จิต คือ อะไร
จิต คือ อะไร อธิบายให้หน่อยครับ
คำว่า "จิต" ตามหลักคำสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า หมายถึง สภาพรู้ อาการรู้ ลักษณะรู้แจ้งอารมณ์ เป็นใหญ่เป็นประธานในการรู้แจ้งอารมณ์ และคำว่า จิตนี้ยังมีชื่อที่ใช้แทนคำว่าจิตในบางแห่งอีกมาก เช่น ใจ มโน มานัส ปัณฑระ หทัย วิญญาณ วิญญาณขันธ์ มนายตนะ เป็นต้น ในชีวิตประจำวันของเรา จะทราบได้ว่าผู้ที่ยังไม่ตาย มีชีวิตอยู่ เป็นผู้มีจิตเกิดดับต่อเนื่องไปจนกว่าจะตาย ฉะนั้น จิตคือ สภาพรู้ทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ
จิตเกิดที่ไหน ก็ดับที่นั้น เช่น จิตเห็น เกิดที่จักขุปสาทะ (กลางตา) ก็ดับที่จักขุปสาทะ จิตเกิดดับรวดเร็วมาก จิตเกิดดับ ๑๗ ขณะ เท่ากับรูปเกิดดับขณะเดียว ในภูมิที่มีขันธ์ ๕ เช่น ในภูมิมนุษย์นี้ จิตต้องอาศัยรูปเกิด เช่น จิตเห็น ก็อาศัยตา คือ จักขุปสาทรูปเกิด
ถ้าคุณวิเชียร หรือ สมาชิกท่านใด สนใจ หัวข้อเรื่อง 01205 ถอดจิต ก็ให้ พิมพ์ คำว่า ถอดในช่อง ค้นหา (อยู่ที่มุมขวาด้านบน) แล้วกด Enter ก็จะสามารถ อ่านกระทู้เรื่องถอดจิตได้ครับ
ความหมายของจิต คือ เป็นใหญ่ เป็นประธานในการรู้แจ้งอารมณ์ ในอรรถกถาบางแห่งกล่าวถึงอรรถของจิตว่าคิด ท่านอธิบายขยายความต่อว่า คือ รู้แจ้งซึ่งอารมณ์ ลักษณะที่คิดหรือจำ เป็นเจตสิก ไม่ใช่จิต
จำแนกจิตอย่างไร ถึง มี ๘๙ หรือ ๑๒๑
พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงตรัสรู้ธรรมทั้งปวง ทรงเป็นพระสัพพัญญู คือ รู้ธรรมทั้งปวง พระองค์ทรงแสดงจิตที่มีอยู่ในสากลจักรวาลทั้งหมด ทั้งจิตของปุถุชน และพระอริยะทั้งปวง จิตของสัตว์ใน ๓๑ ภูมิทุกจักรวาล นับแล้ว ไม่นับซ้ำอีก ประมวลได้ ๘๙ โดยพิสดาร ๑๒๑ ประเภท จำแนกโดยระดับขั้นมี ๔ ระดับ คือ กามมาวจรจิต ๑ รูปาวจรจิต ๑ อรูปาวจรจิต ๑ โลกุตตรจิต ๑ จำแนกโดยชาติคือการเกิด มี ๔ คือ กุศลชาติ ๑ อกุศลชาติ ๑ วิปากชาติ ๑ กิริยาชาติ ๑ ฯลฯ
จิต ๘๙ ประเภท คือ
กามาวจรจิต ๕๔ ดวง
รูปาวจรจิต ๑๕ ดวง
อรูปาวจรจิต ๑๒ ดวง
โลกุตตรจิต ๘ ดวง
จิต ๑๒๑ ประเภท คือ
กามาวจรจิต ๕๔ ดวง
รูปาวจรจิต ๑๕ ดวง
อรูปาวจรจิต ๑๒ ดวง
โลกุตตรจิต ๔๐ ดวง
จาก หนังสือ ปรมัตถธรรมสังเขป หน้าที่ 353
โดย : มูลนิธิศึกษาและเผยแพร่พระพุทธศาสนา
คำว่า " จิต " ตามหลักคำสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า หมายถึง สภาพรู้ อาการรู้ ลักษณะรู้แจ้งอารมณ์ เป็นใหญ่เป็นประธานในการรู้แจ้งอารมณ์
อยากถามว่า แล้ว อะไร เป็น ตัวรู้ครับ เพราะ จิต เป็นเพียงสภาพการรู้เท่านั้น
จิตและเจตสิกเป็นนามธรรมเป็นสภาพรู้ แต่จิตเป็นใหญ่เป็นประธานในการรู้ เจตสิกเป็นสภาพรู้โดยอาการต่างๆ ตามกิจหน้าที่ของเจตสิกนั้นๆ เช่น ผัสสเจตสิกทำกิจกระทบอารมณ์ เป็นต้น จิตจะเกิดขึ้นโดยปราศจากเจตสิกไม่ได้ และเจตสิกจะเกิดขึ้นโดยปราศจากจิตไม่ได้เช่นกัน ดังนั้น สภาพรู้จึงหมายถึงจิตและเจตสิกที่เกิดร่วมกัน รู้อารมณ์เดียวกัน ส่วนรูปรู้อารมณ์ไม่ได้ค่ะ
คุณ devout หรือ ผู้ใดก็ได้ ครับ ตามที่กล่าวว่า จิตและเจตสิก เป็นนามธรรม เป็นสภาพรู้ นั้นคือ ผม ทราบแล้ว แต่อยากทราบว่า เมื่อ จิต เป็น ๑. นามธรรม ๒. เป็นสภาพรู้ ผมอยากรู้ว่า อะไร คือ สิ่ง หรือ ตัว ที่รับรู้ สภาวะ นี้ ครับ
ขอบคุณครับ
จากข้อความที่ 10 ทำให้ผมงงมากครับ
จิต เป็น นามธรรม และ เป็นสภาพรู้ ดังนั้น สรุปได้ว่า สิ่งที่ถูกเรียกว่า นามธรรม มีความสามารถ รับรู้ได้ เป็นอย่างนั้นใช่ไหมครับ ช่วยอธิบายให้เข้าใจแบบง่าย หน่อย ได้ไหมครับ
ขอบคุณครับ
จิต และ เจตสิกเป็นนามธรรม เป็นสภาพรู้ อาการรู้ กิริยาที่รู้ ลักษณะรู้ แต่อารมณ์ คือ สิ่งที่ถูกรู้ มีทั้งนามและรูป คือ มีทั้งสภาพรู้ และไม่รู้ เป็นอารมณ์ของจิต และ เจตสิก
เราสามารถ สรุป ได้ว่า
๑. จิต เจตสิก เป็น นามธรรม และสภาพรู้
๒. รูป คือ สภาพไม่รู้
๓. อารมณ์ เป็น สิ่งที่ถูกรู้ มีทั้งรูปและนาม เป็นเช่นนี้ใช่ไหมครับ
อยากให้ช่วยยกตัวอย่าง ให้เข้าใจมากขึ้นหน่อยครับ เช่น เมื่อเราโดนมีดบาด เราจะอธิบายอย่างไรครับ
ที่คุณกมลวิเชียรสรุป ถูกต้องแล้ว แต่ต้องเข้าใจว่า ร่างกายของเราเป็นรูปธรรมไม่รู้อะไร แต่เป็นที่อาศัยเกิดของสภาพรู้ เมื่อมือเราถูกมีดบาด ส่วนของกายประกอบด้วยธาตุ ดิน น้ำ ไฟ ลม และรูปอื่นๆ เป็นสภาพที่ไม่รู้อะไร เป็นรูปธรรม ส่วนสภาพรู้ มีความรู้สึกทุกข์ ความจำ เป็นต้น เป็นนามธรรม
เมื่อเราตาย คือขณะที่จุติจิตดับไป เป็นการสิ้นสุดความเป็นสัตว์/บุคคลนั้นๆ เพราะหมดกรรมที่จะทำให้เป็นบุคคลนั้นอีกต่อไป เป็นการตายที่เรียกว่าสมมติมรณะในทางธรรม เพราะสังสารวัฏฏ์ยังไม่สิ้น ยังต้องมีการเกิดอีก เมื่อจุติจิตดับไปแล้ว ปฏิสนธิจิตต้องเกิดสืบต่อทันทีโดยไม่มีระหว่างคั่น ส่วนจะเกิดที่ภพภูมิใดก็ขึ้นอยู่กับกรรมที่ได้กระทำมาแล้ว
G00417 ทุกขณะที่จิตดับเป็นการตายของจิต
เนื้อหา
ที่เราเรียกว่าตายนั้น ความจริงไม่ได้ต่างอะไรกันเลยกับสภาพที่เป็นไปทุกขณะจิตนี้เอง ทุกขณะที่จิตดับไปก็เป็นการตายของจิต จิตทุกดวงเกิดขึ้นแล้วก็ดับสิ้นไป ซึ่งเป็นปัจจัยให้เกิดจิตดวงต่อไป เมื่อจิตดวงสุดท้ายของชาตินี้ คือ จุติจิตดับไปแล้ว จิตดวงแรกในชาติต่อไป คือ ปฏิสนธิจิตก็เกิดต่อ ไม่มีตัวตนเลยสักขณะเดียวในชีวิต ฉะนั้น จึงไม่มีอัตตาตัวตนที่ท่องเที่ยวไปจากชาตินี้สู่ชาติหน้า
Q00445 มรณะหรือความตาย มีกี่ประเภท อะไรบ้าง
เนื้อหา
มรณะ หรือ ความตาย มีกี่ประเภท อะไรบ้าง?
มรณะหรือความตายนั้นมี ๓ ประเภท คือ
ขณิกมรณะ ๑ สมมติมรณะ ๑ สมุจเฉทมรณะ ๑
ขณิกมรณะ คือ การเกิดขึ้นและดับไปของสังขารธรรมทั้งหลาย
สมมติมรณะ คือ ความตายในภพหนึ่งชาติหนึ่ง
สมุจเฉทมรณะ คือ ปรินิพพาน การตายของพระอรหันต์ ซึ่งไม่มีการเกิดขึ้นอีกเลย
Q00225 สัตว์โลกตายแล้วไปไหน และอะไรตาย
เนื้อหา
สัตว์โลกตายแล้วไปไหน และอะไรตาย?
สัตว์โลกตาย เมื่อจิต เจตสิก ขณะสุดท้ายของชาตินี้ดับลงพร้อมกัมมชรูป (รูปที่เกิดจากกรรมเป็นสมุฏฐาน) ทำให้สิ้นสภาพความเป็นบุคคลนั้นทันที ตราบใดที่ยังไม่ใช่พระอรหันต์ เมื่อสัตว์โลกตายแล้ว กุศลกรรมหนึ่ง หรืออกุศลกรรมหนึ่งที่ได้กระทำไว้แล้ว ก็เป็นปัจจัยให้เกิดในภูมิหนึ่งภูมิใดใน ๓๑ ภูมิ
Q00157 ถามว่าคนเราเมื่อตายไปแล้ว มีอะไรติดตามไปด้วย
เนื้อหา
ความเป็นบุคคลเก่าในชาติก่อน ติดตามใครมา เป็นบุคคลนั้นในชาตินี้อีกบ้าง เมื่อจุติจิตดับ สิ้นสุดสภาพความเป็นบุคคลในชาติก่อน ปฏิสนธิจิตชาตินี้ ก็เกิดสืบต่อจากจุติจิตชาติก่อน ทำให้เป็นบุคคลใหม่ทันที ปฏิสนธิจิตเป็นวิบาก คือ ผลของกรรมหนึ่งที่ได้กระทำแล้วในสังสารวัฏฏ์ กรรมนั้นเป็นชนกกรรม คือ เป็นปัจจัยให้ปฏิสนธิจิต และ กัมมชรูป (รูปซึ่งเกิดเพราะกรรมนั้นเป็นปัจจัย) เกิดขึ้นพร้อมกันในขณะที่ปฏิสนธิจิตเกิด ด้วยเหตุนี้ แต่ละคนจึงต่างกัน ทั้งในรูปร่าง และลักษณะ อุปนิสัยใจคอ ความคิดนึก ตามการสะสมของจิต บางคนก็มีโลภะมาก บางคนก็มีโทสะมาก
เมื่อปฏิสนธิจิตสืบต่อจากจุตินั้น ไม่ได้นำจิตของชาติก่อนตามมาด้วย ไม่ได้นำรูปของชาติก่อนตามมาด้วย เพราะจิต เจตสิก รูปใดดับไปแล้ว ก็ดับหมดสิ้นไปเลย แต่การดับไปของจิตขณะสุดท้ายของชาติก่อน เป็นปัจจัยให้ปฏิสนธิจิตชาตินี้เกิดขึ้น พร้อมกับรูปซึ่งเกิดเพราะกรรมหนึ่งที่ทำให้เกิดเป็นบุคคลนี้ เมื่อจุติจิตในชาตินี้เกิดขึ้น และดับไปแล้ว กรรมหนึ่งก็ทำให้ปฏิสนธิจิต และปฏิสนธิกัมมชรูป เกิดต่อเป็นบุคคลใหม่ในชาติต่อไป สิ้นสภาพความเป็นบุคคลในชาตินี้โดยสิ้นเชิง
มรณะหรือความตายนั้นมี ๓ ประเภท คือ ขณิกมรณะ สมมติมรณะ สมุจเฉทมรณะ
๑. ในนี้ ไม่มีการ เอ่ยถึง จิตเลย ดังนั้น จะให้เข้าใจอย่างไรครับ
๒. จิต นั้นเป็นนามธรรม เป็นสภาวะ จะแตกดับ หรือ เกิดใหม่นั้น จะให้ทำความเข้าใจอย่างไรครับ ช่วยอธิบายด้วยครับ
สวัสดีครับ คุณกลมวิเชียร
เบื้องต้น เพื่อให้มีความเข้าใจเรื่องจิต รวมถึง เจตสิก รูป และนิพพาน ต่อไป ผมขอแนะนำให้คุณศึกษาให้เข้าใจก่อนว่า "ธรรม" คืออะไร เกี่ยวข้องอย่างไรกับคำว่า "สิ่งที่มีจริง" ซึ่งก็คือปรมัตถธรรมสี่อย่างคือ จิต เจตสิก รูป และนิพพาน ถ้ายังไม่เข้าใจและหาความสัมพันธ์ของสิ่งที่มีจริงว่าประกอบด้วย จิต เจตสิก รูป อย่างไรแล้ว ก็ยากที่จะเข้าใจความหมายของธรรม ยากที่จะเข้าใจเรื่องการเกิดดับของจิต นอกจากจะเข้าใจไปตามที่คิดนึกเอาเอง ซึ่งอาจจะไม่ตรงตามพระธรรมคำสอนของพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า แล้วก็จะเสียเวลาเปล่า ไม่ได้ประโยชน์อะไร ปัญญา คือสภาพความเข้าใจถูก เห็นถูก ก็ไม่เจริญ ต้องอภัยที่จะขอแนะนำให้เริ่มต้นด้วยการศึกษาว่า "ธรรม" คือ สิ่งที่มีจริงสี่ประการ (ปรมัตถธรรมสี่) คืออะไรบ้าง ให้พอมีพื้นฐานความเข้าใจก่อน จากนั้น ค่อยลงรายละเอียดแต่ละเรื่องไป ซึ่งเรื่องทั้งหมดเป็นสิ่งที่มีจริงในปัจจุบัน ไม่ใช่สิ่งที่เลื่อนลอยจับต้องไม่ได้ ถ้าสามารถฟังได้จาก Net ขอแนะนำฟังจากชุด เริ่มด้วยความเข้าใจหรือ MP3ชุด ... ความเข้าใจพระธรรม, ปรมัตถธรรมสี่ เป็นต้น หรือ อ่านหนังสือปรมัตถธรรมสังเขป (มีให้ Down Load อ่านในนี้) ก็ได้ ธรรม เป็นเรื่องยากมากๆ ๆ ๆ ๆ ๆ ๆ ๆ ๆ ๆ ๆ ๆ ๆ ๆ ๆ ๆ ๆ ๆ ๆ ๆ นะครับ แต่เป็นเรื่องจริง
ขออนุโมทนาในกุศลจิต ที่คุณกลมวิเชียรมีความสนใจใคร่ที่จะศึกษา "หาความจริง" จึงได้มาพบ Web นี้ ขอให้โชคดีครับ
เรียน คุณwirat.k ผมต้องขอขอบคุณที่กรุณา ได้ให้คำแนะนำ แต่ผมกำลังอยู่หนทางที่ท่านได้กรุณาแนะนำมาอยู่แล้ว ดังนั้น หากท่าน wirat.k หรือ ท่านอื่น จะกรุณาตอบคำถาม หรือชี้แจงให้ความกระจ่างแก่ผม จะขอบคุณครับ
ธรรมทัศนะ ...
พระธรรมละเอียดลึกซึ้งจริงๆ ต้องฟังธรรมะไปจนวันตาย
ตอนนี้รู้สึกว่าเวลาช่วงที่ฟังธรรมะ จะทำให้เกิดกุศลปิติได้บ่อยๆ หลายครั้งที่เกิดความตื้นตันจนน้ำตาไหล รู้สึกดีใจที่ได้มาเกิดในศาสนาพุทธ ได้มาพบพระมหาปัญญาอันเลิศล้ำยิ่งของพระพุทธเจ้า เวลาที่ฟังแล้วไตร่ตรองด้วยเหตุด้วยผล ก็ยิ่งซาบซึ้ง อยากให้คนอื่นได้ฟังด้วย ได้เข้าใจด้วย ว่าศาสนาพุทธนั้นเป็นศาสนาแห่งปัญญาจริงๆ พระธรรมของพระพุทธองค์ละเอียดลึกซึ้งจริงๆ ผมคงต้องฟังธรรมะไปจนวันตาย
การเข้าใจพระธรรมเป็นเรื่องยากมากๆ จริงๆ
อนุโมทนา การเข้าใจพระธรรมเป็นเรื่องยากมากๆ จริงๆ เพราะปัญญาเท่านั้นที่สามารถเข้าใจได้ อวิชชาไม่สามารถเข้าใจได้ เมื่อปัญญาขั้นฟังเรื่องธรรมะเกิด ซึ่งก็ไม่ใช่เรื่องง่าย แต่ปัญญาขั้นรู้สภาพธรรมตามความเป็นจริง ยิ่งยากกว่าหลายเท่า เพราะฉะนั้น มีหนทางเดียวเท่านั้น คือ ฟังพระธรรมให้มากๆ ฟังให้เข้าใจจริงๆ ว่า ทุกอย่างเป็นธรรมะ และหมั่นพิจารณาไตร่ตรองในสิ่งที่ฟังเข้าใจ ปัญญาก็จะค่อยๆ เพิ่มขึ้น
เป็นเรื่องปกติอย่างยิ่งค่ะ ที่อ่านแล้ว ยังไม่เข้าใจ
เป็นเรื่องปกติอย่างยิ่งค่ะ ที่อ่านแล้ว ยังไม่เข้าใจ พระอภิธรรมไม่ใช่วิสัยที่ใครๆ จะอ่านแล้วเข้าใจได้ง่าย หรือ ตีความเองได้ง่ายเลยค่ะ พระผู้มีพระภาคผู้ทรงพระปัญญาคุณอันเลิศ ไม่มีใครเสมอ ใช้เวลาถึง ๔ อสงไขย แสนกัป กว่าจะทรงตรัสรู้
อ่านไปเรื่อยๆ ฟังมากๆ เข้าใจบ้าง ไม่เข้าใจบ้าง ก็สอบถามติดตามไป ค่อยๆ เข้าใจนิดๆ หน่อยๆ เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ อย่างเป็นธรรมชาติ การฟัง จะเป็นการช่วยขยายความได้ดีมากค่ะ และจะยิ่งกระจ่างมากขึ้นหากได้ร่วมสนทนาธรรมกับผู้ที่ได้สดับมาก่อนเรา
ถ้าคุณ กลมวิเชียร อ่านข้อความต่างๆ ที่ท่านอื่นเขียนมาซ้ำหลายๆ ครั้ง หรือ เปิดฟังไฟล์ฟังธรรมในเรื่องที่เกี่ยวข้อง ก็จะมีความเข้าใจที่ค่อยๆ เพิ่มขึ้น แต่ต้องอาศัยเวลา และการฟังบ่อยๆ จากคำถามที่ท่าน post มา
มรณะหรือความตายนั้นมี ๓ ประเภท คือ ขณิกมรณะ สมมติมรณะ สมุจเฉทมรณะ
๑. ในนี้ ไม่มีการ เอ่ยถึง จิตเลย ดังนั้น จะให้เข้าใจอย่างไรครับ
๒. จิต นั้นเป็นนามธรรม เป็นสภาวะ จะแตกดับ หรือ เกิดใหม่นั้น จะให้ทำความเข้าใจอย่างไรครับ ช่วยอธิบายด้วยครับ
ถ้าเข้าใจเรื่องจิตก็คงจะเข้าใจเรื่องการตาย การตายไม่ใช่ตัวเราตาย แต่เป็นการตายของนามธรรม คือ จิตและเจตสิก ซึ่งมีการเกิดดับสืบต่อกันเร็วมาก จิตที่ดับไป จะเป็นปัจจัยให้จิตขณะต่อไปเกิดสืบต่อทันทีไม่มีระหว่างคั่น นี่คือ ขณิกมรณะ ซึ่งเป็นการตายทุกขณะจิต สำหรับสมมุตติมรณะ คือ การสิ้นสุดความเป็นบุคคลนี้ในชาตินี้ เป็นการตายแบบที่เรารู้จักกันดี ก็ยังคงเป็นเรื่องของจิต คือ เมื่อจิตดวงสุดท้ายของชาตินี้ คือ จุติจิตเกิด ก็สิ้นสุดความเป็นบุคคลนี้ทันที แต่จุติจิตเป็นปัจจัยให้ปฏิสนธิจิตเกิดสืบต่อทันทีไม่มีระหว่างคั่น เป็นบุคคลใหม่ทันที ดังนั้น สมมุตติมรณะ เป็นการตายไม่จริง เพราะยังต้องมีการเกิดในภพชาติต่อไป การตายจริงๆ คือ สมุจเฉทมรณะ เป็นการตายที่ไม่เกิดอีกเลย คือ จุติจิตของพระอรหันต์ ซึ่งท่านดับกิเลสหมดแล้ว ดังนั้น จุติจิตของท่าน จึงไม่เป็นปัจจัยให้ปฏิสนธิจิตเกิดสืบต่อ แต่ไม่ใช่ตายแล้วสูญนะครับ
จิตเป็นนามธรรมที่มีการเกิดดับสืบต่อ เพราะยังมีเหตุปัจจัย จึงมีการเกิดดับสืบต่อกันไปไม่มีที่สิ้นสุดจนกว่าจะดับเหตุปัจจัยแล้ว
อยากทราบว่าคนที่สามารถรู้ลักษณะนิสัยของผู้อี่นได้โดยการได้ยิน โดยสามารถรู้ได้ว่าคนๆ นั้นกำลังแกล้งโกรธ (หยอกเล่น) หรือกำลังโกรธจริง เขาเป็นคนมีหูทิพย์หรือเปล่า แล้วคนที่มีหูทิพย์เป็นอย่างไรคะ และจะมีไหมคะที่คนที่ปฎิบัติมากๆ จะได้ฌานถึงขั้นรู้จิตผู้อื่น จากการที่เห็นทางตา ได้ยินทางหู เพราะว่าเคยได้ยินธรรมะที่พระพุทธเจ้ากล่าวกับพระอานนท์ว่า ไม่มีใครสามารถจะรู้จิตเช่นตถาคตนั้นไม่มี (ในคิริมานนทสูตร)
รบกวนช่วยตอบด้วยค่ะ
ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น
ขอบคุณ และขออนุโมทนาครับ
ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาครับ
การศึกษาพระธรรมต้องเป็นผู้ละเอียด
อ้างอิงจาก ความคิดเห็น 4 โดย คนรักหนัง
ถ้าคุณวิเชียร หรือ สมาชิกท่านใด สนใจ หัวข้อเรื่อง 01205 ถอดจิต ก็ให้ พิมพ์ คำว่า ถอดในช่อง ค้นหา (อยู่ที่มุมขวาด้านบน) แล้วกด Enter ก็จะสามารถ อ่านกระทู้เรื่องถอดจิตได้ครับ
จิตถอดได้หรือ
จิต เจตสิก รูป เกิดแล้วก็ดับ
อ้างอิงจาก ความคิดเห็น 4 โดย คนรักหนัง
ถ้าคุณวิเชียร หรือ สมาชิกท่านใด สนใจ หัวข้อเรื่อง 01205 ถอดจิต ก็ให้ พิมพ์ คำว่า ถอดในช่อง ค้นหา (อยู่ที่มุมขวาด้านบน) แล้วกด Enter ก็จะสามารถ อ่านกระทู้เรื่องถอดจิตได้ครับ
จิตเกิดแล้วดับ ขึ้นกับปัจจัย