จิตที่ตั้งไว้ผิด

 
pirmsombat
วันที่  12 มี.ค. 2555
หมายเลข  20756
อ่าน  2,713

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย คาถาธรรมบท เล่ม ๑ ภาค ๒ ตอน ๑ - หน้าที่ 442

……………………………

นายนันทะไปสู่สำนักของพระศาสดา ถวายบังคมกระทำปฏิสันถาร

นิมนต์พระศาสดาแล้ว ได้ถวายปัญจโครสทานอันประณีต แก่ภิกษุสงฆ์

มีพระพุทธเจ้าเป็นประธานสิ้น ๗ วัน. ในวันที่ ๗ พระศาสดาทรงกระทำ

อนุโมทนาเสร็จแล้ว ตรัสอนุบุพพีกถาต่างโดยทานกถาเป็นต้น ในเวลา

จบกถา นายโคบาลก์ชื่อนันทะ ตั้งอยู่ในโสดาปัตติผล รับบาตรของพระ-

ศาสดา ตามส่งเสด็จพระศาสดาไปไกล เมื่อพระศาสดารับสั่งให้กลับ

ด้วยพระดำรัสว่า "อุบาสก จงหยุดเถิด" ถวายบังคมพระศาสดากลับแล้ว.

ลำดับนั้น นายพรานคนหนึ่งได้แทงเขาให้ตายแล้ว.

พวกภิกษุโทษพระศาสดาว่าทำให้นายนันทะถูกฆ่า

พวกภิกษุผู้มาข้างหลัง เห็นแล้ว จึงไปกราบทูลพระศาสดาว่า

" ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ นายโคบาลก์ชื่อนันทะ ถวายมหาทานตามส่ง

เสด็จแล้วกลับไป ถูกนายพรานฆ่าตายเสียแล้ว ก็เพราะความที่พระองค์

เสด็จมาแล้วในที่นี้. ถ้าว่าพระองค์จักมิได้เสด็จมาแล้วไซร้, ความตาย

จักไม่ได้มีแก่เขาเลย."

จิตที่ตั้งไว้ผิดทำความฉิบหายให้ยิ่งกว่าเหตุใดๆ

พระศาสดาตรัสว่า ภิกษุทั้งหลาย เมื่อเรามาก็ตาม มิได้มา

ก็ตาม ชื่อว่า อุบายเป็นเครื่องพ้นจากความตายของนายนันทะนั้น แม้

ผู้ไปอยู่สู่ทิศใหญ่ ๔ สู่ทิศน้อย ๔ ย่อมไม่มี; ด้วยว่า

จิตเท่านั้นซึ่งตั้งไว้ผิดแล้ว อันเป็นไปในภายในของสัตว์เหล่านี้

ย่อมทำความพินาศ ฉิบหาย

ที่พวกโจร (หรือ) พวกคนจองเวรจะทำ (ให้) ไม่ได้ดังนี้

ตรัสพระคาถานี้ว่า

. ทิโส ทิสํ ยนฺตํ กยิรา เวรี วา ปน เวรินํ

มิจฺฉาปณิหํติ จิตฺตํ ปาปิโย นํ ตโต กเร

"จิตซึ่งตั้งไว้ผิดแล้ว พึงทำเขา (บุคคล) นั้น

ให้เลวทรามยิ่งกว่าความพินาศฉิบหาย ที่โจรเห็นโจร

หรือคนจองเวรเห็นคนจองเวรทำ (แก่กัน) นั้น

(เสียอีก) ."

แก้อรรถ

บรรดาบทเหล่านั้น สองบทว่า ทิโส ทิสํ แปลว่า โจรเห็นโจร.

ศัพท์ว่า ทิสฺวา เป็นพระบาลีที่เหลือ (บัณฑิตพึงเพิ่มเข้า) .

สองบทว่า ยนฺตํ กยิรา ความว่า พึงทำซึ่งความพินาศฉิบหาย

นั้นใดแก่โจรหรือคนจองเวรนั้น. ถึงในบทที่ ๒ ก็มีนัยเช่นเดียวกัน.

พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสเป็นคำอธิบายไว้ดังนี้ว่า "โจรผู้มักประทุษ-

ร้ายต่อมิตรผู้หนึ่ง เมื่อผิดในบุตร ภริยา นา ไร่ วัวและควายเป็นต้น

ของโจรผู้หนึ่ง โจรผิดต่อโจรใด, เห็นโจรแม้นั้นซึ่งผิดอยู่ในตนอย่างนั้นนั่น

แหละ, ก็หรือว่าคนจองเวรเห็นชนผู้ผูกเวรกันไว้ด้วยเหตุบางอย่างนั่นแหละ

ซึ่งชื่อว่า ผู้จองเวร, ชื่อว่าพึงทำความพินาศฉิบหายอันใดแก่โจรหรือคน

ผู้จองเวรนั้น คือพึงเบียดเบียนบุตรและภริยาของโจรหรือคนจองเวรนั้น

พึงทำสิ่งของต่างๆ มีนาเป็นต้นของโจร หรือของคนจองเวรนั้นให้ฉิบหาย

หรือพึงปลงซึ่งโจรหรือคนจองเวรนั้นจากชีวิต เพราะความที่ตนเป็นคน

โหดร้าย คือเพราะความที่ตนเป็นคนทารุณ,

จิตชื่อว่าตั้งไว้ผิด

เพราะความเป็นจิตตั้งไว้ผิดในอกุศลกรรมบถ ๑๐

พึงทำให้เขาเลวทรามยิ่งกว่าความพินาศฉิบหายนั้น

คือทำบุรุษนั้นให้เป็นผู้ลามกกว่าเหตุนั้น;

จริงอยู่ โจรก็ดี คนจองเวรก็ดี มีประการดังกล่าวแล้ว

พึงยังทุกข์ให้เกิดหรือพึงทำซึ่งความสิ้นไปแห่งชีวิต

แก่โจรหรือแก่คนจองเวร (ได้) ในอัตภาพนี้เท่านั้น,

ส่วนจิตนี้ ซึ่งตั้งไว้ผิดในอกุศลกรรมบถทั้งหลาย

ย่อมยังบุคคลให้ถึงความพินาศฉิบหายในทิฏฐธรรมบ้าง

ซัดไปในอบาย ๔

ย่อมไม่ให้ยกศีรษะขึ้นได้ในพันอัตภาพบ้าง.

ในกาลจบเทศนา ชนเป็นอันมาก บรรลุอริยผลทั้งหลาย มีโสดา-

ปัตติผลเป็นต้น, เทศนามีประโยชน์แก่มหาชนแล้ว.

ก็กรรมที่อุบาสกได้ทำไว้ในระหว่างภพ พวกภิกษุมิได้ทูลถาม,

เพราะฉะนั้น (กรรมนั้น) พระศาสดาจึงมิได้ตรัสบอก ดังนี้แล.

เรื่องนันทโคปาลกะ จบ.


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
nong
วันที่ 12 มี.ค. 2555

ขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
kinder
วันที่ 12 มี.ค. 2555

ขออนุโมทนาครับ

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ