อริยสัจ 4

 
supanp
วันที่  12 เม.ย. 2555
หมายเลข  20951
อ่าน  34,107

๑. ทุกข์ ควรกำหนดรู้ ทุกข์ในที่นี้คืออย่างไร ทำไมต้องกำหนดรู้ อย่างไรจึงจะเรียกว่าการกำหนดรู้ เมื่อกำหนดรู้แล้วได้อะไร

๒. สมุทัย ควรละ สมุทัยในที่นี้คืออย่างไร ทำไมต้องละ ทำอย่างไรจึงเรียกว่าละ เมื่อละได้แล้วเป็นอย่างไร

๓. นิโรธ ควรทำให้แจ้ง นิโรธในที่นี้เป็นอย่างไร ทำให้แจ้งคือทำอย่างไร เมื่อทำให้แจ้งได้แล้วจะเป็นอย่างไร

๔. มรรค ควรทำให้มีขึ้น มรรคในที่นี้คืออย่างไร ทำให้มีขึ้นได้อย่างไร เมื่อทำให้มีขึ้นได้แล้วจะเป็นอย่างไร


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
paderm
วันที่ 12 เม.ย. 2555

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

ความหมายของอริยสัจจะ

๑. ความจริงที่ประเสริฐ ชื่อว่า อริยสัจจะ

๒. พระอริยะทั้งหลาย ย่อมแทงตลอดอริยสัจจะเหล่านี้ เพราะฉะนั้น จึงเรียกว่า อริยสัจจะ

๓. ธรรมที่ทำให้ถึงความเป็น พระอริยะ ชื่อ อริยสัจ

๔. ที่ชื่อว่า อริยสัจ เพราะอรรถว่า เป็นสัจจะของพระอริยะ ดังนี้บ้าง

๕. ที่ชื่อว่า อริยสัจ เพราะความที่อริยสัจจะเหล่านั้น อันพระอริยะตรัสรู้แล้วบ้าง

จากคำถามที่ว่า

๑. ทุกข์ ควรกำหนดรู้ ทุกข์ในที่นี้คืออย่างไร ทำไมต้องกำหนดรู้ อย่างไรจึงจะเรียกว่าการกำหนดรู้ เมื่อกำหนดรู้แล้วได้อะไร

ทุกข์ คือ ความจริงอย่างประเสริฐ คือสภาพที่ทนได้ยาก หมายถึง สภาพธรรมที่เกิดดับ และทำให้เวียนว่ายตายเกิดอยู่ในสังสารวัฏฏ์ คือ จิต ๘๑ เจตสิก ๕๑ รูป ๒๘ ซึ่งเป็นโลกียธรรมทั้งหมด

ทำไมต้องกำหนดรู้

ทุกขอริยสัจจะ กิจ คือ ควรกำหนดรู้ ที่เรียกว่า ปริญญากิจ ที่ควรกำหนดรู้ เพราะ เราไม่รู้ความจริงว่า ทุกอย่างที่เกิดขึ้น เป็นแต่เพียงธรรมที่เกิดขึ้นและดับไปที่เป็นทุกข์ เมื่อไม่รู้ว่า เป็นแต่เพียงธรรมที่เกิดขึ้นและดับไปที่เป็นทุกข์ ไม่ใช่เรา จึงเป็นทุกข์ประการต่างๆ เพราะไม่รู้ความจริง และเพราะไม่รู้ความจริงว่าไม่เที่ยง ด้วยปัญญา ก็ย่อมไม่เห็นโลกตามความเป็นจริง หลงยึดติดในสิ่งที่เป็นสมมติ ไม่รู้ความจริงว่ามีแต่ธรรมที่เป็นทุกข์เท่านั้น เมื่อไม่รู้จึงทำบาป เมื่อทำบาปก็ทำให้เกิดในอบาย และวนเวียนในสังสารวัฏฏ์ไม่มีที่สิ้นสุด ดังนั้น จึงควรรู้ทุกข์ตามความเป็นจริงด้วยปัญญาคือ กำหนดรู้ด้วยปัญญา เพื่อจะได้เห็นทุกข์ตามความเป็นจริง เกิดปัญญาดับกิเลสอันนำมาซึ่งทุกข์

อย่างไรจึงจะเรียกว่าการกำหนดรู้

เมื่อปัญญาเกิดรู้ความจริงของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏที่เป็นทุกข์ รู้ความจริงว่าไม่เที่ยงเป็นทุกข์และเป็นอนัตตา ไม่ใช่เรา นั่นคือ สติปัฏฐานเกิด รู้ความจริงนั่นเองชื่อว่า กำหนดรู้แล้ว "รู้ด้วยปัญญา" โดย "ไม่มีเรา" ที่จะไปกำหนดรู้

กำหนดรู้แล้วได้อะไร

เมื่อปัญญารู้ความจริงของสภาพธรรม สิ่งที่ได้ คือ การรู้จักโลกตามความเป็นจริง สิ่งที่ได้ คือ วิชชา ปัญญาเกิด ย่อมละความไม่รู้ คืออวิชชาและกิเลสประการต่างๆ ได้ จนดับกิเลสหมด และไม่ต้องเวียนว่ายตายเกิด อันนำมาซึ่งทุกข์

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
paderm
วันที่ 12 เม.ย. 2555

๒. สมุทัย ควรละ : สมุทัยในที่นี้คืออย่างไร ทำไมต้องละ ทำอย่างไรจึงเรียกว่าละ เมื่อละได้แล้วเป็นอย่างไร

สมุทัยอริยสัจ องค์ธรรมได้แก่ โลภเจตสิก ๑ เป็นความจริงอย่างประเสริฐ คือเหตุเกิดขึ้นแห่งทุกข์ ได้แก่ ตัณหา หรือ โลภเจตสิก ซึ่งเป็นสภาพธรรมที่มีลักษณะติดข้อง ทำให้เพลิดเพลินในภพใหม่ เป็นเหตุของการเวียนว่ายตายเกิดต่อไป เป็นโลกียธรรม

ทำไมต้องละ เพราะนำมาซึ่งโทษด้วยเหตุผล ๔ ประการ

ตัณหา คือ สภาพธรรมที่ติดข้องต้องการที่เป็นโลภะ เพราะมีตัณหา จึงมีความทุกข์ประการต่างๆ

๑. ทำให้เกิดทุกข์ คือ เพราะอาศัยตัณหา จึงทำให้เกิดทุกข์ใจ ปรารถนาแล้วไม่ได้

๒. เป็นเหตุแห่งทุกข์ เพราะมีตัณหา จึงทำให้เกิดทุกข์ทางกายและใจ เพราะเมื่อมีตัณหาก็ต้องมีการเกิด เมื่อมีการเกิดก็มีร่างกาย มีขันธ์ ๕ ก็เป็นเหตุให้เกิดทุกข์กายและใจ นานับประการ

๓. ประกอบสัตว์ไว้ในสังสารทุกข์ เพราะมีตัณหา มีกิเลส ก็ไม่สามารถพ้นจากการเกิดได้เลย ก็ต้องเกิดวนเวียนไปในสังสารวัฏฏ์ไม่มีที่สิ้นสุด จึงเป็นเครื่องประกอบสัตว์ไว้ไม่ให้พ้นจากการเกิดจากสังสารวัฏฏ์

๔. ขังอยู่ในเรือนจำคือสังสารทุกข์ เพราะมีกิเลส คือ ตัณหา จึงต้องเกิดตาย ไม่สามารถออกจากสังสารวัฏฏ์ที่เรียกว่า คุก เพราะขังสัตว์ไว้ไม่ให้ออกจากการเกิดและตายได้ คุกอันละมุนละไม ที่ดูน่าเพลิดเพลิน แต่ถูกขังไว้โดยไม่รู้ตัว อันมีเหตุมาจากตัณหาและกิเลสประการต่างๆ

ทำอย่างไรจึงเรียกว่าละ

ไม่มีตัวเราที่ละ แต่สภาพธรรมฝ่ายดี คือ ปัญญาเกิดขึ้น ที่เป็นปัญญาระดับสูง ระดับมรรคจิต ย่อมละกิเลส คือ ตัณหา และผู้ที่จะละกิเลสคือตัณหาได้หมด คือ พระอรหันต์ ก็ด้วยปัญญา

เมื่อละได้แล้วเป็นอย่างไร

เมื่อละเหตุแห่งทุกข์ คือ ตัณหาและอวิชชา ย่อมละบุญและบาปได้ และเป็นปัจจัยไม่ให้ทุกข์ใจอีกเลย ไม่เกิดกิเลสขึ้นในจิตใจ และย่อมทำให้ถึงการไม่เกิดอีก เมื่อปรินิพพาน จุติจิตของพระอรหันต์เกิด ก็ไม่ต้องเวียนว่ายตายเกิด อันนำมาซึ่งทุกข์

 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
paderm
วันที่ 12 เม.ย. 2555

๓. นิโรธ ควรทำให้แจ้ง : นิโรธในที่นี้เป็นอย่างไร ทำให้แจ้งคือทำอย่างไร เมื่อทำให้แจ้งได้แล้วจะเป็นอย่างไร

นิโรธอริยสัจ องค์ธรรมได้แก่ พระนิพพาน ความจริงอย่างประเสริฐ คือความดับทุกข์ หมายถึง พระนิพพานเป็นสภาพธรรมที่ดับกิเลส ดับทุกข์ทั้งปวง เมื่อถึงการดับขันธปรินิพพานแล้ว จะไม่มีการเวียนว่ายตายเกิดอีก พระนิพพานเป็นโลกุตตรธรรม พระนิพพานที่เป็นนิโรธสัจจะ เป็นสภาพธรรมที่ออกจากอุปธิ คือสภาพธรรมที่ทรงไว้ซึ่งทุกข์ประการต่างๆ เพราะพระนิพพานไม่เกิด ไม่ดับ จึงไม่ทุกข์

นิโรธสัจจะ หมายถึง สงัดจากหมู่กิเลส เพราะพระนิพพานเป็นสภาพธรรมที่ปราศจากเครื่องเศร้าหมองที่เป็นกิเลสประการต่างๆ และกิเลสก็ยินดี ติดข้องไม่ได้ด้วย จึงเป็นสภาพธรรมที่ปราศจากกิเลส

ปัจจัยปรุงแต่งไม่ได้ พระนิพพานเป็นสภาพธรรมที่มีจริง แต่ไม่มีสภาพธรรมที่เป็นจิต เจตสิกและรูปเกิดเลย จึงไม่มีปัจจัยปรุงแต่งให้เกิด เพราะพระนิพพานไม่เกิดและดับ

เป็นอมตรส พระนิพพานที่เป็นนิโรธสัจจะ ไม่เกิดและไม่ดับ จึงเที่ยง จึงเป็นอมตรส

ทำให้แจ้งคือทำอย่างไร

คือ ทำให้แจ้ง คือ ประจักษ์ด้วยจิตใจของตนเอง คือ ด้วยใจที่ประกอบด้วยปัญญาระดับสูงที่เป็นโลกุตตระ ย่อมประจักษ์พระนิพพาน ตามความเป็นจริง

เมื่อทำให้แจ้งได้แล้วจะเป็นอย่างไร

เมื่อทำให้แจ้ง คือ ประจักษ์พระนิพพานแล้ว ย่อมถึงความสงบจากกิเลส

๔. มรรค ควรทำให้มีขึ้น : มรรคในที่นี้คืออย่างไร ทำให้มีขึ้นได้อย่างไร เมื่อทำให้มีขึ้นได้แล้วจะเป็นอย่างไร

มัคคอริยสัจ องค์ธรรมได้แก่ มรรคมีองค์ ๘ ในมรรคจิตตุปบาททั้ง ๔ เป็นความจริงอย่างประเสริฐ คือหนทางดับทุกข์ ได้แก่ มรรคมีองค์ ๘ ที่เกิดขึ้นเป็นมรรคสมังคี ทำกิจประหารกิเลสเป็นสมุจเฉท ทำให้บุคคลที่อบรมมรรคมีองค์ ๘ นั้นเปลี่ยนจากปุถุชนเป็นพระอริยบุคคลตามลำดับขั้น

กิจ ของ มัคคอริยสัจจะ คือ ควรเจริญ นั่นคือ ควรทำให้เจริญให้มีขึ้น จากที่ไม่มี ก็ให้เกิดขึ้น และที่เกิดขึ้นแล้ว ก็ทำให้เจริญมากขึ้น ซึ่งการทำให้เจริญให้มีขึ้น ก็ต้องเริ่มจากการฟังพระธรรม ศึกษาพระธรรม ในเรื่องของสภาพธรรม และอบรมเจริญสติปัฏฐาน ระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมตามความเป็นจริงในขณะนี้ ว่าเป็นธรรม ไม่ใช่เรา

เมื่อทำให้มีขึ้นได้แล้วจะเป็นอย่างไร

๑. ทำให้ออกจากสังสารวัฏฏ์ อริยมรรค เป็นหนทางที่สามารถดับกิเลส ทำให้ไม่มีการเกิดขึ้นของจิต เจตสิกและรูปอีก เพราะคำว่าสังสาร หมายถึง การเกิดขึ้นสืบต่อของสภาพธรรมที่เป็นจิตและเจตสิกต่อไปไม่ขาดสาย ไม่มีที่สิ้นสุด ดังนั้น อริยมรรคเมื่อเจริญแล้ว ก็ทำหน้าที่ละกิเลส ทำให้ไม่มีการเกิดขึ้นของจิต เจตสิกอีก จึงออกจากสังสารวัฏฏ์ได้

๒. เป็นเหตุแห่งพระนิพพานและเห็นพระนิพพาน ผู้ที่เจริญอริยมรรค มรรคสัจจะ มรรคจิต เมื่อเกิดขึ้น ย่อมมีพระนิพพานเป็นอารมณ์ จึงชื่อว่าย่อมเห็นพระนิพพาน และเป็นเหตุแห่งพระนิพพานครับ

๓. ทำให้พ้นทุกข์ทั้งปวง เพราะ เมื่อเจริญอริยมรรค ก็ถึงการดับกิเลส ก็ไม่ต้องมีกิเลสที่ทำให้ทุกข์ใจ และเมื่อไม่มีกิเลสก็ไม่มีการเกิดขึ้นของขันธ์ ๕ อีก ก็ไม่ต้องทุกข์กายและทุกข์ประการอื่นๆ จากการเกิดอีกเลย

ขออนุโมทนาที่ร่วมสนทนา

 
  ความคิดเห็นที่ 4  
 
khampan.a
วันที่ 12 เม.ย. 2555

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

อริยสัจจ์ ๔ เป็นธรรมที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงตรัสรู้และทรงแสดง อริยสัจจ์ ๔ เป็นธรรมที่มีจริงที่ทำให้ผู้รู้แจ้งถึงความเป็นพระอริยะ ห่างไกลจากข้าศึกคือกิเลสตามลำดับขั้น เป็นสัจจะของพระอริยเจ้าทั้งหลาย เป็นสัจจะ ที่พระอริยเจ้าทั้งหลายตรัสรู้แล้ว ว่าโดยประเภทแล้ว มี ๔ คือ ทุกข์ สมุทัย นิโรธ และ มรรค

ทุกข์ หมายถึงสภาพธรรมที่เกิดดับ เกิดแล้วย่อมดับไป เป็นไปกับด้วยสังสารวัฏฏ์ เป็นไปในฝ่ายเกิด ซึ่งก็คือ สภาพธรรมที่กำลังมีกำลังปรากฏในขณะนี้ ไม่พ้นไปจากจิต เจตสิก และ รูปเลย ซึ่งเป็นสภาพธรรมที่เกิดเพราะปัจจัยปรุงแต่ง ไม่ได้เกิดขึ้นเอง แต่เกิดเพราะเหตุปัจจัย เมื่อเกิดแล้วก็ตั้งอยู่ไม่ได้ ต้องมีความดับไปเป็นธรรมดา,

สมุทัย เป็นเหตุแห่งทุกข์ ที่มีสภาพธรรมที่เป็นทุกข์นี้ ก็เพราะตัณหา ตราบใดที่ยังมีตัณหา ก็ยังไม่พ้นจากทุกข์ในสังสารวัฏฏ์ มีการเกิดการตายอย่างไม่จบสิ้น จนกว่าจะถึงความเป็นพระอรหันต์ จึงจะสามารถดับตัณหาได้อย่างหมดสิ้น

นิโรธ เป็นความดับทุกข์ ดับกิเลส ได้แก่ พระนิพพาน ซึ่งเป็นสภาพธรรมที่ไม่เกิดไม่ดับ ไม่มีปัจจัยปรุงแต่งให้เกิด เป็นธรรมที่ตรงกันข้ามกับกิเลส ตรงกันข้ามกับสังสารวัฏฏ์อย่างสิ้นเชิง ผู้ที่จะประจักษ์แจ้งพระนิพพาน ต้องเป็นพระอริยบุคคลขั้นต่างๆ เท่านั้น

มรรค เป็นหนทางอันประเสริฐที่จะดำเนินไปถึงซึ่งความดับทุกข์ ได้แก่ อริยมรรคมีองค์ ๘ มีสัมมาทิฏฐิ ความเห็นถูกต้อง เป็นต้น อันเป็นทางอันประเสริฐที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้า และ พระอริยสงฆ์สาวก ดำเนินไปแล้ว

ทั้งหมดนั้น ล้วนเป็นสภาพธรรมที่มีจริงทั้งหมด ที่ทำให้ผู้ที่รู้แจ้งถึงความเป็นพระอริยบุคคล พระธรรมที่พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงแสดง ทั้งหมด เพื่อความเข้าใจถูกเห็นถูก เพื่อละคลายกิเลสทุกๆ ประการ มีความเห็นผิด ความไม่รู้ เป็นต้น

ความเข้าใจของผู้ที่ได้ฟัง ได้ศึกษา จะต้องเจริญขึ้นไปตามลำดับ ตามกำลังปัญญาของแต่ละบุคคล โดยไม่ขาดการฟัง การศึกษา เห็นประโยชน์ในการรู้ความจริง ซึ่งก็คือ สภาพธรรมที่กำลังมีกำลังปรากฏในขณะนี้ ซึ่งไม่เคยรู้มาก่อนเลยว่าเป็นธรรม สิ่งที่จะต้องศึกษาให้เข้าใจ ไม่พ้นไปจากธรรมที่มีจริงในขณะนี้ ไม่พ้นไปจากตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ครับ

...ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ...

 
  ความคิดเห็นที่ 5  
 
wannee.s
วันที่ 12 เม.ย. 2555

พระพุทธเจ้าตรัสไว้ว่า หนทางนี้เป็นหนทางเอกที่นำไปสู่การพ้นทุกข์ การไม่เกิดอีกเลย คือ การเจริญอริยมรรคมีองค์ ๘ อันเริ่มต้นด้วยความเห็นถูก ค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 6  
 
เซจาน้อย
วันที่ 12 เม.ย. 2555

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

"ธรรมทั้งปวงเป็นอนัตตา"

"ไม่ใช่ตัวตน ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่อยู่ในอำนาจบังคับบัญชาของบุคคลใด"

"ธรรมไม่มีทำไง เพราะไม่มีใครทำ"

"ขณะที่ฟังพระธรรมแล้วเข้าใจ (ปัญญา) "

"ปัญญานั่นเองที่จะทำหน้าที่"

ขอบคุณ และขออนุโมทนาในกุศลจิตของ อ.ผเดิม, อ.คำปั่น, พี่วรรณีและทุกท่านครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 7  
 
orawan.c
วันที่ 12 เม.ย. 2555

ขอบคุณ และขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 10  
 
เข้าใจ
วันที่ 10 มิ.ย. 2555

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

กราบอนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 11  
 
นิคม
วันที่ 6 ก.พ. 2559

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 12  
 
สิริพรรณ
วันที่ 12 ต.ค. 2559

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้นด้วยเศียรเกล้า

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาทุกท่านค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 13  
 
Kok
วันที่ 29 ธ.ค. 2563

สาธุ สาธุ สาธุ ครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 14  
 
chatchai.k
วันที่ 30 ธ.ค. 2563

ขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 15  
 
pnat121214
วันที่ 19 มิ.ย. 2564

สาธุ สาธุ สาธุ

 
  ความคิดเห็นที่ 16  
 
Sea
วันที่ 8 ก.พ. 2565

กราบขอบพระคุณและขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 17  
 
Kalaya
วันที่ 6 เม.ย. 2565

กราบอนุโมทนา สาธุ

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ