สภาพที่ติดข้องนั้น ติดข้องอะไร
สภาพที่ติดข้องเป็นลักษณะของโลภะหรือตัณหา ตัณหาติดข้องธรรมทุกอย่างเว้นเพียงโลกุตตรธรรม ๙ เท่านั้นที่เหลือคือโลกียธรรมหรือธรรมที่เป็นไปในวัฏฏะทั้งหมด ได้แก่รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ธรรมารมณ์ ที่ปรากฏทางตา ทางหู จมูก ลิ้น กาย ใจ หรือโดยปรมัตถ์ได้แก่ จิต เจตสิก รูป เป็นที่ยึดติดของโลภะหรือตัณหา
พระอภิธรรมปิฎก ธรรมสังคณี เล่ม ๑ ภาค ๒ - หน้าที่ 6
สภาวธรรมที่ชื่อว่า โลภะ เพราะอรรถว่า เป็นเหตุให้คนอยากได้หรืออยากได้เอง หรือเป็นเพียงอยากได้เท่านั้น. ที่ชื่อว่า โมหะ เพราะอรรถว่าเป็นเหตุให้คนหลง หรือหลงเอง หรือเป็นเพียงความหลงเท่านั้น. บรรดาสภาวะทั้งสองเหล่านั้น โลภะ มีการยึดอารมณ์เป็นลักษณะ (อารมฺมณคฺคหณ-ลกฺขโณ) เหมือนลิงติดตัง มีความคิดในอารมณ์เป็นรส (อภิสํครโส) เหมือนชิ้นเนื้อที่ใส่ในกระเบื้องร้อน มีการไม่สละไปเป็นปัจจุปัฏฐาน (อปริ-จาคปจฺจุปฏฺฐาโน) เหมือนเปื้อนสีน้ำมันและยาหยอดตา มีความเห็นชอบใจในธรรมเป็นอารมณ์ของสังโยชน์ เป็นปทัฏฐาน (สญฺโญชนิยธมฺเมสุอสฺสาททสฺสนปทฏฺฐาโน) เมื่อเจริญขึ้นโดยความเป็นแม่น้ำ คือ ตัณหาพึงทราบว่า ย่อมพาไปสู่อบายเท่านั้น เหมือนแม่น้ำมีกระแสอันเชี่ยว ย่อม ไหลพัดพาไปสู่มหาสมุทรฉะนั้น.