ผลดีจากการฝึกจิต
ช่วยขยายความให้เข้าใจชัดเจนหน่อยครับ จิตที่ตั้งไว้ชอบ ย่อมอำนวยให้ได้ผลที่ประเสริฐยิ่ง ที่มารดาบิดาก็ทำให้ไม่ได้หรือแม้ญาติเหล่าอื่นก็ทำให้ไม่ได้
ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น
จากพระคาถานี้ เป็นพระพุทธพจน์ที่ตรัสไว้ในคาถาธรรมบท เรื่องพระโสไรยะเถระ ซึ่งเรื่องราวพอสังเขปมีดังนี้ครับ
มีเศรษฐีบุตรคนหนึ่ง ได้เห็นพระมหากัจจายานะ ผู้ทีรูปร่างงดงาม เกิดจิตไม่แยบคาย คิดว่า ผู้นี้ ควรเป็นภริยาของเรา เป็นต้น เพราะคิดดังนั้น เพศเปลี่ยนจากชาย เป็น หญิงทันที เมื่อเขาเป็นหญิงแล้ว ไม่มีใครจำได้ เขาจึงหนีไปที่เมืองตักสิลา ได้ถึงความเป็นภรรยาของเศรษฐีเมืองตักสิลา และได้คลอดบุตรชาย ๒ คน เท่ากับว่า ท่านมีลูก ๔ คน คือ เมื่อเป็นผู้ชาย ๒ คน และ เมื่อเป็นผู้หญิง คลอดบุตรเอง อีก ๒ คน ต่อมา เพื่อนสนิท จากเมืองอื่นที่เคยเป็นเพื่อนสมัยที่ตนเองเป็นผู้ชายนั้นมา จึงได้เรียกมา และเล่าความจริงว่า ตนเองเป็นบุตรเศรษฐี และเพราะเกิดความคิดไม่ดี ต่อ พระมหากัจจายานะ จึงเปลี่ยนเพศเป็นผู้หญิง เพื่อนจึงแนะนำให้ไปขอขมาอดโทษกับพระมหากัจจายานะ เขาจึงได้อดโทษ เมื่ออดโทษเสร็จ พระมหากัจจายานะ ยกโทษให้ เขาจึงเปลี่ยนเพศจากผู้หญิงกลับมาเป็นผู้ชายอีกครั้ง ถึงความสลดใจ จึงออกบวชในสำนักของพระมหากัจจายานะ ได้นามใหม่ว่า พระโสไรยะเถระ คนทราบเรื่องราวความเป็นไปของท่านก็มาสอบถามว่า ท่านรัก เยื่อใยบุตรคนไหน ท่านพระโสไรยะ ตอบว่า ในบุตรที่เกิดจากท้องของตนเอง เมื่อคนเข้ามาถามบ่อยๆ ท่านเกิดความสังเวช บำเพ็ญสมณธรรม บรรลุเป็นพระอรหันต์ เมื่อใครมาถามอีก ท่านก็กล่าวว่า ไม่เยื่อใยในบุตรแล้ว ชนทั้งหลาย เพ่งโทษว่า พระโสไรยะเถระ พยากรณ์พระอรหัต พระพุทธเจ้าตรัสว่า บุตรของเรา ตัดความเยื่อใยในบุตรทั้งหลายและสิ่งต่างๆ ได้แล้ว เมื่อได้บรรลุมรรค คือ การตั้งจิตไว้ชอบ ซึ่งเป็นสิ่งที่มารดา บิดา ไม่สามารถให้ได้ พระองค์ตรัสพระคาถาที่ว่า
[เล่มที่ 40] พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย คาถาธรรมบท เล่ม ๑ ภาค ๒ ตอน ๑ - หน้าที่ 453
"มารดาบิดา ก็หรือว่าญาติเหล่าอื่น ไม่พึงทำเหตุนั้น (ให้ได้) , (แต่) จิตอันตั้งไว้ชอบแล้ว พึงทำเขาให้ประเสริฐกว่าเหตุนั้น."
อธิบายพระคาถาดังนี้ครับ
มารดา บิดา หรือ ญาติพี่น้อง สามารถทำให้บุตร ได้เพียงให้ทรัพย์สมบัติและความสุขต่างๆ ทั่วๆ ไปเพียงชาตินี้ชาติเดียวเท่านั้น ให้ได้ทรัพย์สมบัติทางโลกเท่านั้น แต่ไม่สามารถให้คุณธรรม มีปัญญา เป็นต้น อันเป็นไปเพื่อการดับกิเลส บรรลุมรรคผลได้ นอกจาก จิตของตนเอง ที่ตั้งใว้ชอบ ตั้งไว้ด้วยดี ในกุศลธรรมประการต่างๆ จิตที่ตั้งไว้ชอบ คือ กุศลจิตเกิดขึ้น ขณะนั้น ย่อมนำมาซึ่งความสุขในโลกนี้และความสุขในโลกหน้า มีการเกิดในภพภูมิที่ดี มีสวรรค์ เป็นต้น อันเกิดจากจิตที่เป็นกุศลของตนเอง อันเป็นการตั้งจิตไว้ชอบ ซึ่ง จิตของตนเองเท่านั้นที่ทำได้ ที่ทำให้ความสุขในโลกหน้า บิดา มารดา ญาติพี่น้อง ไม่สามารถให้สิ่งเหล่านี้ได้ และคุณธรรมที่จะทำให้พ้นจากทุกข์ มีการพ้นจากทุกข์ที่เกิดจากกิเลส บิดา มารดา ก็ไม่สามารถให้ได้ นอกจากจิตของตนเองที่ตั้งไว้ชอบ ด้วยกุศลจิตที่ประกอบด้วยปัญญา จนสามารถดับกิเลสได้นั่นเอง ที่จะสามารถทำให้พ้นจากทุกข์ทั้งปวง ดังเช่น ท่านพระโสไรยะเถระ ที่ท่านพ้นจากทุกข์ทั้งปวง เมื่อเป็นพระอรหันต์ ไม่ต้องห่วงใย และทุกข์ในบุตรของตนอีก เพราะจิตที่ตั้งไว้ชอบในกุศลธรรม และปัญญาของท่านเองครับ
ใครๆ ไม่ว่า บิดา มารดา ญาติทั้งหลาย ก็ไม่สามารถทำให้พ้นจากทุกข์นี้ได้ ครับ การตั้งจิตไว้ชอบ คือ ตั้งไว้ชอบในกุศลธรรมประการต่างๆ จึงไม่มีตัวเราที่จะพยายามตั้งไว้ให้ชอบ หรือ มีตัวเราที่จะพยายามฝึกจิต แต่ขณะใดที่กุศลจิตเกิดก็ตั้งไว้ชอบแล้วในขณะนั้น ซึ่งหนทางการให้จิตตั้งไว้ชอบในกุศลธรรม ก็คือ อาศัยการฟังพระธรรม ศึกษาพระธรรม อันเป็นการอบรมเหตุให้เกิดกุศลจิตและเกิดปัญญา และเมื่อปัญญาเจริญขึ้น จิตก็ตั้งไว้ชอบมากขึ้น ด้วยปัญญาที่เจริญขึ้นนั่นเองครับ ดังนั้น ไม่มีใครที่จะทำให้เราดี หรือ ร้าย นอกเสียจากใจของเราเอง ซึ่งจะดี ตั้งจิตไว้ชอบได้ ด้วยการศึกษาพระธรรม ครับ
ขออนุโมทนาที่ร่วมสนทนา
จิตที่ตั้งไว้ชอบ คือมีความมั่นคงแน่วแน่ในการบำเพ็ญกุศล บารมีทั้ง ๑๐ ประการ จุดประสงค์ เพื่อการออกจากสังสารวัฏฏ์ ค่ะ
ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น
พระธรรมที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดงตลอด ๔๕ พรรษานั้น มีความละเอียดลึกชึ้งเป็นไปเพื่อประโยชน์เกื้อกูลแก่ผู้ที่ได้ศึกษาและมีความเข้าใจไปตามลำดับอย่างแท้จริง เพราะทุกส่วนของคำสอนที่พระองค์ทรงแสดงนั้น เป็นเครื่องเตือนเพื่อความเป็นผู้ไม่ประมาทในชีวิต เพื่อความประพฤติที่ดีงามทั้งทางกาย ทางวาจา และทางใจ
ขณะที่มีความประพฤติที่เรียบร้อยดีงาม วิรัติงดเว้นจากทุจริตประการต่างๆ ไม่ล่วงอกุศลกรรมบถ ๑๐ ประการ มีการฆ่าสัตว์ ลักทรัพย์ ประพฤติผิดในกามเป็นต้น, ตั้งจิตไว้ชอบในกุศลกรรมบถ ๑๐ ประการ มีการงดเว้นจากการฆ่าสัตว์ เป็นต้น เป็นความถูกต้อง ดีงาม เป็นสิ่งที่สมควร เป็นความประพฤติที่เป็นไปเพื่อระงับซึ่งอกุศลธรรมทั้งหลาย
ดังนั้น ถ้าจะกล่าวโดยรวมแล้ว สภาพธรรมที่ดีงามที่เกิดขึ้นเป็นไปในชีวิตประจำวัน ไม่ว่าจะเป็นการให้ทาน การสละวัตถุสิ่งของเพื่อประโยชน์สุขแก่ผู้อื่น การมีเมตตา มีความเป็นมิตร มีความเป็นเพื่อนหวังดีต่อผู้อื่นทั้งต่อหน้าและลับหลัง ไม่หวังร้าย พร้อมที่จะให้ความช่วยเหลือผู้อื่นได้ทุกเมื่อ ตลอดจนถึงความเป็นผู้มีความประพฤติที่ดีงามทั้งทางกาย ทางวาจาและทางใจ ทำในสิ่งที่ควรทำ เว้นในสิ่งที่ควรเว้น ไม่สร้างความเดือดร้อนให้แก่ผู้อื่น พร้อมทั้งการฟังพระธรรม ศึกษาพระธรรมอบรมเจริญปัญญาในชีวิตประจำวัน เป็นต้น เป็นบุญ เป็นกุศล เป็นการประพฤติธรรม เป็นการตั้งจิตไว้ชอบ เป็นการฝึก เป็นไปเป็นเพื่อชำระจิตใจของตนให้สะอาดจากอกุศล นั่นเอง และผลดีสูงสุดของการฝึกจิต (ซึ่งไม่มีตัวตนที่ฝึก แต่เป็นความเจริญขึ้นของกุศลธรรม จากที่เคยเป็นอกุศลมากๆ ก็เป็นกุศลยิ่งขึ้น) คือ สามารถรู้แจ้งอริยสัจจธรรมดับกิเลสได้ตามลำดับขั้น จนกระทั่งสูงสุดถึงความเป็นพระอรหันต์ดับกิเลสทั้งปวงได้อย่างหมดสิ้น อันเป็นการได้ที่พึ่งที่ได้โดยยากแสนยาก ครับ.
...ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ...