อาหารของสติปัฏฐาน ๔ ฯลฯ

 
daris
วันที่  3 เม.ย. 2555
หมายเลข  20902
อ่าน  5,051

กราบสวัสดีท่านอาจารย์และผู้รู้ทุกท่านครับ วันนี้มีเรื่องอยากขอความกรุณาให้คำชี้แนะครับ จริงๆ ได้ลองค้นในกระทู้เก่าๆ ก็พบว่ามีผู้ที่ถามเรื่องนี้มาพอสมควร ได้อ่านแล้วก็เข้าใจมากขึ้นแต่ก็ยังมีข้อสงสัยอยู่บางประการที่จะขอเรียนถามครับ

ขอยกข้อความบางตอนจากพระไตรปิฎก

เชิญคลิกอ่านที่นี่ครับ

ย่อมยังวิชชาและวิมุตติให้บริบูรณ์ [ตัณหาสูตร]

จากพระสูตรนี้พอจะสรุปได้ว่า

๑. การคบสัปบุรุษ ... เป็นอาหารของ ... การได้ฟังพระสัทธรรม

๒. การได้ฟังพระสัทธรรม ... เป็นอาหารของ ... ศรัทธา

๓. ศรัทธา ... เป็นอาหารของ ... การทำไว้ในใจโดยแยบคาย

๔. การทำไว้ในใจโดยแยบคาย ... เป็นอาหารของ ... สติสัมปชัญญะ

๕. สติสัมปชัญญะ ... เป็นอาหารของ ... การสำรวมอินทรีย์

๖. การสำรวมอินทรีย์ ... เป็นอาหารของ ... สุจริต ๓

๗. สุจริต ๓ ... เป็นอาหารของ ... สติปัฏฐาน ๔

๘. สติปัฏฐาน ๔ ... เป็นอาหารของ ... โพชฌงค์ ๗

๙. โพชฌงค์ ๗ ... เป็นอาหารของ ... วิชชาและวิมุตติ

ขอเรียนถามว่า

๑. การกระทำไว้ในใจโดยแยบคาย หมายถึงโยนิโสมนสิการคือ ขณะใดที่ฟังธรรมเข้าใจเป็นการกระทำไว้ในใจโดยแยบคายแล้วใช่มั้ยครับ (แล้วรวมถึงกุศลประการอื่นๆ ด้วยหรือไม่ครับ)

๒. การกระทำไว้ในใจโดยแยบคาย เป็นอาหารของสติสัมปชัญญะ ... สติสัมปชัญญะ ในที่นี้เป็น สติ และ ปัญญาขั้นไหนครับ เป็นเฉพาะสติและปัญญาขั้นฟังธรรมเข้าใจ หรือหมายรวมเอาสติปัฏฐานด้วย

๓. การสำรวมอินทรีย์ ในที่นี้ เป็นอินทริยสังวรศีล ใช่หรือไม่ครับ แล้วหมายถึงสติปัฏฐาน หรือ หมายถึงสติขั้นศีลที่จะงดเว้นทุจริต

๔. สุจริต ๓ เป็น อาหารของสติปัฏฐาน ๔ อย่างไรครับ ... ทราบว่าเหตุใกล้ให้เกิดสติปัฏฐานคือสัญญาความจำที่มั่นคงว่าทุกอย่างเป็นธรรม ... ตรงนี้เหมือน หรือ ต่างอย่างไรกับสุจริต ๓ ครับ

๕. วิชชาและวิมุตติ ในที่นี้หมายถึงโลกุตตรปัญญาในโลกุตตรจิตใช่หรือไม่ครับ แล้วหมายรวมถึงนิพพานปรมัตถ์ ด้วยหรือเปล่าครับ

(คือประเด็นหลักที่สงสัยคือ ในบรรดาธรรมที่เป็นอาหาร แต่ละขั้นๆ นั้น มีหลายขั้นที่เหมือนจะซ้ำกัน แต่ใช้ชื่อต่างกัน คือมีทั้ง สติ สัมปชัญญะ การสำรวมอินทรีย์ สติปัฏฐาน การกระทำไว้ในใจโดยแยบคาย)

ขอกราบขอบพระคุณครับ


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
paderm
วันที่ 4 เม.ย. 2555

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

ธรรมเป็นเรื่องละเอียดลึกซึ้งมากๆ ซึ่งกระผมขออธิบายตามกำลังปัญญาที่เข้าใจในพระสูตรนี้ครับ

จาก ตัณหาสูตรนั้น ข้อความบางตอน แสดงถึงว่า สภาพธรรมทั้งหลาย อาศัย อาหาร คือ เหตุปัจจัย จึงเกิดขึ้นได้ แม้แต่การหลุดพ้นจากกิเลส และ ถึงปัญญาที่ดับกิเลสได้ (วิชชาและวิมุตติ) ก็ต้องมีอาหาร คือ มีเหตุ เช่นกัน ครับ

แต่ก่อนจะถึง ปัญญาสูงสุด ที่เป็น วิชชา และการหลุดพ้นจากกิเลส ก็ต้องเริ่มจากเบื้องต้นก่อนครับ

การคบสัปบุรุษ ... เป็นอาหารของ ... การได้ฟังพระสัทธรรม

โดยมาก เป็นที่เข้าใจว่า ต้องอาศัยการฟังพระธรรม ศึกษาพระธรรม จึงทำให้ปัญญาเจริญขึ้น อันเป็นพื้นฐาน เบื้องต้น แต่ การฟังพระธรรม ศึกษาพระธรรม จะมีไม่ได้เลย หากขาด อาหาร หรือ เหตุ ปัจจัยที่จะได้ฟัง คือ การได้คบสัตบุรุษ คือ ผู้ที่เข้าใจธรรม อันมีพระพุทธเจ้า เป็นต้น เป็นสัตบุรุษสูงสุด หากไม่มีพระพุทธเจ้าตรัสรู้ความจริง ก็จะไม่มีพระธรรมให้ได้ฟัง ได้ศึกษา เลยครับ เพราะฉะนั้น การฟังพระธรรม ก็กล่าวว่ามีอาหาร คือ มีเหตุที่จะได้ฟัง เพราะอาศัยการได้คบสัตบุรุษ จึงทำให้ได้ฟังพระธรรม

การได้ฟังพระสัทธรรม ... เป็นอาหารของ ... ศรัทธา

และกุศลประการต่างๆ คือ ความมีศรัทธาจะเกิดไม่ได้เลย ความน้อมใจเชื่อในพระรัตนตรัย เกิดขึ้นได้ ก็เพราะอาศัยการฟังพระธรรม เพราะฉะนั้น อาหาร หรือ เหตุให้มีศรัทธา หรือ ศรัทธาที่มีอยู่แล้ว เจริญมากขึ้นอีก ก็ด้วยการฟังพระธรรม การฟังพระธรรมจึงเป็นอาหาร หรือ เหตุให้เกิดศรัทธาและทำให้ศรัทธาเจริญมากขึ้น ครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
paderm
วันที่ 4 เม.ย. 2555

ศรัทธา ... เป็นอาหารของ ... การทำไว้ในใจโดยแยบคาย

ก่อนอื่นจะต้องเข้าใจคำว่า การทำไว้ในใจโดยแยบคาย คือ โยนิโสมนสิการ หรือ มนสิการเจตสิก ซึ่งการพิจารณาโดยแยบคาย ไม่ใช่ปัญญาเจตสิก ครับ แต่เป็นการใส่ใจด้วยดี ชื่อว่าแยบคาย ซึ่งขณะที่เป็นกุศล ชื่อว่า แยบคายแล้วในขณะนั้น เพราะ กุศลจิตทุกดวงที่เกิดขึ้น จะต้องมีโยนิโสมนสิการเจตสิกเกิดร่วมด้วยเสมอ ครับ

ซึ่งในพระสูตรอื่นๆ ได้แสดงถึง ลักษณะของศรัทธา ว่าเป็นเบื้องต้นของกุศลธรรมทั้งหลาย คือ ทำให้กุศลประการต่างๆ เกิดขึ้น ครับ เพราะ มีศรัทธา จึงให้ทาน รักษาศีล อบรมปัญญา ซึ่งล้วนแล้วแต่เป็นกุศลธรรมทั้งสิ้น ดังนั้นเมื่อมีศรัทธา ทำให้กุศลประการต่างๆ เจริญ ขณะที่กุศลเกิด ประการต่างๆ เจริญ ขณะนั้น มีโยนิโสมนสิการ การใส่ใจด้วยดี พิจารณาโดยแยบคายในขณะนั้นด้วยครับ เพราะโยนิโสมนสิการเจตสิกเกิดกับจิตที่เป็นกุศลทุกประเภท ครับ แต่ขณะที่โยนิโสมนสิการเกิด ไม่ได้หมายถึงปัญญาที่เห็นถูกในขณะนั้น เพราะ ปัญญาเจตสิก กับ โยนิโสมนสิการ ไม่ใช่เจตสิกเดียวกันครับ

จึงกลับมาที่คำถามข้อที่ ๑ ที่ว่า

๑. การกระทำไว้ในใจโดยแยบคาย หมายถึงโยนิโสมนสิการ คือ ขณะใดที่ฟังธรรมเข้าใจเป็นการกระทำไว้ในใจโดยแยบคายแล้วใช่มั้ยครับ (แล้วรวมถึงกุศลประการอื่นๆ ด้วยหรือไม่ครับ)


- ขณะที่ฟังพระธรรม เกิดปัญญาเข้าใจ ในขณะนั้น กุศลจิตที่เกิด ย่อมมีโยนิโสมนสิการเจตสิกเกิดร่วมด้วย ครับ แต่ที่ละเอียดลึกซึ้งไปกว่านั้น คือ ในเมื่อพระสูตรนี้ มุ่งหมายถึง การถึงวิชชา วิมุตติ ปัญญาดับกิเลส และการหลุดพ้นจากกิเลส เหตุปัจจัยเบื้องต้นคือ กุศลประการอื่นๆ นั้น จะต้องเป็นบารมี คือ ด้วยความเข้าใจถูก เป็นเบื้องต้นแล้ว คือ กุศลใดที่น้อมไปเพื่อการดับกิเลส แต่ไม่ใช่กุศลทั่วไป ตามศาสนาอื่นทำกัน หรือหวังผล เป็นต้น ก็ไม่ใช่โยนิโสมนสิการ ที่จะเป็นเหตุให้เกิด สติ สัมปชัญญะ และทำให้หลุดพ้น ครับ

ดังนั้น กุศลที่เป็นบารมี ย่อมเป็นปัจจัยให้หลุดพ้นได้ และ โดยเฉพาะการฟังพระธรรม ศึกษาพระธรรม ขณะที่เข้าใจ มี โยนิโสมนสิการเจตสิกเกิดร่วมด้วยในขณะนั้น และย่อมเป็นปัจจัยให้เกิด สติ สัมปชัญญะ และ ถึงการดับกิเลส และหลุดพ้นจากกิเลสได้ ครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
paderm
วันที่ 4 เม.ย. 2555

๒. การกระทำไว้ในใจโดยแยบคาย เป็นอาหารของสติสัมปชัญญะ ... สติสัมปชัญญะ ในที่นี้เป็น สติ และ ปัญญาขั้นไหนครับ เป็นเฉพาะสติและปัญญาขั้นฟังธรรมเข้าใจ หรือ หมายรวมเอาสติปัฏฐานด้วย


- ตามที่กล่าวแล้วครับว่า หนทางนี้ เพื่อถึง วิชชาและวิมุตติ ดังนั้น สติสัมปชัญญะย่อมเป็นไปในการเจริญอบรมวิปัสสนา คือ สติ สัมปชัญญะ ในสติปัฏฐาน ๔ เพราะคำว่า สติ สัมปชัญญะ (ปัญญา) จะใช้กับการเจริญ สมถภาวนา และ เจริญวิปัสสนา ไม่ใช้กับปัญญาขั้นการฟัง ซึ่งถ้าเป็นสติ สัมปชัญญะขั้นสมถภาวนา ไม่ถึงการหลุดพ้นได้เลย แต่จะต้องเป็นสติ สัมปชัญญะ ขั้น วิปัสสนาเท่านั้นครับ คือ สติปัฏฐานเกิดนั่นเองครับ


๓. การสำรวมอินทรีย์ ในที่นี้ เป็นอินทริยสังวรศีล ใช่หรือไม่ครับ แล้วหมายถึงสติปัฏฐาน หรือ หมายถึงสติขั้นศีลที่จะงดเว้นทุจริต


- ซึ่ง สติ สัมปชัญญะเป็นเหตุให้ การสำรวมอินทรีย์ บริบูรณ์ การสำรวมอินทรีย์ คือ การสำรวมทาง ตา หู จมูก ลิ้น กายและใจ ไม่ให้เป็นอกุศล ในขณะที่เห็น ได้ยิน ได้กลิ่น ลิ้มรส รู้กระทบสัมผัส แต่จะไม่เป็นอกุศลได้อย่างไร ก็ด้วยการรู้ลักษณะของสภาพธรรมตามความเป็นจริงในขณะนั้น ซึ่งขณะที่รู้ความจริง อกุศลไม่เกิดทางทวารตา ... ใจ ชื่อว่า สำรวมอินทรีย์อยู่ แต่การสำรวมอินทรีย์จะมีไม่ได้เลย หากขาด สติ และปัญญา (สัมปชัญญะ) ครับ

ดังนั้น ความเป็นเหตุปัจจัย ของ สติ สัมปชัญญะ กับ การสำรวมอินทรีย์ โดยนัยเกิดพร้อมกันครับ ที่เป็น สหชาตปัจจัย คือ เพราะ มีสติ สัมปชัญญะเกิด (สติและปัญญา) ขณะนั้น ก็สำรวมอินทรีย์ คือ รู้ความจริงด้วยปัญญา (สัมปชัญญะ) และ สติระลึกรู้อารมณ์นั้นที่กำลังปรากฏ ครับ ดังนั้น การสำรวมอินทรีย์ ก็คือ อินทรียสังวรนั่นเองครับ และ เป็นสติปัฏฐานด้วยในขณะนั้นครับ

ขณะที่สติปัฏฐานเกิด ชื่อว่า สำรวมอินทรีย์ และ มีสติสัมปัชัญญะ จึงเป็นเหตุของกันและกัน โดยการเกิดพร้อมกันในขณะนั้นครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 4  
 
paderm
วันที่ 4 เม.ย. 2555

๔. สุจริต ๓ เป็น อาหารของสติปัฏฐาน ๔ อย่างไรครับ ... ทราบว่าเหตุใกล้ให้เกิดสติปัฏฐานคือสัญญาความจำที่มั่นคงว่าทุกอย่างเป็นธรรม ... ตรงนี้เหมือน หรือ ต่างอย่างไรกับสุจริต ๓ ครับ


- ธรรมของพระพุทธเจ้าทรงแสดงหลากหลายนัยครับ แม้แต่เหตุให้สติปัฏฐานเจริญบริบูรณ์ สัญญาที่มั่นคง เป็นเหตุใกล้สติปัฏฐานเกิด อันเป็นปัจจัยต่างขณะ โดยไม่ได้เกิดพร้อมกัน ครับ เพราะอาศัย ความจำที่เกิดความเข้าใจขั้นการฟัง คือ ปัญญาขั้นการฟัง ปัญญาเจตสิก เกิดพร้อมกับสัญญาเจตสิกที่จำถูก เมื่อมีมากขึ้น ย่อมเป็นปัจจัยให้สติปัฏฐานเกิด แต่การจะทำให้บริบูรณ์ดังพระสูตรนี้ จะต้องอาศัยธรรมอื่นๆ ด้วย ก็นับเนื่องต่อเนื่องกันไป โดยเป็นเหตุปัจจัยโดยการเกิดพร้อมกัน ตั้งแต่การมีสติ สัมปชัญญะ การสำรวมอินทรีย์ และมีสุจริต ๓ ซึ่ง ขณะที่สำรวมอินทรีย์ ทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ เป็นไปในทางทวาร ๓ คือ กายทวาร วจีทวาร มโนทวาร เช่นขณะที่รู้ลักษณะของสภาพธรรม โดยที่กาย และวาจาไม่ไหวไป เป็นมโนสุจริต ในขณะนั้น ก็เป็นปัจจัยโดยการเกิดพร้อมกัน สติปัฏฐานเกิดอยู่แล้วในขณะนั้นครับ เพราะใจสุจริต ด้วยสติ สัมปชัญญะ ด้วยปัญญา ทำให้สติปัฏฐาน บริบูรณ์และเจริญขึ้น หาก ใจไม่สุจริตด้วยสติและปัญญาแล้ว ย่อมไม่มีทางที่จะทำให้ สติปัฏฐานบริบูรณ์ได้เลย ครับ และขณะที่พูดด้วยการปรารภวิปัสสนา หรือ ระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมขณะที่พูด ก็ชื่อว่า เป็น วจีสุจริตในขณะนั้นที่เกิดพร้อมกับสติปัฏฐานด้วย และขณะที่งดเว้นจากบาปทาง กาย และทางวาจา ด้วยการระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมก็เป็นกายสุจริต วจีสุจริต ที่เกิดพร้อมสติปัฏฐาน อันทำให้ สติปัฏฐานบริบูรณ์ โดยการเกิดพร้อมกันครับ ดังนั้น เราจะต้องเข้าใจว่า เป็นเหตุปัจจัยโดยการเกิดพร้อมกันในขณะนั้น คือ ขณะที่สำรวมอินทรีย์ เป็นมโนสุจริตด้วย และสติปัฏฐานก็เกิดในขณะนั้นนั่นเอง ครับ

๕. วิชชาและวิมุตติ ในที่นี้หมายถึงโลกุตตรปัญญาในโลกุตตรจิตใช่หรือไม่ครับ แล้วหมายรวมถึงนิพพานปรมัตถ์ ด้วยหรือเปล่าครับ

- วิชชา คือ โลกุตตรปัญญา โดยนัยสูงสุดมุ่งหมายถึง อรหัตตมรรคจิต และ วิมุตติโดยนัยสูงสุดคือ อรหัตตผลจิตซึ่งก็ต้องมีพระนิพพานเป็นอารมณ์ครับ และนิพพาน ก็ชื่อว่าวิมุตติเช่นกันครับ


(คือประเด็นหลักที่สงสัยคือ ในบรรดาธรรมที่เป็นอาหาร แต่ละขั้นๆ นั้น มีหลายขั้นที่เหมือนจะซ้ำกัน แต่ใช้ชื่อต่างกัน คือมีทั้ง สติสัมปชัญญะ การสำรวมอินทรีย์ สติปัฏฐานการกระทำไว้ในใจโดยแยบคาย)


- ตามที่กล่าวแล้วครับ ทรงแสดงโดยนัยเป็นเหตุปัจจัยกัน โดยต่างขณะกัน และเกิดร้อมกันด้วย แม้ชื่อต่างกัน แต่ก็อาศัยเกิดพร้อมกัน เป็นปัจจัยกันและกันในขณะที่เกิดพร้อมกันครับ ซึ่ง ธรรมทั้งหลายเหล่านี้ แต่ละอย่างจะบริบูรณ์ได้ ก็ต้องอาศัยธรรมแต่ละอย่างเกื้อหนุน เป็นปัจจัยโดยการเกิดพร้อมกัน เป็นต้นครับ เพราะขณะที่สติปัฏฐานเกิด เป็นการสำรวมอินทรีย์ด้วย และ มีสติสัมปชัญญะด้วย ครับ

สำหรับเรื่อง อินทรียสังวร สุจริต ๓ สติปัฏฐาน เป็นเหตุปัจจัยในแต่ละอย่างนั้น ในอรรถกถา ตัณหาสูตร ไม่มีอธิบายรายละเอียดไว้ แต่ใน อรรถกถากุณฑลิยสูตร จะอธิบายไว้พอสมควร อันทำให้เข้าใจมากขึ้น ตามที่กระผมได้อธิบายมาข้างต้นนั่นเองครับ

เชิญคลิกอ่านที่นี่ครับ

อินทรียสังวร สุจริต ๓ สติปัฏฐาน [อรรถกถากุณฑลิยสูตร]

ขออนุโมทนาที่ร่วมสนทนา

 
  ความคิดเห็นที่ 5  
 
daris
วันที่ 4 เม.ย. 2555

ขอกราบขอบพระคุณอาจารย์ผเดิมที่กรุณาอธิบายอย่างละเอียดลึกซึ้งมากครับ

ตอนนี้เข้าใจขึ้นมากครับ และจะศึกษาเพิ่มเติมตามที่อาจารย์แนะนำครับ

กราบขอบพระคุณและขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 6  
 
wannee.s
วันที่ 4 เม.ย. 2555

ธรรมทั้งหลายเหล่านี้ แต่ละอย่างจะบริบูรณ์ได้ ก็ต้องอาศัยธรรมแต่ละอย่างเกื้อหนุน เป็นปัจจัยโดยการเกิดพร้อมกัน เป็นต้นครับ เพราะขณะที่สติปัฏฐานเกิด เป็นการสำรวมอินทรีย์ด้วย และ มีสติสัมปชัญญะด้วย

ขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 7  
 
khampan.a
วันที่ 4 เม.ย. 2555

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

การได้ฟังพระธรรม ศึกษาพระธรรม อบรมเจริญปัญญานั้น กล่าวได้ว่า เป็นโอกาสที่หาได้ยาก เป็นการได้ฟังได้ศึกษาในสิ่งที่หาฟังได้ยาก ซึ่งจะต้องเป็นผู้เห็นประโยชน์ของพระธรรม เคยได้สะสมบุญมาแล้วตั้งแต่ชาติปางก่อน จึงทำให้มีการสนใจที่จะฟัง ที่จะศึกษาต่อไป บุคคลผู้ที่สะสมเหตุที่ดีมา เป็นผู้ที่ได้สะสมบุญมาตั้งแต่ชาติปางก่อน เห็นประโยชน์ของการฟังพระธรรม ศึกษาพระธรรม อบรมเจริญปัญญาในชีวิตประจำวัน ย่อมมีศรัทธาที่จะคบกับสัปบุรุษ ซึ่งเป็นบุคคลผู้มีปัญญา เพื่อที่จะได้ฟังพระธรรม จากสัปบุรุษดังกล่าว โดยเป็นการคบหากับพระธรรม เมื่อเป็นอย่างนี้ ก็เป็นการให้อาหารของปัญญา เพราะจะเป็นไปเพื่อความเจริญขึ้นของปัญญา จากที่ไม่เคยรู้มาก่อนก็จะค่อยๆ รู้ขึ้น เข้าใจขึ้น จนกระทั่งปัญญาเจริญขึ้นไปตามลำดับ สามารถทำให้หลุดพ้นจากกิเลสโดยประการทั้งปวงได้ในที่สุด ปัญญาเท่านั้นที่จะดับกิเลสทั้งหลายทั้งปวงได้อย่างหมดสิ้น ซึ่งจะต้องอาศัยกาลเวลาอันยาวนานในการอบรมเจริญปัญญา สะสมไปทีละเล็กทีละน้อยจริงๆ ปัญญาจะมีมากยิ่งขึ้นได้ก็เพราะมาจากการได้สะสมไปทีละเล็กทีละน้อย โดยไม่ขาดการให้อาหารของปัญญา คือ การฟังพระธรรม คบหากับพระธรรม นั่นเอง ครับ.

...ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ...

 
  ความคิดเห็นที่ 8  
 
dhanan
วันที่ 5 เม.ย. 2555

ขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 9  
 
jaturong
วันที่ 5 เม.ย. 2555

ขอบคุณ และขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 10  
 
daris
วันที่ 5 เม.ย. 2555

กราบขอบพระคุณอาจารย์คำปั่นที่กรุณาอธิบายครับ

ขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 11  
 
เซจาน้อย
วันที่ 6 เม.ย. 2555

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

"เพราะสิ่งนี้มี สิ่งนี้จึงมี"

ขอบคุณ และขออนุโมทนาในกุศลวิริยะของอ.ผเดิม, อ.คำปั่นและทุกๆ ท่านครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 12  
 
nong
วันที่ 6 เม.ย. 2555

ขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 13  
 
มกร
วันที่ 6 ต.ค. 2563

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 14  
 
Thanapolb
วันที่ 30 เม.ย. 2564

กลับมาทบทวนอ่านใหม่ ก็เข้าใจใหม่เพิ่มขึ้นบ้าง..

พระธรรมแม้จะนานแค่ไหน ความจริงก็เป็นอย่างนั้น. ตอบกระทู้ได้ไพเราะครับอาจารย์เผดิม อาจารย์คำปั่น...

อาหารปัจจัย..บางอย่างเกิดต่างขณะ บางอย่างเกิดพร้อมกัน แม้จะชื่อต่างกัน..

อนุโมทนายิ่งครับ

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ