เมตตาจิต
ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น
เมตตา คือ สภพาธรรมที่ดี ที่เป็นความเป็นมิตร เป็นเพื่อน ด้วยกาย วาจาและด้วยใจดังนั้น เมตตา ก็จึงเป็นจิตที่มีความคิดหวังดี นำประโยชน์ไปให้ ที่สำคัญ ไม่จำเพาะเจาะจงว่าคนใด คนนี้จะทำดี คิดดี กับคนนี้มาก หรือ น้อย ไม่เลือกนั่นเอง และที่สำคัญที่สุด ขณะที่มีเมตตาขณะนั้นไม่ติดข้อง ผูกพัน
ส่วนโลภะ หรือ ราคะ เป็นสภาพธรรมที่ติดข้อง ต้องการ ไม่ปล่อย ความแตกต่างของเมตตากับ โลภะ หรือ ราคะ คือ ขณะที่มีเมตตา หรือ โลภะ แม้การกระทำภายนอกมีกาย วาจาก็ต่างนำประโยชน์ไปให้ พูดดี ช่วยเหลือทางกาย แต่ด้วยจิตที่ต่างกันก็ได้ หากเป็นด้วยโลภะ หรือ ราคะ ก็ย่อมทำเพราะต้องการ แม้เพียงเล็กน้อย ก็เป็นโลภะ แล้ว เช่น ต้องการความสนิทสนม ต้องการความคุ้นเคย ต้องการความรัก ต้องการให้ผู้อื่นชมยกย่องตน นี่เป็นการกระทำด้วย โลภะ มีความติดข้องเป็นสำคัญ และผลที่ตามมา คือความทุกข์ใจ ที่เป็นโทสะ หากทำแล้ว ผู้อื่นไม่ทำตามหวัง เช่น ช่วยเหลือแล้ว ไม่มีคนชม หรือ ชมคนอื่น รวมทั้งผู้นั้นไม่สนิทสนมด้วยก็เกิดความทุกข์ใจ เกิดโทสะ เพราะมีโลภะ หรือ ราคะเป็นปัจจัย ครับ
แต่ถ้าเป็นเมตตา เป็นสภาพธรรมที่ไม่ติดข้อง ต้องการ จึงช่วยด้วยใจจริงไม่ได้หวังอะไร แม้ผู้ที่เราช่วยเหลือจะไม่ขอบคุณ หรือ อย่างไร และไม่สนิทสนมด้วย ก็ไม่ทุกข์เพราะไม่ได้หวัง ไม่ได้ติดข้องเหมือนโลภะ ครับ ดังนั้นเมตตา ความเป็นมิตร เป็นเพื่อนที่มาจากใจที่ดี จึงไม่ใช่ความอคติ ลำเอียง ช่วยเหลือทุกคน ปรารถนาดีกับทุกคน โดยไม่เลือกว่าจะมากจะน้อยกับใครและไม่ได้หวังผลจากการกระทำครับ นี่คือ ความแตกต่างของเมตตา กับ โลภะ หรือ ราคะ ซึ่งให้ผลต่างกัน เมตตา ไม่ทำให้ทุกข์ โลภะ ทำให้ทุกข์ ครับ และที่สำคัญที่สุด การรู้ลักษณะความต่างของเมตตา กับ โลภะ หรือ ราคะจริงๆ จะต้องเป็นสติปัฏฐานที่ระลึกรู้ลักษณะของเมตตา หรือ โลภะที่กำลังเกิด ก็จะรู้ลักษณะของสภาพธรรมในขณะนั้นว่าเป็นเมตตา หรือ โลภะ ครับ ปัญญาที่ละเอียดที่รู้ในขณะนั้นเท่านั้น ที่แยกความแตกต่างได้ ครับ
ขออนุโมทนาที่ร่วมสนทนา
ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น
โลภะ เป็นสภาพธรรมที่มีจริง เป็นอกุศลธรรมประเภทหนึ่ง ที่ติดข้อง ต้องการ ยินดีพอใจในสิ่งที่ปรากฏ มีตั้งแต่บางเบา จนกระทั่งถึงขั้นล่วงเป็นทุจริตกรรมประการต่างๆ เบียดเบียนผู้อื่นให้เดือดร้อน เพราะความติดข้องที่เกินประมาณ เพราะฉะนั้น เรื่องของโลภะ เป็นเรื่องที่ละเอียดมาก บางคนทางกาย ทางวาจา ไม่มีอาการของความละโมบ ความอยาก ความต้องการให้ปรากฏ แต่ทางใจมี แม้แต่ความคิดที่เกิดขึ้น ก็เกิดขึ้นเพราะมีความต้องการเป็นปัจจัย และบางคนมีการกระทำทางกาย หรือคำพูดทางวาจา ซึ่งอาจจะดูน่าเลื่อมใส น่าเชื่อถือ แต่ว่าใจจริงของบุคคลนั้น ใครจะรู้ว่ามีความหวัง มีโลภะ มีความละโมบโลภมาก มีความปรารถนา มีความต้องการอะไรหรือเปล่า? ผู้ที่อบรมเจริญปัญญาต้องเห็นโทษของอกุศลอย่างละเอียด แล้วก็ควรที่จะขัดเกลา เพราะถ้ายังเป็นผู้ที่ไม่อิ่มในโลภะ ในความต้องการ ก็ไม่มีวันที่จะหมดโลภะได้ แต่ถ้าเป็นผู้ที่ไม่อิ่มในกุศลธรรม เพื่อที่จะขัดเกลากิเลสของตนเองจริงๆ วันหนึ่งข้างหน้าก็สามารถที่จะดับกิเลสทั้งปวงได้เป็นสมุจเฉท (ถอนขึ้นได้อย่างเด็ดขาด)
ข้อสำคัญต้องเห็นอกุศลตรงตามความเป็นจริง ว่า เป็นสภาพธรรมที่ควรจะขัดเกลา ควรละคลาย ให้เบาบาง จนกระทั่งสามารถจะดับได้อย่างเด็ดขาด แต่การที่จะละคลายขัดเกลาอกุศลให้เบาบาง เป็นสิ่งที่ละเอียด และยากมาก แม้แต่ในเรื่องของเมตตา ก็ควรที่จะรู้ลักษณะของเมตตาจริงๆ ซึ่งต่างกับลักษณะของโลภะ เพราะลักษณะของโลภะนั้นเป็นอกุศล หนัก เดือดร้อน ดิ้นรน กระสับกระส่าย ไม่สงบ ไม่ว่าโลภะจะเกิดขึ้นในขณะใด ก็ทำให้จิตกระสับกระส่าย หวั่นไหว เดือดร้อนตามกำลังของโลภะ แต่ถ้าเป็นเมตตา ย่อมเป็นลักษณะของกุศลที่เบาและสบาย ไม่เดือดร้อน ไม่กระสับกระส่าย มีความปรารถนาดี มีความหวังดี มีความเป็นเพื่อนกับผู้อื่นจริงๆ
จึงควรอย่างยิ่งที่จะเป็นผู้ไม่อิ่มในการอบรมเจริญเมตตาให้มีมากขึ้น ถ้ารู้ว่าสามารถจะมีเมตตากับบุคคลนี้ได้ ก็ไม่ควรที่จะพอใจเพียงการมีเมตตากับบุคคลนี้ได้เท่านั้น แต่กับบุคคลทั้งหลายเหล่าอื่น ก็ควรจะมีความรู้สึกเป็นเพื่อนด้วยเช่นเดียวกัน มีความรู้สึกสนิทสนมทันทีที่เห็น มีความรู้สึกเหมือนเห็นเพื่อน เห็นมิตรสหาย ไม่ใช่เห็นศัตรู ไม่ว่าจะเห็นใครทั้งสิ้น ไม่ว่าจะเป็นชาติชั้นวรรณะภาษาใด ก็ควรจะมีจิตประกอบด้วยเมตตา เสมอกันหมดกับทุกคน เพราะฉะนั้น จึงแสดงให้เห็นตามความเป็นจริงว่า โลภะ กับ เมตตา เป็นสภาพธรรมที่แตกต่างกัน กล่าวคือ โลภะ เป็นอกุศลธรรม เป็นธรรมฝ่ายดำ ที่ควรละ ควรขัดเกลาให้เบาบาง ส่วนเมตตา เป็นสภาพธรรมที่ดีงาม ควรอย่างยิ่งที่จะอบรมเจริญให้มีขึ้นในชีวิตประจำวัน ครับ
...ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ...
เมตตาเกิดจากการสะสม การอบรม การเจริญให้เป็นปกติในชีวิตประจำวัน เมตตามีตั้งแต่ขั้นศีล ขั้นภาวนา ถ้าเมตตาที่ประกอบด้วยปัญญา จะรู้ความต่างกันของราคะ คือความติดข้อง เป็นอกุศลหนัก มีโทษ ส่วนลักษณะของเมตตา เป็นกุศล เบาสบาย ไม่มีโทษ ไม่มีภัยกับใคร เมตตาจึงเป็นธรรมะคุ้มครองโลก ค่ะ
ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น
ความแตกต่างของเมตตา กับ โลภะ หรือ ราคะ ซึ่งให้ผลต่างกัน เมตตา ไม่ทำให้ทุกข์ โลภะ ทำให้ทุกข์ครับ
โลภะ เป็นอกุศลธรรม เป็นธรรมฝ่ายดำ ที่ควรละ ควรขัดเกลาให้เบาบาง
ส่วนเมตตา เป็นสภาพธรรมที่ดีงาม ควรอย่างยิ่งที่จะอบรมเจริญให้มีขึ้นครับ
ขอบคุณ และขออนุโมทนาอ.ผเดิม, อ.คำปั่นและทุกๆ ท่านครับ
กราบอนุโมทนาสาธุค่ะ ขอบพระคุณอย่างสูงค่ะ
ขอเรียนถามนะคะว่า จากประสบการณ์ที่เห็น ถ้าเมตตาแล้วจะไม่มีการเลือกที่รักมักที่ชังใช่หรือไม่คะ เช่นอาจารย์ที่สอนนักเรียน จะเมตตาลูกศิษย์เสมอกันหมด แม้ว่าคนนี้จะขี้เกียจไม่ขยัน ก็เมตตาให้กำลังใจไม่พูดว่าตัดรอนให้ขาดกำลังใจจะเป็นเช่นนี้ใช่มั้ยคะ ไม่ใช่พูดจาดุว่าต่อหน้านักเรียนคนอื่นให้อายแต่พูดจาไพเราะสนิทสนมกับศิษย์ที่ปฏิบัติดีถูกใจอาจารย์ ถ้าอาจารย์เป็นเช่นนี้ถือว่าราคะ ไม่ใช่เมตตาแล้วใช่มั้ยคะ ถ้าเมตตาจริง ต้องเจาะจงช่วยศิษย์ที่แย่ด้วย เพราะถ้าเค้ายังมาเรียนหนังสือแสดงว่ายังรักจะที่ดีอยู่นะคะ ไม่ใช่ทำจนเห็นความแตกต่างใช่หรือไม่คะ
เมตตานั้นวันๆ หนึ่ง เรานำเมตตามาตรึก (สัมมาสังกัปปะ) ในใจ เช่นว่า เห็นสุนัข เราจะตรึกในใจว่า ขอให้เธอมีความสุข ให้กุศลที่เธอเคยทำแต่อดีตชาติจงส่งผลให้เธอได้เกิดในสุคติภูมิในชาติต่อไป แม้แต่การซื้ออาหารจากแม่ค้าเราก็ตรึกว่า ขอบคุณที่ทำอาหารนำมาขายให้เรารับประทาน ขอให้เงินที่เราจ่ายให้ท่านนี้ ท่านจงใช้หล่อเลี้ยงท่านและครอบครัวให้มีความสุข และเจริญในสิกขา ๓ และบรรลุธรรมในกาลอันควรด้วย คือมีคนสอนให้ภาวนาอย่างนี้ในใจเวลาเดินไปไหนมาไหนค่ะ เป็นการทำให้ชวนะประกอบด้วยกุศลมีเมตตาแนบอยู่ด้วยให้มากๆ เป็นการทำให้ชวนะมีเมตตาและปัญญาเกิดให้นำเมตตามาตรึก คือการภาวนา และทำทานให้เป็นถึงขั้นมหากุศลดวงที่ ๑ ก่อน ที่จะค่อยไปถึงขั้นวิปัสสนา มีการตรึกคือสัมมาสังกัปปะ ตรึกไปให้มรรคองค์อื่นเกิดขึ้นเพื่อให้มรรคได้เดินครบ ๘ คือมรรคสมังคีค่ะ ที่เราตรึกเมตตาไปเรื่อยๆ ทั้งวันให้ชวนะเป็นกุศลอยู่กับกุศลและให้ปัญญาเกิดจากการตรึกจาก ผลไปหาเหตุ เช่นเห็นคนจน ก็ตรึกว่าเค้าไม่ได้ให้ทานมาในชาติที่ผ่านมาชาตินี้จึงฐานะยากจน และเกิดจากเป็นคนมีมานะในชาติที่ผ่านมาจึงทำให้เค้าเกิดในตระกูลต่ำ เราจะต้องทำทานด้วยความนอบน้อมด้วยความเคารพไม่ดูถูกผู้รับทานจากเรา อย่างนี้เป็นต้นหรือ นำศีล ๕ มาตรึกว่าเรารักษาได้ดีหรือไม่ตั้งแต่ข้อที่ ๑ ถึงข้อที่ ๕
ขอเรียนถามอาจารย์ว่าที่กล่าวมาอย่างนี้ ผิดถูกประการใดบ้างคะ
ขอความกรุณาชี้แจงให้เกิดความเข้าใจได้ถูกต้องด้วยค่ะ
เรียนความเห็นที่ 8 ครับ
ประเด็นเรื่องความมเตตา ในเรื่อง ครูและศิษย์ก่อนนะครับ
จริงๆ แล้วเรื่องเมตตา เป็นเรื่องของจิตใจที่เป็นนามธรรม ส่วนการแสดงออกทางกาย วาจา ก็ยากที่จะรู้ได้ว่าเป็นเมตตา หรือ โลภะ แต่เมื่อใดที่มีการแบ่งแยก เลือกที่รัก มักที่ชัง เป็นต้น นั้นก็ไม่ใช่เมตตาแล้วครับ
ส่วนประเด็นเรื่องการพยายามตรึก นึกถึงเมตตา จิตจะได้เป็นกุศล อันนี้ไม่ถูกต้องนะครับ เพราะเมตตา ไม่ได้เกิดเพราะการพยายามนึกว่า เป็นอย่างนั้น เป็นอย่างนี้ เพราะก็ไม่ต่างอะไรกับการท่อง นึกในใจ เป็นรูปแบบว่า เป็นอย่างนั้น นึกอย่างนั้น แต่จิตขณะนั้นมีเมตตาหรือไม่ คือ มีสภาพธรรมที่เมตตาจริงๆ หรือเปล่า หรือเพียงแต่การตรึกนึกคิด เป็นรูปแบบ ซึ่งไม่จำเป็นเลยที่จะมีเมตตา ตรงกันข้าม ผู้ที่ไม่ไ่ด้เตรียมที่จะนึกคิดเป็นรูปแบบอย่างนั้น แต่อาศัยการฟังพระธรรม ศึกษาพระธรรมบ่อยๆ กุศลจิตก็เกิดได้เมื่อพบเหตุการณ์เฉพาะหน้า เกิดเมตตาคิดช่วยเหลือ หวังดี โดยไม่ได้มีรูปแบบการคิดอะไรเลย แต่จิตเป็นเมตตาแล้ว
ที่สำคัญที่สุด การคิดเพื่อให้เมตตาเกิด นั่นก็เท่ากับว่า ถูกหลอกแล้ว ด้วยโลภะ ที่อยากให้กุศลจิตเกิด ครับ ก็ไม่ใช่หนทางที่ถูกต้อง เมตตาจะเกิดขึ้นได้ ไม่ต้องตระเตรียม แต่อาศัยการฟังพระธรรม ปัญญาที่เจริญขึ้นนั่นเอง ย่อมรู้ว่าอะไรควรไม่ควรและเกิดจิตเมตตาขึ้นมาได้ ในเหตุการณ์ที่ประจวบเฉพาะหน้าได้ ครับ
ขออนุโมทนาที่ร่วมสนทนา
กราบอนุโมทนา สาธุ ขอบพระคุณอย่างสูงค่ะอาจารย์
คำตอบของอาจารย์ ที่สำคัญที่สุด การคิดเพื่อให้เมตตาเกิด นั่นก็เท่ากับว่า ถูกหลอกแล้ว ด้วยโลภะ ที่ อยากให้กุศลจิตเกิด
เหมือนอย่างใจดิฉันคิดไว้เลยค่ะ การจงใจทำให้กุศลเกิด มันอยู่แค่ใจคิดแล้วทำให้เกิด มหากุศลดวงที่ ๑ ได้ด้วย ดิฉันก็กล่าวถามผู้สอนไปอย่างเคารพว่าจะเป็นโลภะหรือไม่ จริงๆ ไม่ได้คิดจะจ้องจับผิดผู้สอนนะคะ แต่ผู้สอนขุ่นเคืองใจอย่างเห็นได้ชัด เหมือนว่า ไปอวดดีไม่เคารพคำสั่งสอน ดิฉันไม่โต้ตอบด้วยทั้งสิ้น นอบน้อมฟังอย่างเดียวค่ะ ก็นึกว่าเอาคำถามมาเรียนถามครูบาอาจารย์อีกทีให้แน่ใจดีกว่าค่ะ การนำเมตตามาตรึกนั้น ผู้สอนบอกเสมอมา ว่าเป็นการตรึกแบบพระพุทธเจ้า แบบชาวพุทธในสมัยพุทธกาล ชาวเมืองสาวัตถีใช้ตรึกเมตตาแบบนี้จนเกิดเป็นมรรค ครบองค์ และมีข้อความในเรื่องที่กล่าวมานี้ในพระไตรปิฎก ผู้สอนจะกล่าวถึงพระไตรปิฎก ดิฉันไม่กล้าถามว่า ท่านเอามาจากพระไตรปิฎกเล่มไหนคะ การถามอาจารย์ในครั้งนี้ มิได้มีเจตนาจะไปโต้ตอบหรือไปลดความน่าเชื่อถือในคำสอน ของผู้ที่สอนมาผิดๆ นะคะ แต่เป็นการเลือกทางที่ถูกต้องสำหรับตนเอง และไม่นำสิ่งที่ผิด การกระทำที่ผิดไปเผยแพร่ต่อเท่านั้นเองค่ะ ส่วนท่านที่สอนมาผิดก็คงต้องเป็นเรื่องของท่านค่ะ และดิฉันจะไม่ไปเรียนรู้ในคำสอนของห้องนี้ต่อไปค่ะ ที่สำคัญจะเก็บไว้ในใจคนเดียวในสถานที่นั้น ไม่ไปกล่าวลบหลู่ท่านกับใครเด็ดขาดค่ะ