เรื่องความเฉยๆ
ขอรบกวนถาม อ. นะคะ
เคยเข้าใจคำว่า สุข ทุกข์ และความเฉยๆ ระดับหนึ่งค่ะว่า
สุข คือความพอใจ ได้มา ยินดี (ผิดถูกขอคำแนะนำเพิ่มเติมค่ะ)
ทุกข์ คือ ความไม่พอใจ เสียไป ทนได้ยาก (ผิดถูกขอคำแนะนำเพิ่มเติมค่ะ)
ความเฉยๆ คือ ความไม่รู้สึกเหมือนสองข้อนั้น คือไม่สุขและไม่ทุกข์ เฉยๆ ต่อเหตุการณ์นั้นๆ และมีอยู่วันหนึ่ง ได้ยินอาจารย์ ท่านหนึ่งท่านเป็นนักวาดรูปที่เป็นปริศนาธรรม ท่านได้พูดมาคำหนึ่งว่า ความรู้สึกเฉยๆ คือ ไม่สุข ไม่ทุกข์ ยกตัวอย่างให้เห็นว่า เรากำลังกินส้มตำอยู่ น้ำหูน้ำตาไหลพราก กินต่อก็ทรมานจะให้หยุดก็ไม่ยอม ประมาณนี้ค่ะ
คำถามคือ อาการณ์เช่นนั้นเป็นอาการของความเฉยๆ หรือคะ
เลยมีความสงสัยค่ะ เพราะที่เคยเข้าใจคือ เฉย คือ นิ่งต่อเหตุการณ์ ที่มีผัสสะมากระทบ แต่เหตุการณ์ที่อาจารย์ท่านนี้ยกมานี่ อารมณ์คงไม่นิ่งใช่มั้ยคะในขณะนั้น เพราะไหลไปกับความสุขในรสอาหารและทุกข์ในรสเผ็ดร้อนสลับกัน แต่คงไม่ใช่อาการเฉยๆ ใช่มั้ยคะ แต่ค่อนข้างมั่นใจว่า ที่เข้าใจเช่นนี้ไม่ผิด เลยมาขออ.ในที่นี้
อธิบายและแนะนำเพิ่มเติมให้ด้วยนะคะ เพื่อตอกย้ำความมั่นใจ
... ผิดพลาดขออภัยด้วยค่ะ
ขอบพระคุณค่ะ
ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น
เวทนา คือ ความรู้สึก เวทนาเป็นสภาพธรรมที่มีจริง ที่เป็นเจตสิก เกิดกับจิตทุกประเภท ดังนั้น เมื่อจิตเกิดขึ้น ก็จะต้องมีความรู้สึก คือ มีเวทนาเสมอครับ ซึ่งเวทนาความรู้สึก แบ่งได้ ๕ อย่าง คือ โสมนัสเวทนา (ความรู้สึก สุขทางใจ) สุขเวทนา (ความรู้สึกสุขทางกาย) อุเบกขาเวทนา (ความรู้สึกเฉยๆ ) โทมนัสเวทนา (ความรู้สึกทุกข์ใจ) ทุกขเวทนา (ความรู้สึกทุกข์กาย)
ดังนั้น สุขที่เป็น ความรู้สึกที่เป็นเวทนา ไม่ใช่ความพอใจ ความยินดี ที่โดยมาก คือ โลภะ ครับ แต่ ความสุขโดยนัยเวทนา คือ เป็นความรู้สึกสุขใจ และ สุขกาย
ส่วนทุกข์ ไม่ใช่ความไม่พอใจ ที่เป็นโทสะ แต่ถ้าเป็นทุกข์ โดยนัยเวทนา คือ ความรู้สึกไม่สบายใจ ทุกข์ใจ
ส่วนความรู้สึกเฉยๆ คือ ความรู้สึกไม่สุขและทุกข์ เข้าใจถูกต้องแล้ว ครับ
จากคำถามที่ว่า
ความรู้สึกเฉยๆ คือ ไม่สุขไม่ทุกข์ ยกตัวอย่างให้เห็นว่า เรากำลังกินส้มตำอยู่ น้ำหูน้ำตาไหลพราก กินต่อก็ทรมาน จะให้หยุดก็ไม่ยอม ประมาณนี้ค่ะ
คำถามคือ อาการณ์เช่นนั้นเป็นอาการของความเฉยๆ หรือคะ
- สภาพธรรมเกิดดับสลับกันรวดเร็วมาก แม้แต่เจตสิก คือ เวทนาเจตสิกที่เป็นความรู้สึก ก็เกิดดับสลับกันอย่างรวดเร็ว แม้ในขณะที่ทานส้มตำ จิตและเจตสิกเกิดดับนับไม่ถ้วน เวทนาความรู้สึก ก็เกิดมากมาย นับไม่ถ้วน ซึ่งการอธิบายก็ต้องพูดทีละขณะจิตที่เกิดขึ้น อันมีเวทนาเจตสิกเกิดร่วมด้วยแต่ละขณะจิต ครับ เช่น ขณะที่เห็น ขณะนั้น มีความรู้สึกเฉยๆ ที่เป็นอุเบกขาเวทนาเกิดร่วมด้วย ขณะที่ทานส้มตำ ขณะที่เผ็ด เกิด ขณะนั้น เป็นทุกขกายวิญญาณจิต มีความรู้สึกที่เป็น ทุกขเวทนา ทุกข์กายเกิดขึ้น ขณะที่ทรมาน เกิดความขุ่นใจเพียงเล็กน้อย ขณะนั้น เป็นโทมนัสเวทนา เกิดขึ้น เป็นความรู้สึกทุกข์ใจ และขณะที่อยากทานต่อ เป็นโลภะ อาจเป็นความรู้สึกเฉยๆ หรือ โสมนัส สุขใจในขณที่เกิดโลภะ อยากทานต่อก็ได้ ครับ
จะเห็นนะครับว่า ความรู้สึก มีมากมาย เกิดขึ้นในขณะช่วงเวลาสั้นๆ เพราะจิตเกิดดับ สลับกันอย่างรวดเร็ว เวทนาก็เกิดดับสลับกันอย่างรวดเร็ว ดังนั้น เวทนา ที่เป็นความรู้สึกเฉยๆ จะต้องไม่สุขและไม่ทุกข์ เพราะฉะนั้น ขณะที่ทานส้มตำ จึงไม่ใช่ มีความรู้สึกเฉยๆ เพียงเพราะว่า สามารถทานได้ต่อ แต่พระธรรมของพระพุทธเจ้าที่ตรัสรู้ ทรงตรัสรู้ธรรมที่เป็น จิต เจตสิกและรูป แต่ละขณะที่เกิดขึ้น การพิจารณาธรรมที่ถูกต้อง จึงต้องพิจารณาไปทีละขณะจิต แต่ปุถุชนผู้ไม่รู้ ไม่ได้ศึกษา และสดับฟัง ย่อมสำคัญ พิจารณาโดยการเป็นเรื่องราวว่า ทานส้มตำต่อได้ ก็คือ วางเฉย แต่ไม่รู้ว่า การวางเฉย เป็นแต่เพียงธรรมที่เป็นความรู้สึก ที่เกิดทีละขณะจิต ครับ
ขออนุโมทนาที่ร่วมสนทนา
ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น
ธรรมเป็นเรื่องที่ละเอียดลึกซึ้งอย่างยิ่ง เป็นสิ่งที่มีจริงๆ ทุกๆ ขณะ ไม่ว่าจะหลับหรือตื่น ก็ไม่พ้นไปจากสภาพธรรมที่มีจริงเลย ซึ่งเมื่อไม่ได้ฟังพระธรรม ย่อมไม่สามารถที่จะรู้ได้เลยว่า ขณะนี้เป็นธรรม จึงมีการยึดถือสภาพธรรมที่มีจริงว่าเป็นสัตว์ เป็นบุคคล เป็นตัวตน เป็นไปกับด้วยความไม่รู้มากมาย และยิ่งจะสะสมความไม่รู้มากยิ่งขึ้น จนกว่าจะได้ฟังพระธรรม ได้ศึกษาพระธรรม สะสมความเข้าใจถูกเห็นถูกไปตามลำดับ
ธรรม ไม่สามารถบังคับบัญชาให้เกิด หรือ ไม่ให้เกิดได้ ทุกอย่างเกิดขึ้นเป็นไปตามเหตุตามปัจจัยจริงๆ
สิ่งที่มีจริงๆ เป็นธรรม ความรู้สึก เป็นสิ่งที่มีจริง ก็เป็นธรรมด้วย
ภาษาบาลี คือ เวทนา (เว - ทะ - นา) แปลเป็นไทยได้ว่า ความรู้สึก ความรู้สึก เป็นเจตสิก (สภาพธรรมที่เกิดร่วมกับจิต) ประการหนึ่งที่เกิดกับจิตทุกขณะ ทุกประเภท ไม่มีเว้นเลย ไม่ว่าจะทานส้มตำ ได้ต่อ หรือ ในช่วงที่ไม่ได้ทานส้มตำ ในขณะอื่นๆ ก็ไม่ปราศจากความรู้สึกเลย จะเป็นเวทนาหนึ่งเวทนาใดในเวทนา ๕ ประการนั้น ก็ตามสมควรแก่จิตประเภทนั้นๆ
สำหรับความรู้สึกเฉยๆ (อทุกขมสุขเวทนา หรือ อุเบกขาเวทนา) ก็เกิดได้กับทั้งกุศลจิต อกุศลจิต วิบากจิต และกิริยาจิต ซึ่งจะต้องอาศัยการฟังพระธรรม ศึกษาพระธรรมจริงๆ จึงจะสามารถเข้าใจธรรมตามความเป็นจริงได้ ครับ
...ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ...
อกุศลทั้งหมดมี ๑๒ ดวง โลภะที่ประกอบด้วยโสมนัส ๔ ดวง และ โลภะที่ประกอบด้วยอุเบกขาอีก ๔ ดวง โทสมูลจิต ๒ ดวง ประกอบด้วยโทมนัส ตรงกันข้ามฝ่ายกุศลประกอบด้วยโสมนัส ๔ ดวง อุเบกขา ๔ ดวง ค่ะ