คนเราทำงานเพื่ออะไร
เท่าที่เริ่มต้นศึกษาพระธรรม พอจะสรุปได้ว่า
คนเราเกิดมาเพื่อขัดเกลากิเลสและเจริญกุศลต่างๆ โดยเฉพาะการอบรมเจริญปัญญา (ศึกษาพระธรรม ระลึกรู้สภาพธรรมะ)
จึงขอเรียนถามว่า คนเราทำงาน (ทำมาหากิน) เพื่ออะไร ในความเห็นของผู้ศึกษาธรรม
นโม ตสฺส ภควโต อรหโต สมฺมาสมฺพุทฺธสฺสฯ
(ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า พระองค์นั้น)
ทำงานเลี้ยงชีพ ให้มีชีวิตดำรงอยู่
เพื่ออบรมเจริญปัญญาและคุณความดีทุกประการต่อไป ตามพระธรรมที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดง ครับ
.ขณะอย่าได้ล่วงเลยท่านทั้งหลายไปเสีย.
ก็ในเมื่อเราเกิดมาแล้ว เราก็ต้องทำมาหากินเพื่อเลี้ยงชีพตนเองจะได้ไม่ไปเป็นภาระของผู้อื่น และถ้าเราทำมาหากินด้วยอาชีพสุจริตแล้ว เราได้เงินมากจนเกินความจำเป็นของเราก็นำไปช่วยเหลื่อผู้ที่ด้อยโอกาส หรือ ตกทุกข์ได้ยาก (นี่คือ ความคิดของเราแต่เราก็ไม่รู้ว่าผู้ที่ศึกษาธรรมเขาคิดอย่างไรนะเพราะตัวเราเองก็ไม่รู้ว่าเราคิดถูก หรือ คิดผิดนะ)
ขออนุญาตร่วมแสดงความคิดเห็นนะครับ
ขอแสดงความเห็นตามกำลังปัญญา ในฐานะผู้ศึกษาธรรมนะครับ
... ตลอดเวลาของชีวิตในมนุษยภูมิ จะเห็นว่าจะต้องมีกิจการงานให้ทำเกือบตลอดเวลา บางกิจเรียกว่างาน บางกิจไม่เรียกว่างานเพราะเป็นการพักผ่อนหลังเลิกงาน ที่เรียกว่างานนั้นก็เพราะเป็นการทำไปเพื่อหวังผลสิ่งหนึ่งสิ่งใดจากการทำ/เท่าที่จะจำแนกได้ตามกำลังปัญญา คือมีการทำงานโดยหวังประโยชน์ ๔ อย่าง คือ
๑. การทำงานเพื่อให้ได้มาซึ่งทรัพย์มาบำรุงตนเอง (ได้แก่ งานที่คนทั่วไปทำกัน เพื่อเลี้ยงชีพ, เพื่อให้ได้สิ่งที่จะเป็นต้องใช้สอยในชีวิตประจำวัน, เพื่อสนองกิเลสตนเองไม่ให้ต้องอดอยาก ให้ได้ในสิ่งที่อยากได้ ... ไม่ให้ตนเองต้องทุกข์ ต้องเดือดร้อนด้วยความที่ยังมีกิเลสอยู่ คือยังต้องการความสะดวก ความสบาย ความมั่นคง ความปลอดภัย ความสนุกสนาน ความบันเทิง เป็นต้น) มีเจตนาเป็นอกุศลอย่างเดียว
๒. การทำงานเพื่อให้ได้มาซึ่งทรัพย์มาบำรุงบริวารและผู้อื่น (ได้แก่ งานที่คนทั่วไปทำกันเพื่อดูแลครอบครัว, สงเคราะห์ญาติ, เผื่อแผ่ให้ผู้อื่นเพื่อบรรเทาความทุกข์เดือดร้อน ด้วยการทำทาน เป็นต้น) มีเจตนาเป็นอกุศลและกามาวจรกุศล อย่างใดอย่างหนึ่ง หรือสลับกัน
๓. การทำงานที่ไม่ได้ซึ่งทรัพย์ แต่ทำเพื่อได้ความสุขแก่ตนเอง (ได้แก่ งานฝึกปรือฝีมือทั่วไป, การดูแลบ้าน ทำอาหาร ซักผ้า, งานอดิเรกที่ทำเพื่อประโยชน์ตนเอง โดยเป็นไปตามฉันทะเฉพาะตน จึงจะเกิดความสุขเพราะได้ทำสิ่งที่พอใจ รวมถึงการศึกษาธรรมะเพื่อสุขแก่ตนเองด้วย) มีเจตนาเป็นอกุศลและกามาวจรกุศล อย่างใดอย่างหนึ่ง หรือสลับกัน
๔. การทำงานที่ไม่ได้ซึ่งทรัพย์ แต่ทำเพื่อให้ได้ความสุขแก่บริวารและผู้อื่น (ได้แก่ งานอุทิศตนเพื่อกิจการกุศลต่างๆ , การดูแลผู้อื่นหรือผู้ป่วย มีบุพการี ครอบครัว เป็นต้น, การสอนธรรมะให้ผู้ที่สนใจใคร่ศึกษา เพื่อให้ผู้อื่นพ้นทุกข์) มีเจตนาเป็นกุศลอย่างเดียว แต่ยังคงเป็นกามาวจรกุศลเท่านั้น ข้อนี้สำหรับผู้ที่แสวงหาสุขจากการที่ได้ทำให้ผู้อื่นมีความสุข
ทั้ง ๔ อย่างนี้ เป็นไปตามเหตุตามปัจจัย ตามการสะสมของจิต ขึ้นอยู่กับว่าใครแสวงหาอะไร ต้องการอะไร เป็นผู้หาความสุขจากอะไร มีปัญญามากเพียงไรที่จะแสวงหาสิ่งที่ไม่ทำให้เกิดทุกข์ เกิดโทษ ... โดยทั้งนี้ไม่ได้ครอบคลุมถึงงานที่พระขีณาสพได้ทำ มีการแสดงธรรม การดูแลอารามที่อยู่อาศัย (เสนาสนะ) เป็นต้น เพราะแม้ว่าจะเป็นงานที่ทำเพื่อประโยชน์แก่สาธารณะ แต่ก็ไม่ได้ประกอบด้วยเจตนาที่เป็นกุศลหรืออกุศล คือเป็นการทำงานด้วยกิริยาจิต ไม่ได้มีความต้องการหรือหวังในผลใดๆ เลย
ไม่ทราบว่าในพระธรรมคำสอนมีกล่าวถึงเรื่องนี้อย่างไรบ้าง ก็ต้องขอรบกวนผู้รู้ช่วยชี้แนะด้วยครับ ขอบคุณครับ
ขออนุโมทนาในกุศลจิตทุกท่านครับ
ในพระไตรปิฎกมีแสดงไว้ว่า เกิดเป็นมนุษย์ยาก การเลี้ยงชีพยาก การฟังธรรมยาก การอุบัติขึ้นของพระพุทธเจ้ายาก ฯลฯ สัตว์ทั้งหลายดำรงอยู่ได้ด้วยอาหาร คือ ต้องแสวงหาอาหาร ถ้าแสวงหาอาหารทางสุจริตไม่ได้ ก็แสวงหาอาหารทางทุจริต ก็เป็นเหตุให้ไปสู่อบายภูมิ ค่ะ
การแสวงหาปัจจัยในการดำรงชีพด้วยตัวเอง (โดยสุจริต) ไม่ว่าจะเป็นเพศบรรพชิต หรือ เพศฆราวาส ล้วนเป็นสิ่งยากลำบาก
พุทธองค์ก็มิได้แนะนำให้ฆราวาสบริจาคทรัพย์สินเงินทองที่ตนหามาได้ทั้งหมด ให้กับพระพุทธศาสนา แต่ทรงแนะนำให้แบ่งเป็นส่วนๆ เพื่อตัวเอง-คนรอบข้าง-บริวาร และ ทำบุญบ้าง ตามความเหมาะสมแก่ฐานะของตนเอง
ฆราวาสที่ได้ศึกษาพระพุทธศาสนาเข้าใจแล้ว จะทราบว่าการแสวงหาทรัพย์สินเงินทองไม่ใช่สิ่งที่สำคัญที่สุดในชีวิต โดยเฉพาะการได้เกิดเป็นคนในยุคที่ยังมีคำสอนของพระพุทธเจ้าอยู่
การได้สัมผัสกับคำสอนของพุทธองค์จนมีความเข้าใจแนวทางเจริญวิปัสสนา เป็นสิ่งที่สำคัญที่สุดในชิวิตครับ
อนุโมทนา
ขออนุโมทนาค่ะ
ที่มาของคำถาม คือการที่ดิฉันนั่งมองคนรอบตัว เห็นหลายคนพยายามทำตามฝันมากมาย เหมือนกับว่าพวกเขาจะไม่มีวันตาย เหมือนกับว่าจะไม่มีชาติหน้า
บางทีเดินอยู่ป้ายรถเมล์ เห็นคนเร่งรีบไปทำงาน ทำมาหากิน ตื่นเช้ามาจะเป็นจะตาย มองแล้วรู้สึกว่าเป็นไปเพื่ออะไร
เพราะตายแล้วก็จบสิ้น กลายเป็นบุคคลใหม่ ที่ลืมเรื่องของชาติก่อนหมดสิ้น หรือบางทีอาจเกิดเป็นสัตว์ในอบายภูมิต่างๆ ก็ได้
จึงอยากทราบว่า ผู้ที่ศึกษาธรรมมานานหรือศึกษาจนแตกฉานท่านคิดอย่างไร ในชีวิตประจำวันที่ท่านต้องทำงาน ท่านบริหารสภาพจิตอย่างไร เพราะดูจะเป็นเรื่องที่รบกวนจิตใจตลอดเวลาระหว่างที่ทำงาน ไม่โทสะก็โลภะ สลับกันตลอดทั้งวัน
นโม ตสฺส ภควโต อรหโต สมฺมาสมฺพุทฺธสฺสฯ
(ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า พระองค์นั้น)
ผู้ที่เข้าใจธรรมจริงๆ ท่านเข้าใจว่า
ตราบใดที่ยังมีชีวิต ก็ต้องมีสภาพธรรมที่เกิดขึ้นเป็นไปตามการสะสม เป็นชีวิตประจำวัน ตามความเป็นจริง เป็นของธรรมดา ครับ
เมื่อกรรมเป็นปัจจัย ให้ถึงเวลาต้องทำกิจการงานทางโลก ท่านก็ทำการงานนั้นๆ อย่างดีที่สุด ด้วยความสุจริต เพื่อเกื้อกูลต่อการดำรงชีวิตต่อไป ในการอบรมเจริญปัญญา ครับ
...
และถ้ามีกำลังของปัญญาที่ได้สะสมมาแล้ว แม้ในขณะที่กำลังยุ่งวุ่นวายเรื่องกิจการงานทางโลก สติก็สามารถที่จะเกิดระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏได้
จากเรื่องราวของกิจการงานที่มากมายในขณะนั้น ก็เหลือเพียงรูปธรรม หรือนามธรรม อย่างหนึ่ง ที่เพียงปรากฏ เกิดขึ้นจริง เป็นของจริง ในชีวิตจริง แล้วก็ดับไปทันที หลังจากนั้นก็เป็นโอกาสของจิตประเภทอื่น ที่มีปัจจัยเกิดต่อ เป็นชีวิตประจำวัน ตามปกติ ที่เกิดขึ้นเป็นไป แสนธรรมดา ไม่อยู่ในอำนาจบังคับบัญชาของใครทั้งสิ้น
...
เมื่อใด ที่ยังไม่ใช่โอกาสของสติที่เกิดขึ้น ระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่ปรากฏ ท่านก็ไม่ขวนขวายทำอย่างอื่นด้วยตัวตน ด้วยความต้องการ หรือด้วยความเห็นผิด แต่ท่านมีความมั่นคงที่จะฟังพระธรรมต่อไป เพื่ออบรมความเข้าใจขึ้น ตามลำดับ ในพระธรรมที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดง อย่างละเอียดลึกซึ้งถ่องแท้ พร้อมทั้งอบรมเจริญกุศลในขั้นอื่นๆ ทุกประการ ตามควรแก่เหตุที่ได้สะสมมา จนกว่าจะถึงเวลาที่สติจะเกิดขึ้น เข้าใจลักษณะของสภาพธรรมจริงๆ
เมื่อนั้น จึงจะทราบได้ว่า ที่สติสัมปชัญญะเกิดในขณะนั้น เพราะได้อบรมเจริญปัญญามาตามลำดับนั่นเอง ครับ
...
ด้วยเหตุนี้ ผู้ที่เข้าใจธรรม ก็ทำงานตามปกติ โดยสุจริต เหมือนบุคคลทั่วไป แต่มีปัจจัยที่กุศลจะเกิดมากกว่าผู้ที่ไม่ได้อบรมเจริญปัญญา และที่สำคัญ คือ ท่านเข้าใจธรรม ที่เกิดขึ้นจริง ตามความเป็นจริง ในชีวิตประจำวัน ไม่หนีความจริงที่เกิดขึ้นแล้ว ครับ
.ขณะอย่าได้ล่วงเลยท่านทั้งหลายไปเสีย.