เกี่ยวกับกรรมต่อครับ

 
หนทาง
วันที่  28 ก.พ. 2555
หมายเลข  20646
อ่าน  1,249

ยังมีข้อสงสัยเกี่ยวกับกรรมอีกนิดนึงครับ คือว่า

๑. ขณะที่เราคิดไม่ชอบบุคคลหนึ่งนั้น เป็นอกุศลจิต ถูกต้องไหมครับ แล้วจิตที่เป็นอกุศลจิตจะให้ผลอย่างไรครับ

๒. ตัวอย่างคือ ขณะที่เราคิดอยากจะทำร้ายคนหนึ่ง แต่ยังไม่ทำร้ายคนนั้น จะไม่ล่วงเป็นอกุศลกรรมใช่หรือไม่ครับ แต่ถ้าเราไปทำร้ายคนนั้นก็จะเป็นทั้ง อกุศลจิตและอกุศลกรรม ใช่ไหมครับ


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
paderm
วันที่ 28 ก.พ. 2555

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

๑. ขณะที่เราคิดไม่ชอบบุคคลหนึ่งนั้น เป็นอกุศลจิต ถูกต้องไหมครับ แล้วจิตที่เป็นอกุศลจิตจะให้ผลอย่างไรครับ


กุศล และ อกุศล มีหลายระดับ ตามระดับของกำลังของกิเลส ครับ

ซึ่ง อกุศลที่เป็นกิเลส มี 3 อย่าง คือ

กิเลสมี ๓ ขั้น คือ ... อนุสัยกิเลส ปริยุฏฐานกิเลส วีติกกมกิเลส

วีติกกมกิเลส เป็นกิเลสอย่างหยาบ ทำให้ล่วงเป็นทุจริตกรรมทางกาย วาจา วิรัติคือละเว้นวีติกกมกิเลสได้ด้วยศีล

ปริยุฏฐานกิเลส เป็นกิเลสอย่างกลางที่เกิดร่วมกับอกุศลจิต แต่ไม่ถึงขั้นล่วงเป็นทุจริตกรรม ระงับปริยุฏฐานกิเลสได้ชั่วคราว เป็นวิกขัมภณปหานด้วยฌานกุศลจิต

อนุสัยกิเลส เป็นกิเลสอย่างละเอียด เมื่อยังไม่ได้ดับกิเลส อนุสัยกิเลสก็นอนเนื่องอยู่ในจิตที่เกิดดับสืบต่อกันเป็นเชื้อเป็นปัจจัยให้เกิดปริยุฏฐานกิเลส กิเลสทั้งหลายจะดับหมดสิ้นเป็นสมุจเฉทปหาน ไม่เกิดอีกเลย เมื่อโลกุตตรมัคคจิตรู้แจ้งอริยสัจจธรรม โดยประจักษ์แจ้งสภาพของพระนิพพาน ตามลำดับขั้นของมัคคจิต ซึ่งปหานกิเลสเป็นสมุจเฉท ตามลำดับขั้นของมัคคจิตนั้นๆ

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
paderm
วันที่ 28 ก.พ. 2555

ดังนั้น อกุศลจิต เช่น ขณะที่ไม่ได้ล่วงออกมาทางกาย วาจา ที่เป็น ปริยุฎฐานกิเลส มีการโกรธ ไม่ชอบในใจ ความชอบ แต่ไม่ได้แสดงออกมาทางกาย วาจา เป็นอกุศลจิต ซึ่งอกุศลจิต มีความไม่ชอบ บุคคลอื่น ไม่สามารถให้ผลที่จะทำให้เกิดในอบายภูมิ มีนรก เป็นต้น แต่ก็สะสมเป็นอุปนิสัยต่อไป เป็นอนุสัยกิเลสที่นอนเนื่อง ทำให้เป็นผู้มีอุปนิสัยมักโกรธ เกิดความโกรธได้ง่าย เพราะ การเกิดขึ้นของอกุศลจิต มีความโกรธไม่ชอบ ไม่ได้หายไปไหน แต่สะสมสืบต่อไปในจิต ทำให้มีอุปนิสัยแตกต่างกันไป ตามที่เราเห็นว่า บางคนมักโกรธ โกรธได้ง่าย ก็เพราะมีการเกิดขึ้นของความไม่ชอบ ที่เป็นโทสะ เป็นอกุศลจิตบ่อยๆ นั่นเอง แต่อกุศลจิต มีความไม่ชอบคนอื่น ไม่เป็นเหตุให้ผลที่จะต้องตกนรก ครับ แต่สะสมเป็นอุปนิสัย ตามที่กล่าวมา แต่เมื่อมีการสะสมบ่อยๆ จนมีกำลัง การสะสมจนมีกำลังนี่เองครับ ที่จะทำให้ ถึงขนาดที่จะมีการกล่าววาจาที่ไม่ดีอันเกิดจากโทสะ ความไม่ชอบ มีการพูดหยาบ เป็นต้น และ การกระทำทางกายไม่ดี มีการฆ่าสัตว์ เป็นต้น อันมีโทสะ และมีอกุศลจิตที่มีกำลังเป็นปัจจัยนั่นเองครับ


๒. ตัวอย่างคือ ขณะที่เราคิดอยากจะทำร้ายคนหนึ่ง แต่ยังไม่ทำร้ายคนนั้น จะไม่ล่วงเป็นอกุศลกรรมใช่หรือไม่ครับ แต่ถ้าเราไปทำร้ายคนนั้นก็จะเป็นทั้ง อกุศลจิตและอกุศลกรรมใช่ไหมครับ


ขณะที่คิดจะทำร้าย มีการคิดจะฆ่า เป็นต้น แต่ยังไม่ฆ่า กิเลสมีกำลัง ก็เป็นอกุศลจิตแต่ยังไม่เป็นอกุศลกรรมที่เป็นปาณาติบาต แต่เป็นอกุศลจิตและเมื่อมีการทำร้าย มีการฆ่า เป็นต้น ก็สำเร็จเป็นอกุศลกรรม มีปาณาติบาต ครับ ซึ่งขณะที่ทำการฆ่า ก็มีอกุศลจิตและอกุศลกรรมด้วย ตามที่ผู้ถามเข้าใจ ถูกต้องแล้ว ครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
หนทาง
วันที่ 28 ก.พ. 2555

ขอบคุณ และขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 4  
 
khampan.a
วันที่ 28 ก.พ. 2555

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

บุคคลผู้ที่ได้ฟังพระธรรม ได้ศึกษาพระธรรมที่พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงแสดง ย่อมจะรู้ว่าอะไรเป็นเหตุของอกุศลกรรม? อกุศลกรรมทั้งหมด มาจากกิเลสทั้งนั้น เพราะสะสมกิเลสมาอย่างเนิ่นนานในสังสารวัฏฏ์ เมื่อสะสมมากๆ ขึ้น ก็เป็นเหตุให้ล่วงเป็นทุจริตกรรมประการต่างๆ เป็นเหตุที่จะทำให้เกิดผลข้างหน้า แต่เพียงแค่ความโกรธ ความขุ่นเคืองใจ เกิดขึ้น (ซึ่งเป็นปกติของผู้ที่ยังมีโทสะอยู่ ที่จะมีโทสะ เกิดขึ้นเป็นธรรมดา เป็นไปตามเหตุตามปัจจัย) ยังไม่ได้ทำการประทุษร้ายเบียดเบียนผู้อื่น นั่น ยังไม่ใช่อกุศลกรรมบถ เป็นเพียงอกุศลจิตที่เกิดขึ้น แต่ก็จะประมาทไม่ได้เลยทีเดียว เพราะถ้าสะสมมากขึ้นๆ ไม่มีการเห็นโทษและละคลาย ก็จะเป็นเหตุให้กระทำอกุศลกรรมประการต่างๆ ได้ เป็นการสร้างเหตุที่ไม่ดีให้กับตนเอง ซึ่งตนเองนั่นแหละที่จะเป็นผู้รับผลของกรรมที่ไม่ดีนั้น ไม่ใช่คนอื่น ขณะที่อกุศลจิตเกิดขึ้น จะมีการล่วงเป็นทุจริตกรรมหรือไม่ก็ตาม ย่อมไม่ดีทั้งนั้น เพราะเป็นอกุศลธรรม ขึ้นชื่อว่า อกุศลธรรมแล้ว จะดีไม่ได้เลย เรื่องของธรรมเป็นเรื่องที่ตรงตามสภาพธรรมนั้นๆ ตามความเป็นจริง อกุศล เป็นอกุศล ถ้าเป็นอกุศลแล้ว จะเปลี่ยนสภาพธรรมนั้นให้เป็นกุศลไม่ได้ เพราะธรรม เป็นจริงอย่างไร ก็เป็นจริงอย่างนั้น ด้วยเหตุนี้พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงได้ทรงแสดงความละเอียดของอกุศลธรรมซึ่งจะต้องละให้หมดสิ้นไป เพราะเหตุว่า ถ้าไม่ทรงแสดงโดยละเอียด ผู้ฟัง ผู้ศึกษาก็จะไม่ทราบว่าอกุศลธรรมนั้นมีความละเอียดมากเพียงใด และเรื่องของการละก็ต้องเป็นเรื่องของการละโดยละเอียด จะต้องเป็นเรื่องของการดับกิเลสเป็นสมุจเฉท (ถอนขึ้นได้อย่างเด็ดขาด) จริงๆ ซึ่งทั้งหมดทั้งปวง ต้องอาศัยการอบรมเจริญปัญญา สะสมความเข้าใจถูกเห็นถูกไปตามลำดับ เพราะปัญญาเท่านั้นที่จะดับกิเลส ดับอกุศลทั้งหลายทั้งปวงได้ในที่สุด ครับ

...ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ...

 
  ความคิดเห็นที่ 5  
 
jaturong
วันที่ 29 ก.พ. 2555

ขอบคุณ และขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 6  
 
daris
วันที่ 29 ก.พ. 2555

ขออนุญาตเรียนถามเพิ่มเติมครับ

๑. กุศลจิต/อกุศลจิต ที่ไม่ถึงกับล่วงกรรมบถ สามารถให้ผลเป็นวิบากจิตในปวัตติกาลได้หรือไม่ครับ

(เช่นเป็นได้หรือไม่ว่า ทานไอศกรีมอร่อยเป็นโลภมูลจิต --> เกิดอกุศลวิบากในชาตินี้หรือชาติหน้า เช่น ทำให้เห็นรูปซากศพ ... หรือโกรธใครสักคนอยู่แต่ในใจ --> เกิดอกุศลวิบากในชาตินี้หรือชาติหน้า เช่นปวดศีรษะ ... คิดจะให้ทานแต่ไม่ได้ให้ --> ได้กลิ่นดอกไม้หอม)

เป็นเช่นนี้หรือไม่ครับ หรือว่าเจตนาเจตสิกที่จะให้ผลเป็นวิบากจิตในกาลข้างหน้าต้องเกิดกับ กุศลจิต/อกุศลจิต ที่ครบเป็นกรรมบถเท่านั้น และหากไม่ครบกรรมบถก็เพียงแค่สะสมเป็นอุปนิสัยต่อไป

๒. "การสะสม" ที่พูดถึงบ่อยๆ นี้ หมายถึง ปกตูปนิสสยปัจจัย ใช่หรือไม่ครับ

กราบขอบพระคุณครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 7  
 
paderm
วันที่ 29 ก.พ. 2555

เรียนความเห็นที่ 6 ครับ

ตอบข้อ ๑.

การจะให้ผลในปวัตติกาล คือ หลังจากเกิดแล้ว ไม่ใช่เพียงอกุศลจิต เช่น คิดจะฆ่าแต่ไม่ได้ฆ่า คิดในใจอยู่เท่านั้น ก็ไม่ให้ผลเป็นวิบาก ที่เป็นปวัตติกาล เช่น เห็น ได้ยิน ได้กลิ่น เป็นต้น แต่จะให้ หลังจากการเกิดแล้ว เป็นปวัตติกาล ในขณะที่เห็น ได้ยิน คือเมื่อมีการทำกายทุจริต วจีทุจริต แต่ไม่ครบองค์ เช่น คิดจะฆ่า ก็พยายามที่จะฆ่า และก็ลงมือจะฆ่า มีการทำร้ายต่างๆ แต่สัตว์นั้นไม่ตาย ก็ไม่เป็นกรรมบถที่จะทำให้ถึงกับนำปฏิสนธิ เกิดในอบายภูมิ แต่สามารถให้ผลในปวัตติกาล หลังจากเกิดแล้ว เช่น เมื่อเกิดเป็นมนุษย์ก็ทำให้เจ็บป่วยบ่อยๆ มีการเจ็บร่างกายได้ เพราะผลของกรรมที่เบียดเบียนสัตว์นั้น แม้สัตว์นั้นจะไม่ตายก็ตามครับ ส่วนอกุศลจิตที่เกิดขึ้น ก็สะสมเป็นอุปนิสัย ต่อไปครับ

ตอบ ข้อ ๒.

ถูกต้องครับ หมายถึง ปกตูปนิสสยปัจจัย อุปนิสสยปัจจัย เป็นต้น

ขออนุโมทนา

 
  ความคิดเห็นที่ 8  
 
daris
วันที่ 29 ก.พ. 2555

ขอกราบขอบพระคุณอาจารย์ผเดิมที่กรุณาอธิบายให้เข้าใจอย่างละเอียดครับ

ขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 9  
 
khampan.a
วันที่ 29 ก.พ. 2555

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

เพียงแค่ติดข้องยินดีพอใจ โดยไม่ได้กระทำกรรมใดๆ ที่เป็นทุจริตกรรม เช่น ลักขโมย เป็นต้น ไม่สามารถให้ผลเป็นวิบากเกิดขึ้นได้เลย เพียงสะสมเป็นอุปนิสัยที่ไม่ดีต่อไปเท่านั้น แต่ถ้าสะสมมากขึ้นมากขึ้นๆ ก็อาจจะล่วงเป็นทุจริตกรรมได้ เพราะวิบากที่เกิดขึ้น ต้องเป็นผลของกรรมที่ได้กระทำแล้วเท่านั้น กรรมที่ได้กระทำแล้ว (อกุศลกรรม ที่ครบองค์) สามารถนำเกิดในอบายภูมิได้ แต่อกุศลกรรมบถที่ไม่ครบองค์ ไม่สามารถนำเกิดในอบายภูมิ แต่สามารถให้ผลในปวัตติกาล (ช่วงเวลาหลังจากที่เกิดแล้ว) ได้ ซึ่งไม่พ้นไปจาก ตทำให้ได้เห็น ได้ยิน ได้กลิ่น ลิ้มรส รู้สิ่งที่กระทบสัมผัสกาย ที่ไม่ดี ไม่น่าปรารถนา ไม่น่าใคร่ ไม่น่าพอใจ อันเป็นผลของอกุศลกรรมที่ได้กระทำแล้ว แต่ก็ไม่สามารถระบุได้ว่าจะเป็นผลของอกุศลกรรม ชนิดไหน เมื่อใด การสะสม จึงไม่พ้นไปจากปัจจัยต่างๆ มีปกตูปนิสสยปัจจัย เป็นต้น จะคิด จะชอบในสิ่งใด ก็เป็นผลมาจากการสะสม เป็นไปตามการสะสม นั่นเอง ครับ.

...ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ...

 
  ความคิดเห็นที่ 10  
 
เซจาน้อย
วันที่ 1 มี.ค. 2555

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 11  
 
daris
วันที่ 1 มี.ค. 2555

ขอกราบขอบพระคุณอาจารย์คำปั่นที่กรุณาอธิบายให้ความเข้าใจอย่างละเอียดครับ

ขออนุโมทนาครับ

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ