ไม่ใช่เรา

 
pirmsombat
วันที่  31 มี.ค. 2555
หมายเลข  20890
อ่าน  3,284

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

ข้อความบางตอนจากพระไตรปิฎก และ ข้อความบางตอนจากการบรรยายธรรม โดย ท่านอาจารย์ สุจินต์ บริหารวนเขตต์

ไม่ใช่เรา

@ ไม่เห็นโทษของการที่ไม่รู้ความจริงของสภาพธรรมที่ปรากฏ แล้วยึดถือสิ่งที่กำลังปรากฏว่าเป็นเรา หรือเป็นตัวตน อันนี้สำคัญที่สุด

@ สิ่งที่ปรากฏทางตา เป็นแต่เพียงเริ่มเข้าใจให้ถูกต้องว่า สิ่งที่ปรากฏทางตา เป็นของจริงอย่างหนึ่ง ซึ่งไม่ใช่สัตว์ บุคคล ตัวตน

@ สิ่งที่ปรากฏทางตา เป็นแต่เพียง สิ่งที่ปรากฏทางตาเท่านั้น ไม่มีสิ่งอื่นใดทั้งสี้น เพื่อที่เราจะได้รู้ว่าทางตาจะเป็นใครไปไม่ได้เลย นอกจาก เป็นเพียงสิ่งที่ปรากฏ ให้เราคิดนึก

@ คิดและพูด ตามอวิชชาและโลภะ ทุกคนคิดทุกวัน แต่ว่าความคิดของแต่ละคน จะไม่พ้นจากการสะสมของ อวิชชาและโลภะ ในเรื่องต่างๆ ใครก็ตามจะคิดเรื่องอะไร ต้องเพราะ (อวิชชา) โลภะในเรื่องนั้น ทำไมคนที่ไม่ได้สะสมมาในเรื่องการจัดดอกไม้ จะไปคิดเรื่องการจัดดอกไม้ เป็นไปไม่ได้ โลภะและอวิชชาก็ทำให้ชีวิตแต่ละคน เป็นไปตามการสะสมต่างๆ กัน แม้แต่วันนี้เราจะชอบผลไม้ชนิดไหน ชอบอาหารชนิดไหน วันหนึ่งๆ ถ้าสติสัมปชัญญะเกิดจะรู้ได้เลยว่า บังคับบัญชาไม่ได้ คิดนึก ตามอวิชชาและโลภะ พูด ตามอวิชชาและโลภะ

@ นั่นของเรา เป็นทิฏฐิมีความสำคัญ เพราะตัณหา เราเป็นนั่น เป็นทิฏฐิมีความสำคัญ เพราะมานะ นั่นเป็นตัวตนของเรา มีความสำคัญ เพราะทิฏฐินั่นเอง.

@ ข้อความตอนหนึ่งจาก ...

อลคัททูปมสูตร

[เล่มที่ 18] พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ เล่ม ๑๘ - หน้าที่ 289

อริยาสาวกผู้สดับแล้ว ผู้เห็นพระอริยะทั้งหลาย ฉลาดในธรรมของพระอริยะ ได้รับแนะนำดีแล้วในธรรมของพระอริยะ เห็นสัตบุรุษ ฉลาดในธรรมของสัตบุรุษ ได้รับแนะนำดีแล้วในธรรมของสัตบุรุษ ย่อมพิจารณาเห็น รูป ว่า นั่นไม่ใช่ของเรา เราไม่เป็นนั่น นั่นไม่ใช่ตัวตนของเรา นั่นไม่ใช่ของเรา เราไม่เป็นนั่น นั่นไม่ใช่อัตตาของเรา

@ ข้อความตอนหนึ่งจาก

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ เล่ม ๑ ภาค ๒ - หน้าที่ 288

อลคัททูปมสูตร

[๒๘๑] ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เหตุแห่งทิฏฐิ ๖ ประการเหล่านั้น ๖ ประการเป็นไฉน

ปุถุชนในโลกนี้ ผู้ไม่ได้สดับ ไม่เห็นพระอริยะทั้งหลาย ไม่ฉลาดในธรรมของพระอริยะ ไม่ได้รับแนะนำในธรรมของพระอริยะ ไม่เห็นสัตบุรุษ ไม่ฉลาดในธรรมของสัตบุรุษ ไม่ได้รับแนะนำแล้วในธรรมของสัตบุรุษ

ย่อมพิจารณาเห็นรูปว่า นั่นของเรา เราเป็นนั่น นั่นเป็นอัตตาของเรา

ย่อมพิจารณาเห็นเวทนาว่า นั่นของเรา เราเป็นนั่น นั่นเป็นอัตตาของเรา

ย่อมพิจารณาเห็นสัญญาว่า นั่นของเรา เราเป็นนั่น นั่นเป็นอัตตาของเรา

ย่อมพิจารณาเห็นสังขารทั้งหลายว่า นั่นของเรา เราเป็นนั่น นั่นเป็นอัตตาของเรา

ย่อมพิจารณาเห็นรูปที่เห็นแล้ว เสียงที่ฟังแล้ว กลิ่น รส โผฏฐัพพะที่ทราบแล้ว อารมณ์ที่รู้แจ้งแล้ว ถึงแล้ว แสวงหาแล้ว ใคร่ครวญแล้วด้วยใจว่า นั่นของเรา เราเป็นนั่น นั่นเป็นอัตตาของเรา

ย่อมพิจารณาเห็นเหตุแห่งทิฏฐิว่า นั้นโลก นั้นอัตตาในปรโลก เรานั้นจักเป็นผู้เที่ยง ยั่งยืน คงที่ ไม่มีความแปรปรวนเป็นธรรมดาจักตั้งอยู่ เสมอด้วยความเที่ยงอย่างนั้นว่า นั่นของเรา เราเป็นนั่น นั่นเป็นอัตตาของเรา

ภิกษุทั้งหลาย ส่วนอริยสาวกผู้สดับแล้ว ผู้เห็นพระอริยะทั้งหลาย ฉลาดในธรรมของพระอริยะ ได้รับแนะนำดีแล้วในธรรมของพระอริยะ เห็นสัตบุรุษ ฉลาดในธรรมของสัตบุรุษ ได้รับแนะนำดีแล้วในธรรมของสัตบุรุษ

ย่อมพิจารณาเห็นรูปว่า นั่นไม่ใช่ของเรา เราไม่เป็นนั่น นั่นไม่ใช่อัตตาของเรา

ย่อมพิจารณาเห็นเวทนาว่า นั่นไม่ใช่ของเรา เราไม่เป็นนั่น นั่นไม่ใช่อัตตาของเรา

ย่อมพิจารณาเห็นสัญญาว่า นั่นไม่ใช่ของเรา เราไม่เป็นนั่น นั่นไม่ใช่อัตตาของเรา

ย่อมพิจารณาเห็นสังขารทั้งหลายว่า นั่นไม่ใช่ของเรา เราไม่เป็นนั่น นั่นไม่ใช่อัตตาของเรา

ย่อมพิจารณาเห็นรูปที่เห็นแล้ว เสียงที่ฟังแล้ว กลิ่น รส โผฐัพพะที่ทราบแล้ว อารมณ์ที่รู้แจ้งแล้ว ถึงแล้วแสวงหาแล้ว ใคร่ครวญแล้วด้วยใจว่า นั่นไม่ใช่ของเรา เราไม่เป็นนั่น นั่นไม่ใช่อัตตาของเรา

ย่อมพิจารณาเห็นเหตุแห่งทิฏฐิว่า นั่นโลก นั่นตน ในปรโลก เรานั้นจักเป็นผู้เที่ยง ยั่งยืน คงที่ไม่มีความแปรปรวนเป็นธรรมดา จักตั้งอยู่เสมอด้วยความเที่ยงอย่างนั้นว่า นั่นไม่ใช่ของเรา เราไม่เป็นนั่น นั่นไม่ใช่อัตตาของเรา พระอริยสาวกนั้นพิจารณาอยู่อย่างนี้ ย่อมไม่สะดุ้ง ในเพราะสิ่งที่ไม่มีอยู่.

@ ตราบใดมีเรา ละชั่วไม่ได้

@ ตราบใดที่ไม่รู้จักลักษณะของนามธรรมและรูปธรรม ตามปกติในชีวิตประจำวัน จะดับกิเลสอะไรไม่ได้เลย

@ อยู่เป็นสุข

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อิติวุตตก เล่ม ๑ ภาค ๔ - หน้าที่ 192

๒. ทุติยภิกขุสูตร

ว่าด้วยผู้ประกอบด้วยธรรม ๒ ประการอยู่เป็นสุข

[๒๐๗] จริงอยู่ พระสูตรนี้พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสแล้ว พระสูตรนี้ พระผู้มีพระภาคเจ้าผู้เป็นพระอรหันต์ตรัสแล้ว เพราะเหตุนั้น ข้าพเจ้าได้สดับมาแล้วว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ภิกษุผู้ประกอบด้วยธรรม ๒ ประการ ย่อมอยู่เป็นสุข ไม่มีความเดือดร้อน ไม่มีความคับแค้น ไม่มีความเร่าร้อนในปัจจุบัน เมื่อตายไป พึงได้สุคติ ธรรม ๒ ประการเป็นไฉน คือ

ความเป็นผู้คุ้มครองทวารในอินทรีย์ทั้งหลาย ๑

ความเป็นผู้จักประมาณในโภชนะ ๑

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ภิกษุผู้ประกอบด้วยธรรม ๒ ประการนี้แล ย่อมอยู่เป็นสุข ไม่มีความเดือดร้อน ไม่มีความคับแค้น ไม่มีความเร่าร้อน ในปัจจุบัน เมื่อตายไป พึงหวังได้สุคติ. พระผู้มีพระภาคเจ้าได้ตรัสเนื้อความนี้แล้ว ในพระสูตรนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสคาถาประพันธ์ดังนี้ว่า

ภิกษุได้คุ้มครองดีแล้วซึ่งทวารเหล่านี้ คือ ตา หู จมูก ลิ้น กาย และใจ

รู้จักประมาณในโภชนะ และ สำรวมในอินทรีย์ทั้งหลาย ภิกษุนั้นย่อมถึงความสุข คือ สุขกาย สุขใจ ภิกษุเช่นนั้น มีกาย ไม่ถูกไฟ คือ ความทุกข์แผดเผา มีใจ ไม่ถูกไฟ คือ ความทุกข์ แผดเผา ย่อมอยู๋เป็นสุขทั้งกลางวันกลางคืน.

เนื้อความแม้นี้พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสแล้ว เพราะเหตุนั้น ข้าพเจ้า ได้สดับมาแล้ว ฉะนั้นแล.

จบทุติยภิกขุสูตรที่ ๒


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
เซจาน้อย
วันที่ 31 มี.ค. 2555

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

ตราบใดที่ไม่รู้จักลักษณะของนามธรรมและรูปธรรม

ตามปกติในชีวิตประจำวัน

จะดับกิเลสอะไรไม่ได้เลย

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาในกุศลศรัทธาของคุณหมอด้วยครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
wannee.s
วันที่ 31 มี.ค. 2555
ลาภที่ประเสริฐที่สุดคือ การฟังธรรมแล้วเข้าใจ เข้าถึงธรรมะที่มีจริงในขณะนี้ ค่ะ
 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
pirmsombat
วันที่ 31 มี.ค. 2555

ขอบพระคุณ และอนุโมทนาในกุศลศรัทธาของคุณเซจาน้อย คุณ wannee.s และ ทุกท่านครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 4  
 
kinder
วันที่ 31 มี.ค. 2555

ขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 5  
 
jaturong
วันที่ 4 เม.ย. 2555

ขอบคุณ และขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 6  
 
dhanan
วันที่ 4 เม.ย. 2555

ขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 8  
 
nong
วันที่ 6 เม.ย. 2555

ขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 9  
 
peem
วันที่ 23 ก.ค. 2556

ขอกราบอนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 10  
 
papon
วันที่ 6 ก.ย. 2556

ขอบคุณ และขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 11  
 
thilda
วันที่ 20 พ.ย. 2556

ขอบคุณ และขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 12  
 
chatchai.k
วันที่ 4 ม.ค. 2564

ขออนุโมทนาครับ

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ