บัณฑิตแม้ประสบทุกข์ก็ไม่ทิ้งธรรม
บัณฑิตแม้ประสบทุกข์ก็ไม่ทิ้งธรรม
ขอเรียนถามดังนี้ค่ะ
๑. "บัณฑิตแม้ประสบทุกข์ก็ไม่ทิ้งธรรม" ประโยคนี้อยู่ในพระไตรปิฎกตอนไหนคะ?
๒. คำว่า "ธรรม" ในที่นี้หมายถึง "พระธรรม" หรือว่า "สภาพธรรม"?
๓. คำว่า "ทุกข์" ในที่นี้ หมายถึง "โทมนัสเวทนา" หรือว่า "ทุกขัง"?
ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น
๑. "บัณฑิตแม้ประสบทุกข์ก็ไม่ทิ้งธรรม" ประโยคนี้อยู่ในพระไตรปิฎกตอนไหนคะ?
ไม่มีข้อความโดยตรงจากพระไตรปิฎก สำหรับ คำนี้ แต่เป็นการแสดงถึงลักษณะของผู้ที่เป็นบัณฑิต ซึ่งก็เชื่องโยงและถูกต้อง ตรงตามพระธรรมที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงครับ ว่า บัณฑิตแม้ประสบทุกข์ก็ไม่ทิ้งธรรม
คำว่า บัณฑิต หมายถึง ผู้ที่มีปัญญา ไม่ใช่ ปัญญาทางโลก แต่เป็นผู้มีปัญญาทางธรรม คือ มีคุณธรรม รู้จัก กุศล และ อกุศล อบรมเจริญกุศล และ เห็นโทษของอกุศล และเข้าใจธรรมตามความเป็นจริง ชื่อว่า เป็น บัณฑิต เป็นผู้มีปัญญาและคุณธรรม
จากข้อ ๒ และ ข้อ ๓ ขออธิบายรวมดังนี้ครับ
บัณฑิตแม้ประสบทุกข์ก็ไม่ทิ้งธรรม
บัณฑิต คือ ผู้มีปัญญา มีคุณธรรม แม้ประสบทุกข์ ทุกข์ในที่นี้ หมายถึง ทุกข์ที่เป็นความทุกข์ คือ โทมนัสเวทนา คือ ทุกข์ใจ และ รวมถึง ความทุกข์กาย มีการเจ็บปวดได้รับกระทบสัมผัสที่ไม่ดี จะมุ่งหมายถึงทุกข์ ๒ อย่างนี้ แต่โดยนัยความละเอียดแล้ว ก็สามารถอธิบายได้ ถึง ความทุกข์ที่หมายถึง ทุกขอริยสัจจะที่เป็นสภาพธรรมที่เกิดขึ้นและดับไป เป็นทุกข์โดยนัยนี้ก็ได้ ซึ่งจะอธิบายต่อไป ครับ
คำว่า ไม่ทิ้งธรรม ธรรมในที่นี้หมายถึง ธรรม คือ กุศลธรรรม ประการต่างๆ มีบุญกิริยาวัตถุ ๑๐ เป็นต้น แต่ไม่ได้หมายถึง อกุศลธรรม และธรรมอื่นๆ ครับ
สัตว์โลก เมื่อมีการเกิด คือ มีขันธ์ ๕ ที่ เป็น จิต เจตสิก รูป ย่อมไม่พ้นจากความทุกข์ที่ไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้ คือ ทุกข์ทางกาย แม้พระพุทธเจ้าก็ต้องได้รับความทุกข์ทางกาย แต่โดยมากของปุถุชน ผู้ไม่มีปัญญา ไม่ใช่บัณฑิต เมื่อประสบทุกข์ทางกาย เพราะความยึดถือว่าเป็นเรา เป็นสัตว์ บุคคล จึงสำคัญว่าเราทุกข์และเดือดร้อนกับความทุกข์ทางกายที่เกิดขึ้น ด้วยอำนาจของกิเลสที่สะสมมา เพราะฉะนั้น เมื่อประสบทุกข์ทางกาย ย่อมทิ้งธรรม คือ ทิ้งกุศลธรรมในขณะนั้น เพราะ จิตเป็นอกุศล เดือดร้อนกับความทุกข์ที่เกิดขึ้น เพราะไม่มีปัญญา ไม่ใช่บัณฑิต เปรียบเหมือน เมื่อถูกลูกศรดอกแรกเข้าที่ร่างกาย และก็ถูกยิงที่แผลเดิมด้วยลูกศรอีกดอก ย่อมเกิดความทุกข์มากมาย ปุถุชนผู้ไม่มีปัญญา เมื่อได้รับความทุกข์ทางกาย ย่อมเดือดร้อนใจ เป็นอกุศล ทิ้งธรรม คือทิ้งกุศลธรรม ด้วยจิตที่เป็นอกุศลในขณะนั้น หรือ แม้แต่เกิดความทุกข์ใจ ก็ไม่เข้าใจความจริงว่าเป็นแต่เพียงธรรม และเมื่อทุกข์ใจก็หาวิธีการต่างๆ ด้วยอกุศล มีการดื่มสุรา เป็นต้น ขณะนั้น เมื่อประสบทุกข์ มี ทุกข์ใจเพราะความพลัดพราก เป็นต้น ก็ทิ้งธรรม คือ ทิ้งกุศลธรรม แต่หันไปทำอกุศล เป็นอกุศลจิตแทนในขณะนั้น ครับ
ส่วน บัณฑิตแม้ประสบทุกข์ก็ไม่ทิ้งธรรม
บัณฑิต ผู้มีปัญญา มีคุณธรรม เมื่อประสบกับทุกข์กาย ก็เข้าใจความจริงถึงความเป็นธรรมดา อย่างนั้น ด้วยปัญญา แทนที่จะเดือดร้อน ก็เป็นกุศลจิต ด้วยปัญญา ขณะนั้น จิตเป็นกุศลด้วยความเห็นถูก ก็ไม่ทิ้งธรรม คือ เป็นกุศลธรรม ไม่ทิ้งธรรม คือ กุศลธรรม ครับ และเมื่อทุกข์กาย ก็ไม่ทำชั่ว แต่ ทำความดีประการต่างๆ ก็ชื่อว่าไม่ทิ้งธรรมคือ ไม่ทิ้งกุศลธรรม เพราะทำความดี ครับ และแม้บัณฑิตผู้มีปัญญา เกิดความทุกข์ใจ ความทุกข์ใจเกิดขึ้นได้ ตราบใดที่ยังไม่ใช่พระอนาคามี เมื่อบัณฑิตเกิดความทุกข์ ย่อมไม่กระทำบาป ทำอกุศล มีการดื่มสุรา เป็นต้น แต่ มั่นคง อบรมความดีต่อไป เพราะรู้ว่าทุกข์ใจมาจากกิเลส และหากทำเหตุที่ไม่ดีอีก ก็ต้องเป็นปัจจัยให้ได้รับสิ่งที่ไม่ดี และเมื่อทำไม่ดี ก็เพิ่มกิเลส ทำให้กิเลสมากขึ้น จะดับกิเลสด้อย่างไร เมื่อทุกข์ใจ จึงพิจารณาด้วยปัญญา ไม่ทำบาป ก็คือ ไม่ทิ้งกุศลธรรม และพิจารณาถูกต้อง เป็นกุศลจิตในขณะนั้น ชื่อว่า ไม่ทิ้งธรรม คือ ไม่ทิ้งกุศลธรรม เพราะเป็นกุศลจิตในขณะนั้น ครับ และก็มั่นคงในการเจริญกุศลประการต่างๆ เพิ่มพูนความดี ไม่ทำอกุศลธรรมแม้จะประสบความทุกข์ใจ มีการพลัดพราก เป็นต้น ครับ และ การพิจารณาด้วยปัญญาสูงสุด คือ เมื่อทุกข์ใจ หรือ ทุกข์กายเกิดขึ้น บัณฑิตผู้มีปัญญา ย่อมพิจารณาในลักษณะของสภาพธรรมที่เกิดขึ้นในขณะนั้นว่าเป็นแต่เพียงธรรมไม่ใช่เรา ขณะนั้นสติปัฏฐานที่เป็นกุศลประกอบด้วยปัญญาเกิดในขณะนั้น ชื่อว่า ไม่ทิ้งธรรม คือ เป็นกุศลประกอบด้วยปัญญาแม้ประสบทุกข์ในขณะนั้น ครับ และโดยนัยละเอียดลึกซึ้งขึ้นไปอีกครับว่า แม้สภาพธรรมในขณะนี้ที่เกิดขึ้นและดับไป เป็นทุกข์ แม้ไม่ได้ประสบทุกข์กาย ทุกข์ใจ แต่ขณะที่เห็น ขณะที่ชอบ ก็เป็นสภาพธรรมที่เป็น จิต เจตสิก ที่เกิดขึ้นและดับไป เป็นทุกข์เพราะไม่เที่ยง ขณะนี้กำลังประสบทุกข์กันทุกคนโดยไม่รู้เลย เพราะกำลังมีสภาพธรรมต่างๆ ที่กำลังปรากฏ เป็นทุกข์ เมื่อผู้มีปัญญา ประสบสภาพธรรมที่เป็นทุกข์อยู่แล้วในชีวิตประจำวัน คือ เห็น ได้ยิน เป็นต้น ที่เกิดขึ้นและดับไป เป็นทุกข์ ย่อมไม่ทิ้งธรรม คือ สติและปัญญาเกิดระลึกรู้ลักษณะที่เห็นว่าเป็นธรรมไม่ใช่เรา ขณะนั้น ไม่ทิ้งธรรม คือ ไม่ทิ้งกุศลธรรม คือ เป็นกุศลที่ประกอบด้วยปัญญา
ดังนั้น บัณฑิตแม้ประสบทุกข์ก็ไม่ทิ้งธรรม จึงมีความละเอียดตามที่กล่าวมาครับ ซึ่งจะขอยกตัวอย่างในพระไตรปิฎกที่เป็นประโยชน์ที่บัณฑิตแม้ประสบทุกข์ก็ไม่ทิ้งธรรม ครับ
เรื่องอุตตรสามเณร
วัสสการพราหมณ์ เป็นอำมาตย์ของพระเจ้าอชาตศัตรู มีบุตรสาว เมื่อเห็นรูป อันงามและคุณสมบัติอื่นๆ ที่ครบถ้วนของอุตตรมาณพ จึงใคร่ที่จะยกบุตรสาวให้ แต่ เนื่องด้วย อุตตรมาณพมีอัธยาศัยน้อมไปที่จะบวชและบรรลุธรรม จึงไม่ยอมแต่งด้วย วัสสการพราหมณ์ ผูกโกรธท่านไว้ เมื่ออุตตรมาณพ บวชเป็นสามเณร คราวหนึ่งไป ทะเลสาบ วางบาตรไว้ โจรหนีมาทางนั้น วางห่อเงินไว้ในบาตร ชาวบ้านตามมา จึงสำคัญว่า สามเณรเป็นโจร จึงจับไปส่งวัสสการพราหมณ์ทำหน้าที่วินิจฉัยคดี ด้วย ความผูกโกรธ จำได้ จึงไม่สอบสวนพยาน ตัดสินโทษประหารทันที ให้เอาไปเสียบหลาว ท่านถูกเสียบหลาวทั้งเป็น แต่แม้ถูกเสียบหลาว พระพุทธเจ้าทรงเห็นความแก่กล้าของปัญญา เสด็จมาแสดงธรรม อุตตรสามเณร แม้ถูกทุกข์ทางกาย แต่ก็ได้ฟังธรรม บรรลุเป็นพระอรหันต์ทันที พร้อมด้วยฤทธิ์ เหาะออกจากหลาว นี่คือผู้ที่เป็น บัณฑิต แม้ประสบทุกข์ทางกาย ก็ไม่ทิ้งธรรม คือ ฟังพระธรรม เจริญวิปัสสนา ครับ
เรื่อง กัณหทีปายนะ
พระโพธิสัตว์ บวชเป็นฤาษี เมื่อบวชแล้ว ยินดีในการบวชเพียง ๗ วัน นอกนั้น ๕๕ ปีไม่ยินดีในการบวชเลย แม้จะประสบทุกข์ใจ ที่ไม่ยินดีในการบวช ตลอด ๕๕ ปี แต่ก็ไม่ละทิ้งธรรม ประพฤติธรรม คือ กุศลธรรมอยู่ ๕๕ ปี จนได้ฌาน และเกิดในพรหมโลก
เรื่อง ท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐี โศกเศร้า เมื่อบุตรสาวเสียชีวิต
ท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐี ลูกสาวสิ้นชีวิต โศกเศร้าเสียใจมากๆ แต่ท่านก็ไม่ไปทำบาป มีดื่มสุรา ท่านไม่ทิ้งธรรม คือ กุศลธรรมด้วยการเข้าไปหา สัตบุรุษผู้ประเสริฐที่สุด คือ พระพุทธเจ้า เพราะเห็นประโยชน์ของการฟังธรรม นี่คือ บัณฑิต แม้ประสบทุกข์ใจ ก็ไม่ทิ้งธรรม คือ ไปฟังธรรม เพื่อความเจริญขึ้นของกุศลธรรมพระพุทธเจ้าทรงแสดงธรรมให้ท่านเศรษฐีเกิดความเข้าใจในเรื่องนั้นครับ
เรื่อง นางวิสาขา โศกเศร้าที่หลานสาวสิ้นชีวิต
แม้แต่นางวิสาขา หลานสาวสิ้นชีวิต ก็โศกเศร้าเสียใจมาก โดยนัยเดียวกับท่านอนาถะ ท่านก็ไปฟังธรรม คลายโศกด้วยความเข้าใจ เพราะไม่ทิ้งธรรม คือ การฟังธรรมเพื่อความเจริญขึ้นของกุศลธรรมและปัญญา ครับ
เรื่อง ภิกษุอบรมวิปัสสนา ขณะที่ถูกเสือกิน
ภิกษุรูปหนึ่ง ขวนขวาย อบรมปัญญา วิปัสสนา คราวหนึ่ง ถูกเสือเข้ามาทำร้ายค่อยๆ กินร่างของท่าน ตั้งแต่ขา เรื่อยๆ มา ท่านพิจารณา เจริญวิปัสสนา ในขณะนั้นแม้ประสบทุกข์กาย ไม่ละทิ้งธรรม คือ กุศลที่เป็นวิปัสสนา ได้บรรลุธรรม เป็นพระอรหันต์ ก่อนที่เสือจะกินตัวหมดและสิ้นชีวิต ครับ
เรื่อง อุบาสกที่รักษาศีล
เรื่อง อุบาสก ที่มั่นคงในศีล แม้ตัวเองจะถูกตัดสินประหารชีวิต ไม่ละทิ้งธรรม คือไม่ยอมทำบาป ด้วยการฆ่าไก่ เพราะพระราชา ให้อุบาสกที่รักษาศีล ฆ่าไก่เป็นๆ มาทำอาหารให้ ถ้าไม่ทำจะต้องตาย ก็นอนกอดไก่ ว่า เจ้าจงปลอดภัยเถิด เราสละชีวิตให้เจ้า แม้จะประสบทุกข์คือ มรณภัย ก็ไม่ละทิ้งธรรม คือ กุศลธรรมและไม่ทำบาป ครับ จะเห็นนะครับว่า ผู้ที่เป็นบัณฑิต ย่อมไม่ละทิ้งธรรม คือ กุศลธรรมประการต่างๆ และกุศลจะเจริญขึ้นได้ ด้วยปัญญาที่เจริญขึ้น ซึ่ง ไม่ควรละทิ้งธรรม คือ การฟังพระธรรมศึกษาพระธรรมนั่นเอง ครับ
ขออนุโมทนาที่ร่วมสนทนา
ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น
สัตว์ทั้งหลาย ผู้ที่ได้สะสมปัญญา สะสมเหตุที่ดีที่จะได้ฟังพระธรรม ได้ศึกษาพระธรรม อบรมเจริญปัญญา มีเป็นส่วนน้อย จึงเป็นธรรมดาที่ยังเป็นผู้มากไปด้วยทุกข์ ทุกข์เพราะกิเลส ทุกข์เพราะความไม่รู้ ทุกข์เพราะความยึดมั่นถือมั่น อันมีเหตุหลัก คือ กิเลสทั้งหลาย นั่นเอง ที่เป็นเหตุให้มีการเกิดขึ้นในภพต่างๆ เมื่อมีการเกิดก็ยังไม่พ้นจากทุกข์ทั้งปวง แต่ถ้าเป็นผู้ที่มีปัญญา เป็นบัณฑิต เพราะได้สะสมอุปนิสัยที่ดี เห็นประโยชน์ของการได้เข้าใจความจริง ซึ่งเป็นหนทางเดียวที่จะเป็นไปเพื่อการขัดเกลา ละคลายกิเลส อันเป็นให้ถึงซึ่งความเป็นผู้สิ้นทุกข์โดยประการทั้งปวง ในที่สุด ก็ไม่ละทิ้งโอกาสสำคัญในชีวิต (แม้ว่าชีวิตประสบกับความเดือดร้อนลำบากเพียงใดก็ตาม) คือ การอบรมเจริญปัญญา พร้อมทั้งการสะสมความดีประการต่างๆ ในชีวิตประจำวันด้วย ซึ่งจะเป็นที่พึ่งในชีวิตได้อย่างแท้จริง สะสมเป็นที่พึ่งต่อไปในภายหน้า จนกว่า ปัญญาจะเจริญขึ้น คมกล้าขึ้น รู้แจ้งอริยสัจจธรรม ดับกิเลสได้ตามลำดับขั้นจนกระทั่ง สูงสุด คือ ถึงความเป็นพระอรหันต์ เมื่อละกิเลสอันเป็นสาเหตุของทุกข์ทั้งหมดแล้ว ย่อมคลายทุกข์ และเมื่อดับขันธปรินิพพานแล้ว ไม่มีการเกิดอีกในสังสังสารวัฏฏ์ ไม่มีสภาพธรรมใดๆ เกิดขึ้นอีก ไม่มีทุกข์อีกเลย ครับ.
...ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ...
บัณฑิตประสบทุกข์ไม่ทิ้งธรรม ธรรมที่นี้หมายถึงคุณงามความดี ในพระไตรปิฎกก็มีแสดงไว้ ท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐี ทำบุญให้ทานทุกวันเป็นประจำ จนเงินทองของท่านเหลือน้อยมาก แต่ท่านก็ยังให้ทานอยู่สม่ำเสมอ จนเทวดาที่สิงอยู่ในซุ้มประตูมาห้ามว่าอย่าให้ทานอีก เทวดาก็ถูกท่านไล่ไป นี่แสดงให้เห็นถึงความมั่นคงของบัณฑิต แม้ประสบทุกข์ก็ไม่ทิ้งธรรมะ ค่ะ
ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น
ขอบคุณ และขออนุโมทนาครับ