ตัวความคิด ตัวความรู้สึก และตัวอารมณ์ อันใหนรูป อันไหนนาม
ความคิดเรื่องราวต่างๆ วันหนึ่งๆ มากมายมหาศาล คิดถึง คน สัตว์ สิ่งของ เป็นเรื่องเป็นราวสงสัยมากครับขอถามท่านผู้รู้ครับว่า
ความคิด เป็นรูปหรือเป็นนาม คือตัวผมได้เห็นความคิดเหมือนฝันน่ะครับ เป็นรูปทางใจ (มโนทวาร) ใช่หรือไม่ เพราะไม่ได้เกิดที่ปัญจทวาร และผมยังเข้าใจว่าเป็นรูปเพราะ ความคิด ไม่ใช่สภาพรู้ (รูปไม่รู้อะไร ส่วนนามเป็นสภาพรู้) รูปมีจริงแต่ไม่เป็นบัญญัติ (จิต+เจตสิก) จึงรู้รูปเฉยๆ และมีปัจจัยปรุงแต่ต่อทำให้เกิด กุศล อกุศล หรือกิริยา และกระทำกรรมใหม่ซึ่งให้เกิดผลเป็นวิบากข้างหน้าต่อไป
อารมณ์ เป็นรูปหรือนาม (เป็นนาม เพราะเป็นเจตสิกเกิดพร้อมกับจิต)
รูปเกิดขึ้นตอนไหนครับ (ตอนภวังคจิต ตอนทวารทั้ง ๖ ตอนปัญจวิญญาณหรือมโนวิญญาณ)
ขอคำอธิบายชัดๆ ครับ กลัวว่าเข้าใจผิดไม่ตรงกันครับ และจะค่อยๆ เข้าใจถูก ตรงไปเรื่อยๆ
ขอขอบพระคุณ
ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น
จากคำกล่าวที่ว่า
ความคิด เป็นรูปหรือเป็นนาม คือตัวผมได้เห็นความคิดเหมือนฝันน่ะครับ เป็นรูปทางใจ (มโนทวาร) ใช่หรือไม่ เพราะไม่ได้เกิดที่ปัญจทวาร และผมยังเข้าใจว่าเป็นรูป เพราะความคิดไม่ใช่สภาพรู้
สิ่งต่างๆ ที่เกิดขึ้น ไม่พ้นจากสภาพธรรมที่มีจริง คือ จิต เจตสิก รูป นั่นก็คือ นามธรรมและรูปธรรมนั่นเองครับ จิต เจตสิก เป็นนามธรรม เป็นสภาพรู้ รูป เป็นรูปธรรม ไม่ใช่สภาพรู้ คือ ไม่สามารถรู้อะไรได้เลย
ความคิดมีจริง ความคิดเป็นสภาพธรรมที่เป็น นามธรรม คือ เป็น จิตที่คิด ไม่ใช่รูปที่คิด รูปคิดไม่ได้ เพราะรูปไม่รู้อะไร ดังนั้น ตัวคิด คือ จิต เจตสิกที่เกิดขึ้น ทำหน้าที่รู้ คือ คิดในสิ่งนั้นนั่นเองครับ แม้ขณะที่ฝัน ก็คือ การคิดนึกถึงสิ่งต่างๆ ที่ผ่านมา ที่เป็นทางมโนทวาร ขณะนั้น เป็นจิตที่คิดนึก ซึ่งขณะที่ฝัน มีบัญญัติ เรื่องราวเป็นอารมณ์ คือ เป็นสิ่งที่ถูกจิตรู้ แต่ไม่ได้มีรูป คือ สี เสียง กลิ่น รส สิ่งที่รู้กระทบสัมผัส เป็นอารมณ์จริงๆ เพราะขณะที่ฝัน เหมือนเห็นสิ่งต่างๆ แต่เป็นการนึกถึงเรื่องราวต่างๆ ที่เป็นบัญญัติ ไม่ใช่ เห็นสี จริงๆ ครับ
ดังนั้น ตัวรู้ที่กำลังคิด คือ ขณะที่ฝัน คือ จิตที่เป็นนามธรรม เป็นตัวคิด แต่เมื่อจิตเกิดขึ้น จะต้องมีอารมณ์ คือ สิ่งที่ถูกจิตรู้เสมอ ดังนั้น ขณะที่ฝัน มีเรื่องราว เป็นอารมณ์ คือ บัญญัติเป็นอารมณ์ ครับ ไม่ใช่มีรูป เป็นอารมณ์ ไม่ได้มีรูปทางใจเป็นอารมณ์ ครับ
สรุปได้ว่า ความคิดเป็นนามธรรม เป็นสภาพรู้ คือ จิต ที่คิดนึก ส่วน จิตที่คิดนึก คิด เป็นเรื่องราวต่างๆ มีขณะที่ฝัน เป็นต้น ขณะนั้น ไม่ได้มีรูป เป็นอารมณ์ แต่มี บัญญัติ เป็นอารมณ์ ครับ
ตัวความคิด เป็น นามธรรมเท่านั้น คือ จิตที่เกิดขึ้น ตัวอารมณ์ เป็นทั้งนามธรรม รูปธรรม และบัญญัติธรรม ครับ
อารมณ์ เป็นรูปหรือนาม (เป็นนาม เพราะเป็นเจตสิกเกิดพร้อมกับจิต)
- ก่อนอื่นก็ต้องเข้าใจคำว่าอารมณ์ ให้ถูกต้องก่อนครับว่า อารมณ์ คืออะไร
อารมณ์ คือ สิ่งที่ถูกจิตรู้ สภาพธรรมอะไรก็ตาม ที่จิตสามารถรู้ได้ และกำลังรู้อยู่เรียกว่าอารมณ์ เพราะฉะนั้น เมื่อจิตและเจตสิกเกิดขึ้น จิต เจตสิกเป็นสภาพรู้ ก็ต้องมีสิ่งที่จิตและเจตสิกกำลังรู้ สิ่งที่จิต เจตสิกกำลังรู้ เรียกว่าอารมณ์ ครับ ซึ่งเราก็ต้องเข้าใจว่าจิต เจตสิก สามารถรู้อะไรได้บ้าง
จิต เจตสิก ที่เป็นนามธรรม สามารถรู้ได้ทุกอย่าง ครับ คือ สามารถรู้ จิต เจตสิก รูป นิพพานและบัญญัติ เรื่องราว จึงสรุปได้ว่า อารมณ์ ที่เป็นสิ่งที่ถูกจิตรู้ จึงเป็นไปได้ทั้ง นามธรรม คือ จิต เจตสิก นิพพาน และรูปธรรม คือ รูป และอารมณ์ก็เป็นได้ คือ บัญญัติ เรื่องราวที่ไม่มีอยู่จริงด้วย ครับ ยกตัวอย่างเช่น ขณะนี้กำลังเห็น เห็น เป็นจิตที่เห็น สิ่งที่จิตเห็น กำลังรู้ คือ เป็นอารมณ์ คือ สี เป็นรูปธรรม ครับ ขณะที่กำลังคิดนึกเป็นเรื่องราวต่างๆ เช่น คิดถึง งานที่ทำเมื่อวาน จิตคิดนึก เกิดขึ้นเป็นนามธรรม แต่ต้องมีอารมณ์ คือ สิ่งที่ถูกจิตรู้ คือ เรื่องราวที่เป็นเรื่องงาน เป็นบัญญัตินั่นเอง ที่เป็นอารมณ์ของจิตที่คิดนึกในขณะนั้น ขณะที่รู้ว่า จิตเห็นในขณะนี้ไม่ใช่เรา ด้วย กุศลจิตที่ประกอบด้วยปัญญา จิตเห็น ที่เป็นนามธรรม จึงเป็นอารมณ์ของจิตได้ คือ จิตที่เป็นกุศลประกอบด้วยปัญญา (สติปัฏฐาน) และ ขณะที่โสดาปัตติมรรคจิตเกิด ขณะนั้น เป็นจิตที่ประกอบด้วยปัญญาระดับสูง แต่ก็มีอารมณ์ คือ นิพพาน ที่เป็นนามธรรม เป็นอารมณ์ได้ ครับ
สรุปได้ว่า อารมณ์ เป็นไปทั้งนามธรรมและรูปธรรม (จิต เจตสิก รูปและนิพพาน) รวมทั้งบัญญัติธรรม ที่เป็นเรื่องราวด้วยครับ ทั้ง จิต เจตสิก รูป นิพพาน และบัญญัติ เป็นอารมณ์ของจิตได้ ครับ
รูปเกิดขึ้นตอนไหนครับ (ตอนภวังคจิต ตอนทวารทั้ง ๖ ตอนปัญจวิญญาณหรือมโนวิญญาณ)
- รูป เกิดขึ้น ตามสมุฏฐานที่แตกต่างกันไป ซึ่งรูปเกิดจาก กรรม จิต อุตุ และอาหาร ซึ่งแม้จะไม่มีการไปรู้อารมณ์ หรือ ไม่มีจิตไปรู้เลย รูปก็เกิดขึ้นและดับไปอยู่เสมอตามสมุฏฐานที่เกิด เช่น สิ่งที่ปรากฏทางตา ก็เกิดขึ้นและดับไป ด้วยมี อุตุเป็นสมุฏฐาน ตา ที่เป็นจักขุปสาท แม้ไม่มีใครไปรู้ แต่ ตา ที่เป็นรูปเกิดขึ้นและดับไปตามสมุฏฐาน คือมีกรรมเป็นสมุฏฐานเพียงแต่ว่ารูปที่เป็นอารมณ์ของจิต ก็มี ซึ่งรูปนั้นก็เกิดตอนภวังคจิตที่เป็นอตีตภวังค์ ทางปัญจทวาร ไม่ใช่ทางมโนทวาร และก็เกิดดับ โดยมีอายุของรูปเท่ากับ ๑๗ ขณะจิตเท่านั้น ครับ
ขออนุโมทนาที่ร่วมสนทนา
ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น
ประโยชน์จากการฟังพระธรรม ศึกษาพระธรรมที่พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดง ก็เพื่อเข้าใจสภาพธรรมที่มีจริง ที่กำลังมีกำลังปรากฏตามความเป็นจริง ซึ่งสิ่งที่ศึกษานั้น ไม่พ้นจากขณะนี้เลย ไม่พ้นไปจากสภาพธรรมที่มีจริงในขณะนี้ ถึงแม้จะมีสภาพธรรมที่มีจริงๆ ในขณะนี้ แต่เพราะไม่รู้ จึงต้องศึกษาด้วยความละเอียดรอบคอบจริงๆ
ก่อนอื่น เมื่อกล่าวถึงคำอะไร ก็ต้องเข้าใจให้ชัดเจนในคำที่กล่าวถึงด้วย จึงจะเป็นประโยชน์ในการศึกษาอย่างแท้จริง ทั้งคำว่า ขณะที่คิด นามธรรม รูปธรรม อารมณ์ในแต่ละคำนั้น มีความหมายที่ชัดเจน ค่อยๆ สะสมความเข้าใจถูกเห็นถูกไปทีละเล็กทีละน้อย
ขณะที่คิด เป็นธรรมที่มีจริง เป็นจิตที่คิด คิดถึงเรื่องราวต่างๆ จากการ ได้เห็นบ้าง ได้ยินบ้าง ได้กลิ่นบ้าง รวมไปถึงในขณะที่ฝันด้วย ดังนั้น ขณะที่คิด อะไรที่มีจริง ก็ต้องเป็นจิต เป็นสภาพธรรมที่มีจริง (และเมื่อจิตเกิดขึ้น ก็ต้องมีสภาพธรรมที่เกิดร่วมกับจิต คือ เจตสิก ด้วย) ส่วนเรื่องราวที่จิตคิด นั้น ไม่ใช่สิ่งที่มีจริง ไม่ใช่รูปธรรมและนามธรรม แต่เป็นบัญญัติเรื่องราวต่างๆ เรื่องราวต่างๆ นั้น เป็นสิ่งที่จิตรู้ เรื่องราวจึงเป็นอารมณ์ของจิตที่กำลังคิดในขณะนั้น ซึ่งก็จะเข้าใจไปถึงคำว่าอารมณ์ด้วย
นามธรรม เป็นสภาพธรรมที่มีจริง เป็นสภาพรู้ เป็นธาตุรู้ นามธรรม มี ๒ ประเภทใหญ่ๆ คือ นามธรรมที่รู้อารมณ์ หรือน้อมไปสู่อารมณ์ ได้แก่ จิต (สภาพธรรมที่เป็นใหญ่เป็นประธานในการรู้แจ้งอารมณ์) และ เจตสิก (สภาพธรรมที่เกิดร่วมกับจิต ดับพร้อมกับจิต รู้อารมณ์เดียวกันกับจิต และในภูมิที่มีขันธ์ ๕ ก็อาศัยที่เกิดที่เดียวกันกับจิตด้วย) เป็นสภาพธรรมที่รู้อารมณ์ ส่วนนามธรรมอีกประเภทหนึ่ง เป็นนามธรรม ที่ไม่รู้อารมณ์ คือ พระนิพพาน
รูปธรรม เป็นสภาพธรรมที่มีจริง แต่ไม่สามารถรู้อะไรได้เลย ไม่ใช่สภาพรู้ รูปทั้งหมด มี ๒๘ รูป เกิดขึ้นตามสมุฏฐาน (ที่ตั้งให้รูปเกิด) ของตนๆ แล้วก็ดับไปไม่เที่ยง ไม่ยั่งยืน ตัวอย่างของรูปธรรม เช่น สี เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ตา หู จมูก ลิ้น กาย เป็นต้น ซึ่งเป็นสิ่งที่มีจริงทั้งหมด
อารมณ์ คือ สิ่งที่จิต (และเจตสิก) รู้ จิตและเจตสิก รู้สิ่งใด สิ่งนั้น เป็นอารมณ์ อารมณ์มีหลากหลายมาก เมื่อกล่าวโดยประมวลแล้ว มีอารมณ์ ๖ อย่าง คือ อารมณ์ที่รู้ได้ทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย และทางใจ หรือ จะกล่าวว่า สิ่งที่เป็นอารมณ์นั้น มีทั้งนามธรรม รูปธรรม และบัญญัติเรื่องราวต่างๆ ด้วย ก็ได้
เมื่อฟังบ่อยๆ เนืองๆ ไม่ขาดการฟังพระธรรม ความเข้าใจถูกเห็นถูก ก็จะค่อยๆ เจริญขึ้น เพิ่มพูนความมั่นคงในความเป็นจริงของสภาพธรรมที่มีจริงยิ่งขึ้น ว่ามีแต่ธรรมที่เกิดขึ้นเป็นไปเท่านั้น ไม่มีสัตว์ ไม่มีบุคคล ไม่มีตัวตนแทรกอยู่ในสภาพธรรมเหล่านั้นได้เลย แม้แต่ในขณะที่คิด ก็ไม่ใช่ตัวเราที่คิด แต่เป็นธรรม คือ จิตเกิดขึ้นคิดในขณะนั้น เป็นธรรมที่เกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัย ไม่อยู่ในอำนาจบังคับบัญชาของใครทั้งสิ้น ครับ
...ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ...
ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น
" ความคิดเป็นนามธรรม เป็นสภาพรู้ คือ จิต ที่คิดนึก ส่วน จิตที่คิดนึก คิดเป็นเรื่องราวต่างๆ มีขณะที่ฝัน เป็นต้น ขณะนั้น ไม่ได้มีรูป เป็นอารมณ์ แต่มี บัญญัติเป็นอารมณ์ ครับ "
" อารมณ์ เป็นได้ทั้งนามธรรมและรูปธรรม (จิต เจตสิก รูปและนิพพาน) รวมทั้งบัญญัติธรรม ที่เป็นเรื่องราวด้วยครับ ทั้ง จิต เจตสิก รูป นิพพานและบัญญัติ เป็นอารมณ์ของจิตได้ ครับ "
" ขณะที่ฝัน มีเรื่องราว เป็นอารมณ์ คือ บัญญัติเป็นอารมณ์ ครับ ไม่ใช่มีรูป เป็นอารมณ์ ไม่ได้มีรูปทางใจเป็นอารมณ์ ครับ "
" แม้แต่ในขณะที่คิด ก็ไม่ใช่ตัวเราที่คิด แต่เป็นธรรม คือ จิตเกิดขึ้นคิดในขณะนั้น เป็นธรรมที่เกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัย ไม่อยู่ในอำนาจบังคับบัญชาของใครทั้งสิ้น ครับ "
ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาในกุศลจิตของอ.ผเดิม, อ.คำปั่นและทุกท่านครับ
ความคิด อารมณ์ และ ความรู้สึก เป็นนามธรรม
นามธรรม คือสภาพรู้ ธาตุรู้ อาการรู้ ลักษณะรู้ เช่น รัก โลภ โกรธ หลง เป็นนามธรรม ส่วนรูปธรรม คือทุกสิ่งทุกอย่างที่ไม่ใช่สภาพรู้ ไม่ใช่ธาตุรู้ ไม่ใช่อาการรู้ เช่น โต๊ะ เก้าอี้ ต้นไม้ บ้าน ที่ดิน ฯลฯ เป็นรูปธรรม เพราะไม่มีความรู้สึก ไม่สุขไม่ทุกข์ ค่ะ
ขออนุโมทนาทุกๆ ท่านที่สนทนา และอธิบายด้วยความชัดเจนขึ้น และผู้ที่ศึกษาก็จะค่อยๆ เข้าใจตามๆ กันไป จะเห็นว่าผู้ที่ถาม จะมีคำถามที่ซ้ำๆ กัน แต่มีหลายนัย หลายแง่มุม ถ้าศึกษาบ่อยๆ เนืองๆ ต่อเนื่องเรื่อยๆ ก็จะเข้าใจทีละนิดจริงๆ
คำว่า รู้แจ้ง จะว่ายากก็ยาก จะว่าง่ายก็อาจง่ายได้ แต่ใช้เวลาครับ อย่างน้อยขณะที่สนใจศึกษา จิตก็ไม่สามารถที่จะไปเที่ยวเตร่ที่ใดๆ ได้เลย เพราะพระองค์ท่านได้วางหลักการศึกษาธรรมไว้ให้มนุษย์อย่างเราๆ สามารถศึกษาคำสอนตามได้ตั้งแต่เกิด จน ตาย สังเกตได้อย่างหนึ่งคือ ทุกๆ ท่านที่ศึกษาก็จะค่อยๆ รู้ตามเป็นในแนวทางเดียวกันจริงๆ อย่างไม่น่าเชื่อ แต่ต้องเข้าใจโดยละเอียดในเบื้องต้นให้ได้ก่อนว่า
รูป เป็นอย่างไร
นาม เป็นอย่างไร
ไม่ใช่ตัวเรา เป็นอย่างไร
๓ อย่างจริงๆ
* * * * ขออนุโมนาอีกครั้ง * * * * * *
วิถีจิตจะแล่นไปโดยไม่มีวันหยุดแล่นตั้งแต่ตื่นถึงหลับ มันแล่นจนตัวเรามึนงง เพราะมันหยุดไม่ได้ และเราก็มีชีวิตอยู่ได้เพราะจิตที่แล่นไป เพียงแต่ได้ศึกษาให้เข้าใจเพิ่มขึ้นทีละน้อย ทำอย่างอื่นไม่ได้เลย * * * * * *