บวชพระ เอาบุญ ใครได้ ใครเสีย?

 
dets25226
วันที่  21 มี.ค. 2555
หมายเลข  20837
อ่าน  5,090

ด้วยความเคารพอย่างสูง

หาบุญแต่ไหน บวช ๖-๗ วัน ๑๕ วันก็เถอะ ทำอะไรก็ยังไม่ถูก สึกแล้ว ทำกันแต่เป็นประเพณีเฉยๆ ชักไม่เข้าท่า มีศรัทธา แต่ไม่แสวงหาปัญญา ก็ใช่ที่ สุดท้ายแล้ว บวชเอาตังค์ให้พระ สิ้นเปลืองเป็นพัน เป็นหมื่น สึกไปก็ทำตัวเหมือนเดิม ...


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
paderm
วันที่ 21 มี.ค. 2555

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

การบวช หรือ บรรพชา หมายถึง การเว้นทั่ว เว้นทั่วจากกิเลสทั้งปวง ซึ่งจุดประสงค์ ในการบวชที่ถูกต้อง คือเพื่อสละ ละกิเลสประการทั้งปวง ไม่ใช่เพราะประเพณี หรือเหตุอื่นๆ การบวช จึงจะต้องเป็นเรื่องของปัญญาที่เห็นโทษของการครองเรือน จึงสละทุกสิ่งด้วยความเป็นอัธยาศัยที่สะสมมา จึงสละทุกอย่าง และอบรมปัญญาเพียงอย่างเดียว เพื่อพ้นจากทุกข์ ดังนั้น พระพุทธเจ้าทรงตรัสกับภิกษุทั้งหลายว่า หากว่ามีใครถามเธอ ว่า เธอบวชเพื่ออะไร เธอจึงตอบเขาว่า เพื่อกำหนดรู้ทุกข์ คือ รู้ทุกข์ คือ สภาพธรรมที่ปรากฏตามความเป็นจริงว่าเป็นธรรม ไม่ใช่เรา และเป็นไปเพื่อละคลายกิเลสทั้งหมดครับ ดังนั้น การบวชเป็นเพศบรรพชิต จึงต้องมีความจริงใจที่จะบวชเพื่อ สละ ละกิเลสจนหมดสิ้น จึงสละทุกสิ่ง ไม่เป็นดังเช่นคฤหัสถ์อีกแล้วครับ การบวชจึงไม่ใช่เพื่อตามประเพณี ให้ผู้อื่นได้บุญ หรือว่าการบวชจะเป็นการทดแทนคุณ บิดา มารดา นั่นไม่ใช่จุดประสงค์ที่ถูกต้องในการบวช ครับ และประเด็นเรื่องการให้ผู้อื่นบวช แล้วตัวเองจะได้บุญ

บุญ คือ สภาพธรรมที่ดีงาม อันเป็นเครื่องชำระล้างสันดาน จากกิเลส ดังนั้น ขณะที่เป็นบุญ คือ ขณะที่ให้ทาน รักษาศีล เจริญสมถภาวนาและวิปัสสนา ดังนั้น บุญจึงเป็นสภาพจิตของเฉพาะตน ไม่มีใครโอนถ่ายบุญให้กับใครได้ ไม่มีการที่อีกคนหนึ่งทำกุศล แล้วอีกคนจะได้กุศล หากแต่ว่าจะเป็นกุศล เป็นบุญ ก็ที่ใจของแต่ละคนที่เกิดกุศล จิตในขณะนั้นหรือไม่ เช่น เห็นผู้อื่นทำความดี เกิดความยินดี ในกุศลของผู้อื่น การยินดี อนุโมทนาในกุศลของผู้อื่น ก็เป็นบุญของผู้นั้นที่เกิด ครับ

การบวชก็เช่นกัน ไม่มีใครได้บุญ เพราะผู้อื่นบวชเลยทำให้ได้บุญ กุศลของใครก็ของคนนั้น ยกตัอวย่างเช่น ไม่ใช่ว่าเมื่อลูกบวชแล้ว ก็จะทำให้ผู้เป็นบิดา หรือมารดาได้บุญเพราะลูกบวช แต่ต้องไม่ลืมว่า บุญ คือสภาพจิตที่ดีงาม บุญของใครก็ของคนนั้น จิตของใครก็ของคนนั้น หากลูกบวช แต่ไม่ได้ทำกุศลประการใดเลย จะบอกว่าเป็นบุญไม่ได้ครับ และหากผู้ที่บวชประพฤติไม่ดี ผู้เป็นบิดา มารดา ก็ต้องบาปด้วยใช่ไหม คำตอบก็คือ ไม่ใช่ เพราะ บาปของใครก็ของคนนั้นครับ โดยนัยตรงกันข้าม ก็ไม่ได้หมายความว่าเมื่อลูกบวช บิดา มารดา นึกถึงตอนที่ลูกบวชด้วยความยินดี ที่เป็นโลภะก็ได้ขณะนั้น แทนที่จะเป็นบุญ ก็เป็นอกุศลแทน ไม่ใช่บุญแล้ว ครับ

ทุกอย่าง จึงสำคัญที่ใจของตนเอง ว่าจะเป็นบุญ หรือ ไม่เป็นบุญ ไม่ได้อยู่ที่คนอื่นที่จะให้บุญเราได้ ครับ เพราะบุญ ก็คือ ใจที่ดีของแต่ละคนที่เกิดขึ้นครับ

บวชพระเอาบุญ ใครได้ ใครเสีย ... บวช ...ไม่ประพฤติตามพระวินัย ผู้บวชเสียกุศล เจริญ อกุศล ได้อกุศล หากทำกาละ ได้อบายภูมิเป็นที่เกิด ผู้ที่ให้บวช โดยไม่มีความเข้าใจถูกต้องในการให้บวช ขณะนั้น เสียความเห็นถูก ได้ความเข้าใจผิด ได้อกุศล ครับ

ขออนุโมทนาที่ร่วมสนทนา

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
khampan.a
วันที่ 21 มี.ค. 2555

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

การบวช เป็นเรื่องที่ยากมาก และการยินดีในการบวชก็ไม่ใช่เรื่องง่ายเช่นเดียวกัน ยุคนี้ สมัยนี้ ไม่ควรบวชเป็นอย่างยิ่ง เพราะเป็นอันตรายมากทีเดียว ถ้าหากล่วงละเมิดพระธรรมวินัย ไม่ประพฤติตามพระวินัย เป็นผู้ย่อหย่อน ไม่รักษาพระวินัยที่พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงบัญญัติ ขาดความเคารพยำเกรงในพระรัตนตรัย ย่อมเป็นผู้มีอบายภูมิเป็นที่ไปในเบื้องหน้าเท่านั้น เมื่อต้องอาบัติแล้ว ไม่กระทำคืนตามพระวินัย ก็เป็นเครื่องกั้นการบรรลุมรรคผลนิพพาน กั้นการไปสู่สุคติด้วย แทนที่จะได้กระทำกิจที่ควรทำที่จะเป็นที่พึ่งสำหรับตนเอง แต่กลับไปเพิ่มอกุศล เพิ่มความไม่รู้ เพิ่มเหตุที่ไม่ดีให้กับตนเองที่จะทำให้ได้รับผลที่ไม่ดีในอนาคตข้างหน้า เป็นเรื่องที่น่าพิจารณาเป็นอย่างมากทีเดียว บุคคลในครั้งพุทธกาล ท่านได้ฟังพระธรรม ได้เข้าใจพระธรรมจากพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เป็นผู้เห็นโทษของการอยู่ครองเรือน ว่า คับแคบ (คับแคบด้วยอกุศล คับแคบด้วยกิเลส) มีแต่จะเป็นเครื่องพอกพูนกิเลส ให้หนาแน่นขึ้น แล้วมีอัธยาศัยน้อมไปที่จะขัดเกลากิเลสให้ยิ่งกว่าเพศคฤหัสถ์ จึงสละทุกสิ่งทุกอย่าง สละทรัพย์สมบัติ สละวงศาคณาญาติ แล้วออกบวชเป็นบรรพชิต ด้วยความจริงใจ ด้วยความตั้งใจที่จะขัดเกลากิเลสจริงๆ เพื่อการรู้แจ้งอริยสัจจธรรมถึงความเป็นพระอริยบุคคลขั้นต่างๆ จนกระทั่งสูงสุดถึงความเป็นพระอรหันต์ นี้คือ จุดประสงค์ของการบวชจริงๆ ไม่ใช่เพื่ออย่างอื่นเลย

จึงควรอย่างยิ่งที่จะได้ฟังพระธรรม ศึกษาพระธรรมให้เข้าใจจริงๆ ไม่ใช่เรื่องที่จะกระทำตามๆ กันด้วยความไม่รู้ บวชแล้ว ญาติโยมพากันเอาเงินใส่ซองถวายกับพระบวชใหม่ นี้ก็ไม่ถูกต้องโดยประการทั้งปวง เป็นการกระทำที่ทำให้พระเป็นอาบัติตั้งแต่บวชเสร็จแล้ว เพราะพระภิกษุรับเงินรับทองไม่ได้

ดังนั้น การได้เกิดมาเป็นมนุษย์ จะเป็นหญิงหรือชาย ก็ตาม ถ้าหากว่ามีโอกาสที่จะได้ศึกษาพระธรรมฟังพระธรรม อบรมเจริญปัญญา พร้อมทั้งเจริญกุศลประการต่างๆ นั่น ย่อมเป็นชีวิตที่มีค่าเป็นอย่างมาก โดยไม่จำเป็นต้องบวชก็ได้ เพราะเรื่องของการบวช เป็นเรื่องของอัธยาศัยที่น้อมไปในเพศบรรพชิตจริงๆ ไม่มีใครสามารถทราบได้ว่าจะละจากโลกนี้ไปเมื่อใด และเมื่อละจากโลกนี้ไปแล้ว จะไปเกิดในภพภูมิใด ถ้าหากไปเกิดในอบายภูมิ ย่อมหมดโอกาสที่จะได้ฟังพระธรรม ศึกษาพระธรรม พิจารณาพระธรรม ไม่มีโอกาสที่จะอบรมเจริญปัญญาเพื่อรู้สภาพธรรมตามความเป็นจริงได้ ฉะนั้นแล้ว ทุกๆ วันจึงเป็นโอกาสที่ดี ที่จะทำชีวิตที่ยังมีอยู่ ยังเหลืออยู่นี้ ให้เป็นชีวิตที่มีค่ามากที่สุด ด้วยการเป็นคนดีและฟังพระธรรมศึกษาพระธรรมให้เข้าใจ ครับ

ขอเชิญคลิกอ่านข้อความสำหรับพิจารณาเพิ่มเติมได้ที่นี่ครับ

การบวช เป็นเรื่องยาก [คาถาธรรมบท]

..ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ...

 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
JANYAPINPARD
วันที่ 21 มี.ค. 2555

การออกบวชเป็นบรรพชิตเป็นเรื่องที่ทำได้ยากเพราะต้องสละทุกสิ่งทุกอย่าง เช่น สละทรัพย์สมบัติที่มีอยู่ทั้งหมด ละญาติพี่น้อง ละความสะดวกสบาย ละความสุขอย่างคฤหัสถ์ทั้งหลาย เป็นต้น สิ่งที่ทำได้ยากต่อมา ก็คือ การยินดียิ่งในการประพฤติพรหมจรรย์ ถ้าไม่มีอัธยาศัยของบรรพชิต ย่อมอยู่เป็นทุกข์ เพราะต้องฝืนกับอัธยาศัยของตน ฉะนั้น การยินดียิ่งในเนกขัมมะจึงเป็นสิ่งที่ทำได้ยาก เพราะถ้าขาดปัญญาเห็นประโยชน์ของบรรพชาแล้ว ก็อยู่ไม่ได้ สิ่งที่ทำได้ยากต่อมาก็คือ การเป็นบรรพชิตที่ดี มีการประพฤติธรรมสมควรแก่ธรรมก็เป็นสิ่งที่ทำได้ยาก ถ้าบวชเข้าไปแล้วไม่ประพฤติตามหลักธรรมคำสอน ย่อมมีโทษมาก เท่ากับว่าเป็นผู้ที่ขาดความเคารพ ขาดความจริงใจต่อพระศาสดา พระธรรม พระสงฆ์ ขาดความตรงต่อตัวเองที่ว่า ปฏิญาณตน จะเป็นสมณะเชื้อสายพระศากยะบุตร แต่ไม่ประพฤติตามธรรมวินัยที่พระพุทธองค์ทรงบัญญัติไว้

การบวชเป็นสามเณร คือ ผู้ที่ประสงค์จะประพฤติพรหมจรรย์ แต่มีอายุไม่ครบ ๒๐ จึงบวชเป็นสามเณร แต่ถ้าหากมีอายุเกิน ๒๐ ประสงค์จะบวชเป็นสามเณรก็ได้ แต่ สามเณรต้องอยู่ในความปกครองของพระภิกษุ ถ้าได้อุปัชฌาย์หรืออาจารย์ที่ไม่ประพฤติธรรม เป็นผู้ทุศีล ก็ไม่ควรบวช เพราะจะทำให้เป็นสมณะทุศีล อลัชชี ย่อมมีอบายเป็น ที่ไปเบื้องหน้า


ประเพณีที่ว่าบวช เป็นบรรพชิตเพียง ๓ เดือน หรือ ๑๕ วัน

ไม่มีในพระไตรปิฎกและอรรถกถา

(ข้อความโดย study)

 
  ความคิดเห็นที่ 4  
 
dets25226
วันที่ 21 มี.ค. 2555

ขอบคุณ และขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 5  
 
kinder
วันที่ 21 มี.ค. 2555

ขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 6  
 
wannee.s
วันที่ 21 มี.ค. 2555

ถ้าบวชด้วยความไม่รู้ ก็เป็นอกุศล การบวชเป็นพระภิกษุ ไม่ใช่ของง่าย ต้องมีอัธยาศัยใหญ่ และ สะสมบุญในอดีตมาด้วย ค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 7  
 
เซจาน้อย
วันที่ 22 มี.ค. 2555

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

ขอบคุณ และขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 8  
 
เมตตา
วันที่ 22 มี.ค. 2555

การบวช เป็นเรื่องยาก เพราะฉะนั้น ผู้ที่บวชจึงเป็นผู้ที่มีอัธยาศัยที่ได้สะสมมาแล้วที่จะบวช ที่จะสละทรัพย์สมบัติ และญาติพี่น้อง เพราะท่านเห็นโทษของกาม บวชเพื่อขัดเกลากิเลส ดังนั้น พระวินัยบัญญัติที่พระผู้มีพระภาคทรงบัญญัติจึงเป็นศีลที่เมื่อบรรพชิตประพฤติปฏิบัติตามแล้ว ความประพฤติเป็นไปในการไหวมือไหวเท้าย่อมงดงามเป็นไปในทางที่ถูกที่ควร แม้เพศคฤหัสถ์ก็สามารถที่จะประพฤติปฏิบัติตามพระวินัยได้ตามความเข้าใจตามความสามารถของตน เพื่อจะได้มีความประพฤติทั้งทางกาย และวาจาสุจริตค่ะ

...ขอบพระคุณและขออนุโมทนาในกุศลจิตของ อ.คำปั่น และ อ.ผเดิม อย่างยิ่งค่ะ...

และขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่าน

 
  ความคิดเห็นที่ 9  
 
jaturong
วันที่ 23 มี.ค. 2555

ขอบคุณ และขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 10  
 
orawan.c
วันที่ 24 มี.ค. 2555

ขอบคุณ และขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 11  
 
lovedhamma
วันที่ 25 มี.ค. 2555

ขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 12  
 
Thanapolb
วันที่ 29 มี.ค. 2555

แต่ประเพณีของชาวพุทธ ที่เห็นทั่วไปในเมืองไทย แทบทุกภาคก็นิยมจัดงานบวช ไม่ว่าจะบอกบวชแทนคุณผู้มีพระคุณ บวชช่วงภาคฤดูร้อน บวชในวันสำคัญของบุคคลสำคัญ บวชไม่นานก็สึกออกมาสู่เพศฆารวาสเหมือนเดิม หากเราผู้ฟังธรรมเข้าใจบ้างจะแสดงความคิดเห็นว่าถ้าบวชเข้าไปแล้ว ไม่ประพฤติตามหลักธรรมคำสอนย่อมมีโทษ เพราะยังไม่ได้ศึกษาเหตุผลการบวชอันควร คนส่วนมากจะไม่ฟัง และเขาจะมองว่าไปขัดขวางบุญเขาอีก หากเราจะแสดงความคิดเห็นที่ไม่เป็นด้วยอคติ และไม่เป็นปัจจัยให้เขาเกิดอกุศล คำกล่าวที่เหมาะสม ควรกล่าวอย่างไรบ้าง

แล้วการไม่ไปร่วมงานบวชที่เขาบวชกันแค่ตามประเพณี เขาก็จะมองว่าเราแปลก ถ้าเราจำต้องไปร่วมเพราะเครือญาติ คนสนิท ควรพิจารณาอย่างไรที่จะเป็นไปด้วยกุศล และหากต้องได้สนทนากับผู้ไปร่วมงาน ควรประพฤติทางวาจา ทางใจอย่างไร

 
  ความคิดเห็นที่ 13  
 
wannee.s
วันที่ 30 มี.ค. 2555

คำพูดใด พูดไปแล้วกุศลเจริญทั้งเขาและเรา ควรพูด ตรงกันข้าม ถ้าพูดแล้ว ทำให้อกุศลเขาเจริญ และ เราด้วย ก็ไม่ควรพูด ค่ะ

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ