ทางกายที่กระทบสัมผัส ถ้าเป็นผลของกุศลกรรม ก็ทำให้ได้เห็น ได้ยิน ได้กลิ่น ลิ้มรส รู้สิ่งที่กระทบสัมผัส ในสิ่งที่ดี ที่น่าปรารถนา น่าใคร่ น่าพอใจ แต่ถ้าเป็นผลของอกุศลกรรมแล้ว จะตรงกันข้ามเลย คือ ทำให้ได้เห็น ได้ยิน ได้กลิ่น ลิ้มรส รู้สิ่งที่กระทบสัมผัส ในสิ่งที่ไม่ดี ไม่น่าปรารถนา ไม่น่าใคร่ ไม่น่าพอใจ โดยที่ไม่มีใครทำให้ เป็นเพราะอดีตกรรมที่ตนเองได้กระทำไว้แล้วเท่านั้น ถึงคราวให้ผล ผลเช่นนั้นจึงเกิดขึ้น ทั้งหมดล้วนเป็นธรรมที่มีจริงที่เกิดขึ้นเป็นไปตามเหตุตามปัจจัยทั้งสิ้น ทั้งกุศลกรรม อกุศลกรรม ผลของกุศลกรรม และ ผลของอกุศลกรรม เป็นธรรมที่มีจริงทั้งหมด แต่สำหรับผู้ที่มีกิเลสอยู่นั้น หลังจากที่กุศลวิบาก หรือ อกุศลวิบาก เกิดขึ้นแล้ว ก็อาจเป็นเหตุให้มีอกุศลจิตหรือกุศลจิต เกิดขึ้นเป็นไปตามการสะสมของแต่ละบุคคล แต่สำหรับพระอรหันต์ เป็นผู้ดับกิเลสหมดแล้ว ไม่มีกิเลสใดๆ เกิดขึ้นอีกเลย ไม่ว่าจะได้รับผลของกรรมที่ดี หรือ ไม่ดีก็ตาม ครับ.

...ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ...

 
  ความคิดเห็นที่ 4  
 
เซจาน้อย
วันที่ 27 ก.พ. 2555

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

ขอบคุณ และขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 5  
 
หนทาง
วันที่ 28 ก.พ. 2555

ขอบคุณครับ

ขออนุโมทนา

 
  ความคิดเห็นที่ 6  
 
หนทาง
วันที่ 28 ก.พ. 2555

ขอบคุณครับ

ขออนุโมทนา

 
  ความคิดเห็นที่ 7  
 
jaturong
วันที่ 28 ก.พ. 2555

ขอบคุณ และขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 8  
 
peem
วันที่ 7 ก.ค. 2560

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 9  
 
สิริพรรณ
วันที่ 21 ม.ค. 2561

กราบอนุโมทนาขอบพระคุณมากค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 10  
 
เฉลิมพร
วันที่ 5 พ.ค. 2566

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาครับ

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ