ทำไมทำบุญกับพระสงฆ์ได้บุญมากกว่าอย่างอื่น

 
อยากรู้จึงถาม
วันที่  4 มี.ค. 2555
หมายเลข  20686
อ่าน  4,575

เราทำบุญกับสัตว์พิการ สัตว์ที่โดนทิ้ง เด็กกำพร้า เด็กพิการ คนพิการ คนแก่ที่โดนลูกหลานทิ้ง หรือเราทำให้บุพการีเรามีความสุข ไม่เป็นเรื่องที่ดีกว่าหรือ เหตุใดต้องมีคำกล่าวเรื่อง เนื้อนาบุญ หรือ การได้ทำบุญกับพระที่ละกิเลสได้มากๆ เราจะยิ่งได้บุญ ถ้าเช่นนั้น การทำบุญนั้นๆ ของเราก็มิใช่สิ่งบริสุทธิ์ใช่หรือไม่ เพราะเราทำบุญก็เพื่อหวังให้เราได้บุญเพิ่มแก่ตัวเรา แก่หมู่ของเรา


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
paderm
วันที่ 4 มี.ค. 2555

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

บุญ หรือ กุศล คือ สภาพธรรมฝ่ายดี ที่เป็นเครื่องชำระสันดาน ให้หมดจดจากกิเลส ดังนั้น ขณะที่เป็น บุญ หรือ กุศล ขณะนั้นไม่มีกิเลสที่เป็นเครื่องเศร้าหมองเลยครับ

ซึ่งบุญในพระพุทธศาสนา ก็มีหลากหลายแตกต่างกันไปตามลักษณะของการกระทำทางกาย วาจาและใจ มี บุญกิริยาวัตถุ ๑๐ ประการ ครับ

การให้ทาน เป็นบุญประเภทหนึ่ง เพราะขณะที่ให้ คือ เจตนาที่สละวัตถุ เพื่อประโยชน์ของผู้อื่นเท่านั้น ไม่ใช่เพื่อประโยชน์ตน การให้ทาน ที่เป็นวัตถุ จึงมี ๒ นัย คือ ให้ทานเพื่อบูชาคุณความดี และให้ทานเพื่ออนุเคราะห์ช่วยเหลือผู้อื่น

การให้ทาน ทำบุญ จึงไม่เป็นไปเพื่อได้ แต่เป็นไปเพื่อสละเท่านั้น ดังนั้นการให้ทานจึงไม่ใช่เพื่อได้ทรัพย์สมบัติ ได้เกิดในที่ดีๆ เพราะขณะที่หวังในขณะนั้น ไม่ใช่บุญ แต่ เป็นอกุศล มีความต้องการที่เป็นโลภะ เป็นต้น ซึ่งขณะใดที่หวัง และทำบุญ อานิสงส์ ผลบุญก็น้อยลง เพราะว่ามีอกุศลเกิดสลับกับกุศล ครับ

ส่วนเมื่อมีของที่จะให้ มีผู้ให้ ก็ต้องมีผู้รับ ผู้รับ ก็เปรียบเหมือน นาข้าว ที่พื้นนาแตกต่างกันไป นาที่ดี ผลของการปลูกข้าวก็มาก นาไม่ดี ปริมาณข้าวก็ได้น้อย เพราะ ประกอบด้วยโทษ คือ หญ้า วัชพืช

การทำบุญด้วยจิตบริสุทธิ์เหมือนกัน คือ ไม่ได้หวัง ทำกับผู้ที่ปราศจากกิเลส คือ ไม่มีกิเลส ปราศจากโทษ เปรียบเหมือนวัชพืช ผลของบุญก็มากกว่า เป็นธรรมดา ครับ แต่เมื่อรู้อย่างนี้ จึงไม่ใช่อยากจะหวังผลบุญ จึงทำบุญ อันนี้ก็ไม่ถูกต้อง เพราะเป็นอกุศลในขณะนั้น และที่สำคัญ อานิสงส์ของบุญ ไม่ได้อยู่ที่ผู้รับเท่านั้น ผู้ให้เองก็ด้วย คือ ต้องให้ด้วยจิตที่เป็นบุญ กุศล โดยไม่ได้หวังซึ่งเป็นกุศล อานิสงส์ผลของบุญก็มากกว่าผู้ที่หวังแล้วให้ทาน ครับ ดังนั้น ที่ถูกต้อง กุศล ทุกประการ เป็นไปเพื่อละ สละกิเลส ไม่ใช่เพื่อได้ ครับ แม้แต่การให้ทาน

ดังนั้น เวลาใดที่ประจวบกับการอนุเคราะห์คนยากจน ประสบทุกข์เดือดร้อน เราก็ให้เวลานั้น เวลาใดพบพระสงฆ์ก็ให้ทาน ทำบุญ บูชาคุณความดี หรือ อนุเคราะห์ท่านในเวลานั้น กุศลจึงไม่เลือกว่าใคร ประจวบเหมาะเวลาใด หรือ กุศลจิต เกิดเวลาใด ก็ให้เวลานั้น ครับ

ขออนุโมทนา

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
khampan.a
วันที่ 4 มี.ค. 2555

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

การเจริญกุศลประการต่างๆ ในชีวิตประจำวัน ถ้าเป็นไปเพื่อหวังผลหรือต้องการสิ่งหนึ่งสิ่งใดตอบแทนนั้น เป็นสิ่งที่ไม่ถูกต้อง เพราะในขณะนั้นเป็นไปกับด้วยอกุศล เป็นการสะสมโลภะเพิ่มขึ้น ไม่เป็นไปเพื่อการขัดเกลากิเลส ยังเป็นไปในวัฏฏะ แม้จะได้เกิดในวิมานที่ดี อันเป็นผลของกุศลกรรม ก็ยังไม่พ้นไปจากทุกข์ในสังสารวัฏฏ์ แต่ถ้าเมื่อใดก็ตาม ที่มีโอกาสได้ฟังพระธรรม ได้ศึกษาพระธรรม สะสมความเข้าใจเพิ่มขึ้น ก็จะเข้าใจว่า การเจริญกุศลทุกอย่างทุกประการ ไม่ว่าจะเป็นในเรื่องของทาน ศีล และ ภาวนา ล้วนเป็นไปเพื่อการขัดเกลากิเลสทั้งสิ้น ที่จะเป็นไปเพื่อเพิ่มกิเลส เพิ่มโลภะ โทสะ โมหะ ให้มากๆ นั้น ไม่ใช่คำสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า

ในชีวิตประจำวัน ควรอย่างยิ่งที่จะได้เจริญกุศลประการต่างๆ ที่พอจะเป็นไปได้เพราะเหตุว่าถ้ากุศลจิตไม่เกิดแล้ว จิตก็เป็นกุศล ไหลไปด้วยอำนาจของกิเลส ทั้งทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย และทางใจ ซึ่งเป็นโทษกับตนเองโดยส่วนเดียว กุศลธรรมทั้งหมดนั้นเป็นเรื่องที่จะต้องละ เป็นเรื่องที่จะต้องดับให้หมดสิ้น รวมถึงมัจฉริยะ คือ ความตระหนี่ ความหวงแหน ด้วย ธรรมที่ตรงกันข้ามกับความตระหนี่ คือ การให้ การสละวัตถุสิ่งของเพื่อประโยชน์สุขแก่ผู้อื่น การให้ เป็นธรรมที่ตรงกันข้ามกับความตระหนี่อย่างสิ้นเชิง ในชาติหนึ่งๆ ถ้าทานกุศล การให้วัตถุสิ่งของเพื่อประโยชน์แก่ผู้อื่น ไม่เกิดเลย ไม่มีการเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ แก่ผู้อื่นเลย ก็ไม่สามารถที่จะดำเนินไปถึงการดับกิเลสได้

ดังนั้น ควรที่จะได้พิจารณาว่า การให้ทานในชีวิตประจำวัน ก็เพื่อกำจัดกุศลธรรม คือ ความตระหนี่ของตนเอง เป็นสำคัญ ไม่ใช่เพื่ออย่างอื่นเลย ครับ.

...ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ...

 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
เซจาน้อย
วันที่ 5 มี.ค. 2555

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

ขอบคุณ และขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 4  
 
pat_jesty
วันที่ 5 มี.ค. 2555

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาค่ะ

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ