ทำไมในวิสุทธิมรรคถึงมีเรื่องบุคคลที่ไม่ควรเจริญเมตตา

 
พิมพิชญา
วันที่  20 มี.ค. 2555
หมายเลข  20829
อ่าน  1,987

สงสัยค่ะ หลังจากอ่าน //www.dhammahome.com/webboard/topic/15607

ในการเจริญเมตตาจะต้องเลือกด้วยเหรอคะว่าควรหรือไม่ควรเจริญเมตตากับผู้ใด

อ่านแล้วสงสัยมากค่ะ เพราะเท่าที่ฟังธรรม ท่านก็ให้เจริญเมตตาต่อทุกชีวิต


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
ธุลีพุทธบาท
วันที่ 20 มี.ค. 2555

นโม ตสฺส ภควโต อรหโต สมฺมาสมฺพุทฺธสฺส ฯ

(ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า พระองค์นั้น)


เมตตา เป็น ธรรมที่ควรเจริญในบุคคลทั้งปวง ครับ

...

แต่ใน วิสุทธิมรรค แสดงการอบรมเจริญเมตตาจนถึงอัปปนาสมาธิ

จึงแสดงบุคคลที่ไม่ควรเจริญเมตตา ในขณะที่กำลังอบรมเจริญความสงบถึงขั้นฌานจิต

...

กล่าวคือ ไม่ควรเจริญเมตตาในบุคคล ๔ ประเภทเป็นปฐม (อันดับแรก) ได้แก่

บุคคลที่เกลียดชัง ๑ เพื่อนที่รักมาก ๑ บุคคลที่เป็นกลาง ๑ และบุคคลที่เป็นคู่เวร ๑

เพราะในเบื้องต้น ควรน้อมเมตตาเข้ามาในตนเองก่อน เพื่อเป็นสักขีพยานว่า

"เรารักสุขเกลียดทุกข์ อาลัยในชีวิตฉันใด แม้บุคคลอื่นก็ฉันนั้น"

แต่ไม่ใช่การเจริญเมตตาในตนเองโดยตรง

เป็นแต่เพียงอาศัยการระลึกถึงตนเองก่อน เพื่อน้อมเมตตาไปสู่บุคคลอื่น

หลังจากนั้น จึงเจริญเมตตาในบุคคลผู้เป็นที่เคารพรัก เป็นอันดับแรก

เมื่ออบรมเจริญเมตตาในบุคคลผู้เป็นที่เคารพรักจนชำนาญแล้ว

จึงจะเจริญเมตตาต่อไป ในเพื่อนที่รัก ในบุคคลที่เป็นกลาง

ในบุคคลที่เกลียดชัง และในบุคคลที่เป็นคู่เวรต่อไป ครับ

...

ท่านเพียงแต่แสดงว่า ไม่ควรเจริญเมตตาในบุคคล ๔ จำพวกในเบื้องต้น

สำหรับการอบรมเจริญความสงบของจิตถึงขั้นอัปนาสมาธิ เท่านั้น

แต่ไม่ได้ห้ามการเจริญเมตตาในบุคคล ๔ จำพวก ในชีวิตประจำวัน ครับ

...

สำหรับเหตุผลที่ไม่ควรเจริญเมตตาเจาะจงในบุคคลต่างเพศ

เพราะความกำหนัดยินดีที่เป็นข้าศึกต่อความสงบ ย่อมทำลายเมตตาจิต

แต่ท่านไม่ห้ามการเจริญเมตตาในบุคคลต่างเพศโดยไม่เจาะจง ครับ

...

และเหตุผลที่ไม่ควรเจริญเมตตาในบุคคลที่ตายแล้ว ตลอดกาล

เพราะบุคคลที่ตายแล้ว ย่อมสิ้นสุดสภาพของบุคคลนั้น ในชาตินั้น โดยสิ้นเชิง

กล่าวคือ ไม่มีบุคคลนั้น ในชาตินั้น อีกต่อไปตามความเป็นจริง

การเจริญเมตตาต่อบุคคลที่ไม่มีอยู่แล้วจริงๆ จึงไม่สำเร็จประโยชน์ ครับ

...

สำหรับการอบรมเจริญเมตตาในชีวิตประจำวัน

เมตตา เป็นธรรมที่ควรเจริญในบุคคลทั้วปวงเสมอกัน โดยไม่จำกัด ครับ


.ขณะอย่าได้ล่วงเลยท่านทั้งหลายไปเสีย.

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
khampan.a
วันที่ 20 มี.ค. 2555

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

เมตตา เป็นธรรมที่ควรเจริญในบุคคลทั้วปวงเสมอกัน โดยไม่จำกัด

เมตตา คือ ความเป็นมิตร ความเป็นเพื่อน ความหวังดี ไม่หวังร้ายต่อผู้อื่น โดยไม่จำกัด ไม่มีเครื่องกั้นเลยสำหรับเมตตาไม่ว่าจะพบเห็นใครก็ตาม

เมตตา เป็นสภาพธรรมที่เป็นประโยชน์ในที่ทุกสถาน การที่จะมีเมตตา มีได้ทุกขณะเลยในขณะที่ไม่รู้สึกโกรธ หรือว่าไม่รู้สึกขุ่นเคืองใจ ในวันหนึ่งๆ ที่จะรู้ว่าตัวเองมีเมตตาเพิ่มขึ้นหรือไม่ ก็จะสังเกตได้ว่า ขณะใดที่โกรธผู้อื่น ขณะนั้นไม่มีเมตตา ขณะใดที่ขุ่นเคืองใจ แม้เพียงเล็กน้อย ขณะนั้นก็ไม่มีเมตตาต่อผู้อื่นแล้ว

ตามความเป็นจริงแล้ว เมตตา กับ ความโกรธ ต่างกันอย่างสิ้นเชิง เมตตา เป็นธรรมฝ่ายดี แต่ความโกรธ เป็นอกุศลธรรม ไม่ใช่สิ่งที่ดีเลย การที่จิตใจแต่ละบุคคล มีความรู้สึกเป็นเพื่อน เป็นมิตรกับผู้อื่น ทั้งต่อหน้าและลับหลัง นี่คือ ความเป็นผู้มีเมตตา โดยไม่ใช่เรื่องของการท่องเลย แต่เป็นธรรมที่ควรอบรมให้มีขึ้น โดยการช่วยเหลือคนอื่น มีความเป็นมิตร มีความเป็นเพื่อนกับคนอื่นทุกเมื่อ ประโยชน์ของการฟังพระธรรม ศึกษาพระธรรม ก็เพื่อการน้อมประพฤติปฏิบัติตาม ด้วยความจริงใจ ซึ่งจะเป็นไปเพื่อขัดเกลากิเลสของตนเองเป็นสำคัญ ครับ.

...ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ...

 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
paderm
วันที่ 20 มี.ค. 2555

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

พระธรรมเป็นเรื่องละเอียดลึกซึ้ง ครับ แม้แต่เรื่องของเมตตา ก็ต้องเข้าใจให้ถูกต้อง โดยที่เราจะต้องแยกประเด็น เป็น ๒ อย่าง คือ เมตตาที่เกิดในชีวิตประจำวันเพียงชั่วขณะจิต กับเมตตาที่เจริญอบรมให้มาก จนเกิดบ่อยๆ จนมีกำลังถึงได้ฌาน

ซึ่ง เมตตาที่เกิดเพียงชั่วขณะจิต สามารถมีได้ในชีวิตประจำวันและก็เป็นปกติด้วย ไม่ว่ากับใคร เช่น มีเมตตากับคนที่เรารักก็มีได้ มีเมตตากับคนที่ไม่ชอบ หรือ เป็นศัตรู ก็มีได้ มีเมตตากับเพื่อน กับญาติ กับสัตว์ ก็มีได้ แต่เป็นเมตตาที่เกิดชั่วขณะจิตเล็กน้อย มีได้ ครับ และก็เป็นสิ่งที่ควรมีด้วย แต่ เมตตาที่เกิดนั้น เพียงชั่วขณะจิต แล้วดับไป กุศลที่เป็นเมตตาก็ไม่ได้เกิดเจริญต่อเกิดติดต่อกันไปบ่อยๆ ดังนั้น การที่ จะทำให้เมตตาเกิดบ่อยๆ เจริญขึ้น ติดต่อกันไป จนมีกำลัง เราก็จะเรียกว่า เป็นการ เจริญสมถภาวนา เป็นการเจริญความสงบของจิต ที่เป็นกุศลจิตเกิดขึ้นบ่อยๆ ซึ่ง เมตตาก็เป็นสภาพธรรมที่เป็นกุศล ดังนั้น ทำอย่างไร ให้กุศล คือ เมตตาเกิดบ่อยๆ จึงอบรมเมตตาภาวนา ภาวนา แปลว่า ที่ยังไม่มีก็ให้มีขึ้น ที่มีแล้วก็ทำให้เจริญขึ้น

ภาวนา หรือ การทำให้มีขึ้นบ่อยๆ โดยเฉพาะ เมตตา ก็จะต้องเป็นเรื่องของปัญญาแล้วครับ มีปัญญาเข้ามาเกี่ยวข้อง จะเห็นนะครับว่า กุศลที่เป็นเมตตาที่เพียงเกิดขณะจิตเดียว ชั่วขณะ ไม่ว่าเกิดกับใครก็เกิดได้ แต่เพียงชั่วขณะ ไม่ได้มีปัญญาที่จะรู้ว่า จะเจริญให้มีเมตตาเกิดขึ้นได้มาก บ่อยๆ อย่างไร แต่ การเจริญมเตตาที่ประกอบด้วยปัญญา ที่จะทำให้เมตตาเจริญขึ้นบ่อยๆ ก็จะต้องมีปัญญา ประการแรก จะต้องเห็นโทษของกิเลสในชีวิตประจำวัน จึงอบรมเจริญเมตตาภาวนา และในวิสุทธิมรรค ก็แสดงไว้ชัดเจนครับ ว่าจะต้องมีปัญญา ตัดปลิโพธ ความกังวลต่างๆ อยู่ในที่เงียบสงัด และ เห็นโทษของโทสะ เห็นคุณของขันติ นี่เป็นเรื่องของปัญญาทั้งนั้นครับ ที่จะทำให้เมตตาเจริญขึ้น และก็ต้องมีปัญญาอีกครับว่า โดยมาก เป็นโลภะ กับ โทสะ ใช่ไหมครับในชีวิตประจำวัน เมตตาเกิดน้อย ดังนั้น ผู้มีปัญญา จึงอบรมที่จะเจริญกับบุคลที่ไม่เป็นอกุศลได้ง่าย มีคนที่รัก ก็จะทำให้เป็นโลภะได้ง่าย แทนที่จะเมตตา หรือ กับคนที่ไม่ชอบ ศัตรู ก็จะเป็นโทสะได้ง่าย ดังนั้นปัญญาขั้นแรก จึงรู้ว่า เมตตากับใครที่จะเกิดได้ง่าย ก็เจริญกับคนนั้น เพื่อถึงความเจริญขึ้นของเมตตา จนถึงฌาน นั่นคือ กับผู้ที่เคารพ มี ครูอาจารย์ เป็นต้น อันเมตตาเกิดได้ง่าย เมื่อปรารภ ระลึกถึงเมตตาด้วยปัญญาบ่อยๆ ก็ทำให้เมตตามีกำลังเกิดติดต่อกันไป ธรรมจะทำหน้าที่เอง นะครับ ไม่มีเราที่จะทำ ก็เกิดเมตตากับบุคคลอื่นๆ ได้อย่างกว้างจริงๆ ดังนั้น เมตตาชั่วขณะจิตที่เกิดกับใครก็ได้ ก็ส่วนหนึ่ง กับ เมตตาที่จะต้องอบรมให้เกิดต่อเนื่องบ่อยๆ เป็นเมตตาภาวนา ต้องมีปัญญา ที่จะพิจารณาในเรื่องต่างๆ อย่างละเอียด เพื่อคามเจริญเมตตาจนถึงฌาน ไม่ใช่เพียงเมตตาเพียงชั่วขณะจิต ครับ ดังนั้น ปัญญาจึงมีบทบาทสำคัญ ที่แบ่งแยก เมตตา ๒ ประเด็นนี้ครับ

ขออนุโมทนาที่ร่วมสนทนา

 
  ความคิดเห็นที่ 4  
 
พิมพิชญา
วันที่ 21 มี.ค. 2555

ขอบพระคุณเป็นอย่างสูงค่ะ

ขออนุโมทนา

 
  ความคิดเห็นที่ 5  
 
รากไม้
วันที่ 21 มี.ค. 2555

ขออนุญาตร่วมแสดงความคิดเห็นนะครับ

บุคคลที่เป็นโทษแก่ (เมตตาพรหมวิหาร) ภาวนา มีแสดงโดยนัย ๔ ก็มี โดยนัย ๖ อย่าง ก็มี คือ บุคคลที่เกลียดกัน บุคคลที่เป็นสหายรักกันมาก บุคคลที่เป็นกลางๆ กัน บุคคลที่เป็นศัตรูกัน บุคคลที่มีเพศเป็นข้าศึก บุคลลที่ทำกาลกิริยาแล้ว

ท่านฯ หมายเอาถึง ปุคคลโทส คือบุคคลที่ภาวนาแล้วมีโทษทำให้เกิดโทสะ ซึ่งเป็นปฏิปักษ์ต่อเมตตา เป็นสภาพธรรมที่ตรงกันข้ามกันกัน ... ดังนั้น ในช่วงเริ่มต้นของการอบรมภาวนา ถ้าเริ่มต้นด้วยการมีบุคคลเหล่านี้เป็นอารมณ์กรรมฐานแล้ว ก็จะไม่สามารถทำให้เกิดความสงบระงับของจิตจนถึงอัปปนาสมาธิได้ จิตจะหวั่นไหวไปตามอำนาจกิเลสที่สะสม กล่าวคือ ในฐานะผู้ที่ยังมีกิเลสอยู่ ถ้าจิตคิดถึงบุคคลเหล่านี้ขึ้นมา ก็ย่อมเกิดโทสะแน่นอน เพราะยังมีเหตุ

สำหรับข้อที่ว่า บุคคลที่มีเพศเป็นข้าศึก หมายถึงว่า เมื่อคิดถึงบุคคลที่เป็นที่รักและเป็นเพศตรงข้ามด้วยแล้ว จะเกิดความใคร่ อยากจะพบเจอ ขึ้นมาก่อนแล้วตามมาด้วยโทสะ ความไม่พึงพอใจในปัจจุบันขณะที่ไม่ได้หรือที่ไม่ได้มีสิ่งที่ต้องการ ... ส่วนข้อที่ว่า บุคคลที่ทำกาลกิริยาแล้วนั้น คือ (ตัวตนเขา) ดับสูญจากภพนี้ไปแล้ว จะภาวนาเกิดเมตตาแก่เขาก็ไม่ได้ หรือแม้จะเกิดอาฆาตพยาบาตเขาก็ไม่ได้อีกด้วย ดังนั้นท่านฯ จึงให้ยกเว้นไว้ เพราะไม่เกิดผลใดๆ ด้วยเหตุว่าพรหมวิหารภาวนา ยังเป็นกามภพ ยังมีความเป็นสัตว์ บุคคล ตัวตนต่างๆ เพื่อเป็นอารมณ์ในการภาวนา (ยังไม่ใช่โลกุตตระ ที่พ้นจากความเป็นสัตว์ บุคคล ตัวตน)

นี้เป็นในขั้นแรก การเริ่มต้นของการเจริญเมตตาภาวนาเท่านั้นนะครับ ไม่ใช่ว่าให้ใช้แบบนี้ไปตลอดไป กล่าวคือ ในขั้นสูงๆ ขึ้นไป ท่านให้เจริญเมตตาแบบรวมแดน (ไม่แยกแยะ เจาะจง) จนกว่าจิตจะสงบถึงขั้นอัปปนาสมาธิได้ รวมถึงต้องเจริญพรหมวิหารที่เหลือเพื่อให้อัปปนากุศลเกิดขึ้นอย่างมั่นคงขึ้นด้วย ... และควรไม่ลืมว่า เมตตาพรหมวิหารนี่ ยังมีความเป็นสัตว์ บุคคล ตัวตนอยู่ด้วย เป็นส่วนของสมถภาวนา ๔ อย่าง ใน ๔๐ อย่าง เท่านั้น ยังไม่จัดเป็นวิปัสสนาภาวนา เพราะวิปัสสนานั้นมีรูปนามเป็นอารมณ์ เพื่อพิจารณาให้เห็นไตรลักษณ์, แต่ถ้าขณะนั้นมีลักษณะของสภาพธรรมของเมตตา เป็นต้น เป็นอารมณ์ ปรากฏขึ้นให้รู้ แล้วจิตมีการปรุงแต่งมีการพิจารณาเห็นไตรลักษณ์ ความไม่เที่ยง เกิดดับ ความเป็นอนัตตา ก็ถือเป็นวิปัสสนาที่เกิดคั่นสมถะบางช่วงบางขณะจิต (ตามที่โดยทั่วไป เรียกว่า เจริญสมถะแล้วยกขึ้นสู่วิปัสสนา) ถ้ายังมีตัวตนไปทำ ไปยกฯ ก็ยังเป็นวิปัสสนาที่ไม่สมบูรณ์เพราะยังไม่เห็นอนัตตา จึงเป็นแค่วิปัสสนาภาวนาขั้นต้นๆ ยังไม่เกิดวิปัสสนาญาณ หรือจะเรียกว่าเป็นแค่ขั้นสติปัฏฐานที่ยังไม่เป็นวิปัสสนาญาณก็ได้ เพราะยังไม่รู้ชัดในรูปนามแม้จะมีรูปนามเป็นอารมณ์แล้วก็ตาม

ในพรหมวิหาร ๔ อย่างนั้น เมตตา กรุณา มุฑิตา เมื่ออบรมดีแล้วจิตจะสงบได้ตั้งแต่ ปฐมฌาน จนถึงตติยฌาน, ส่วนอุเบกขา อย่างเดียวเท่านั้นที่จิตจะสงบได้ถึงปัญจมฌาน ส่วนในชีวิตประจำวันของผู้ที่อยู่ในระหว่างการอบรมฯ ย่อมเป็นไปไม่ได้ที่จะเกิดเมตตา ในขณะที่กำลังถูกเขาทำร้ายเบียดเบียนหรือขณะที่พบเจอผู้ที่เคยทำร้ายเรา ธรรมดาจิตก็ต้องเป็นไปตามการสะสม คือเกิดโทสะทันทีที่เห็นบุคลที่เคยทำร้ายเรา เป็นต้น

ก็ไม่ใช่ว่าให้ไปรังเกียจสภาพของโทสะ แล้วอยากหาทางกำจัดโทสะโดยเร็ว หรืออยากจะไม่ให้โทสะเกิดซ้ำอีก ด้วยความเป็นตัวตนที่อยากจะไปควบคุมเปลี่ยนแปลงธรรมชาติของจิตที่สะสมโทสะมายาวนานหลายกัป แต่ให้เข้าใจตามความเป็นจริงไปก่อนว่าโทสะเป็นสภาพธรรมอย่างหนึ่งซึ่งเกิดขึ้นตามเหตุปัจจัย ถ้าเมื่อไหร่ที่มีปัญญาที่มีกำลังแล้ว ... ปัญญาก็จะทำกิจของปัญญา เมื่อมีสติที่มีกำลังแล้ว ... สติก็จะทำกิจของสติ โทสะก็จะค่อยๆ เกิดน้อยลงตามการสะสมการอบรมที่ค่อยๆ เพิ่มพูนขึ้นเรื่อยๆ ... รวมถึงจะต้องไม่ประมาทว่า เราเป็นผู้ไม่มีโทสะแล้ว โดยที่ความเป็นจริงนั้นเป็นแค่เพราะไม่มีเหตุปัจจัยให้เกิดโทสะ จึงไม่มีโทสะปรากฏให้รู้ให้เห็นเท่านั้นเอง

ดังนั้น การเริ่มต้นภาวนาว่า เราจะไม่โกรธบุคคลที่เคยทำร้ายเรา ในขณะที่ไม่ได้พบเจอหน้า ย่อมทำได้ง่ายกว่าการจะไปทำการดับโทสะต่อหน้าบุคคลนั้น ซึ่งเป็นทางเลือกแรกๆ ที่ง่าย เพราะการอบรมจะต้องเป็นไปตามลำดับขั้นจริงๆ การที่จะไปข้ามขั้น ลัดขั้นตอนนั้นจะทำให้การอบรมภาวนาก็จะไร้ผล หรือกลายเป็นสะสมโทสะขึ้นแทนเพราะอินทรีย์ยังมีกำลังอ่อน ก็จะมีผลเสียหาย เพราะโทสะได้เกิดมากมายแล้วอย่างควบคุมไม่ได้ ดังนั้นจึงควรประมาณกำลังอินทรีย์ของตนเองด้วยในระหว่างการอบรมแต่ละขั้น และระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏในขณะนั้นๆ ด้วย เพื่อศึกษาให้ปัญญาเจริญขึ้นต่อไปอีก ...

ขออนุโมทนากุศลจิตทุกท่านครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 6  
 
wannee.s
วันที่ 21 มี.ค. 2555

ท่านให้เมตตา ครู อาจารย์ ก่อน เพราะไม่มีความผูกพัน มีแต่ความเคารพ จะทำให้เมตตาเจริญได้ ค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 7  
 
เซจาน้อย
วันที่ 22 มี.ค. 2555

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

ขอบคุณ และขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 8  
 
สิริพรรณ
วันที่ 28 พ.ย. 2559

เป็นหัวข้อที่ควรศึกษาอย่างละเอียด

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาค่ะ

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ