กราบพระแล้วอธิษฐานแบบนี้เหมาะสมหรือไม่ อย่างไรค่ะ
ดิฉันเพิ่งเริ่มศึกษาและฟังธรรมจาก ท่านอ.สุจินต์ ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมาก่อนเข้านอนเวลาที่ดิฉันกราบพระมักตั้งจิตอธิฐานว่า " ขออานิสงส์ผลบุญที่ข้าพเจ้าทำไปแล้วนี้จงเป็นอุปนิสัยปัจจัยให้ข้าพเจ้าเป็นผู้มีสัมมาทิฏฐิ ได้มีโอกาสฟังธรรม สามารถที่จะอบรมเจริญปัญญาจนเป็นผู้มีความเข้าใจ มีความเห็นที่ถูกต้อง ตรงตามสภาพความเป็นจริงของธรรมที่กำลังปรากฏด้วยเทอญ "
ธรรมชาติของจิตมีกิจหน้าที่อีกอย่างหนึ่ง คือ สะสมสันดานของตนด้วยชวนวิถี การกระทำของผู้ถามเป็นไปตามการสะสม และจะเป็นอุปนิสัยปัจจัยให้มีการกระทำอย่างนี้อีกแต่ปัจจัยที่จะทำให้เป็นผู้มีสัมมาทิฏฐิเพราะการฟังพระธรรมการสนทนาธรรม การอบรมเจริญปัญญา จึงจะมีความเห็นถูกต้องตรงตามสภาพธรรมตามความเป็นจริง ถ้ามีการขอเพียงอย่างเดียวแต่ไม่ฟังพระธรรม ไม่สามารถมีปัญญาเห็นถูกต้องตรงตามความเป็นจริงได้
ขอนอบน้อมแด่พระรัตนตรัย
ดิฉันเพิ่งเริ่มศึกษาและฟังธรรมจากท่าน อ.สุจินต์ ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมาก่อนเข้านอน เวลาที่ดิฉันกราบพระ มักตั้งจิตอธิษฐานว่า " ขออานิสงส์ผลบุญที่ข้าพเจ้าทำไปแล้วนี้ จงเป็นอุปนิสัยปัจจัยให้ข้าพเจ้าเป็นผู้มีสัมมาทิฏฐิ ได้มีโอกาสฟังธรรม สามารถที่จะอบรมเจริญปัญญาจนเป็นผู้มีความเข้าใจ มีความเห็นที่ถูกต้อง ตรงตามสภาพความเป็นจริงของธรรมที่กำลังปรากฏด้วยเทอญ "
การตั้งใจมั่น (อธิษฐาน) ด้วยความเห็นถูก กับความตั้งใจมั่นด้วยความเห็นผิดต่างกัน ดังนั้น คำว่า อธิษฐานบารมี ไม่ได้หมายถึง การขอ แต่หมายถึงความตั้งใจมั่นอันเกิดจากความเข้าใจพระธรรมจนเห็นโทษของกิเลสและสังสารวัฏฏ์ ดังนั้นเมื่อทำกุศลทาง กาย วาจา และใจ ย่อมน้อมบุญไปเพื่อออกจากสังสารวัฏฏ์หรือเพื่อดับกิเลส หรือ น้อมบุญไปเพื่อมีปัญญา พบหนทางที่ถูกครับ ดังนั้นการอธิษฐาน ไม่ใช่แค่ตอนกราบพระ แต่อธิษฐานบารมีต้องเป็นขณะที่เจริญกุศล และแสดงความมั่นคงออกมาทั้งกาย วาจาและใจด้วย เช่น ฟังพระธรรม เห็นโทษของกิเลสและอบรมบารมีในชีวิตประจำวัน ขออนุโมทนาที่มีความตั้งใจในทางที่ถูก และขอให้คุณได้น้อมจิตไปเมื่อทำบุญอะไรก็ตามเพื่ออกจากสังสารวัฏฏ์ อันเป็นอธิษฐานบารมีครับ ดังข้อความในพระไตรปิฎก
เรื่อง อธิษฐานบารมีต้องเข้าใจหนทางและน้อมบุญไปเพื่อดับกิเลส
พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย มหานิทเทส เล่ม ๕ ภาค ๒ - หน้าที่ 474
ว่าด้วยทำบุญต้องมุ่งนิพพาน
[๘๒๖] คำว่า นรชนพึงเป็นผู้มีใจน้อมไปในนิพพาน ความว่า
นรชนบางคนในโลกนี้ ให้ทาน สมาทานศีล รักษาอุโบสถกรรม เข้าไป
ตั้งไว้ซึ่งน้ำดื่มน้ำใช้ กวาดบริเวณ ไหว้พระเจดีย์ บูชาด้วยเครื่องหอมและ
ดอกไม้ที่พระเจดีย์ ทำประทักษิณพระเจดีย์ บำเพ็ญกุศลที่ควรบำเพ็ญอย่าง
ใดอย่างหนึ่งอันเป็นไตรธาตุ ก็ไม่บำเพ็ญเพราะเหตุแห่งคติ ไม่บำเพ็ญ
เพราะเหตุแห่งอุปบัติ ไม่บำเพ็ญเพราะเหตุแห่งปฏิสนธิ ไม่บำเพ็ญ
เพราะเหตุแห่งภพ ไม่บำเพ็ญเพราะเหตุแห่งสงสาร ไม่บำเพ็ญเพราะเหตุ
แห่งวัฏฏะ เป็นผู้มีความประสงค์ในอันพรากออกจากทุกข์ มีใจน้อมโน้ม
โอนไปในนิพพาน ย่อมบำเพ็ญกุศลทั้งปวงนั้น แม้เพราะเหตุอย่างนี้
ดังนี้ จึงชื่อว่า นรชนพึงเป็นผู้มีใจน้อมไปในนิพพาน. ขออุทิศกุศลให้สรรพสัตว์