ความกลัว คือเจตสิกดวงไหนครับ

 
กฤษฎิ์พงศ์
วันที่  17 เม.ย. 2555
หมายเลข  20978
อ่าน  4,259

ผมเพิ่งศึกษาพระอภิธรรมน่ะครับ รบกวนขอความเห็นท่านผู้รู้ว่า

- "ความกลัว" คือเจตสิกหรือไม่

- ถ้าใช่คือเจตสิกตัวใด

- จิดที่เกิดความกลัวถือเป็นกุศลหรืออกุศล (กลัวการทำบาป-->กุศล, กลัวการทำความดี--

>อกุศล??)

สรุปคำถามคือ "ความกลัว" กับ จิด, เจตสิก เกี่ยวข้องกันยังไง

ขอบคุณมากครับ


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
paderm
วันที่ 17 เม.ย. 2555

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

๑. "ความกลัว" คือเจตสิกหรือไม่

- ทุกอย่างที่เกิดขึ้น ไม่พ้นจากสภาพธรรมที่มีจริงที่เกิดขึ้นและดับไป คือ จิต เจตสิกและรูปแม้แต่ความกลัวที่เกิดขึ้น ก็เป็นสภาพธรรมที่มีจริงที่สามารถเกิดได้ในชีวิตประจำวัน ความกลัวก็เป็นสภาพธรรมอย่างหนึ่ง เป็นเจตสิก

ซึ่งเจตสิก คือ สภาพธรรมที่ปรุงแต่งจิต จิตจะเกิดขึ้นได้ ก็ต้องมีเจตสิกเกิดร่วมด้วย ถึงจะเกิดขึ้นได้ ครับ ซึ่งเจตสิก มีหลายประเภท มีทั้งหมด ๕๒ เจตสิก ซึ่งแต่ละเจตสิก ก็ทำหน้าที่แตกต่างกันไป เจตสิก เป็นสภาพรู้ รู้อารมณ์เดียวกับจิต ดับพร้อมจิต เกิดที่เดียวกับจิต เป็นต้น ครับ


๒. ถ้าใช่คือเจตสิกตัวใด

- ความกลัว เป็นเจตสิก ที่เป็นอกุศลเจตสิก คือ เจตสิกที่ไม่ดี ที่เรียกว่า โทสเจตสิก


๓. จิตที่เกิดความกลัวถือเป็นกุศลหรืออกุศล (กลัวการทำบาป-->กุศล, กลัวการทำความดี-->อกุศล??)

- จิตเกิดขึ้นก็ต้องมีเจตสิก ซึ่ง เมื่อเจตสิก คือ โทสเจตสิกเกิดขึ้น ก็ต้องมีจิตเกิดร่วมด้วยกันในขณะนั้น จิตนั้นจึงเป็นอกุศลจิต เรียกว่า โทสมูลจิต โทสมูลจิตมีลักษณะหลายอย่าง เช่น ความโศกเศร้า ความขุ่นเคืองใจ ความโกรธ ความกลัว ล้วนแล้วแต่เป็นโทสมูลจิต เพราะว่า มีความรู้สึกไม่สบายใจเกิดขึ้นในขณะนั้น แม้แต่ความกลัวดังนั้น โทสมูลจิต เป็นจิตไม่ดี เป็นอกุศลจิต ครับ

แต่กลัวการทำบาป คือ กลัวด้วยกุศล คือ ต้องเป็นการเห็นโทษของกิเลส หรือเห็นโทษ ภัยของการเกิดในอบายภูมิ มีนรก เป็นต้น จึงไม่ทำบาป ขณะนั้นเป็นกุศลด้วยการพิจารณาด้วยปัญญา แต่ไม่ใช่ความกลัวที่รู้สึกไม่สบายใจ ครับ


สรุปคำถามคือ "ความกลัว" กับ จิต, เจตสิก เกี่ยวข้องกันยังไง

- ความกลัว ก็ไม่พ้นจากสภาพธรรมที่มีจริง ที่เป็น จิต เจตสิก ความกลัวก็คือ เจตสิกที่เป็นโทสเจตสิก ที่ต้องเกิดร่วมกับจิต เป็น โทสมูลจิต ความกลัวจึงเกี่ยวข้องกับจิต เจตสิก เพราะ ความกลัวที่เกิดขึ้น ก็ไม่พ้นจาก จิต เจตสิกตามที่กล่าวมา แต่ว่า เป็นอกุศลจิต และ อกุศลเจตสิก ที่เป็นความกลัว ครับ

ขออนุโมทนาที่ร่วมสนทนา

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
hiriotappa
วันที่ 17 เม.ย. 2555

ขออนุโมทนา

 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
j-atosa
วันที่ 17 เม.ย. 2555

แล้วจิตนี้ มีหน้าที่ปรุงแต่งด้วยมั้ยค่ะหรือเจตสิกทำหน้าที่นี้ฝ่ายเดียว แต่จิตเกิดขึ้นพร้อมกับเจตสิกแต่เป็นฝ่ายรู้ร่วมด้วยอย่างเดียวค่ะ

ขออนุญาตถามต่อด้วยคนนะคะ ขอบพระคุณค่ะ

ขออนุโมทนา

 
  ความคิดเห็นที่ 4  
 
paderm
วันที่ 17 เม.ย. 2555

เรียนความเห็นที่ 3 ครับ

จิตเป็นใหญ่ในการรู้เท่านั้นครับ ไม่ได้ทำหน้าที่ปรุงแต่ง แต่เจตสิกทำหน้าที่ปรุงแต่งจิต และรู้อารมณ์เดียวกับจิตด้วยครับ แต่ ทั้งจิตและเจตสิก เป็นสภาพธรรมที่มีปัจจัยปรุงแต่ง คือ ต้องอาศัยสภาพธรรมและเหตุปัจจัยอื่นๆ จึงเกิดขึ้นได้ ครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 5  
 
khampan.a
วันที่ 17 เม.ย. 2555

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

ไม่ว่ากล่าวถึงอะไร ก็ไม่พ้นไปจากธรรมที่มีจริง แม้แต่ในเรื่องของ ความกลัว ก็เป็นธรรมที่มีจริง เป็นอกุศล ก็ได้ เป็นกุศล ก็ได้ เช่น ขณะที่เกิดความกลัว ตกใจในสิ่งที่ไม่น่าปรารถนา ไม่น่าพอใจ ขณะนั้นไม่พอใจ มีความรู้สึกไม่สบายใจเกิดขึ้นในขณะนั้น ความกลัวในลักษณะนี้ เป็นโทสะ เป็นความไม่พอใจ อย่างนี้เป็นอกุศล ถ้าใส่ชื่อก็เป็นโทสเจตสิกที่เกิดร่วมกับอกุศลจิตประเภทโทสมูลจิต แต่ถ้าเป็นความกลัวต่ออกุศล กลัวโทษภัยของอกุศล และผลของอกุศลที่เกิดขึ้นด้วยความเข้าใจที่ถูกต้องแล้วเป็นผู้ถอยกลับจากอกุศลและเพิ่มพูนกุศลยิ่งขึ้นในชีวิตประจำวัน อย่างนี้เป็นกุศล เป็นหิริ และ โอตตัปปะ ที่เกิดร่วมกับกุศลจิตในขณะนั้น ซึ่งจะแตกต่างไปจากขณะที่ตกใจ กลัว ไม่พอใจในสิ่งหนึ่งสิ่งใด อย่างสิ้นเชิง ทั้งหมดนั้นก็เป็นธรรมที่มีจริง เกิดขึ้นเป็นไปตามเหตุตามปัจจัย ไม่ใช่เรา ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน ครับ

...ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ...

 
  ความคิดเห็นที่ 6  
 
j-atosa
วันที่ 17 เม.ย. 2555

เคยได้ยินว่า จิตปรุงแต่ง แต่จริงๆ ต้องเป็นเจตสิกปรุงแต่ง

ถ้าคนที่ไม่เข้าใจเรื่องจิต เจตสิกก็จะเข้าใจผิดว่าจิตก็เป็นฝ่ายปรุงแต่งด้วย

ได้รับคำอธิบายอย่างนี้ขอขอบพระคุณมากค่ะ

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 7  
 
เซจาน้อย
วันที่ 17 เม.ย. 2555

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

" ความกลัว ก็ไม่พ้นจากสภาพธรรมที่มีจริง ที่เป็น จิต เจตสิก ความกลัวก็คือ เจตสิก ที่เป็นโทสเจตสิก ที่ต้องเกิดร่วมกับจิต เป็น โทสมูลจิต ความกลัวจึงเกี่ยวข้องกับจิต เจตสิก เพราะ ความกลัวที่เกิดขึ้น ก็ไม่พ้นจาก จิต เจตสิกตามที่กล่าวมา แต่ว่าเป็นอกุศลจิต และ อกุศลเจตสิก ที่เป็นความกลัว ครับ"

" แต่กลัวการทำบาป คือ กลัวด้วยกุศล คือ ต้องเป็นการเห็นโทษของกิเลส หรือเห็นโทษ ภัยของการเกิดในอบายภูมิ มีนรก เป็นต้น จึงไม่ทำบาป ขณะนั้นเป็นกุศลด้วยการพิจารณาด้วยปัญญา "

ขอบคุณ และขออนุโมทนาในกุศลศรัทธาของทุกๆ ท่านด้วยครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 8  
 
wannee.s
วันที่ 18 เม.ย. 2555

ในพระไตรปิฎกมีแสดงไว้ เช่น ท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐีได้ยินว่า พระพุทธเจ้าอุบัติขึ้นแล้ว ก็เกิดความเลื่อมใส นอนไม่หลับ อยากไปเข้าเฝ้าตอนกลางคืน ก็เดินออกจากบ้านเกิดปิติ เกิดแสงสว่าง แต่พอเดินไปก็เหยียบศพ ก็เกิดความกลัวด้วยอกุศล แสงสว่างก็หายไป นี้แสดงให้เห็นว่ากุศลจิตเกิดสลับกับอกุศลจิตก็ได้ ค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 9  
 
กฤษฎิ์พงศ์
วันที่ 19 เม.ย. 2555

ขอบคุณและขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 10  
 
knoran
วันที่ 17 พ.ค. 2557

กลัวการทำบาป คือ กลัวด้วยกุศล คือ ต้องเป็นการเห็นโทษของกิเลส หรือ เห็นโทษ ภัย ของการเกิดในอบายภูมิ มีนรก เป็นต้น จึงไม่ทำบาป ขณะนั้นเป็นกุศลด้วยการพิจารณาด้วยปัญญา "

คำถาม : กลัวด้วยกุศลดังที่กล่าวเป็นโทสเจตสิกแล้วดับไป ต่อมาการไม่ทำบาปจึงเป็นกุศล ต่างขณะกัน

ขอความกรุณาชี้แนะครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 11  
 
paderm
วันที่ 8 ก.ค. 2557

เรียนความเห็นที่ 10 ครับ

กลัวด้วยโอตตัปปะ เพราะ เห็นภัยของอกุศล และ อบาย ส่วน กลัวด้วยโทสะเป็นอกุศลจิต ซึ่งกุศลก็สามารถเกิดต่อ จาก จิตที่เป็นกุศลได้ หากมีความเข้าใจถูกเป็นพื้นฐาน ทำให้กุศลเกิดครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 12  
 
ประสาน
วันที่ 26 ก.พ. 2561

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาครับ

การศึกษาพระธรรมต้องเป็นผู้ละเอียด

 
  ความคิดเห็นที่ 13  
 
Komsan
วันที่ 23 เม.ย. 2561

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาครับ

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ