ทรงเปรียบเทียบอาการเก็บดอกไม้กับอาการในการปฏิบัติธรรม
ขอช่วยอธิบายเรื่อง ทรงเปรียบเทียบอาการเก็บดอกไม้กับอาการในการปฏิบัติธรรม ด้วยครับ
ชอบคุณครับ
ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น
มาจาก เรื่อง ฉัตตปาณิอุบาสก
เรื่องราวโดยย่อคือ พระอานนท์ เข้าไปแสดงธรรมในพระราชวัง ให้พระนางมัลลิกาและธิดาและญาติของพระนางฟัง ซึ่งพระอานนท์กราบทูลพระพุทธเจ้าว่า พระนางมัลลิกาเทวี ฟังโดยเคารพ แต่ ธิดาและพระญาติของพระองค์ไม่ฟังโดยเคารพ ไม่ตั้งใจฟัง พระพุทธเจ้าจึงตรัสว่า อานนท์ ธรรมของเราที่กล่าวแล้ว ย่อมไม่มีผลกับผู้ที่ไม่ตั้งใจฟัง ไม่น้อมประพฤติปฏิบัติตาม เปรียบเหมือนดอกไม้มีสี แต่ไม่มีกลิ่น ส่วนผู้ใดตั้งใจฟังพระธรรม น้อมประพฤติปฏิบัติ ย่อมมีผลมากกับผู้นั้น เปรียบเหมือนดอกไม้ที่มีกลิ่น พระพุทธเจ้าได้ตรัสพระคาถาว่า
พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย คาถาธรรมบท เล่ม ๑ ภาค ๒ ตอน ๒ - หน้าที่ 70
"ดอกไม้งามมีสี (แต่) ไม่มีกลิ่น (หอม) แม้ฉันใด, วาจาสุภาษิตก็ฉันนั้น ย่อมไม่มีผลแก่ผู้ไม่ทำอยู่; (ส่วน) ดอกไม้งาม มีสีพร้อมด้วยกลิ่น (หอม) แม้ฉันใด, วาจาสุภาษิตก็ฉันนั้น ย่อมมีผลแก่ผู้ทำดีอยู่."
พระธรรมของพระพุทธเจ้าที่ทรงแสดง เป็นวาจาที่ประเสริฐเป็นวาจาสุภาษิต พระธรรมของพระพุทธเจ้า จึงเปรียบเหมือนดอกไม้ แต่ผู้ใด ไม่น้อมประพฤติปฏิบัติตามพระธรรม มีการตั้งใจฟัง และสละ ขัดเกลากิเลส วาจาสุภาษิต คือ พระธรรมที่พระพุทธเจ้านั้น ก็ไม่เป็นประโยชน์กับเขาเลย ดังเช่น แม้พระธรรมของพระพุทธเจ้าจะเป็นดอกไม้ แต่ผู้นั้นไม่ประพฤติปฏิบัติตาม ก็เหมือนดอกไม้ที่ไร้กลิ่น ไม่มีกลิ่น ไม่เป็นประโยชน์กับผู้ที่กล่าวธรรม หรือ ได้ยินได้ฟัง แต่ไม่ตั้งใจฟังเคารพธรรมและไม่น้อมประพฤติปฏิบัติตามนั่นเองครับ แต่ผู้ใด เมื่อได้อ่าน ได้ศึกษาพระรรมแล้ว ตั้งใจฟังและ เกิดความเข้าใจ เกิดปัญญา จึงปรุงแต่งให้น้อมประพฤติปฏิบัติตามพระธรรม พระธรรม ย่อมมีประโยชน์กับผู้นั้น ดังเช่นดอกไม้นั้นที่สวยและก็มีกลิ่นหอมด้วย ครับ
มาจาก เรื่อง ภิกษุ ๕๐๐ รูปที่ขวนขวายในปฐวีกถา
ซึ่งเรื่องราวพอสังเขป คือ ภิกษุกลุ่มหนึ่ง สนทนากัน แต่เรื่องที่ได้ไปมา ว่าแผ่นดินที่นั้นเป็นอย่างนั้น เป็นอย่างนี้ ที่นั้นเป็นที่ลุ่ม เป็นที่ดอน เมื่อพระพุทธเจ้าเสด็จมา ทรงตรัสถามว่า พวกเธอสนทนากันด้วยเรื่องอะไร ภิกษุทั้งหลายกราบทูลเรื่องนั้น พระพทธเจ้าตรัสว่า เธอสนทนากันในเรื่องแผ่นดินภายนอก อันไม่สมควร เธอควรสนทนาและพิจารณาแผ่นดินภายใน คือ กายของเธอ ว่าเป็นอย่างไร ตามความเป็นจริง ทรงตรัสพระคาถาว่า
[เล่มที่ 41] พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย คาถาธรรมบท เล่ม ๑ ภาค ๒ ตอน ๒ - หน้าที่ 5
"ใคร จักรู้ชัดซึ่งแผ่นดินนี้ และยมโลกกับมนุสสโลกนี้ พร้อมทั้งเทวโลก, ใคร จักเลือกบทธรรม อันเราแสดงดีแล้ว เหมือนนายมาลาการผู้ฉลาดเลือกดอกไม้ฉะนั้น. พระเสขะจักรู้ชัดแผ่นดินและยมโลกกับมนุสสโลกนี้พร้อมทั้งเทวโลก. พระเสขะจักเลือกบทธรรมอันเราแสดงดีแล้ว เหมือนนายมาลาการผู้ฉลาดเลือกดอกไม้ฉะนั้น."
อธิบายดังนี้
นายมาลาการ คือ ช่างดอกไม้ ย่อมเป็นผู้ฉลาด คือ เมื่อเข้าไปในสวน ย่อมเลือกเก็บดอกไม้ที่ดี เว้นดอกไม้ที่อ่อน สัตว์เจาะ ดอกไม่สวย ไม่ดี แต่เลือกดอกไม้ที่ดีๆ ฉันใด ผู้มีปัญญา ย่อมพิจารณาเลือกธรรมด้วยสติและปัญญา เลือกบทพระธรรมอันเป็นไปเพื่อความเจริญขึ้นของกุศลธรรมและปัญญา มีการเจริญสติปัฏฐาน ๔ อินทรีย์ ๕ พละ ๕ โพธิปักขิยธรรม สรุปไปได้ว่า อาศัยการฟังพระธรรม ศึกษาพระธรรมเมื่อปัญญาเจริญขึ้น ไม่มีเราที่จะเลือกบทพระธรรม แต่สติและปัญญาที่เจริญขึ้นย่อมเกิดบทพระธรรมที่ประเสริฐ คือ เกิดสติและปัญญา มีการเจริญสติปัฏฐาน ขณะที่เกิดรู้ความจริงในขณะนั้น ก็ชื่อว่าเลือกบทพระธรรมที่ดี ถูกต้อง ดังเช่น นายมาลาการผู้เป็นช่างดอกไม้ เลือกดอกไม้ที่ดีนั่นเองครับ ย่อมรู้ชัด แผ่นดินภายใน คือ อัตภาพ คือ จิต เจตสิก รูป ว่าเป็นแต่เพียงธรรม ไม่เที่ยง เป็นทุกข์และเป็นอนัตตา ครับ
ขออนุโมทนาที่ร่วมสนทนา
ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น
พระธรรมที่พระสัมมาสัมพุทธทรงแสดงไว้ตลอด ๔๕ พรรษา นั้น เป็นวาจาสุภาษิต เป็นคำจริงทุกคำที่พระองค์ตรัสไว้ดีแล้ว ทำให้ผู้ฟังผู้ศึกษาได้เข้าใจสิ่งที่มีจริงตามความเป็นจริง คำสอนของพระองค์นั้น ย่อมจะเป็นประโยชน์แก่ผู้ได้ศึกษาและน้อมประพฤติปฏิบัติตามเท่านั้น แต่จะไม่เป็นประโยชน์แก่ผู้ที่ไม่ได้ศึกษา หรือ ได้ศึกษาแต่ขาดความละเอียดรอบคอบ และ ลืมจุดประสงค์ในการศึกษา, เพราะการศึกษาพระธรรมนั้น จุดประสงค์ ก็เพื่อขัดเกลากิเลสและรู้สภาพธรรมที่มีจริงในขณะนี้ตามความเป็นจริง ไม่ใช่ไปเพิ่มกิเลสหรือเพิ่มความไม่รู้ให้กับตนเอง ถ้าลืมจุดประสงค์ในการศึกษาหรือตั้งจิตไว้ผิดในการศึกษา ก็ไม่ได้รับประโยชน์จากพระธรรมเลย
เพราะฉะนั้น เมื่อได้ศึกษาพระธรรมแล้ว ก็ควรที่จะพิจารณาอยู่เสมอว่า กุศลประการต่างๆ ในชีวิตประจำวัน เพิ่มขึ้นบ้างหรือไม่ ความเข้าใจเพิ่มขึ้นบ้างหรือไม่ ซึ่งจะเป็นไปเพื่อการเจริญกุศล ขัดเกลากิเลสของตนยิ่งๆ ขึ้นไป อันเป็นผลมาจากการศึกษาพระธรรมและมีความเข้าใจที่ค่อยๆ เจริญขึ้นนั่นเอง ครับ.
...ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ...
ในธรรมบทแสดงไว้ว่า ภิกษุรูปหนึ่งเป็นลูกศิษย์ของพระสารีบุตร ไม่สามารถบรรลุธรรม เพราะการพิจารณาอสุภะ พระพุทธเจ้าทรงรู้อัธยาศัย ให้ภิกษุรูปนั้นพิจารณาดอกไม้ ท่านก็พิจารณาถึงดอกไม้ว่าไม่เที่ยง ท่านก็ได้บรรลุเป็นพระอรหันต์ ค่ะ
จากเรื่องสัทธวิหาริกของพระสารีบุตร ค่ะ
อนุโมทนา
รู้วิชาการทั้งหลาย รู้จากสิ่งที่มีอยู่ภายนอก จำเอาบ้าง เชื่อตามบ้าง คิดเอาบ้าง เรียนรู้ไม่รู้จบจริงๆ ครับ แต่รู้เรื่องรูปนามภายในนี้ ต้องอาศัยการฟังจากผู้รู้ถูก รู้จริงแล้วพิจรณาเห็นตามจริงด้วยปัญญาของตน มีโอกาสเรียนจบ แม้จะเรียนนาน กี่ภพกี่ชาติก็ต้องเพียร และอดทน จริงๆ ครับ
กล่าวให้กำลังใจตนเองครับ