ผู้ผูกเวรกับผู้ไม่ผูกเวร

 
ทรง
วันที่  15 มี.ค. 2555
หมายเลข  20782
อ่าน  3,158

ผู้ผูกเวรกับผู้ไม่ผูกเวร เป็นอย่างไร ขออาจารย์อธิบายด้วยครับ


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
khampan.a
วันที่ 15 มี.ค. 2555

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

เรื่องผู้ผูกเวร กับ ผู้ไม่ผูกเวร

มีปรากฏในธรรมบท เรื่องความเกิดขึ้นของนางกาลียักษิณี

ปกติของผู้ที่ยังมีกิเลสอยู่ ยังไม่มีปัญญาถึงขั้นที่จะดับโทสะ (ความโกรธ ความขุ่นเคืองใจ) ได้อย่างเด็ดขาดบรรลุถึงความเป็นพระอนาคามีบุคคล ความโกรธ ความขุ่นเคืองใจ ย่อมเกิดขึ้นเป็นปกติธรรมดา ซึ่งจะเห็นได้จากชีวิตประจำวันที่มีทั้งโกรธ หงุดหงิด ขุ่นเคืองใจ ไม่พอใจบุคคลรอบข้าง แต่ถ้าถึงกับผูกโกรธ ผูกอาฆาต ผูกเวร จองเวร ไม่มีวันลืม ฝังลึกอยู่ในจิตใจ นั่นย่อมเป็นที่แน่นอนว่าความโกรธ มีแต่จะหนาแน่นพอกพูนขึ้นเรื่อยๆ สะสมอยู่ในจิตทุกขณะไม่หายไปไหนพร้อมที่จะมีกำลังสามารถล่วงออกมาเป็นทุจริตกรรมเบียดเบียนผู้อื่นให้เดือดร้อนได้ทุกเมื่อ ดังเรื่องของนางยักษิณีกับกุลธิดา ท่านหนึ่ง ที่เคยผูกเวร จองเวรกันไว้ ตั้งแต่ในชาติก่อนๆ และในเหตุการณ์ดังกล่าวนี้ พระผู้มีพระภาคได้ทรงแสดงไว้ว่า “เหตุไฉน พวกเธอทั้งหลาย จึงทำเวรและเวรตอบแก่กัน? เพราะเวรย่อมระงับได้ ด้วยความไม่มีเวร หาระงับได้ด้วยเวรไม่” และได้ตรัสพระคาถานี้ว่า

“ในกาลไหนๆ เวรทั้งหลายในโลกนี้ ย่อมไม่ระงับด้วยเวรเลย แต่ย่อมระงับได้ ด้วยความไม่มีเวร, ธรรมนี้เป็นของเก่า” เป็นเหตุในเวลาจบพระคาถา นางยักษิณีได้ตั้งอยู่ในโสดาปัตติผล.

ขอเชิญคลิกอ่านข้อความจากอรรถกถาที่ได้อธิบายพระคาถาไว้ ได้ที่นี่

อธิบายเวร ย่อมระงับด้วยการไม่จองเวร [คาถาธรรมบท]

นี้แสดงให้เห็นถึงความเป็นจริงที่ว่า กิเลส (เครื่องเศร้าหมองของจิต) ที่มีมาก ที่ได้สะสมมาอย่างเนิ่นนานในสังสารวัฏฏ์นับชาติไม่ถ้วน ถ้าได้อาศัยการอบรมเจริญปัญญา มีความเข้าใจถูกเห็นถูกขึ้นไปตามลำดับ ย่อมสามารถที่จะละหรือดับกิเลสเหล่านั้นได้ในที่สุด ครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
khampan.a
วันที่ 15 มี.ค. 2555

และอีกเรื่องหนึ่งที่น่าจะได้ศึกษาเพิ่มเติม คือ เรื่องของพระภิกษุที่บวชเมื่อแก่ ชื่อว่า ติสสะ ซึ่งเป็นโอรสของพระเจ้าอาของพระผู้มีพระภาคเจ้า ท่านเป็นพระบวชใหม่ นั่งอยู่โรงฉันกลางวิหาร พระเถระที่จรมาเพื่อที่จะเข้าเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้า เห็นพระติสสะ เข้าใจว่าเป็นพระภิกษุเถระ พระติสสะ ก็ไม่ได้ทำการต้อนรับอะไรเลย ไม่ได้กระทำกิจที่ตนพึงกระทำแก่พระเถระที่จรมาเหล่านั้น ซึ่งเมื่อพระภิกษุรูปหนึ่งได้ถามว่ามีพรรษาเท่าใด พอได้ทราบว่าท่านเป็นพระบวชใหม่ ก็พากันต่อว่าพระภิกษุติสสะ ว่า ไม่ได้รู้ถึงกิจที่ตนพึงกระทำ ทำให้พระติสสะโกรธ ยกตนเองในฐานะที่เป็นลูกกษัตริย์ข่มพระภิกษุเหล่านั้น แล้วร้องไห้เข้าไปเฝ้ากราบทูลเรื่องดังกล่าวแด่พระผู้มีพระภาคเจ้า พระผู้มีพระภาคเจ้าได้สดับแล้ว ตรัสบอกให้ขอโทษพระเถระเหล่านั้น แต่พระิติสสะ ไม่ยอมขอโทษ พระเถระเหล่านั้นจึงได้กราบทูลแด่พระผู้มีพระภาคเจ้าว่าพระติสสะ เป็นผู้ว่ายาก พระผู้มีพระภาคเจ้าได้ตรัสว่า ภิกษุติสสะ แม้ในกาลก่อนก็เป็นผู้ว่ายาก ไม่ใช่ว่ายากในเฉพาะชาตินี้เท่านั้น เป็นเหตุให้พระองค์ยกเรื่องในอดีตของพระติสสะเมื่อครั้งที่เป็นดาบสที่ว่ายาก ขึ้นแสดง และได้ตรัสเตือนพระติสสะในตอนท้าย ว่า "ติสสะ ก็เมื่อภิกษุคิดอยู่ว่า 'เราถูกผู้โน้นด่าแล้ว ถูกผู้โน้นประหารแล้วถูกผู้โน้นชนะแล้ว ผู้โน้นได้ลักสิ่งของของเราไปแล้ว' ดังนี้ ชื่อว่าเวรย่อมไม่ระงับได้; แต่เมื่อภิกษุ ไม่เข้าไปผูกอยู่อย่างนั้นนั่นแล ดังนี้ ชื่อว่าเวรย่อมไม่ระงับได้; และได้ตรัสพระคาถาว่า

[เล่มที่ 40] พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย คาถาธรรมบท เล่ม ๑ ภาค ๒ ตอน ๑ - หน้าที่ 65

"ก็ชนเหล่าใด เข้าไปผูกความโกรธนั้นไว้ว่า 'ผู้โน้นได้ด่าเรา ผู้โน้นได้ตีเรา ผู้โน้นได้ชนะเรา ผู้โน้นได้ลักสิ่งของของเราแล้ว' เวรของชนเหล่านั้น ย่อมไม่ระงับได้, ส่วนชนเหล่าใด ไม่เข้าไปผูกความโกรธนั้นไว้ว่า 'ผู้โน้นได้ด่าเรา ผู้โน้นได้ตีเรา ผู้โน้นได้ชนะเรา ผู้โน้นได้ลักสิ่งของของเราแล้ว' เวรของชนเหล่านั้น ย่อมระงับได้."

เมื่อจบพระธรรมเทศนา ภิกษุแสนหนึ่ง ได้บรรลุอริยผลทั้งหลาย มีโสดาปัตติผลเป็นต้น พระธรรมเทศนาได้เป็นกถามีประโยชน์แก่มหาชนแล้ว และพระติสสะ จากที่เป็นคนว่ายาก ก็เป็นคนว่าง่าย แล้ว ครับ

...ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ...

 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
paderm
วันที่ 15 มี.ค. 2555

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

เรื่องผูกเวร และ ไม่ผูกเวร มีใน คาถาธรรมบท หลายเรื่องดังนี้ครับ

เรื่องแรก คือ เรื่อง นางกุมาริกากินไข่ไก่

เรื่องมีอยู่ว่า นางกุมาริกา ชอบในรสของไข่ที่แม่เอามาให้กิน ที่เอามาจากไข่เต่า ต่อมา จึงไม่ปรารถนาจะกินอย่างอื่นนอกจากไข่ไก่ ที่บ้านของนาง มีแม่ไก่และออกไข่ประจำ เด็ก หรือ นางกุมาริกา จึงแอบขโมยไข่แม่ไก่ตลอด แม่ไก่ผูกอาฆาต ผูกเวรว่า ชาติหน้าขอให้ได้กิน ลูกของเจ้า เมื่อตายไปทั้งคู่ เด็กเกิดเป็นแม่ไก่ ส่วนแม่ไก่เกิดเป็นแมว แมวก็แอบกินไข่ของแม่ไก่ตลอด แม่ไก่จึงผูกอาฆาต ว่าขอให้ได้กินเจ้าและลูกเจ้า จนท้ายสุดผูกอาฆาตกัน อย่างนี้ ห้าร้อยชาติจนไปเกิดเป็นนางยักษ์ กับ เด็กสาวที่เมืองสาวัตถี พระพุทธเจ้าทรงแสดงธรรมให้ระงับการผูกเวร ด้วยพระคาถาที่ว่า

" ผู้ใด ย่อมปรารถนาสุขเพื่อตน เพราะก่อทุกข์ในผู้อื่น,

ผู้นั้น เป็นผู้ระคนด้วยเครื่องระคนคือเวร ย่อมไม่พ้นจากเวรได้. "

เมื่อจบพระเทศนา เด็กสาวเป็นพระโสดาบัน นางยักษ์ถึงสรณะ เลิกจองเวร เพราะเข้าใจพระธรรมครับ


เรื่องที่สอง เป็นเรื่องของเวร คือ เรื่องปราชัยของพระเจ้าโกศล

พระเจ้าโกศล รบกับ พระเจ้าอชาตศัตรู พระเจ้าโกศลแพ้ ถึง สามครั้ง เกิดความทุกข์เสียใจ ไม่ทานอาหาร ข่าวแพร่กระจายไปทั่ว

พระศาสดา ทรงสดับกถาของภิกษุเหล่านั้นแล้ว ตรัสว่า " ภิกษุทั้งหลาย แม้ผู้ชนะย่อมก่อเวร, ฝ่ายผู้แพ้ย่อมอยู่เป็นทุกข์เหมือนกัน " ดังนี้แล้ว ตรัสพระคาถานี้ว่า :-

" ผู้ชนะย่อมก่อเวร ผู้แพ้ย่อมอยู่เป็นทุกข์,

ผู้สงบระงับ ละความชนะและความแพ้ได้แล้ว ย่อมอยู่เป็นสุข."


เรื่องที่สามในคาถาธรรมบท ในเรื่องเวร และ การผูกเวร คือ เรื่อง พระสารีบุตรเถระ

เรื่องมีอยู่ว่า คนทั้งหลาย ร่ำลือถึงคุณธรรมของพระสารีบุตร ว่าไม่มักโกรธ พราหมณ์ผู้หนึ่ง อยากจะทดลองคุณธรรมท่าน ก็ไปที่ที่หนึ่ง เอามือตีหลังพระสารีบุตรอย่างแรง พระสารีบุตรไม่พูดอะไร และไม่หันมาแม้แต่จะมอง ท่านก็เดินไปเป็นปกติ ชาวบ้านเห็น เดือดร้อน จะด่าว่า ตีพราหมณ์ พระสารีบุตร ถามว่า พวกท่านจะทำอะไร ชาวบ้านกล่าวว่า จะตีพราหมณ์ผู้นี้ ท่านพระสารีบุตร กล่าวว่า ตกลง เขาตีใคร ตีท่าน หรือ ตีเรา พวกชาวบ้านก็กล่าวว่า ตีท่าน พระสารีบุตร กล่าวว่า ท่านก็ไม่ควรเดือดร้อนในเรื่องนี้ พราหมณ์นั้นมาขอขมาท่านพระสารีบุตร พระพุทธเจ้าทรงทราบตรัสพระคาถาว่า

" พราหมณ์ไม่ควรประหารแก่พราหมณ์ ไม่ควรจอง (เวร) แก่เขา, น่าติเตียนพราหมณ์ผู้จอง (เวร) ยิ่งกว่าพราหมณ์ผู้ประหารนั้น. ความเกียดกันใจ จากอารมณ์อันเป็นที่รักทั้งหลายใด, ความเกียดกันนั่น ย่อมเป็นความประเสริฐไม่น้อยแก่พราหมณ์, ใจอันสัมปยุตด้วยความเบียดเบียน ย่อมกลับได้จากวัตถุใดๆ , ความทุกข์ย่อมสงบได้เพราะวัตถุนั้นๆ นั้นแล."

 
  ความคิดเห็นที่ 4  
 
aurasa
วันที่ 17 มี.ค. 2555

ขอบคุณ และขออนุโมทนาค่ะ

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ