ศึกษาธรรมที่ถูกต้องเป็นอย่างไร

 
ที่พึ่งที่ระลึก
วันที่  28 ก.พ. 2555
หมายเลข  20656
อ่าน  2,079

เคยได้อ่านแผ่นพับข้อมูลที่ว่าให้สนใจศึกษาเฉพาะะธรรมที่พระพุทธเจ้าตรัส โดยในแผ่นพับดังกล่าวก็ได้ยกพระสูตรหลายพระสูตร ดังนี้

๑. พระองค์ทรงสามารถกำหนดสมาธิ เมื่อจะพูดทุกถ้อยคำ จึงไม่ผิดพลาด (มหาสัจจกสูตร มู.ม. ๑๒ / ๔๖๐ / ๔๓๐)

๒. แต่ละคำพูดเป็นอกาลิโก คือ ถูกต้องตรงจริงไม่จำกัดกาลเวลา (มหาตัณหาสังขยสูตร ม. ม. ๑๒/๔๘๕/๔๕๐.)

๓. คำพูดที่พูดมาทั้งหมดนับแต่วันตรัสรู้นั้น สอดรับไม่ขัดแย้งกัน (อิติวุ. ขุ. ๒๕ / ๓๒๑ / ๒๙๓)

๔. ทรงบอกเหตุแห่งความอัตรธานของคำสอนเปรียบด้วยกลองศึก (นิทาน. สํ. ๑๖/๓๑๑/๖๗๒-๓,)

๕. ทรงกำชับให้ศึกษาปฏิบัติเฉพาะจากคำของพระองค์เท่านั้น อย่าฟังคนอื่น (ทุก. อํ. ๒๐/๙๒/๒๙๒)

๖. ทรงห้ามบัญญัติเพิ่มหรือตัดทอนสิ่งที่บัญญัติไว้ (มหาปรินิพพานสูตร มหา. ที. ๑๐ / ๘๙ / ๖๙)

๗. สำนึกเสมอว่าตนเองเป็นเพียงผู้เดินตามพระองค์เท่านั้น ถึงแม้จะเป็นอรหันต์ผู้เลิศทางปัญญาก็ตาม (ขนฺธ. สํ. ๑๗ /๘๑ / ๑๒๕)

๘. ตรัสไว้ว่าให้ทรงจำบทพยัญชนะและคำอธิบายอย่างถูกต้อง พร้อมขยันถ่ายทอดบอกสอนกันต่อไป (จตุกฺก. อํ. ๒๑ /๑๙๘ / ๑๖๐)

๙. ทรงบอกวิธีแก้ไขความผิดเพี้ยนในคำสอน ยังไม่พึงชื่นชม ยังไม่พึงคัดค้านคำกล่าวของผู้นั้น พึงเรียนบทและพยัญชนะเหล่านั้นให้ดี แล้วพึงสอบสวนลงในพระสูตร เทียบเคียงดูในวินัย (อุปริ. ม. ๑๔/๕๓/๔๑)

๑๐. ทรงตรัสแก่พระอานนท์ ให้ใช้ธรรมวินัยที่ตรัสไว้เป็นศาสดาแทนต่อไป (มหาปรินิพพานสูตร มหา.ที. ๑๐/๑๕๙/๑๒๘)

จึงขอเรียนถามเพราะสงสัยครับว่า ปัจจุบันพุทธบริษัทก็ศึกษาพระธรรมที่เป็นพุทธวจนะ ของพระพุทธเจ้า และก็มีสาวกภาษิตที่แต่งขึ้นมาภายหลัง เช่น อรรถกถา ฎีกา อภิธรรมมัตถสังคหะ ๙ ปริจเฉท ฯลฯ ทั้งนี้ ข้อมูลตามแผ่นผับดังกล่าว พระสูตรที่ยกมาหลายพระ สูตรดังกล่าวบอกว่าให้ศึกษาแต่พระธรรมของพระพุทธเจ้า จึงขอความรู้ความเข้าใจที่ถูก ต้องด้วยครับ ว่าควรจะศึกษาแต่พุทธวจนะ หรือควรศึกษา อรรถกถา ฎีกา อภิธรรมมัตถ สังคหะ ๙ ปริจเฉท ฯลฯ ด้วย จึงขอให้อธิบายเรื่องนี้ให้ละเอียดเพื่อความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องครับ

อนุโมทนาครับ


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
paderm
วันที่ 28 ก.พ. 2555

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

การศึกษาธรรม ไม่ว่าจะศึกษาในเรื่องใด หรือ จากใครกล่าว ก็ต้องตรวจสอบ กับพระธรรมที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงว่าเข้ากันได้ไหม ด้วยหลักมหาปเทส ๔ คือ เมื่อได้ฟัง หรือ อ่านจากใครกล่าว หรือ หนังสือใดก็ตรวจสอบว่าเข้ากันได้ กับพระพุทธพจน์หรือไม่ ถ้าเข้ากันได้ คือ มีอรรถ เนื้อหาที่สอดคล้องกัน ก็เป็นพระธรรมที่พระพุทธเจ้าทรงแสดง แม้จะเป็นสาวกกล่าวไว้ก็ตาม เพราะเนื้อหาไม่ขัดกัน แต่หากใครกล่าว หรือหนังสือใด กล่าวธรรม แต่ไม่ตรงตามพระธรรมที่พระพุทธเจ้าทรงแสดง คือ อรรถ เนื้อความ ไม่ตรงกัน ในที่นี้ ไม่ได้หมายถึงจะต้องมีพยัญชนะตรงกันทุกคำ แต่เนื้อหาของ เรื่องราวนั้น อธิบายเนื้อความแล้ว ไม่เข้ากัน เช่น พระพุทธเจ้าแสดงอนัตตา แต่ผู้อื่น กล่าวว่า ทำได้ บังคับได้ นี่ก็ไม่ใช่พระพุทธพจน์ ไม่ใช่คำสอนของพระพุทธเจ้า สาวกในอดีตกล่าวว่า บังคับไม่ได้ ทำไม่ได้ ธรรมทำหน้าที่ แม้คำเหล่านี้ จะไม่มีคำที่ตรงตัวใน พระพุทธพจน์ แต่เนื้อความ อธิบายแล้ว ก็หมายถึง ความเป็นอนัตตา ซึ่งตรงกันในอรรถ ที่พระพุทธเจ้าทรงแสดง ก็ถือว่า เป็นพระดำรัส เป็นคำสอนของพระพุทธเจ้า แม้สาวก หรือ ผู้นั้นจะเป็นคนกล่าว ไม่ใช่พระพุทธเจ้าก็ตาม ครับ

ดังนั้น ก็ต้องยึดหลักมหาปเทส ๔ ว่าเข้ากันได้ กับ พระธรรมที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงหรือไม่ ครับ

ดังนั้น ไม่ควรปฏิเสธ หรือ เชื่อทันที เมื่อมีใครกล่าวว่า อรรถกถาจารย์ พระอภิธรรม ไม่ใช่พระพุทธพจน์ แต่บุคคลเหล่านั้น จะต้องอ่านพิจารณาถ้อยคำของอรรถกถาจารย์ และ พระอภิธรรมว่า สอดคล้อง ตรงตามที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงไว้หรือไม่ ซึ่งหากได้ อ่าน ท่านพระอรรถกถาจารย์ทั้งหลายอธิบาย ก็นำเนื้อความในพระไตรปิฎกมาอธิบาย อีกทีให้เข้าใจขึ้นและตรงกันกับพระธรรมที่พระพุทธเจ้าทรงแสดง ก็ชื่อว่าเป็นพระธรรม ของพระพุทธเจ้าด้วย เพราะเนื้อหาสอดคล้องเป็นไปทางเดียวกับพระธรรมที่พระพุทธองค์ทรงแสดง ก็ไม่ขัดกับหลักมหาปเทส ๔ ครับ แม้แต่พระอภิธรรม

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
paderm
วันที่ 28 ก.พ. 2555

ก่อนจะยอมรับ หรือ ปฏิเสธว่า อภิธรรมมีจริง เป็นพระพุทธพจน์หรือไม่ ก็ต้องศึกษาให้ละเอียดด้วยตนเองเสียก่อน เพราะพระอภิธรรม แสดงถึงสิ่งที่มีจริง ซึ่งก็คือในขณะนี้เป็นสิ่งที่กำลังปรากฏ คือ จิต เจตสิกและรูป เห็นมีจริง ปฏิเสธไม่ได้เลย ดังนั้นพระพุทธองค์แสดงถึงสิ่งที่มีจริง พระอภิธรรมก็แสดงถึงสิ่งที่มีจริงเช่นกัน เมื่อได้ศึกษาโดยละเอียดแล้ว ย่อมทำให้เข้าใจได้ว่า พระอภิธรรมก็คือ พระธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้านั่นเอง และหลักวัดอีกข้อหนึ่ง คือ เมื่อพระพุทธเจ้าทรงแสดงธรรมกับพระนางมหาปชาบดีโคตมีว่า ธรรมใดที่เป็นไปเพื่อละคลายกิเลส เพื่อมักน้อย สันโดษเจริญปัญญา เป็นธรรมวินัย คือ คำสอนของเรา ซึ่งพระอรรถกถาจารย์ ก็ได้แสดงถึงพระธรรมที่เป็นไปเพื่อละคลายกิเลส และความเจริญชึ้นของปัญญา ดังนั้น ก็ชื่อว่า เป็นพระพุทธพจน์แม้ใครจะกล่าวก็ตาม ครับ

พระอภิธรรม ก็เป็นไปเพื่อละความไม่รู้ ความเห็นผิดที่ยึดถือว่ามีเรา เพราะมีแต่ธรรม ดังนั้น พระธรรมที่เป็นไปเพื่อละคลายกิเลส มี พระอภิธรรม ก็ชื่อว่า เป็นพระพุทธพจน์เช่นกันครับ ดังนั้น ผู้ที่จะเชื่อ หรือ คัดค้าน ก็ต้องศึกษาพระธรรมอย่างละเอียดรอบคอบเพื่อที่จะไม่เป็นโทษกับตนเองและพระศาสนา ครับ

ดังนั้นคำใดก็ตามที่กล่าวถูกต้องตามความเป็นจริง ตามที่พระพุทธองค์ทรงแสดง ไม่ว่าใครกล่าว ก็ควรศึกษา เพราะเป็นไปเพื่อความเจริญขึ้นของปัญญา ครับ

ขออนุโมทนาที่ร่วมสนทนา

 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
khampan.a
วันที่ 28 ก.พ. 2555

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

ต้องเริ่มต้นด้วยการฟังพระธรรม ศึกษาพระธรรม ที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดง ด้วยความละเอียดรอบ ค่อยๆ สะสมความเข้าใจถูกเห็นถูกไปตามลำดับ สิ่งที่พระองค์ทรงแสดงนั้น ทรงแสดงให้เข้าใจสภาพธรรมที่กำลังมีกำลังปรากฏในขณะนี้ เป็นคำสอนที่เป็นไปเพื่อละคลายความไม่รู้ ละคลายความเห็นผิด และ กิเลสประการต่างๆ ผู้ศึกษาต้องเป็นผู้ตรง จริงใจที่จะศึกษาเพื่อความเข้าใจถูกเห็นถูกเท่านั้น ไม่ใช่เพื่ออย่างอื่น พระสัมมาสัมพุทธเจ้า ทรงแสดงพระธรรมเกื้อกูลแก่สัตว์โลก มีผู้ที่ได้รับประโยชน์จากพระธรรมที่พระองค์ทรงแสดงมากมายนับไม่ถ้วน ท่านเหล่านั้น ก็แสดงธรรมตามที่พระสัมมาสัมพุธเจ้าทรงแสดงให้ผู้อื่นได้เข้าใจด้วย เป็นการแสดงสิ่งที่มีจริงเหมือนอย่างที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดง พระธรรมที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดง เป็นพระพุทธพจน์ และถึงแม้ว่าจะเป็นคำที่พระอริยสาวกแสดง ก็เป็นพระพุทธพจน์ด้วย เพราะแสดงสิ่งที่มีจริง ตามความเป็นจริง ตรงตามพระธรรมที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดง ไม่ว่าจะเป็นใครกล่าวก็ตาม ความจริง ก็ย่อมเป็นความจริง อรรถถา เป็นส่วนที่อธิบายขยายความพระพุทธพจน์ ฎีกา ก็ขยายข้อความในอรรถกถาอีกทีหนึ่ง ส่วนอภิธัมมัตถสังคหะ นั้น เป็นคัมภีร์ทางพระพุทธศาสนาที่เป็นการรวบรวมถือเอาด้วยดีซึ่งเนื้อความแห่งพระอภิธรรมที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดงไว้ ประมวลแล้ว ก็คือแสดงถึงจิต เจตสิก รูป และพระนิพพาน เป็นปรมัตถธรรม ๔ ที่เป็นสิ่งที่มีจริง ดังนั้น ก็จะต้องศึกษาด้วยความละเอียดรอบคอบจริงๆ มีปัญญาเป็นเครื่องพิจารณาไตร่ตรองในเหตุในผลของธรรม ด้วย เพราะไม่ว่าจะเป็นข้อความใดที่แสดงถึงสิ่งที่มีจริง เป็นไปตามที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดงไว้ ก็ควรที่จะฟัง ควรที่จะศึกษา เป็นไปตามการสะสมของแต่ละบุคคลที่จะเห็นประโยชน์ของพระธรรมมากน้อยแค่ไหน ครับ

...ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ...

 
  ความคิดเห็นที่ 4  
 
ที่พึ่งที่ระลึก
วันที่ 29 ก.พ. 2555

ขอขอบพระคุณและอนุโมทนา กับคุณ Paderm และ คุณ Khampan.a

ที่ให้ข้อมูลความรู้ความเข้าใจครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 5  
 
เซจาน้อย
วันที่ 29 ก.พ. 2555

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาัสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

ขอบคุณ และขออนุโมทนา อ.ผเดิม, อ.คำปั่นและทุกๆ ท่านด้วยครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 6  
 
jaturong
วันที่ 1 มี.ค. 2555

ขอบคุณ และขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 7  
 
Jans
วันที่ 1 มี.ค. 2555
ขอบคุณและขออนุโมทนาค่ะ
 
  ความคิดเห็นที่ 9  
 
wannee.s
วันที่ 2 มี.ค. 2555

การศึกษาธรรม จุดประสงค์ เพื่อการละอกุศลทางกาย ทางวาจา และทางใจ ที่ไม่ดี ที่สำคัญ เพื่อละความไม่รู้ ละความเห็นผิด และอบรมจิตให้ผ่องใส คือปัญญา ค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 10  
 
SOAMUSA
วันที่ 2 มี.ค. 2555

กราบอนุโมทนา สาธุอาจารย์ค่ะ

ขอบพระคุณอย่างสูงค่ะ ผู้ที่ยังไม่ได้เคยศึกษาพระอภิธรรม

แต่นำมาพูดว่าพระอภิธรรมไม่ใช่ธรรมะพระพุทธเจ้า อย่างนี้คือการปรามาสหรือไม่คะ

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ