กำลังของเจตสิก

 
วิริยะ
วันที่  15 มี.ค. 2555
หมายเลข  20776
อ่าน  1,791

เรียนถาม

ขณะที่ลักษณะของนามธรรมที่เป็นเจตสิกปรากฏ บางครั้งถ้ามีกำลังรุนแรง ก็จะรู้สึกได้ชัด อาทิในขณะที่มีความโกรธรุนแรง มีความริษยารุนแรง มีความตระหนี่อย่างเหนียวแน่น เป็นต้น ในทางตรงกันข้าม บางครั้งลักษณะที่เกิดขึ้น ก็มีกำลังไม่รุนแรง เช่น เกิดความขุ่นมัวเพียงเบาบางแล้วหายไป เป็นต้น ปรกติดิฉันจะได้ยินคำว่า จิตมีกำลัง แต่ จิตและเจตสิก ย่อมต้องเกิดขึ้นพร้อมกันอยู่แล้ว อยากเรียนถามว่า สามารถกล่าวว่า เจตสิกมีกำลังหรือไม่อย่างไร

ขอบพระคุณอย่างสูง


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
paderm
วันที่ 15 มี.ค. 2555

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

สภาพธรรมที่เป็นเจตสิก ก็มีสภาพธรรมที่มีกำลัง และ ไม่มีกำลัง ทั้งที่เป็นเจตสิกฝ่ายดี และ เจตสิกฝ่ายไม่ดี ด้วยครับ

ซึ่ง เจตสิกใดจะมีกำลัง หรือ ไม่มีกำลัง ก็ขึ้นอยู่กับ ระดับของจิต ที่เจตสิกนั้นเกิดร่วมด้วย รวมทั้ง เจตสิกอื่นๆ ทีเกิดร่วมด้วยกับ เจตสิกนั้นครับ

สภาพธรรมที่มีกำลัง มีทั้งฝ่ายดี และไม่ดี สภาพธรรมที่มีกำลังเรียกว่า พละ ซึ่งสภาพธรรมที่เป็น พละที่เป็นเจตสิก ก็มีทั้ง พละ ๕ มีเจตสิก ๕ ประเภทและ พละ ๗ มีเจตสิก ๗ ประเภท

พละ ๕ ทางฝ่ายดี คือ ศรัทธาพละ วิริยพละ สติพละ สมาธิพละ ปัญญาพละ กึคือเจตสิก ๕ ประเภทนั่นเอง สังเกตนะครับว่า ศรัทธาและสติเจตสิก เกิดกับจิตที่ดีทุกประเภท และเกิดกุศลจิตทุกระดับ แต่ กุศลจิตที่เป็นขั้นทาน ศีล ยังไม่เป็นพละ ไม่เป็นสภาพธรรมที่เป็นเจตสิกที่มีกำลัง เพราะเป็นกุศลจิตระดับไม่สูง แต่เมื่อใด เกิดกับวิปัสสนา โดยเฉพาะการเจริญวิปัสสนา จนมีกำลัง มีวิปัสสนาญาณเกิด เป็นต้น ขณะนั้น ศรัทธาเจตสิก สติเจตสิกเกิดร่วมด้วยกับกุศลจิตที่ประกอบด้วยปัญญา ขณะที่วิปัสสนาเกิด มีวิปัสสนาญาณ เป็นต้น ชื่อว่าเป็นพละแล้ว เจตสิกที่เกิดนั้นเป็นพละ คือ ศรัทธา ก็เป็นศรัทธาพละ เป็นสติพละ ปัญญาก็เป็นปัญญาพละ มีกำลังนั่นเองครับ วิริยะที่เกิดร่วมด้วยก็เป็นพละ มีกำลังด้วย สมาธิที่เกิดร่วมด้วยก็เป็นพละ มีกำลังด้วย เพราะ ระดับของกุศลจิตที่เป็นระดับสูงทำให้เจตสิกที่เกิดร่วมด้วยมีกำลัง และ เจตสิกที่เกิดร่วมด้วยมีปัญญาเจตสิกที่เป็นปัญญาระดับสูง ทำให้เจตสิกอื่นๆ มีกำลัง แต่เป็น พละ มีกำลังฝ่ายดีครับ แต่ถ้าเป็นกุศลจิตระดับไม่สูง มี ทาน ศีล เป็นต้น แม้มีปัญญา เกิดร่วมด้วย แต่เจตสิกนั้นไม่มีกำลัง เพราะไม่ใช่ปัญญาระดับสูง และไม่ใช่กุศลจิตระดับสูง ทำให้เจตสิกที่เกิดร่วมด้วย ไม่มีกำลัง ครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
paderm
วันที่ 15 มี.ค. 2555

โดยนัยตรงกันข้าม เจตสิกที่ไม่ดี ก็มีทั้งที่มีกำลังและไม่มีกำลังครับ คือ เป็นทั้ง พละ และไม่เป็นพละ ยกตัวอย่าง เช่น อหิริกะ ความไม่ละอาย อโนตตัปปะ ความไม่เกรงกลัว ก็มีทั้งที่มีกำลัง และไม่มีกำลัง คือ ทั้ง อหิริกพละ และ อโนตตัปปพละ เป็นความมีกำลังของฝ่ายอกุศล ผู้ที่สะสมความเห็นผิดมามากจนมีกำลัง เจตสิกที่ไม่ดีที่เกิดร่วมด้วย ก็มีกำลังด้วย เป็นอหิริกพละ อโนตตัปพละ มีกำลังในฝ่ายอกุศล หรือขณะที่ทำบาป ล่วงออกมาทางกาย วาจา จนถึงกรรมบถ มีการฆ่าสัตว์ ลักทรัพย์ ก็แสดงถึงความมีกำลังของอกุศล ก็ทำให้เจตสิกที่เกิดร่วมด้วยมีกำลังในฝ่ายอกุศล ที่เป็นอหิริกพละ และ อโนตัปปพละ ความไม่ละอาย และไม่เกรงกลัวที่มีกำลังมาก ถึงขนาดล่วงทุจริต ทำบาป มีการฆ่าสัตว์ เป็นต้น แต่ถ้า อกุศลที่ไม่มีกำลัง เพียงขุ่นใจเล็กน้อย อกุศลเจตสิกที่เกิดร่วมด้วย ก็ไม่ถึงความเป็นพละ มีกำลังครับ

ดังนั้น สรุปได้ว่า สภาพธรรมที่เป็นเจตสิก จะมีกำลังหรือไม่ ขึ้นอยู่กับ ระดับของจิตที่เกิด และ เจตสิกอื่นๆ ที่เกิดร่วมด้วยครับ

ขออนุโมทนาที่ร่วมสนทนา

เชิญคลิกอ่านเพิ่มเติมที่นี่ครับ

ลำดับขั้นของหิริโอตัปปะ

 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
วิริยะ
วันที่ 15 มี.ค. 2555

เรียนถาม

มีเหตุการณ์หนึ่งเกิดขึ้นกับดิฉันคือ ดิฉันต้องไล่มดที่มากัดขาน้องชายของดิฉันที่เป็นอัมพาตครึ่งล่าง เดินไม่ได้ มดกระจายอยู่บนเตียงนอน ดิฉันใช้ผ้าปัดมดไปให้พ้นๆ ไม่สามารถจับทิ้งทีละตัวได้ แต่การใช้ผ้าปัดมดนั้น ในเมื่อมดก็ตัวบอบบางเล็กนิดเดียว มดก็ต้องตายบ้าง ในขณะที่ปัดมดทิ้ง จิต ไม่ได้โกรธและมีความตั้งใจว่าจะฆ่ามดให้ตาย แต่ในใจนั้นเศร้าหมองที่ว่า สงสารน้องที่ต้องรับวิบากกรรม ดิฉันมานั่งทบทวนทีหลังว่า ดิฉันโกรธแค้นมด และมีความมุ่งมั่นจะฆ่ามดให้ตายหรือไม่ ก็ได้คำตอบว่าไม่ แต่ก็ยังมีความสับสนในเรื่องกำลังของจิต และเจตนาเจตสิกอยู่ดี

ท่านอาจารย์สุจินต์ท่านบรรยายว่า เมื่อศึกษาธรรมะแล้ว ต้องเป็นผู้ตรง กุศลต้องเป็นกุศล อกุศลต้องเป็นอกุศล และจิตของใครก็เป็นของคนนั้น ไม่มีใครสามารถล่วงรู้ได้ว่า จิตของผู้อื่นจะเป็นเช่นไร ถ้าดิฉันตั้งใจจะฆ่ามดทีละต้วๆ จนหมด จิตใจก็คงจะหนักอึ้งว่าได้ล่วงอกุศลกรรมบถแล้ว ด้วยเจตนาที่รุนแรงที่จะฆ่า แต่การปัดมดด้วยผ้า มดก็ต้องมีตายบ้างอย่างแน่นอน ที่ได้เล่ามานี้ แสดงให้เห็นถึงระดับของจิตที่มีอกุศลเจตสิกร่วมด้วย แต่ยังไม่มีกำลังหรืออย่างไรคะ

 
  ความคิดเห็นที่ 4  
 
paderm
วันที่ 15 มี.ค. 2555

เรียนความเห็นที่ 3 ครับ

ถูกต้องครับ เจตนาในการทำบาป ไม่ได้มีกำลัง เพราะไม่ได้มีเจตนาฆ่า และ กรรมก็ไม่สำเร็จ คือ สัตว์ตาย แม้ว่ามดจะตาย แต่ไม่ได้มีเจตนาฆ่า แต่มีเจตนาไล่ ด้วยความ โกรธ แต่ไม่เป็นเจตนาฆ่าแล้ว เจตนาในทางอกุศลนั้นก็ไม่มีกำลัง อกุศลนั้นก็ไม่มีกำลัง เพราะไม่ถึงกับปาณาติบาตนั่นเอง แต่ที่สำคัญ ธรรมเป็นอนัตตา มีเหตุปัจจัยก็เกิดอกุศลได้เป็นธรรมดา

การศึกษาธรรม จึงไม่ใช่พิจารณาสิ่งที่ล่วงไปแล้ว เพราะแก้ไม่ได้ แต่ที่สำคัญ ค่อยๆ เข้าใจความจริงในขณะนี้ว่าคืออะไร เพราะไม่มีเราที่ทำอกุศล มีแต่อกุศลและธรรมอื่นๆ ที่เกิดขึ้นและดับไป ไม่ใช่เราครับ

ขออนุโมทนา

 
  ความคิดเห็นที่ 5  
 
วิริยะ
วันที่ 15 มี.ค. 2555

ขอบคุณ และขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 6  
 
khampan.a
วันที่ 15 มี.ค. 2555

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

เมื่อได้ศึกษาพระธรรมในทางพระพุทธศาสนาแล้ว จะเห็นได้ว่า ธรรมที่เป็นกำลังนั้นมีนัยที่หลากหลายมาก มีทั้งกำลังที่เป็นอกุศล และ กำลังที่เป็นกุศล กำลังที่เป็นอกุศล คือ อหิริกะ (ความไม่ละอายต่ออกุศล) และ อโนตตัปปะ (ความไม่เกรงกลัวต่ออกุศล) ถ้าเป็นกำลังของกุศลแล้ว ได้แก่ ธรรมฝ่ายดีทั้งหลาย มีหิริ (ความละอายต่ออกุศล) โอตตัปปะ (ความเกรงกลัวต่ออกุศล) ศรัทธา (ความเลื่อมใสแห่งจิต) สติ (ความระลึกเป็นไปในกุศล) เป็นต้น ซึ่งจะเห็นได้ว่า กำลังทางฝ่ายอกุศลนั้น ไม่เป็นประโยชน์เลย นำมาซึ่งทุกข์โทษภัยโดยส่วนเดียวเท่านั้น แต่กำลังที่ควรมีควรสะสมให้มาก เพื่อทำให้จิตใจมีกำลังที่เข้มแข็งขึ้น สามารถฟันฝ่าคลื่นของอกุศลธรรมทั้งหลายได้ นั่นก็คือ กำลังทางฝ่ายกุศล โดยเฉพาะอย่างยิ่งคือ กำลังของปัญญา ที่สามารถอบรมเจริญขึ้นได้ในชีวิตประจำวัน จากการฟังการศึกษาพระธรรมที่พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงแสดง เมื่อปัญญาเจริญขึ้น กุศลธรรมประการต่างๆ ก็จะเจริญขึ้นตามระดับขั้นของปัญญา อกุศลก็จะค่อยๆ ลดคลายลง ปัญญาเท่านั้นที่จะสามารถละคลายอกุศลทั้งหลายได้ จนกระทั่งสามารถดับได้อย่างหมดสิ้นในที่สุด ดังประโยคที่ควรเก็บไว้ในหทัยที่ท่านอาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์ ได้กล่าวไว้ว่า "ฟังพระธรรม ให้เข้าใจขึ้นแล้วจะเห็นกำลังของปัญญา" และ "ความน่าอัศจรรย์ของปัญญา คือ สามารถดับกิเลสทั้งปวงจนหมดเกลี้ยงจากใจ" กำลังของธรรมฝ่ายดี มี ปัญญา เป็นต้น เท่านั้น ที่จะดับกิเลสอกุศลทั้งปวงได้ ครับ.

...ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ...

 
  ความคิดเห็นที่ 7  
 
wannee.s
วันที่ 15 มี.ค. 2555

เจตนาเจตสิก หมายถึง การกระทำกรรม ฝ่ายดี และ ฝ่ายไม่ดี ไม่มีกรรมใดแรงเท่ากับกำลังของกรรม

ในอดีตกาล พระมหาโมคคัลลานะ เมื่อกรรมให้ผล ก็ไม่สามารถเหาะหนีโจรได้ค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 8  
 
pat_jesty
วันที่ 15 มี.ค. 2555

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกท่านค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 9  
 
nong
วันที่ 16 มี.ค. 2555

ขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 10  
 
Thanapolb
วันที่ 17 มี.ค. 2555

ขออนุโมทนา

กำลังอยากเรียนถามเรื่อง กำลังของจิตและเจตสิก พอดี โดยเฉพาะ เจตนาเจตสิก ซึ่งเกิดกับจิตทุกดวง ดังนั้นคำว่าเจตนาในความหมายที่เกี่ยวกับการกระทำที่มีกำลังจนล่วงศีลถ้าเป็นฝ่ายอกุศล หรือเจตนาที่ทำกุศลกรรมซึ่งเป็นฝ่ายกุศล เจตนาดังกล่าวก็มีเจตนาเจตสิกเกิดร่วมด้วยอยู่แล้ว แต่มีกำลังมากขึ้นตามลำดับ

อยากจะเรียนถามเพิ่มเติมว่า มีเจตสิกหรือนามธรรมอะไรเป็นพิเศษเกิดร่วมด้วยครับ ในขณะที่จะกล่าวว่ามีเจตนากับไม่มีเจตนา ในคำพูดที่คนทั่วไปพูดกัน เช่น มีเจตนาในการฆ่ามด หรือไม่มีเจตนาจะฆ่า

 
  ความคิดเห็นที่ 11  
 
เซจาน้อย
วันที่ 17 มี.ค. 2555

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

" สภาพธรรมที่เป็นเจตสิก จะมีกำลังหรือไม่ "

ขึ้นอยู่กับ ระดับของจิตที่เกิด และ เจตสิกอื่นๆ ที่เกิดร่วมด้วยครับ

"ฟังพระธรรม ให้เข้าใจขึ้นแล้วจะเห็นกำลังของปัญญา" และ "ความน่าอัศจรรย์ของปัญญา คือ สามารถดับกิเลสทั้งปวงจนหมดเกลี้ยงจากใจ"

ขอบคุณ และขออนุโมทนาอ.ผเดิม, อ.คำปั่นและทุกๆ ท่านครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 12  
 
เมตตา
วันที่ 17 มี.ค. 2555

ขออนุญาตร่วมสนทนาด้วยค่ะ

เป็นหัวข้อที่น่าสนใจมากเรื่องการไล่มด เพราะ เป็นชีวิตประจำวันจริงๆ พี่เองก็มีประสพการณ์มากในการไล่มด การฟังพระธรรมและศึกษาพระธรรมให้เข้าใจ ทำให้เป็นผู้ละเอียด และรอบคอบขึ้น มีความระมัดระวังขึ้น ในการกระทำต่างๆ ทั้งกายและวาจา และตราบใดที่ยังไม่มีคุณธรรมถึงความเป็นพระโสดาบัน ก็ยังเป็นปัจจัยให้ล่วงศีลได้ มีหลายครั้งที่ไปนั่งที่ๆ มีมดอยู่เต็มไปหมด ก็รู้สึกว่าอะไรมันยั้วเยี้ย อยู่ที่ขา และโดนกัดด้วย พอมองไปที่ขา เห็นมดเต็มไปหมด ก็รีบปัดโดยไม่มีเจตนาที่จะฆ่าเจ้ามดเหมือนกัน แต่บางครั้งด้วยความตกใจ ปัดแรงไป มดตายก็มี จิตใจก็หดหู่เหมือนกันค่ะ เคยฟังท่านอาจารย์บรรยายถึงเรื่องลักษณะ อย่างนี้เหมือนกันค่ะ ว่าบางคนก็ใช้กระดาษทิชชู่บางๆ ค่อยๆ เอามดออกไป มดก็ไม่ตาย แต่สิ่งที่สำคัญที่สุดท่านสอนให้เป็นผู้ที่ตรงต่อธรรมจริงๆ ค่ะ ธรรมทั้งหลายเกิดขึ้นเพราะยังมีปัจจัยปรุงแต่ง บังคับบัญชาไม่ได้ ไม่ใช่เรา ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคลใดๆ และเมื่อมีความเข้าใจพระธรรมมากขึ้น ความประพฤติเป็นไปทางกาย ทางวาจา จะค่อยๆ ดีงามละเอียดขึ้น ดังนั้นความเข้าใจธรรมก็เป็นปัจจัยให้กุศลธรรมต่างๆ เจริญขึ้นแทนอกุศลในชีวิตประจำวันค่ะ

...ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านด้วยค่ะ...

 
  ความคิดเห็นที่ 13  
 
วิริยะ
วันที่ 19 มี.ค. 2555

เรียนถาม

อยากทราบว่า ท่าทีในการกระทำปาณาติบาต เกี่ยวข้องกับกำลังของจิตและเจตนาเจตสิกที่เกิดร่วมด้วยหรือไม่ อาทิ ผู้ที่ชอบล่าสัตว์เป็นกีฬา ผู้ที่จำเป็นต้องฆ่าเพราะถ้าไม่ฆ่าอาจถูกทำร้าย เช่นเจองู เจอโจร ผู้ที่ประกอบอาชีพในการฆ่าสัตว์ตามโรงฆ่าสัตว์ อาจทำจนเกิดความเคยชิน หรือบางคนเห็นยุงปั๊บต้องตบ แต่ตอนตบ หน้าก็เฉยๆ เหล่านี้เป็นต้น

อยากทราบว่า เมื่อมีการกระทำปาณาติบาตนั้น จิตที่เกิดร่วมต้องเป็นโทสมูลจิตทุกครั้งหรือไม่ และเวทนาต้องเป็นโทมนัสเวทนาทุกครั้งด้วยใช่หรือไม่คะ

อยากทราบว่า เมื่อถูกมดกัด โทสะเกิด เอื้อมมือไปจะตบแต่ชะงักไว้ ไม่ทำอะไร เช่นนี้เรียกว่า มีความละอายและความกลัวต่อบาปขึ้นมาแทรก ทำให้ไม่ตบ ใช่หรือไม่คะ

สุดท้ายนี้ ขอขอบคุณคุณพี่เมตตาความเห็นที่ 12 และผู้ร่วมสนทนาทุกท่านค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 14  
 
paderm
วันที่ 19 มี.ค. 2555

เรียนความเห็นที่ 13 ครับ

อยากทราบว่า เมื่อมีการกระทำปาณาติบาตนั้น จิตที่เกิดร่วมต้องเป็นโทสมูลจิตทุกครั้งหรือไม่ และเวทนาต้องเป็นโทมนัสเวทนาทุกครั้งด้วยใช่หรือไม่คะ

- ถูกต้องครับ ต้องมีโทสะเกิดร่วมด้วยขณะที่ฆ่า และเวทนา เป็นโทมนัสเวทนาเสมอ ครับ


อยากทราบว่า เมื่อถูกมดกัด โทสะเกิด เอื้อมมือไปจะตบแต่ชะงักไว้ ไม่ทำอะไร เช่นนี้เรียกว่า มีความละอายและความกลัวต่อบาปขึ้นมาแทรก ทำให้ไม่ตบ ใช่หรือไม่คะ

- ถูกต้อง ครับ

ขออนุโมทนา

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ