ฟังธรรมให้เข้าใจแล้วสติจะเกิดเองได้อย่างไร

 
rojer
วันที่  27 ก.พ. 2555
หมายเลข  20640
อ่าน  1,835

๑. การฟังธรรมให้เข้าใจก่อน แล้วสติจะเกิดเองได้อย่างไรครับ

เพราะไม่เห็นสภาพธรรม ต้องจงใจไปสังเกตลักษณะอาการ ของสิ่งที่เกิดขึ้นก่อน แต่การสังเกต ก็เป็นตัวตนด้วยโลภะเข้าไปจดจ้องอีก ควรทำอย่างไรครับ

๒. จะมีวิธีระลึกหรือเห็นความแตกต่างระหว่าง สิ่งที่เกิดขึ้นพร้อมกันได้อย่างไร เช่น

จิตเห็น กับ สิ่งที่ปรากฏทางตา

จิตได้ยิน กับ เสียง

จิตที่รู้กลิ่น กับ กลิ่น หรือ กายวิญญาณ กับ เย็น ร้อน อ่อน แข็ง

อย่างจิตได้ยิน กับเสียง เกิดพร้อมกัน แล้วแต่สติจะระลึกที่ เสียง หรือ สภาพรู้เสียงส่วนใหญ่ จะระลึกได้ที่ จิตที่รู้บัญญัติแล้วครับ อย่างนี้ถือว่ายังรู้ไม่ทั่วใช่มั้ยครับ

๓. สติจะระลึกรู้อารมณ์ทาง ปัญจทวารได้ยากมากครับ เหมือนกับโดนมโนทวารปิดบังปัญจทวารไว้ครับ สติไม่ไวพอจะรู้ทางปัญจทวาร มีวิธีหรือแนวทางอย่างไรให้รู้ได้

๔. เวลาสติระลึกรู้ สภาพธรรมตรงลักษณะทางปัญจทวาร วิถีจิตจะเกิดขึ้นอย่างไรบ้างครับ เช่น มีเสียงเกิดขึ้นทางโสตทวารวิถี จิตที่เป็นชวนจิตทางปัญจทวารจะต้องเป็นสติที่ระลึกรู้ เสียง หรือ จิตได้ยิน อย่างใดอย่างหนึ่ง แล้วดับไป แล้ววิถีจิตทางมโนทวารที่เกิดต่อตรงที่เป็นชวนจิตจึงเป็นสติต่ออีกทีทางมโนทวารใช่มั้ยครับ

คือ สติจะต้องเกิดตอนปัญจทวารก่อน แล้วสติก็จะเกิดอีกทีทางมโนทวารใช่มั้ยครับ หรือว่า เกิดที่เดียวทางมโนทวาร โดยไม่ผ่านปัญจทวารเลย


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
paderm
วันที่ 28 ก.พ. 2555

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

๑. การฟังธรรมให้เข้าใจก่อน แล้วสติจะเกิดเองได้อย่างไรครับ เพราะไม่เห็นสภาพธรรมต้องจงใจไปสังเกตลักษณะอาการ ของสิ่งที่เกิดขึ้นก่อน แต่การสังเกต ก็เป็นตัวตนด้วยโลภะเข้าไปจดจ้องอีก ควรทำอย่างไรครับ


ควรเข้าใจตามความเป็นจริงของสภาพธรรมทั้งหลายว่าเป็นอนัตา อนัตตาในที่นี้ หมายถึง บังคับบัญชาไม่ได้ มีเหตุปัจจัยก็เกิดขึ้น ไม่ได้อยู่ที่เราที่จะทำให้เกิด โดยการจะไปจดจ้อง แต่อยู่ที่เหตุปัจจัยที่จะทำให้เกิด แม้ สติ ที่เป็นสติปัฏฐาน ก็ต้องมีเหตุปัจจัยให้เกิดขึ้นเช่นกัน ซึ่ง ในพระธรรมที่พระพุทธเจ้าทรงแสดง แสดงไว้ครับว่า สัญญาที่มั่นคง ย่อมเป็นเหตุปัจจัยให้เกิด สติปัฏฐาน แต่ไม่ใช่เราที่จะทำ จะจดจ้อง จะเป็นเหตุปัจจัยให้เกิดสติปัฏฐาน ครับ

ซึ่ง สัญญาที่มั่นคงที่เป็นเหตุปัจจัยให้สติเกิด สัญญาในที่นี้ คือ ความจำถูกต้อง ที่เกิดพร้อมกับปัญญา ที่จำมั่นคงว่าเป็นแต่เพียงธรรมไม่ใช่เราในขณะนี้ จำมั่นคงด้วยปัญญาว่า บังคับบัญชาไม่ได้ สภาพธรรมทั้งหลายอาศัยเหตุปัจจัยจึงเกิดขึ้น ซึ่งความจำที่ถูกต้องมั่นคงที่เกิดเพราะปัญญา จะมีได้ ก็ต้องอาศัยการฟังพระธรรม หากไม่มีการฟังพระธรรม ศึกษาพระธรรมแล้ว ปัญญาก็ไม่เกิด ไม่เจริญขึ้น เมื่อปัญญาไม่เจริญขึ้น สภาพธรรมฝ่ายดีต่างๆ มีสติ ก็ไม่เกิด ไม่เจริญขึ้นด้วยเช่นกัน ก็ไม่มีการจำที่มั่นคงที่ถูกต้องอันเกิดจากปัญญา ซึ่งก็ด้วยการศึกษา ฟังพระธรรม จึงจะเกิดความจำที่มั่นคง ที่เป็นเหตุให้เกิดสติปัฏฐาน ครับ

ซึ่งขอยกตัวอย่างฝ่ายอกุศล คือ โลภะ โลภะเกิดขึ้นเองหรือเปล่าครับ หรือ เราจะต้องไปจดจ้องพยายามให้โลภะ เกิด หรือเกิดเองอย่างรวดเร็วไม่ต้องไปจดจ้อง สังเกต อะไรเลย พอเห็นก็ชอบทันที เพราะอะไรครับ เพราะสะสมโลภะมามาก บ่อยๆ นับชาติไม่ถ้วน เพราะฉะนั้น จึงเกิดได้อย่างรวดเร็ว โดยที่ไม่ต้องไปพยายามสังเกตอะไร โลภะ ก็เกิดทันที ครับ ส่วนสติที่เป็นสติปัฏฐาน ก็ต้องมีเหตุปัจจัยจึงจะเกิดขึ้น ตามที่กล่าวมา ซึ่งเหตุปัจจัยของสติปัฏฐาน ไม่ใช่ด้วยการสังเกต และการจดจ้อง แต่ที่ผู้ถามสงสัยว่า เอาแต่ฟังพระธรรม สติจะเกิดได้อย่างไร ก็ต้องยอมรับความจริงว่า เราสะสมปัญญา มามาก หรือ สะสมกิเลส มีความไม่รู้ และโลภะ มามาก แน่นอนครับว่า สะสมปัญญามาน้อยมาก กิเลส สะสมมามาก เพียงฟังเพียงชาตินี้ ยังไม่ถึงล้านชาติ ยังไม่ถึงกัป ปัญญายังน้อย ก็ยังไม่เป็นเหตุปัจจัยให้เกิดสติปัฏฐานเป็นธรรมดา ต่างกับการสะสมโลภะที่สะสมมานับชาติไม่ถ้วน ไม่ต้องสังเกตทำอะไรก็เกิดได้อย่างรวดเร็ว ดังนั้น การอบรมปัญญาจึงเป็นเรื่องที่ช้าและค่อยๆ อบรม ที่เรียกว่า จิรกาลภาวนา อบรมอย่างยาวนาน เพียงจับด้ามมีด ไม่กี่ครั้ง จะทำให้ด้ามมีดสึก คงเป็นไปไม่ได้ เพียงฟังพระธรรมไม่นาน แต่จะให้สติเกิดทันที ก็เป็นไปไม่ได้

ดังนั้น ในพระธรรมที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงไว้ ครับ ว่าหนทางในการข้ามแม่น้ำเพื่อไปให้ถึงอีกฝั่ง คือ ดับกิเลส จะต้องเจออุปสรรคมากมาย ทั้ง จระเข้ คลื่นน้ำวน และอื่นๆ การจะทำให้สติเกิด จนถึงการดับกิเลส ก็จะต้องมีอุปสรรค คือ กิเลสประการต่างๆ มีความต้องการอยากให้สติเกิด เมื่อมีความต้องการมาก ก็ทำให้เปลี่ยนไปหนทางอื่นได้ เพราะสำคัญว่า การฟังพระธรรม ไม่ใช่หนทางให้สติเกิด แต่การทำ จดจ้อง พยายามที่เป็นโลภะ เป็นหนทางให้สติเกิด ครับ ดังนั้น การฟังพระธรรมต้องฟังยาวนาน นับชาติไม่ถ้วน จึงจะค่อยๆ เกิดปัญญาและเกิดสติปัฏฐาน ครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
paderm
วันที่ 28 ก.พ. 2555

๒. จะมีวิธีระลึกหรือเห็นความแตกต่างระหว่าง สิ่งที่เกิดขึ้นพร้อมกันได้อย่างไรเช่นจิตเห็น กับ สิ่งที่ปรากฏทางตา จิตได้ยิน กับ เสียง จิตที่รู้กลิ่น กับ กลิ่น หรือ กายวิญญาณ กับ เย็น ร้อน อ่อน แข็ง อย่างจิตได้ยิน กับเสียง เกิดพร้อมกัน แล้วแต่สติจะระลึกที่เสียง หรือ สภาพรู้เสียง ส่วนใหญ่จะระลึกได้ที่จิตที่รู้บัญญัติแล้วครับ อย่างนี้ถือว่ายังรู้ไม่ทั่วใช่มั้ยครับ


ไม่มีวิธีทำให้สติระลึก เพราะธรรมทั้งหลายบังคับบัญชาไม่ได้ แล้วแต่ว่า สติจะเกิดหรือไม่ และแล้วแต่ว่า สติจะเกิดระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมอะไร อันเป็นเรื่องของสภาพธรรม ไม่ใช่เราที่จะจัดการได้เลย ที่จะเลือกให้รู้ลักษณะสภาพธรรมใดครับ ซึ่งแม้สภาพธรรมทั้งหลายจะเกิดพร้อมกัน หรือ นับเนื่องกัน เช่น เห็น กับ สิ่งที่ปรากฏทางตา แต่ก็แล้วแต่ว่าสภาพธรรมใดปรากฎกับสติ คือ สติเกิดระลึกรู้อะไรในขณะนั้น ก็ชื่อว่าปรากฏกับสติ ครับ ซึ่งก็อนัตตา อีกเช่นกัน

ส่วนจากคำกล่าวที่ว่า

ส่วนใหญ่ จะระลึกได้ที่ จิตที่รู้บัญญัติแล้วครับ อย่างนี้ถือว่ายังรู้ไม่ทั่วใช่มั้ยครับ


ถ้าเป็นสติปัฏฐาน ไม่ใช่การคิดนึกถึงสภาพรรมที่ดับไปแล้วครับ แต่ต้องเป็นขณะที่สภาพธรรมกำลังเกิดปรากฏในขณะนั้น และระลึกลักษณะของสภาพธรรมนั้นโดยมีปัญญารู้ว่าเป็นธรรมไม่ใช่เรา ครับ

ดังนั้นที่กล่าวมา ไม่ต้องหาวิธีที่จะระลึกลักษณะของสภาพธรรมที่เกิดพร้อมกัน หรือ อย่างไรก็ตาม เพียงแต่อบรมการฟังไปเรื่อยๆ สติจะเกิดระลึกลักษณะใดก็แล้วแต่สติอันแสดงถึงความเป็นอนัตตา ครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
paderm
วันที่ 28 ก.พ. 2555

๓. สติจะระลึกรู้อารมณ์ทาง ปัญจทวารได้ยากมากครับ เหมือนกับโดนมโนทวารปิดบังปัญจทวารไว้ครับ สติไม่ไวพอจะรู้ทางปัญจทวาร มีวิธีหรือแนวทางอย่างไรให้รู้ได้


ไม่มีวิธีหรือแนวทางอื่นใด นอกจากการฟังพระธรรม เพราะปัญญายังไม่คมกล้าพอที่จะรู้ในสภาพธรรมทางปัญจทวาร ซึ่งปัญญาจะคมกล้าได้ ก็ด้วยการฟังพระธรรมศึกษาพระธรรม ครับ


๔. เวลาสติระลึกรู้สภาพธรรมตรงลักษณะทางปัญจทวาร วิถีจิตจะเกิดขึ้นอย่างไรบ้างครับ เช่น มีเสียงเกิดขึ้นทางโสตทวารวิถี จิตที่เป็นชวนจิตทางปัญจทวารจะต้องเป็นสติที่ระลึกรู้ เสียง หรือ จิตได้ยิน อย่างใดอย่างหนึ่ง แล้วดับไป แล้ววิถีจิตทางมโนทวารที่เกิดต่อตรงที่เป็นชวนจิตจึงเป็นสติต่ออีกทีทางมโนทวารใช่มั้ยครับ หรือว่าเกิดที่เดียวทางมโนทวาร โดยไม่ผ่านปัญจทวารเลย คือ สติจะต้องเกิดตอนปัญจทวารก่อน แล้วสติก็จะเกิดอีกทีทางมโนทวารใช่มั้ยครับ หรือว่า เกิดที่เดียวทางมโนทวาร โดยไม่ผ่านปัญจทวารเลย


ทางทวารตา เมื่อมีการเห็นเกิดขึ้น ยังไม่รู้ว่าเป็นอะไร เพราะเห็นเพียงสี เห็นดับไป จิตอื่นเกิดดับสืบต่อ จนถึง ชวนจิต ซึ่งหากยังเป็นปุถุชน ก็เป็นกุศลจิต หรือ อกุศลจิต หากอบรมปัญญามามาก กุศลจิตที่ประกอบด้วยปัญญา (สติปัฏฐาน) ก็สามารถเกิดระลึก รู้ลักษณะของ สี ได้ ที่เป็นอารมณ์ทางทวารตา ครับ รู้ว่า สีเป็นธรรมไม่ใช่เรา เมื่อทางปัญจทวารดับไป มโนทวารเกิดต่อ ก็ยังรับรู้อารมณ์คือ สี นั้นอยู่ ชวนจิตก็เกิดต่อได้ ซึ่งสติปัฏฐานก็เกิดได้ ระลึกรู้ สี ว่าเป็นธรรมไม่ใช่เรา และแม้ มโนทวาร วาระอื่นๆ ก็สามารถระลึกรู้ นามธรรม มี จิต เวทนา เป็นต้น ว่าเป็นธรรมไม่ใช่เราครับ ดังนั้นสติปัฏฐานเกิดได้ทั้งทางปัญจทวาร และ ทางมโนทวาร ครับ แต่ก็แล้วแต่ว่าสติจะเกิด หรือไม่ ซึ่งก็ต้องไม่ลืมครับว่า ไม่มีวิธีที่จะทำให้สติเกิดได้ แต่ เป็นหน้าที่ของธรรม ไม่ใช่เราที่จะทำ อาศัยการฟังพระธรรมต่อไป เมื่อไหร่ก็เมื่อนั้น สติไม่เกิด ก็คือ ไม่เกิด ก็เป็นธรรมและเป็นธรรมดาครับ แต่จะหาวิธีที่จะทำ ยิ่งห่างไกล และไม่ทำให้สติเกิดแน่นอนครับ พอใจไหม ที่จะเข้าใจ ตามกำลังปัญญาที่สะสมมาเท่านี้ ครับ

ขออนุโมทนาที่ร่วมสนทนา

 
  ความคิดเห็นที่ 4  
 
khampan.a
วันที่ 28 ก.พ. 2555

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

สิ่งที่สำคัญที่สุด ต้องเริ่มที่การฟังพระธรรมให้เข้าใจ ฟังพระธรรมที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดง ซึ่งแสดงถึงสิ่งที่มีจริงทั้งหมด จากที่ไม่เคยรู้มาก่อนเลยว่าขณะนี้เป็นธรรม ก็จะค่อยๆ สะสมความเข้าใจที่ถูกต้องไปตามลำดับ มีความเข้าใจว่าธรรมไม่ต้องไปแสวงหาที่ไหน มีจริงในขณะนี้ และสิ่งที่มีจริงในขณะนี้ นั่นเอง ที่จะเป็นที่ตั้งให้สติเกิดขึ้นระลึกตรงลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ และปัญญารู้ตามความเป็นจริง (สติปัฏฐาน) เป็นไปตามเหตุตามปัจจัยจริงๆ ไม่ใช่เรื่องหวัง ไม่ใช่เรื่องต้องการ ไม่ใช่เรื่องของความจดจ้อง ไม่ใช่เรื่องของการไปกระทำอะไรด้วยความเป็นตัวตน ด้วยความเห็นผิด และ ด้วยความไม่รู้ แต่เป็นเรื่องของการอบรมเจริญปัญญาไปตามลำดับ

เรื่องเจริญสติปัฏฐาน เป็นเรื่องของปัญญาที่เข้าใจสภาพธรรมที่กำลังปรากฏตามความเป็นจริง สติเกิดขึ้นระลึกและปัญญารู้ตรงลักษณะของสภาพธรรมในขณะนี้ การเจริญสติปัฏฐานไม่ใช่เรื่องง่ายเลย แต่ว่าเป็นเรื่องที่จะต้องอาศัยการฟังในสิ่งที่มีจริงเนืองๆ บ่อยๆ พิจารณาเหตุผลแล้วก็เจริญเหตุให้สมควรแก่ผลด้วย ข้อสำคัญประการหนึ่ง ก็คือ จะต้องไม่เข้าใจผิดว่าเป็นสติปัฏฐานเฉพาะบางสิ่งบางประการ แต่ต้องเข้าใจให้ถูกต้องตามความเป็นจริงว่าทุกอย่างที่เป็นจริง ไม่ว่าจะเป็นทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ นั้น เป็นสติปัฏฐานทั้งสิ้น แล้วแต่ว่าสติจะระลึกและปัญญารู้ลักษณะใด และสภาพธรรมใดกำลังปรากฏในขณะนั้น โดยไม่จำกัดและไม่เจาะจง เพราะธรรมเป็นอนัตตาไม่อยู่ในอำนาจบังคับบัญชาของใครทั้งสิ้น สำคัญอยู่ที่ความเข้าใจที่ถูกต้องจริงๆ ครับ

...ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ...

 
  ความคิดเห็นที่ 5  
 
rojer
วันที่ 28 ก.พ. 2555

เมื่อก่อนศึกษาและฟังธรรมจากพระสายวัดป่า กรรมฐาน

แล้วมาฟังท่านอ.สุจินต์ ก็เลยงงว่าแล้วจะเชื่อใคร เพราะต่างกันโดยสิ้นเชิง

ท่านหนึ่งสอนให้ทำเลย อีกท่านสอนให้ฟังให้เข้าใจก่อน แล้วธรรมจะปฏิบัติเอง


ในซีดีหลวงพ่อท่านสอนให้ดูจิตที่หลงไปคิด เมื่อรู้ว่าจิตหลงคิด ก็จะมีความรู้สึกตัวขึ้นมีจิตผู้รู้ขึ้นมา

๑. ท่านสอนให้มีจิตผู้รู้ขึ้นมา เพื่อมาดูความเปลี่ยนแปลงในกายใจไม่เผลอ ไม่เพ่ง เป็นจิตที่ตั้งมั่นเป็นกลาง เห็นแต่ความเปลี่ยนแปลงของสังขารธรรมโดยไม่เข้าไปยินดี ยินร้าย

๒. ท่านสอนว่าสติเป็นอนัตตาก็จริง แต่ฝึกให้สติเกิดบ่อยๆ ได้ โดยรู้ทันจิตที่หลงคิด เพราะหลงคิดเกิดบ่อยที่สุด แล้วพอจิตจำสภาวะหลงคิดได้ สติก็จะเกิดเองโดยไม่จงใจเป็นมหากุศลญาณสัมปยุต

๓. ท่านสอนให้เลือกกรรมฐานตามจริตของตนเอง เช่นเป็นพวกคิดมาก ขี้โมโห หรือเป็นพวกรักสวยรักงาม ถ้าเป็นอย่างแรก ก็ให้ดูจิต แต่ถ้าเป็นอย่างหลังก็ให้ดูกายแล้วสุดท้ายก็จะเห็นได้ทุกปัฏฐานเอง

๔. ไม่ว่าจะเจริญสติด้วย กาย เวทนา จิต หรือ ธรรม ก็เป็นประตูไปสู่นิพพานได้ ไม่ต้องรู้ทั่วทุกรูปทุกนาม

๕. ท่านใช้วิธีดูจิต แล้วก็ผ่านมาได้ จนด่านสุดท้ายต้องมาทิ้งจิตผู้รู้ จึงจะถึงความบริสุทธิ์อย่างแท้จริง

ผมก็เลยสังสัยว่ามันมีวิธีอื่นที่ไม่ใช่แนวของอ.สุจินต์ ที่สามารถทำแล้วเสร็จกิจทางพุทธศาสนาได้ด้วยหรือครับ

ถ้าหลวงพ่อท่านเสร็จกิจจริงๆ ด้วยวิธีของท่าน ก็แสดงว่ามีทางอื่นนอกเหนือจากการฟังธรรมให้เข้าใจ แล้วปัญญาจะค่อยเจริญเป็นขั้นๆ จนรู้แจ้งอริยสัจในที่สุด!!!

แล้วผมควรจะพิจารณาแนวไหนครับ

ขอคำชี้แนะด้วยครับ ว่าที่หลวงพ่อท่านสอน ถูกหรือไม่ถูกอย่างไร

(ไม่ได้ต้องการให้โจมตีทะเลาะกัน แต่เป็นการพิจารณาด้วยเหตุผล เพื่อความเห็นความเข้าใจที่ถูกต้องเป็นสัมมาทิฎฐิครับ)

 
  ความคิดเห็นที่ 6  
 
paderm
วันที่ 28 ก.พ. 2555

เรียนความเห็นที่ 5 ครับ

๑. ท่านสอนให้มีจิตผู้รู้ขึ้นมา เพื่อมาดูความเปลี่ยนแปลงในกายใจไม่เผลอ ไม่เพ่ง เป็นจิตที่ตั้งมั่นเป็นกลาง เห็นแต่ความเปลี่ยนแปลงของสังขารธรรมโดยไม่เข้าไปยินดียินร้าย


พระธรรมป็นเรื่องของเหตุผล และมีข้อยุติเพราะปัญญา ความเห็นถูก ทำให้ยุติ การสนทนาธรรมจึงไม่ใช่การทะเลาะ แต่เป็นไปเพื่อให้เจริญในความเห็นถูก ผิดเป็นผิด ถูกเป็นถูก ขออนุโมทนาที่สนใจและต้องการหาความจริง ครับ ซึ่งก็จะขออธิบายเหตุผล โดยไม่ได้ยกคนหนึ่งคนใด แต่ยึดหลักพระธรรมที่พระพุทธเจ้าทรงแสดง ครับ

จากคำถามข้อ ที่ ๑ จริงแล้ว จิตมีหน้าที่รู้อารมณ์เท่านั้น จิตไม่สามารถที่จะตามดูได้เลย หากได้ศึกษาพระอภิธรรม ดังนั้น จึงเป็นหน้าที่ของสติและปัญญาที่เกิดรู้ความจริงของสภาพธรรม ไม่ใช่หน้าที่ของจิต หากสติและปัญญาเกิด ก็ไม่มีเราที่จะตามดูด้วยจิตได้เลย ครับ

๒. ท่านสอนว่าสติเป็นอนัตตาก็จริง แต่ฝึกให้สติเกิดบ่อยๆ ได้ โดยรู้ทันจิตที่หลงคิด เพราะหลงคิดเกิดบ่อยที่สุด แล้วพอจิตจำสภาวะหลงคิดได้ สติก็จะเกิดเองโดยไม่จงใจ เป็นมหากุศลญาณสัมปยุต


การรู้ทันจิต หรือ รู้ลักษณะของจิตที่หลงคิด ก็คือ ขณะที่สติปัฏฐานเกิด ระลึกรู้ลักษณะ แต่ในความเป็นจริง ก็ไม่สามารถบังคับให้สติปัฏฐานเกิดระลึกรู้ลักษณะสภาพธรรมใดได้เลย แล้วแต่ว่า สติจะเกิดหรือไม่ แล้วก็แล้วแต่ว่า สติจะระลึกอะไร ดังนั้นการฝึกสติจึงไม่ใช่การตามดูจิตที่หลง เพราะการทำให้สติเกิด ไม่มีเราที่จะตามดู แต่เหตุให้สติปัฏฐานเกิด คือ การฟังพระธรรม เมื่อเหตุปัจจัยพร้อม สติและปัญญาก็เกิดขึ้นเองครับ ดังนั้นจึงไม่ใช่เริ่มจากความเห็นผิดที่พยายามด้วยความจงใจ ตัวตนแล้วจะไปสู่ผล คือ การไม่จงใจให้สติเกิดได้ เริ่มจากเหตุที่ผิด จะไปสู่ผลที่ถูกไม่ได้ ครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 7  
 
paderm
วันที่ 28 ก.พ. 2555

๓. ท่านสอนให้เลือกกรรมฐานตามจริตของตนเอง เช่นเป็นพวกคิดมาก ขี้โมโห หรือเป็นพวกรักสวยรักงาม ถ้าเป็นอย่างแรก ก็ให้ดูจิต แต่ถ้าเป็นอย่างหลังก็ให้ดูกาย แล้วสุดท้ายก็จะเห็นได้ทุกปัฏฐานเอง


เราจะรู้ได้อย่างไรว่าเราจริตอะไร เพราะสะสมกิเลสมามาก ทั้งโลภะ โทสะ ก็เป็นเพียงแต่เดาว่าจริตนั้น และที่สำคัญ ก็ไม่สามารถเลือกกรรมฐานเอง ด้วยความเป็นเรา สติและปัญญาต่างหากที่เกิดขึ้น ที่เป็นสติปัฏฐาน ย่อมเกิดระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมเอง เป็นธรรมทำหน้าที่ ระลึกในหมวดใดก็แสดงว่า ระลึกในหมวดนั้น ไม่มีเราเลือก และก็แสดงถึงจริตนั้นเองด้วย โดยไม่มีเราที่จะเลือกให้ตรงกับจริต เพราะในความเป็นจริง เราก็ไม่รู้ว่าจริตอะไรกันแน่ครับ ซึ่งพระธรรมจะต้องสอดคล้องกับคำนี้เสมอ คือ อนัตตา บังคับบัญชาไม่ได้ ไม่มีเรา ดังนั้นเมื่อไหร่ที่จะทำ ที่จะเลือก นั่นผิดแล้วครับ เพราะผิดกับหลักอนัตตา นั่นเอง ครับ


๔. ไม่ว่าจะเจริญสติด้วย กาย เวทนา จิต หรือ ธรรม ก็เป็นประตูไปสู่นิพพานได้ ไม่ต้องรู้ทั่วทุกรูปทุกนาม


ถูกต้องครับ แต่จะต้องเข้าใจถูกตั้งแต่ต้น หากเริ่มจากความเข้าใจผิด ย่อมไม่ถึงพระนิพพานได้เลย


๕. ท่านใช้วิธีดูจิต แล้วก็ผ่านมาได้ จนด่านสุดท้ายต้องมาทิ้งจิต ผู้รู้จึงจะถึงความบริสุทธิ์อย่างแท้จริง


ถ้าเริ่มจากการจะทำ การเลือก ที่ผิดกับหลักอนัตตา ไม่ตรงตามคำสอนของพระพุทธเจ้าหตุเริ่มต้นผิด ผลจะถูกไม่ได้เลย ครับ

ขออนุโมทนาที่ร่วมสนทนา

 
  ความคิดเห็นที่ 8  
 
rojer
วันที่ 29 ก.พ. 2555

ขอบคุณและอนุโมทนาในทุกคำตอบครับ

ถือว่าเป็นเหตุเป็นผลที่จะช่วยให้เข้าใจถูกเพิ่มมากขึ้นครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 9  
 
วิริยะ
วันที่ 2 มี.ค. 2555

ขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 10  
 
วิริยะ
วันที่ 3 มี.ค. 2555

เรียนถาม

ขอเรียนถามเพิ่มเติมในเรื่องราวต่างๆ ที่ไม่เกี่ยวกับสภาพธรรมหรือพระอภิธรรมโดยตรงค่ะว่า ทำไมจึงมีผู้ศึกษาพระอภิธรรมน้อย และผู้ที่ศึกษาพระอภิธรรม จะมีความคิด ความเห็นถูกไปในแนวทางเดียวกันหมดหรือไม่ เพื่อที่จะไม่นำไปสู่การปฏิบัติที่ไม่ถูกต้อง หรือว่า แม้แต่ศึกษาพระอภิธรรมแล้ว ก็ยังมีการปฏิบัติที่ไม่ถูกต้องอยู่นั่นเอง และบางครั้งก็ยังมีความลังเลไม่แน่ใจ ไม่มั่นคงเพียงพอ เป็นเช่นนั้นหรือไม่คะ

ขอบพระคุณอย่างสูง

 
  ความคิดเห็นที่ 11  
 
เซจาน้อย
วันที่ 4 มี.ค. 2555

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

กระจ่างชัดเลยครับ

ถ้าเริ่มต้นจะทำ ก็ผิดแล้ว

ควรเริ่มจากการฟังพระธรรมให้เข้าใจจนกว่าปัญญาจะเกิด

ปัญญาจะทำหน้าที่เองไม่มีใครทำ

เหตุดีผลก็ต้องดี

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาในกุศลจิตของอ.ผเดิม, อ.คำปั่นและทุกท่านครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 12  
 
paderm
วันที่ 4 มี.ค. 2555

เรียนความเห็นที่ 10 ครับ

พระอภิธรรม รวมทั้งธรรมไม่สาธารณะกับทุกคน ที่จะสนใจศึกษา ส่วนการศึกษาพระไตรปิฎกแม้แต่อภิธรรม ศึกษาเรื่องเดียวกัน แต่เข้าใจไม่ตรงกันก็ได้ เพราะสะสมปัญญาและความห็นถูกและความเห็นผิดมาต่างๆ กันครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 13  
 
Witt
วันที่ 24 ก.พ. 2563

ขอขอบพระคุณและอนุโมทนา

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ