ธรรมะเป็นอนัตตา
เคยได้ยินประโยคที่ว่า "ธรรมะเป็นอนัตตา" กับ "พระธรรมเป็นอนัตตา" ๒ ประโยคนี้ แปลความว่าอย่างไรคะ ... เกรงที่คิดไว้ว่า เข้าใจ จะยังไม่ถูกต้อง ... คงต้องรบกวนขอความ เมตตาในธรรมท่านผู้รู้ ช่วยอธิบายธรรมประโยคนี้ให้หายคลายความสงสัยด้วยค่ะ
ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น
คำว่า "ธรรมะเป็นอนัตตา" กับ "พระธรรมเป็นอนัตตา" มีความหมายเหมือนกัน ครับ เพราะ คำว่า ธรรมะ กับ พระธรรม ที่มาผสมรวมกันกับคำว่า อนัตตา มุ่งหมายถึงสภาพธรรมที่มีจริงทั้งหมด ที่เป็น จิต เจตสิก รูปและนิพพาน เหมือนกัน ครับ
ดังนั้นจะใช้คำว่า ธัมมะเป็นอนัตตา ธรรมะเป็นอนัตตา พระธรรมเป็นอนัตตา ต่างกันเพียงพยัญชนะ แต่อรรถะความหมายเหมือนกัน เพียงแต่ว่า หากใช้คำว่าว่าพระธรรมเดี่ยวๆ จะมุ่งหมายถึงพระปริยัติธรรมที่เป็นคำสอนของพระพุทธเจ้า แต่เมื่อใช้คำว่า ธรรม ที่อยู่ในคำว่า ธรรมเป็นอนัตตา จะมุ่งหมายถึงสภาวลักษณะของสภาพธรรม ที่เป็น จิต เจตสิก รูปและนิพพาน เป็นสำคัญ แต่ถ้าหากเราเข้าใจถูก ครับว่า พระธรรมที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงที่เป็น พระธรรมก็ไม่พ้นจาก ธรรม คือ จิต เจตสิก รูปและนิพพานเลย เพราะมี จิต เจตสิก รูปและนิพพาน จึงมีพระธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้าได้
ดังนั้น หากใช้คำว่า พระธรรมเป็นอนัตตา จึงมุ่งหมายถึง ธรรมเป็นอนัตตา คือ จิต เจตสิก รูป และนิพพาน ซึ่งโดยมากเราจะใช้คำว่า ธรรมเป็นอนัตตา ไม่ใช้คำว่า พระธรรมเป็นอนัตตา ครับ แต่เมื่อใช้คำใด หากเรามีความเข้าใจถูก แม้แต่คำว่า พระธรรมเป็นอนัตตา ก็เข้าใจได้ถูกต้องว่า เหมือนกับคำว่า ธรรมเป็นอนัตตานั่นเอง ครับ ซึ่ง ธรรมทั้งหลายเป็นอนัตตา ด้วยอรรถว่าดังนี้ครับ
พระอภิธรรมปิฎก วิภังค์ เล่ม ๒ ภาค ๑ - หน้าที่ 172
ชื่อว่า เป็น อนัตตา เพราะเหตุ ๔ เหล่านั้น คือ โดยความเป็นของสูญ ๑ โดยความไม่มีเจ้าของ ๑ โดยเป็นสิ่งที่ควรทำตามชอบใจไม่ได้ ๑ โดยปฏิเสธต่ออัตตา ๑.
โดยความเป็นของสูญ คือ ธรรมทั้งหลายเป็นอนัตตา เพราะไม่ใช่ว่าไม่มีอะไรเลย สูญไปเลย แต่มีสภาพธรรม เพียงแต่สูญ คือ ไม่มีสัตว์ บุคคล ตัวตนในสภาพธรรมนั้นเลย เพราะเป็นแต่เพียงธรรมไม่ใช่เรา สัตว์ บุคคล ครับ
โดยความไม่มีเจ้าของ คือ ไม่มีใครเป็นเจ้าของสภาพธรรม ที่คิดว่าเป็นเจ้าของ ทรัพย์สมบัติ ทรัพย์สมบัตินั้นก็ไม่รู้ว่าว่ามีคนเป็นเจ้าของเพราะเป็นแต่เพียงรูป และทรัพย์สมบัติก็เสื่อมสลายไป ไม่มีใครที่เป็นเจ้าของได้จริงๆ ผู้ที่เป็นเจ้าของก็ต้องจากไป ไม่มีใครเป็นเจ้าของจริงๆ เพราะเป็นแต่เพียงธรรมที่เป็นอนัตตา ครับ
โดยเป็นสิ่งที่ควรทำตามชอบใจไม่ได้ คือไม่สามารถให้ จิต เจตสิก รูปและสภาพธรรมเกิดขึ้นหรือไม่เกิดขึ้นตามใจชอบไม่ได้เลย และไม่ให้ดับไปก็ไม่ได้ จะให้ยั่งยืนอยู่ตลอดเวลาไม่ใช่ฐานะที่จะมีได้
โดยปฏิเสธต่ออัตตา คือปฏิเสธว่าไม่มีสัตว์ บุคคล ตัวตนอยู่ในสภาพธรรม ครับ นี่คือ อรรถ ๔ อย่างที่แสดงถึงความเป็นอนัตตาของสภาพธรรม ซึ่งการจะถึงความเป็นอนัตตาก็ด้วยการประจักษ์ด้วยปัญญาเท่านั้น โดยเริ่มจากการฟังพระธรรมที่ถูกต้อง ปัญญาก็จะค่อยๆ เจริญจนถึงการประจักษ์สภาพธรรมว่าไม่ใช่เรา เป็นแต่เพียงธรรม ครับ
ขออนุโมทนาที่ร่วมสนทนา
ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น
พระธรรมที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดง เป็นหนึ่ง ไม่เป็นสอง หมายความว่า เป็นจริงอย่างไรก็เป็นจริงอย่างนั้น เปลี่ยนแปลงให้เป็นอย่างอื่นก็ไม่ได้ พระองค์ทรงแสดงธรรมไปตามความเป็นจริง ว่า ธรรมทั้งปวง เป็นอนัตตา ก็เป็นจริงอย่างนั้น เพราะ ความหมายของอนัตตา คือ ไม่ใช่ตัวตน ไม่มีใครเป็นเจ้าของ เป็นสภาพธรรมที่ว่างเปล่าจากความเป็นตัวตน สัตว์ บุคคล เป็นสภาพธรรมที่บังคับบัญชาไม่ได้ ปฏิเสธต่ออัตตาอย่างสิ้นเชิง ความจริงเป็นอย่างนี้ ความเป็น อนัตตา ครอบคลุมสิ่งที่มีจริงทั้งหมด คือ จิต เจตสิก รูป และพระนิพพาน เพราะเป็นธรรมแต่ละอย่างๆ ที่มีจริง ที่ไม่ใช่ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน หาความเป็นสัตว์เป็นบุคคลในสภาพธรรมที่มีจริงไม่ได้เลย
ธรรมไม่อยู่ในอำนาจบังคับบัญชาของใครทั้งสิ้น เกิดขึ้นเป็นไปตามเหตุตามปัจจัยจริงๆ ไม่มีใครสามารถบังคับให้ธรรมอะไรเกิดขึ้นได้เลย บังคับให้เห็นก็ไม่ได้ เพราะเห็นเกิดเพราะเหตุปัจจัยหลายอย่าง เช่น มีกรรมเป็นปัจจัย มีที่อาศัยให้จิตเห็นเกิด มีเจตสิกเกิดร่วมด้วย เป็นต้น แม้แต่ปัญญาเองซึ่งเป็นสภาพธรรมฝ่ายดี ที่เข้าใจถูกเห็นถูกตามความเป็นจริง ก็เกิดขึ้นเพราะอาศัยเหตุปัจจัยเช่นเดียวกัน ไม่ใช่ว่ามีตัวตนที่จะไปบังคับให้ปัญญาเกิดได้ ต้องอาศัยเหตุหลายอย่างหลายประการด้วยกัน ต้องมีศรัทธาที่จะฟัง ที่จะศึกษา เพราะเคยเห็นประโยชน์ของการได้เข้าใจความจริงมาแล้ว จึงทำให้เป็นผู้ที่สนใจที่จะฟัง ที่จะศึกษาพระธรรม เพื่อความเข้าใจอย่างถูกต้องตามความเป็นจริง จึงฟัง จึงศึกษา เมื่อได้ฟัง ได้ศึกษา ปัญญาย่อมจะเจริญขึ้นไปตามลำดับ โดยไม่มีตัวตนที่จะไปบังคับให้ปัญญาเกิดเลย แต่เกิดขึ้นเพราะเหตปัจจัยจริงๆ แต่การใช้คำพูดในการสื่อสาร ก็อาจจะพูดว่า สร้างเหตุหรือเจริญเหตุ หรือทำเหตุ เป็นต้น โดยที่ไม่ได้ปฏิเสธโวหารของชาวโลก ก็ขอให้เข้าใจว่า ไม่มีใครสร้าง ไม่มีใครเจริญ ไม่มีใครทำ มีแต่ธรรมที่เกิดขึ้นเป็นไปเท่านั้น สำคัญที่ความเข้าใจถูกเห็นถูกจริงๆ ว่าเป็นธรรมที่มีจริง ครับ.
ขอเชิญคลิกฟัง-อ่านคำบรรยายของท่านอาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์ ได้ที่นี่ครับ
...ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ...
ขอขอบพระคุณท่านทั้งสองที่ช่วยอธิบายธรรมให้คลายความสงสัย และขออนุโมทนาค่ะ