เรื่องภิกษุสองสหายในอรรถกถา

 
ทรง
วันที่  19 มี.ค. 2555
หมายเลข  20818
อ่าน  3,945

อยากทราบเรื่อง เรื่องภิกษุสองสหายในอรรถกถา ครับ รบกวนอาจารย์ด้วยครับ


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
paderm
วันที่ 20 มี.ค. 2555

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

ขอเล่าเรื่อง ภิกษุ ๒ สหายพอสังเขปดังนี้ครับ

[เล่มที่ 40] พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย คาถาธรรมบท เล่ม ๑ ภาค ๒ ตอน ๑ - หน้าที่ 209

เรื่องภิกษุ ๒ สหาย

เพื่อน ๒ คน ได้ฟังธรรม เกิดศรัทธา จึงขอบวช อุทิศชีวิตกับพระศาสนา เพื่อนคนแรก บำเพ็ญวิปัสสนาธุระ คือ กิจหน้าที่ในการเจริญอบรมปัญญาเพื่อดับกิเลสเท่านั้น ส่วนเพื่อนอีกคน บำเพ็ญ คันถธุระ คือ ศึกษาพระธรรมที่พระพุทธเจ้าทรงแสดง มีพระไตรปิฎก เป็นต้น ภิกษุผู้เจริญวิปัสนาธุระ อยู่ป่า และอบรมปัญญา ดับกิเลส บรรลุเป็นพระอรหันต์ อีกรูปหนึ่ง สั่งสอนลูกศิษย์ ในปริยัติ มีบริวารมาก แต่ยังไม่ได้บรลุธรรม ต่อมา ลูกศิษย์ของพระภิกษุที่บำเพ็ญวิปัสสนา จนดับกิเลส เป็นพระอรหันต์ ปรารถนาจะไปเฝ้าพระศาสดาที่พระเชตวัน อาจารย์ที่เป็นพระอรหันต์แล้ว จึงฝากให้กราบพระพุทธเจ้า และ ฝาก ทักทาย พระภิกษุที่เป็นเพื่อน ที่สอนธรรมอยู่ เมื่อลูกศิษย์ไปถึง ก็กราบพระพุทธเจ้า และได้ฝากความระลึกถึงภิกษุผู้เพื่อนที่เป็นเจ้าคณะสอนลูกศิษย์ห้าร้อย แต่ไม่ได้บรรลุธรรม เมื่อลูกศิษย์ของเพื่อนที่เป็นพระอรหันต์ฝากความระลึกถึงบ่อยๆ พระเพื่อนที่ไม่ได้บรรลุแต่ทรงจำปริยัติได้ก็ทนไม่ได้ ได้กล่าวกับลูกศิษย์ว่า อาจารย์ของท่านรู้อะไร รู้นิกาย พระธรรมบทไหนบ้าง เพราะเข้าใจว่า เพื่อนเข้าแต่ป่าคงไม่รู้อะไร

ในกาลต่อมา เพื่อนที่เป็นพระอรหันต์ก็มาที่เมืองสาวัตถี เพื่อไหว้พระศาสดา เมื่อไหว้เสร็จก็มาเยี่ยมเพื่อนที่ยังไม่ได้บรรลุ พระพุทธเจ้าทรงทราบเหตุการณ์จึงเสด็จมาด้วย พระพุทธองค์ทรงถามปัญหาธรรมในเรื่องฌานขั้นต่างๆ พระภิกษุผู้บรรลุพระอรหันต์ตอบได้หมด ภิกษุผู้ที่ไม่บรรลุ ได้แต่ทรงจำ ตอบไม่ได้เลย พระพุทธองค์ถามเรื่องมรรค ผล ภิกษุผู้เป็นพระอรหันต์ตอบได้หมด ภิกษุผู้ที่ไม่ได้บรรลุตอบไม่ได้ พระพุทธเจ้าและเทวดาทั้งหลายให้สาธุการ กับภิกษุผู้อยู่ป่าและบรรลุธรรม พระพุทธเจ้าตรัสว่า "หากว่า นรชนกล่าวพระพุทธพจน์อันมีประโยชน์เกื้อกูลแม้มาก (แต่) เป็นผู้ประมาทแล้วไม่ทำ (ตาม) พระพุทธพจน์นั้นไซร้, เขาย่อมไม่เป็นผู้มีส่วนแห่งสามัญผล เหมือนคนเลี้ยงโคนับโคทั้งหลายของชนเหล่าอื่น ย่อมเป็นผู้ไม่มีส่วนแห่งปัญจโครสฉะนั้น, หากว่า นรชนกล่าวพระพุทธพจน์อันมีประโยชน์เกื้อกูล แม้น้อย (แต่) เป็นผู้มีปกติประพฤติธรรมสมควรแก่ธรรมไซร้, เขาละราคะ โทสะ และโมหะแล้ว รู้ชอบ


จากเรื่อง ภิกษุ ๒ สหาย เรื่องนี้ แสดงถึงความไม่ประมาท ดังนี้ครับ

ความไม่ประมาท คือ การอยู่โดยไม่ปราศจากสติ คือ ขณะที่เป็นกุศลจิต ชื่อว่าไม่ประมาท ซึ่งกุศลมีหลายระดับ ความไม่ประมาท ก็ต้องมีหลายระดับด้วย

ประการแรก เพื่อนทั้งสองฟังธรรม เห็นโทษของกาม การครองเรือน เพราะฟังธรรมเข้าใจ ขณะที่เข้าใจธรรมในขณะนั้น ไม่ประมาท ขณะที่เห็นโทษและบวช ก็ชื่อว่าไม่ประมาท ขณะที่ภิกษุผู้ที่จะบำเพ็ญวิปัสสนาธุระ คือ เพื่ออบรมปัญญาดับกิเลส ขณะนั้นก็ชื่อว่าไม่ประมาท ขณะที่ภิกษุอบรมปัญญาเพื่อดับกิเลสอยู่ มีการเจริญสติปัฏฐาน ขณะนั้น ก็ชื่อว่าไม่ประมาทเพราะเป็นกุศล ประกอบด้วยปัญญา ขณะที่ภิกษุนั้น บรรลุคุณธรรมเป็นพระอรหันต์ ชื่อว่า ไม่ประมาทโดยสิ้นเชิง เป็นผู้ไม่ประมาทอีก เพราะไม่มีกิเลสที่เป็นสภาพธรรมที่ทำให้ประมาท ครับ

ส่วนภิกษุผู้เป็นเพื่อนที่เรียนพระปริยัติ ขณะที่เรียนพระธรรมและเข้าใจ ชื่อว่า ไม่ประมาท เพราะเป็นกุศล แต่เพราะไม่ได้เจริญวิปัสสนา ที่เป็นการเจริญความไม่ประมาทที่สูงกว่า และเป็นความไม่ประมาทที่เลิศ เพราะไม่ได้บำเพ็ญวิปัสสนา ความไม่ประมาทนี้ จึงมีกิเลสที่ทำให้ประมาท ครับ

พระพุทธเจ้าทรงสรรเสริญ ผู้ไม่ประมาท คือ ดับกิเลสหมดสิ้น ไม่ใช่ผู้ที่เรียนมาก แต่เต็มไปด้วยกิเลส ที่ทำให้ประมาท

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
paderm
วันที่ 20 มี.ค. 2555

เรื่อง ภิกษุ ๒ สหาย อีกเรื่องหนึ่ง

[เล่มที่ 40] พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย คาถาธรรมบท เล่ม ๑ ภาค ๒ ตอน ๑ - หน้าที่ 352

เรื่องภิกษุ ๒ สหาย

ทั้งสองออกบวช รูปหนึ่งไม่ประมาท บำเพ็ญเพียรเพื่อดับกิเลส อีกรูปหนึ่งประมาท เอาแต่พูดคุย ไม่อบรมปัญญาเพื่อดับกิเลส เพื่อนผู้ไม่ประมาทกล่าวเตือนก็ไม่ฟัง ท่านกล่าวเตือนครั้งเดียวก็ไม่เตือนอีก อบรมปัญญาของตนเอง จนบรรลุเป็นพระอรหันต์ เมื่อทั้งสองรูปไปเฝ้าพระศาสดา รูปที่ไม่บำเพ็ญเพียรเพื่อดับกิเลสกล่าวหาว่า ภิกษุรูปที่บรรลุแล้ว เกียจคร้าน ไม่อบรมปัญญา พระพุทธเจ้าตรัสเตือนว่า เธอประมาทแล้ว ยังกล่าวว่าตนและผู้อื่นประมาทอีก เธอเปรียบเหมือนม้าฝีเท้าไม่ดี ส่วนบุตรของเรา เป็นม้าฝีเท้าดี ย่อมละทิ้งเธอไป ตรัสพระคาถาว่า

" ผู้มีปัญญาดี เมื่อชนทั้งหลายประมาทแล้ว ไม่ประมาท, เมื่อชนทั้งหลายหลับแล้ว ตื่นอยู่โดยมาก ย่อมละบุคคลผู้มีปัญญาทรามไปเสีย ดุจม้าตัวมีฝีเท้าเร็ว ละทิ้งตัวหากำลังมิได้ไปฉะนั้น."

ความไม่ประมาทในเรื่องนี้

เพื่อนทั้งสองคนไม่ประมาท ที่ออกบวช อันเกิดจากความเข้าใจพระธรรม เพื่อนที่ไม่ประมาท ขณะที่อบรมปัญญา รู้ความจริง ชื่อว่า ไม่ประมาท และขณะที่บรรลุธรรมก็ชื่อว่าไม่ประมาท ส่วนเพื่อนที่ไม่อบรมปัญญา โดยมากเป็นอกุศล จึงอยู่ด้วยความประมาทเป็นส่วนมาก ครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
wannee.s
วันที่ 20 มี.ค. 2555

ท่านพระสารีบุตร และ ท่านพระมหาโมคคัลลานะ เป็นเพื่อนรักกัน ท่านเคยตกลงกันว่า ถ้าใครบรรลุคุณวิเศษ ให้มาบอกกัน ภายหลังท่านพระสารีบุตร ได้บรรลุเป็นพระโสดาบัน ก็มาบอกท่านพระมหาโมคคัลลานะ ต่อมาทั้งสองไม่ประมาท ได้บรรลุเป็นพระอรหันต์ และเป็นอัครสาวกเบื้องซ้ายและเบื้องขวา ค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 4  
 
Jesse
วันที่ 20 มี.ค. 2555

ขอขอบพระคุณและอนุโมทนาด้วยค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 5  
 
khampan.a
วันที่ 20 มี.ค. 2555

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

เพราะสะสมอุปนิสัยมาต่างกัน ความประพฤติเป็นไปก็แตกต่างกันตามการสะสม ถ้าเป็นผู้เห็นประโยชน์ของพระธรรม ว่าเป็นสิ่งที่ยาก ซึ่งจะต้องศึกษาด้วยความละเอียดรอบคอบและน้อมประพฤติปฏิบัติตาม เพื่อขัดเกลากิเลสของตนเองเป็นสำคัญ เป็นผู้ที่ไม่ประมาท ไม่ประมาททั้งกำลังกิเลส ไม่ประมาทพระธรรมว่าง่าย ย่อมจะเป็นผู้ได้รับประโยชน์จากพระธรรมตามกำลังปัญญาของตนเอง สูงสุด คือ สามารถดับกิเลสได้อย่างหมดสิ้นถึงความเป็นพระอรหันต์ แต่ถ้าไม่เห็นประโยชน์และตั้งจิตไว้ผิดในการศึกษา ไม่ได้ศึกษาเพื่อขัดเกลากิเลสของตนเองแล้ว ย่อมมีแต่โทษโดยส่วนเดียว เพิ่มพูนกิเลสให้กับตนเองเท่านั้น เป็นผู้ที่ประมาทโดยแท้ เพราะไม่ได้สะสมเหตุที่ดีที่จะเป็นที่พึ่งให้กับตนเองเลย บุคคลผู้ที่ไม่ประมาท กับบุคคลผู้ประมาท จึงแตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง ครับ.

...ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ...

 
  ความคิดเห็นที่ 6  
 
peeraphon
วันที่ 20 มี.ค. 2555

ขอบคุณ และขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 7  
 
jaturong
วันที่ 21 มี.ค. 2555

ขอบคุณ และขออนุโมทนาครับ

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ