อัสสาททิฏฐิ
อัสสาททิฏฐิ มีความหมายว่าอย่างไร
ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น
อัสสาทะ คือ ความยินดีด้วยโลภะ
ทิฏฐิ คือ ความเห็นผิด
อัสสาททิฏฐิ จึงหมายถึง ความเห็นผิด อันประกอบด้วยความยินดี คือ เพราะอาศัย ความยินดี ติดข้องด้วยโลภะ จึงทำให้เกิดความยึดถือด้วยความเห็นผิด เช่น คนที่ติดข้องมากๆ ไม่ได้ศึกษาธรรมเลย ย่อมมีความเข้าใจผิด เห็นผิดได้ครับว่า กาม ทั้งหลาย คือ รูป เสียง กลิ่น รส สิ่งที่กระทบสัมผัส รวมทั้งกิเลสกาม มี โลภะ ไม่มีโทษควรที่จะเสพ เจริญให้มาก การที่สำคัญว่า กามไม่มีโทษ ทั้งๆ ที่กาม มีโทษ คือ ไม่เที่ยง และนำมาซึ่งความทุกข์ประการต่างๆ ความเห็นผิด ว่า กามไม่มีโทษ ควรประกอบความยินดีในกาม คือ เสพความสุขในชีวิตประจำวันมากๆ ชื่อว่าเป็นความเห็นผิดที่เป็น อัสสาททิฏฐิ คือ ความเห็นผิดที่เกิดขึ้นอันอาศัย ความยินดี ติดข้อง เป็นเหตุ ครับ ความเห็นผิดว่า กามไม่มีโทษ ชื่อว่า อัสสาททิฏฐิ
[เล่มที่ 78] พระอภิธรรมปิฎก วิภังค์ เล่ม ๒ ภาค ๒ - หน้าที่ 795
[๙๔๙] อัสสาททิฏฐิ ความเห็นผิดอันประกอบด้วยความยินดี เป็นไฉน?
สมณะหรือพราหมณ์บางคนในโลกนี้ เป็นผู้มีวาทะอย่างนี้ มีความเห็นอย่างนี้ว่า กามทั้งหลายไม่มีโทษ ดังนี้ เขาจึงบริโภคกาม นี้เรียกว่าอัสสาททิฏฐิ ความเห็นผิดอันประกอบด้วยความยินดี.
อีกนัยหนึ่ง อัสสาททิฏฐิ คือ ความเห็นผิดที่สำคัญว่าเที่ยง เป็นอัสสาททิฏฐิ ครับ
ซึ่งพระพุทธเจ้าทรงแสดง หนทางของการละความเห็นผิดที่เป็น อัสสาททิฏฐิ คือ ความเห็นผิดอันประกอบด้วยความยึดถือ ด้วยการประจักษ์ความจริงของสภาพธรรม ที่เกิดขึ้นและดับไป คือ ประจักษ์ความไม่เที่ยงนั่นเองครับ เหตุผลเพราะว่าผู้ที่สำคัญ ด้วยความเห็นผิด ว่ากามไม่มีโทษ เพราะติดข้องในรูป เสียง ... ที่น่ายินดี แต่เขาไม่ได้เห็นโทษตามความเป็นจริงของกามที่เป็น รูป เสียง กลิ่น รส สิ่งที่กระทบสัมผัส ว่ามี โทษ คือ ไม่เที่ยง แต่เขาสำคัญผิดว่า เที่ยง ยั่งยืนนั่นเอง จึงสำคัญว่า มีความสุข สำคัญว่าการติดข้องดี และไม่มีโทษเลย แต่หากประจักษ์ความจริงว่า สิ่งเหล่านี้ไม่เที่ยง ไม่นำมาซึ่งความสุขจริงๆ แม้การเห็นรูปที่สวยๆ รูปนั้นก็ดับไป ไม่ยั่งยืน และไม่สามารถเป็นของๆ ใครได้ หากเข้าใจความจริงว่า สภาพธรรมทั้งหลายไม่เที่ยง ย่อมละความเห็นผิด ที่เป็นอัสสาททิฏฐิได้ ที่สำคัญผิดว่า กามไม่มีโทษ ควรบริโภคกาม คือ เสพความสุขต่างๆ ให้มากๆ ครับ
[เล่มที่ 36] พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ปัญจก-ฉักกนิบาต เล่ม ๓ - หน้าที่ 836
๖. อัสสาทสูตร
ว่าด้วยธรรมที่ควรละและควรเจริญ
ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ธรรม ๓ ประการนี้ ๓ ประการเป็นไฉน คือ อัสสาททิฏฐิ (สัสสตทิฏฐิ) ๑ อัตตานุทิฏฐิ (สักกายทิฏฐิ) ๑ มิจฉาทิฏฐิ ๑ ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ธรรม ๓ ประการนี้แล ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ธรรม ๓ ประการ อันภิกษุพึงให้เจริญเพื่อละธรรม ๓ ประการเหล่านี้ ๓ ประการเป็นไฉน? คือ อนิจจสัญญา อันภิกษุพึงให้เจริญเพื่อละอัสสาททิฏฐิ ๑ ...
ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น
อัสสาททิฏฐิ ความเห็นผิดที่เกิดขึ้นเพราะอาศัยความติดข้องยินดีพอใจ เป็นสภาพธรรมที่มีจริง และอาจจะเกิดขึ้น เป็นไปได้ ถ้าเป็นผู้เหินห่างจากพระธรรม ไม่ได้ฟังพระธรรม ไม่ได้ศึกษาพระธรรมอบรมเจริญปัญญาเลย หมกมุ่นอยู่กับสิ่งเหล่านี้มากๆ จนเกิดความเห็นผิด ซึ่งเป็นความเห็นที่คลาดเคลื่อนจากความเป็นจริงว่า สิ่งเหล่านี้ คือ ทั้งกาม และ ความติดข้องอันเป็นโลภะ ไม่มีโทษ ควรเสพ เป็นต้น ทำให้ยิ่งเพิ่มพูนกิเลสอกุศลให้มีมากยิ่งขึ้น ไม่มีโอกาสเจริญในกุศลธรรม
ความติดข้องต้องการนี้เองเป็นเหตุให้เกิดความทุกข์ เกิดความเดือดร้อน แต่สำหรับผู้ที่ได้ฟังพระธรรม ศึกษาพระธรรมอบรมเจริญปัญญา เมื่อมีปัญญาที่เพิ่มขึ้นไปตามลำดับ ก็จะสามารถละคลายความติดข้องต้องการ และสามารถดับทุกข์ได้ในที่สุด
สิ่งสำคัญที่สุด ต้องเริ่มจากการฟังพระธรรม ศึกษาพระธรรม ในแนวทางที่ถูกต้องตรงตามที่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดงไว้เท่านั้นจริงๆ พระธรรมที่พระองค์ทรงแสดงทั้งหมด เป็นไปเพื่อปัญญา เพื่อละคลายความไม่รู้และความเห็นผิด รวมไปถึงกิเลสประการอื่นๆ ด้วย ครับ.
...ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ...
พระพุทธเจ้าทรงแสดงธรรมกับปัญจวัคคีย์ว่า ทางสุดโต่ง ๒ อย่าง ที่ไม่ควรเสพ
๑. กามสุขัลลิกานุโยค เป็นการหมกมุ่นอยู่ในกาม เพราะคิดว่าการเสพกามคุณ จะทำให้พ้นทุกข์ เป็นโลภะที่ประกอบด้วยความเห็นผิด ค่ะ
๒. อัตตกิลมถานุำโยค คือ การทรมานตัวเอง การทำตัวเองให้ลำบาก เช่น นอนบนตะปู อดอาหาร ฯลฯ เพราะคิดว่าเป็นหนทางพ้นทุกข์ เป็นการปฏิบัติผิด ค่ะ
พระพุทธเจ้าทรงแสดงทางสายกลาง คืออริยมรรคมีองค์แปด ค่ะ