พระปัจเจกพุทธเจ้าอุบัติขึ้นในโลกได้หลายพระองค์

 
สัมภเวสี
วันที่  5 มี.ค. 2555
หมายเลข  20709
อ่าน  2,637

พระปัจเจกพุทธเจ้า สามารถอุบัติขึ้นในโลกได้หลายพระองค์ในระหว่างพุทธันดร จึงเกิดคำถามขึ้นว่า พระปัจเจกพุทธเจ้าผู้ตรัสรู้ในภายหลังจะมีอัญชลีกรรม สามีจิกรรมแด่พระปัจเจกพุทธเจ้าผู้ตรัสรู้ก่อน หรือไม่ครับ


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
paderm
วันที่ 7 มี.ค. 2555

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

ก่อนอื่นก็ควรเข้าใจความหมายของแต่ละคำให้เข้าใจถูกต้องก่อนครับ

พระปัจเจกพุทธเจ้า คือ ผู้ตรัสรู้เฉพาะผู้เดียว หมายถึง พระพุทธเจ้าผู้บำเพ็ญบารมีสิ้น ๒ อสงไขกับ ๑ แสนกัป เป็นผู้ตรัสรู้เองได้ เพราะการสะสมบารมีไม่เพียงพอที่จะรู้ทุกสิ่งเหมือนพระสัพพัญญูพุทธเจ้า ไม่สามารถที่จะสั่งสอนให้ผู้อื่นตรัสรู้ตามได้ ครับ

อัญชลีกรรม กรรม คือ การกระทำที่เป็นการประนมมือ การไหว้

สามีจิกรรม คือ กรรมชอบ การกระทำอันชอบ ถูกต้อง กิจชอบ เช่น การช่วยเหลือกิจการงาน การทำวัตร ปฏิบัติที่ถูกต้องกับพระอุปัชฌาย์ เป็นต้น

[เล่มที่ 52] พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เถรคาถา เล่ม ๒ ภาค ๓ ตอน ๓ - หน้าที่ 267

บทว่า สํหริตฺวาน ปาณโย ได้แก่ การทำมือทั้งสองให้บรรจบกัน โดยอาการดอกบัวตูม. อธิบายว่า การทำอัญชลี.

บทว่า สามีจึ ได้แก่ กระทำสามีจิกรรม มีการหลีกทางให้และการพัดวีเป็นต้น.


พระปัจเจกพุทธเจ้า จะอุบัติในช่วงที่ว่างจากพระศาสนา คือ ในสมัยที่ไม่มีพระพุทธเจ้า อุบัติขึ้นในโลก ช่วงว่างจากพระพุทธศาสนา ก็จะมีพระปัจเจกพุทธเจ้าอุบัติขึ้น ซึ่งพระ ปัจเจกพุทธเจ้าสามารถอุบัติได้หลายองค์ ไม่ใช่องค์เดียว ก็แล้วแต่ว่า ใครบารมีแก่กล้าก่อน ก็บรรลุก่อนครับ ซึ่ง คุณธรรมของพระปัจเจกพุทธเจ้า ไม่ว่าจะบรรลุก่อน หรือ บรรลุหลัง ก็มีคุณธรรมเท่ากัน เสมอกันหมด การบรรลุเป็นพระปัจเจกพุทธเจ้าก็ต้องบรรลุด้วยปัญญา และเมื่อบรรลุเป็นพระปัจเจกพุทธเจ้าแล้ว ก็ดับกิเลสประการต่างๆ มี มานะ ที่ทำให้เกิดความไม่เคารพและเมื่อมีปัญญาเป็นเครื่องนำทาง ก็ย่อมประพฤติ ปฏิบัติในสิ่งที่ถูกที่ควร ในชีวิตประจำวันที่อยู่ร่วมกับคนอื่น มีการประพฤติด้วยความเคารพกันและกัน มีการไหว้ ที่เรียกว่า อัญชลีกรรม เป็นต้น และ มีการช่วยเหลือกิจการงาน ที่เรียกว่า สามีจิกรรม ด้วย ดังนั้น พระปัจเจกพุทธเจ้า จึงไม่ได้ไหว้ตามลำดับพรรษา ดังเช่น พระสาวก พระภิกษุ ที่พรรษาน้อยจะต้องไหว้ผู้ที่มีพรรษามาก แต่เพราะ พระปัจเจกพุทธเจ้าท่านเหล่านั้น มีคุณธรรมเท่ากัน แต่ท่านก็ไหว้ เคารพซึ่งกันและกัน เพราะท่านเคารพในคุณความดีของแต่ละพระองค์ที่เป็นผู้ดับกิเลสด้วยพระองค์เอง และ บำเพ็ญบารมีมา จึงไหว้คุณธรรม เคารพซึ่งกันและกัน ไม่ว่าใครจะบรรลุก่อน หรือ บรรลุทีหลัง ครับ นั่นคือ มีการทำอัญชลีกรรม การไหว้ ด้วยกันทุกๆ พระองค์ และ พระปัจเจกพุทธเจ้า ก็มีการช่วยเหลือกิจการงาน ของแต่ละพระองค์ด้วย ที่เป็น สามีจิกรรม การกระทำอันชอบ ครับ

ดังตัวอย่างในพระไตรปิฎก ที่พระปัจเจกพุทธเจ้ารูปหนึ่งป่วย พระปัจเจกพุทธเจ้าก็ไปช่วยบิณฑบาต เพื่อรับยา มีน้ำผึ้ง เป็นต้น เพื่อที่จะได้กลับมารักษาพระปัจเจกพุทธเจ้าอีกพระองค์ที่ป่วยอยู่ และก็มีการช่วยเหลือกันและกัน เมื่อผู้ใดป่วย หรือ ต้องการความช่วยเหลือ นี่ก็คือ มีการทำกิจอันชอบร่วมกัน ที่เรียกว่า สามีจิกรรม ด้วยครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
nongnooch
วันที่ 30 ส.ค. 2556

กราบอนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
wittawat
วันที่ 23 ก.พ. 2562

ขอขอบคุณ และขออนุโมทนาครับ

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ