ความสามัคคีกับความแตกสามัคคี

 
ทรง
วันที่  15 มี.ค. 2555
หมายเลข  20783
อ่าน  6,697

ความสามัคคีกับความแตกสามัคคี มีการกล่าวไว้ในพระไตรปิฎกไหม


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
khampan.a
วันที่ 15 มี.ค. 2555

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

ในพระไตรปิฎก มีข้อความที่แสดงถึงความสามัคคีและแตกสามัคคี มากทีเดียว ก่อนอื่น ต้องเข้าใจก่อนว่า สามัคคี กับ แตกสามัคคี เป็นอย่างไร? เมื่อใดก็ตามที่กลุ่มคนเกิดการแก่งแย่งกัน ทะเลาะวิวาทกัน ทิ่มแทงกันด้วยหอกคือปาก นี้แหละ คือ แตกสามัคคี คือ ไม่สามัคคีกัน ในทางตรงกันข้าม กลุ่มคนมีความพร้อมเพรียงกัน ชื่นบานต่อกัน ไม่วิวาทกัน (กลมเกลียวเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน) เป็นประหนึ่งว่านมผสมกับน้ำ มองดูกันและกันด้วยปิยจักษุ (คือสายตาของคนที่รักใคร่กัน) นี้เรียกว่า มีความสามัคคีกัน เมื่อครั้งที่พระญาติของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า คือ พวกศากยะ และ โกลิยะ ได้ทำการแย่งน้ำทำนากัน เกิดความทะเลาะวิวาทกัน ต่างฝ่ายต่างไม่ยอมกัน เป็นเหตุให้พระองค์เสด็จมา ตรัสถามถึงความเป็นมาเป็นไป และได้ตรัสให้ได้คิดว่าระหว่าง น้ำ กับ กษัตริย์ อย่างไหนจะมีค่ามากกว่ากัน การทะเลาะกันเป็นสิ่งที่ไม่สมควร เมื่อใดที่แตกความสามัคคีกัน ความพินาศก็ย่อมเกิดขึ้น

พระสัมมาสัมพุทธเจ้าจึงได้ทรงแสดงชาดกที่ชื่อว่า สัมโมทมานชาดก แสดงถึงความต่างระหว่างความสามัคคีกับการแตกสามัคคี โดยสรุปได้ดังนี้

พระโพธิสัตว์ เกิดเป็นนกกระจาบ ได้มีนกกระจาบหลายพันเป็นบริวาร ต่อมานายพรานได้มาดักนกกระจาบด้วยตาข่าย โดยได้หว่านเหยื่อลงบนพื้นดิน เบื้องบนก็ขึงตาข่ายไว้ แล้วทำเสียงคล้ายเสียงนกกระจาบ เพื่อหลอกล่อให้นกระจาบมากินเหยื่อ เมื่อนกมาพร้อมกันมากๆ ก็จะปล่อยตาข่ายให้หลุดลงรวบรัดนกไว้ ทำให้นกกระจาบลดน้อยลงไปตามลำดับ พระโพธิสัตว์ทราบความเป็นไป นั้น จึงได้ให้โอวาทนกกระจาบที่ยังเหลืออยู่ว่า ถ้าหากถูกตาข่ายของนายพรานแล้ว ก็ขอให้ทุกตัวพร้อมกันใช้ปากสอดเข้าไปในรูของตาข่าย แล้วยกตาข่ายไปให้ติดอยู่บนต้นไม้ แล้วให้บินหนีไป เมื่อนกกระจาบติดตาข่ายของนายพราน ก็กระทำตามที่พระโพธิสัตว์ได้บอกไว้ ทำให้รอดพ้นจากภัยอันตรายดังกล่าว อยู่มาวันหนึ่ง นกกระจาบเกิดทะเลาะกันเพราะเหยียบถูกหัวกันโดยไม่ทันระวัง ทะเลาะกันไปทะเลาะกันมา พระโพธิสัตว์เห็นเหตุการณ์ดังนั้น จึงคิดว่าความทะเลาะกัน ไม่นำมาซึ่งความปลอดภัย บัดนี้ นกกระจาบที่ทะเลาะกันเหล่านี้ เมื่อติดตาข่ายก็จักไม่ยกตาข่ายขึ้น จึงได้พาบริวารของตนไปอยู่ ณ ที่อื่น ก็เป็นจริงตามนั้น นายพรานหลอกล่อให้นกกระจาบที่ทะเลาะกันติดตาข่ายได้ นกกระจาบเหล่านั้นต่างก็ไม่ยกตาข่าย มัวแต่เกี่ยงกัน อันสืบเนื่องมาจากการทะเลาะกัน จนเป็นเหตุให้นายพรานรวบรัดจับไปได้ทั้งหมด ซึ่งแสดงให้เห็นว่า ความทะเลาะกัน ความไม่สามัคคีกัน เป็นมูลเหตุแห่งความพินาศโดยส่วนเดียว แต่ถ้าเป็นความสามัคคีพร้อมเพรียงกันแล้ว จะไม่นำมาซึ่งความพินาศ มีแต่จะเป็นเพื่อความเจริญโดยส่วนเดียว ครับ

ขอเชิญคลิกอ่านข้อความเพิ่มเติมได้ที่นี่ครับ

สัมโมทมานชาดก [พินาศเพราะทะเลาะกัน]

พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสสอนอย่างไรเวลาเกิดเหตุ อสามัคคี ขึ้นบ้างครับ

การฟังธรรมสามัคคีกันอย่างไร [สัมพหุลภิกขุสูตร]

การให้อภัยกันสามัคคีกันอย่างไร [สัมพหุลภิกขุสูตร]

...ขออนุโทมนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ...

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
paderm
วันที่ 16 มี.ค. 2555

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

เรื่อง ความสามัคคี และ การแตกสามัคคีใน คาถาธรรมบท หลายเรื่อง ดังนี้ครับ

เรื่องแรก เป็นเรื่อง ภิกษุชาวเมืองโกสัมพี

ภิกษุชาวเมืองโกสัมพี อาศัยน้ำเพียงขั้นเดียว ทะเลาะกัน จนพระพุทธเจ้าตรัสเตือน ก็ไม่ฟัง พระองค์ต้องไปที่อื่น เหตุเพราะ พระวินัยธร และ พระธรรมกถึก ทะเลาะกัน ด้วยว่า พระธรรมกถึก เทน้ำทิ้ง โดยไม่พิจารณาก่อน พระวินัยธร จึงไปบอกลูกศิษย์ตัวเอง ว่าพระธรรมกถึกทำผิดพระวินัย ด้วยเหตุนี้ ลูกศิษย์ทั้งสองฝ่ายก็ทะเลาะกัน พระพุทธเจ้าตรัสเตือนว่า พวกเธออย่าทะเลาะกันเลย ยกเรื่องนกที่แตกสามัคคี ทำให้ถูกนายพรานจับ แสดงธรรมเรื่องต่างๆ ก็ไม่สามารถทำให้พระภิกษุชาวเมืองโกสัมพีทั้งหมด ไม่ทะเลาะกันได้ ถึงขนาดที่ว่า พระภิกษุรูปหนึ่งตรัสกับพระพุทธเจ้าว่า ขอพระองค์ทรงขวนขวายน้อยเถิด ข้าพระองค์จะปรากฎด้วยการทะเลาะกันอยู่ พระพุทธเจ้าทรงเสด็จไปที่อื่น ไปหากลุ่มพระอนุรุทธะ ตรัสเรื่องความเป็นอยู่สามัคคีกันของกลุ่มพระอนุรุทธะ มองกันด้วยนัยต์ตาที่เป็นเพื่อน และทรงหลีกเร้น สู่ป่า มีช้างปรนนิบัติ เมื่อชาวบ้านจะหาพระพุทธเจ้า ภิกษุชาวเมืองโกสัมพี ก็บอกว่า พระพุทธเจ้าไม่อยู่ด้วยเหตุที่พวกเราทะเลาะกัน ชาวบ้านจึงลงโทษภิกษุเหล่านั้นโดยไม่ให้อาหาร ไม่ใส่บาตร ไม่นาน ภิกษุชาวเมืองโกสัมพี ก็กลับมาสามัคคีกัน และ ขอขมาพระพุทธเจ้า พระองค์แสดงธรรมที่ ว่า

"ก็ชนเหล่าอื่นไม่รู้ตัวว่า 'พวกเราพากันย่อยยับ อยู่ในท่ามกลางสงฆ์นี้' ฝ่ายชนเหล่าใดในหมู่นั้น ย่อมรู้ชัด, ความหมายมั่นกันและกัน ย่อมสงบ เพราะการปฏิบัติของชนพวกนั้น ."

เมื่อพระพุทธองค์แสดงธรรมจบ ภิกษุที่มาประชุมกันนั่นแหละ บรรลุคุณธรรมากมาย นี่แสดงให้เห็นถึงกำลังของกิเลสที่สะสมมา หากยังเป็นปุถุชน แต่เมื่อเหตุปัจจัยพร้อม ปัญญาที่สะสมมา ก็ทำให้บรรลุได้ ครับ

อีกเรื่องหนึ่ง ก็เป็นเรื่องในธรรมบท ที่แสดงถึงการทะเลาะกัน แตกสามัคคี และ กลับมาคืนดี ซึ่งมีพระภิกษุรูปหนึ่ง พยายามพูดส่อเสียด ให้พระสองรูปที่ดีกันอยู่ให้ทะเลาะกัน ซึ่งก็ทำสำเร็จ จนภิกษุสองรูป แยกจากกัน ภิกษุรูปที่ทำความทะเลาะให้เกิดได้ ก็เลยอยู่ครองวิหารนั้นแต่ผู้เดียว ต่อมา ภิกษุสองรูปเจอกัน ต่างนึกถึงความหลังที่เคยสามัคคีกัน จึงมีน้ำตาไหล และต่างก็ทราบความจริงว่าถูกหลอกให้แตกสามัคคี จึงกลับมาสามัคคีกัน ได้กลับไปวิหารนั้นและไล่ภิกษุรูปนั้นออกไป ผลของกรรมที่ภิกษุรูปนั้นไปทำให้เขาแตกสามัคคีกัน จึงทำให้ไปเกิดให้นรก เศษของกรรมทำให้เกิดเป็นเปรตครับ

ขออนุโมทนา

 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
ทรง
วันที่ 19 มี.ค. 2555

ไม่ทราบว่าอยู่ในเรื่องใดในอรรถกถาธรรมบทครับ

พระภิกษุรูปหนึ่ง พยายามพูดส่อเสียด ให้พระสองรูปที่ดีกันอยู่ให้ทะเลาะกัน

 
  ความคิดเห็นที่ 4  
 
paderm
วันที่ 19 มี.ค. 2555

เรียนความเห็นที่ 3 ครับ

[เล่มที่ 43] พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย คาถาธรรมบท เล่ม ๑ ภาค ๒ ตอน ๔ - หน้าที่ 110

เรื่องสูกรเปรต

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ