อรรถกถาเมตตสูตร

 
pirmsombat
วันที่  26 เม.ย. 2555
หมายเลข  21028
อ่าน  1,844

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

[เล่มที่ 46] พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต เล่ม ๑ ภาค ๕ - หน้าที่ 373

ข้อความบางตอนจาก

อรรถกถาเมตตสูตร

ประโยชน์ควรทำก็มี ประโยชน์ไม่ควรทำก็มี ในประโยชน์ ๒ อย่างนั้น โดย ย่อไตรสิกขาเป็นประโยชน์ควรทำ แต่เพราะทรงแสดงโดยย่อเกินไป ภิกษุ เหล่านั้น บางพวกก็รู้ บางพวกก็ไม่รู้ แต่นั้น ทรงแสดงประโยชน์ที่ภิกษุอยู่ป่า เป็นวัตรจะพึงทำโดยพิเศษให้พิสดาร เพื่อให้ภิกษุพวกที่ยังไม่รู้ได้รู้ จึงตรัส กึ่งคาถานี้ก่อนว่า

เป็นผู้อาจหาญ เป็นผู้ตรง ซื่อตรง ว่าง่าย อ่อนโยน ไม่เย่อหยิ่ง

ดังนี้.

อนึ่ง พึงเป็นผู้อาจหาญ ในกรณียกิจน้อยใหญ่ของสพรหมจารีทั้งหลายมีกสิณบริกรรม และการสมาทานวัตร เป็นต้น ในกิจทั้งหลายมีการซ่อมแซมบาตรและจีวรของตน และในกิจเหล่าอื่น เห็นปานนั้น เป็นผู้ขยัน ไม่เกียจคร้าน เป็นผู้สามารถ และแม้จะเป็นผู้ อาจหาญ ก็ต้องเป็น ผู้ตรง ด้วยการถึงพร้อมด้วยความเพียรองค์ที่ ๓ และแม้ จะเป็นผู้ตรง ก็ต้องไม่ถึงความพอใจ ด้วยความเป็นผู้ตรงครั้งเดียว พึงเป็น ผู้ตรงให้ดีกว่า ด้วยการกระทำไม่ย่อหย่อนบ่อยๆ ตลอดชีวิต หรือเป็นผู้ตรง เพราะความเป็นผู้ไม่โอ้อวด เป็นผู้ซื่อตรง เพราะความเป็นผู้ไม่มีมายา เป็น ผู้ตรง ด้วยการละการคดทางกายและทางวาจา เป็น ผู้ซื่อตรง ด้วยการละการ คดทางใจ หรือเป็นผู้ตรง ด้วยการไม่โปรยคุณที่ไม่มี เป็นผู้ซื่อตรง ด้วยการ ไม่รับลาภที่เกิดขึ้นด้วยคุณที่ไม่มี พึงเป็นผู้ตรงและเป็นผู้ซื่อตรง ด้วยอารัมมณู- ปนิชฌาน และลักขณูปนิชฌาน ด้วยสิกขา ๒ ข้อข้างต้น และสิกขาข้อที่ ๓ และด้วยประโยคาสัยอันบริสุทธิ์.

และจะพึงเป็นผู้ตรง และเป็นผู้ซื่อตรงอย่างเดียวหามิได้ ก็จะต้องเป็น ผู้ว่าง่าย อีกด้วย จริงอยู่ บุคคลใดถูกเขากล่าวว่า ท่านไม่ควรทำสิ่งนี้ ย่อม กล่าวว่า ท่านเห็นอะไร ท่านฟังอะไร ท่านเป็นอะไรของผมจึงว่ากล่าว เป็น อุปัชฌาย์ เป็นอาจารย์ เป็นเพื่อนเห็น เป็นเพื่อนกินหรือ? หรือย่อม เบียดเบียนด้วยความเป็นผู้นิ่ง หรือรับแล้วไม่ทำตามที่รับ บุคคลนั้น ย่อมอยู่ ในที่ห่างไกลแห่งการบรรลุคุณวิเศษ.

ส่วนบุคคลใดถูกสั่งสอน ย่อมกล่าวว่า ดีละท่านผู้เจริญ ท่านกล่าวดี อย่างยิ่ง ชื่อว่า โทษของตนเห็นได้โดยแสนยาก ท่านเห็นอย่างนั้นแล้ว พึง อาศัยความเอ็นดูกล่าวเตือนกระผมแม้อีก กระผมได้รับโอวาทจากสำ นักของท่าน นานแล้ว ดังนี้ และปฏิบัติตามที่พร่ำสอน บุคคลนั้น เป็นผู้อยู่ในที่ใกล้แห่ง การบรรลุคุณวิเศษ. เพราะฉะนั้น บุคคลรับคำของคนอื่นแล้วกระทำอย่างนี้ พึง เป็นผู้ว่าง่าย และพึง เป็นผู้อ่อนโยน เหมือนเป็นผู้ว่าง่าย.

บทว่า มุทุ ความว่า กุลบุตรถูกคฤหัสถ์ทั้งหลายใช้ในกิจทั้งหลาย มีการไปเป็นทูต และการไปอย่างคนเลวเป็นต้น ไม่ทำความอ่อนแอในกิจนั้น ต้องเป็นผู้แข็งแรง แต่พึงเป็นผู้อ่อนโยนในข้อวัตรปฏิบัติ และในการประพฤติ พรหมจรรย์ทั้งสิ้น เป็นผู้ควรแก่การแนะนำในกิจนั้นๆ ประดุจทองคำที่ ช่างทองหลอมดีแล้ว ฉะนั้น.

อีกประการหนึ่ง บทว่า มุทุ ได้แก่ พึงเป็นผู้ไม่หน้าสยิ้ว คือเป็น ผู้มีหน้าเบิกบาน เจรจาไพเราะ ประพฤติปฏิสันถาร เป็นผู้ยึดถือความสุข มาให้ ดุจวัตถุที่ตั้งดีแล้ว ฉะนั้น และกุลบุตรจะพึงเป็น ผู้อ่อนโยนอย่างเดียว หามิได้ จะพึง เป็นผู้ไม่เย่อหยิ่ง อีกด้วย คือ ไม่พึงดูหมิ่นคนอื่นทั้งหลาย ด้วย อติมานวัตถุมีชาติและโคตรเป็นต้น พึงเป็นอยู่ด้วยใจ เสมอด้วยเด็กจัณฑาล ดุจพระสารีบุตรเถระฉะนั้น.

ว่า สนฺตุสฺสโก จ ดังนี้.

ในคาถานั้น กุลบุตรชื่อว่า เป็นผู้สันโดษ เพราะอรรถวิเคราะห์ว่า ย่อมยินดีด้วยสันโดษ ๑๒ อย่าง มีประเภทที่กล่าวแล้ว ในคาถานี้ว่า

สนฺตุฏฺฐี จ กตญฺญุตา.

อีกอย่างหนึ่ง กุลบุตรชื่อว่า เป็นผู้มีความพอใจ เพราะอรรถวิเคราะห์ว่า ย่อมพอใจ. กุลบุตรผู้สันโดษ เพราะอรรถว่า

ผู้พอใจด้วยของของตน พอใจด้วยของมีอยู่ พอใจโดยชอบ.

ใน ๓ อย่างนั้น ปัจจัยสี่ที่ตนแลรับแล้ว ซึ่งยกขึ้นในมณฑลแห่งการ อุปสมบทอย่างนี้ว่า อาศัยโภชนะ คือคำข้าวที่หามาได้ด้วยปลีแข้งชื่อว่า ของ ตน กุลบุตรไม่แสดงอาการผิดแปลกในเวลารับและเวลาบริโภค เป็นอยู่ ด้วย ปัจจัยสี่นั้น ดีก็ตาม ไม่ดีก็ตาม ที่เขาให้โดยเคารพ หรือ ไม่เคารพก็ตาม เรียกว่า

ผู้พอใจด้วยของของตน.

สิ่งใดอันตนได้แล้ว เป็นของมีอยู่ของตน สิ่งนั้นชื่อว่า ของมีอยู่ กุลบุตรยินดีด้วยของมีอยู่นั้นนั่นแล คือ ไม่ปรารถนาสิ่งอื่นจากของมีอยู่นั้น สละความเป็นผู้ปรารถนาที่เกินเสีย เรียกว่า

พอใจด้วยของมีอยู่.

การละอนุสัยและปฏิฆะในอิฏฐารมณ์ และอนิฏฐารมณ์ ชื่อว่า ชอบ

กุลบุตรพอใจในอารมณ์ทั้งปวงโดยชอบนั้น เรียกว่า

พอใจโดยชอบ.

ชื่อว่า ผู้เลี้ยงง่าย เพราะอรรถวิเคราะห์ว่า ผู้อันเขาเลี้ยงโดยง่าย อธิบายว่า ผู้เลี้ยงดูโดยง่าย จริงอยู่ ภิกษุใดแสดงความเป็นผู้หน้าเสีย และ ความเป็นผู้ไม่พอใจ ในบิณฑบาตแม้ที่เขาบรรจุข้าวสาลีเนื้อ และข้าวสุก เป็นต้นเต็มบาตรถวาย หรือผลักบิณฑบาตนั้น ต่อหน้าเขาทั้งหลายว่า พวก ท่านให้อะไร ย่อมให้แก่สามเณรและคฤหัสถ์เป็นต้น ภิกษุนั่น ชื่อว่า เลี้ยงยาก. มนุษย์ทั้งหลายเห็นภิกษุนั่น ย่อมหลีกเว้นแต่ไกลทีเดียวว่า ภิกษุเลี้ยงยากไม่อาจจะบำรุงเลี้ยงได้.

ส่วนกุลบุตรใดได้บิณฑบาตอย่างใดอย่างหนึ่ง เศร้าหมองก็ตาม ประณีตก็ตาม น้อยก็ตาม มากก็ตาม มีใจเป็นของตน มีหน้าผ่องใสยังมีชีวิต ให้เป็นไปอยู่ กุลบุตรนั่น ชื่อว่า เลี้ยงง่าย มนุษย์ทั้งหลายเห็นกุลบุตรนั่น แล้ว เบาใจอย่างยิ่งว่า พระผู้เป็นเจ้าของพวกเราเลี้ยงง่าย ย่อมยินดีด้วยของ แม้น้อยๆ พวกเราเท่านั้น จักบำรุงเลี้ยงพระผู้เป็นเจ้านั้น ดังนี้แล้ว ทำปฏิญญา บำรุงเลี้ยง. กุลบุตรมีรูปอย่างนี้ ทรงประสงค์ว่า เป็นผู้เลี้ยงง่ายในคาถานี้.

ชื่อว่า มีกิจน้อย เพราะอรรถวิเคราะห์ว่า กุลบุตรนั้นมีกิจน้อย คือ ผู้ไม่ขวนขวายในกิจหลายอย่างมีความเป็นผู้ยินดีในการงาน ยินดีในการพูดและ ยินดีในคลุกคลีเป็นต้น. อีกประการหนึ่ง มีคำอธิบายว่า กุลบุตรนั้นเว้นจาก กิจมีการทำนวกรรมในวิหารทั้งสิ้น การสอนหมู่สงฆ์สามเณรและคนวัดเป็นต้น กระทำอยู่ซึ่งกิจของตนมีการปลงผม ตัดเล็บ ระบมบาตร และเย็บจีวรเป็นต้น ชื่อว่า เป็นผู้มีกิจ คือ สมณธรรมเป็นเบื้องหน้า.

ชื่อว่า มีความประพฤติเบา เพราะอรรถว่า กุลบุตรนั้นมีความ ประพฤติเบา ภิกษุผู้มีสิ่งของมากบางรูป ในเวลาหลีกไปสู่ทิศ ก็ให้มหาชน ขนบาตรจีวร ผ้าปูที่นอน น้ำมัน น้ำอ้อยจำนวนมากเป็นต้น โดยทูนศีรษะ บ้าง กระเดียดบ้างเป็นต้น หลีกไปอยู่ ฉันใด กุลบุตรใดไม่เป็นฉันนั้น เป็น ผู้มีบริขารน้อย ใช้สอยแต่เฉพาะสมณบริขาร ๘ มีบาตรและจีวรเป็นต้นเท่านั้น ในเวลาหลีกไปสู่ทิศ ก็คือเอาเท่านั้นหลีกไปเหมือนนกมีปีกฉะนั้น. กุลบุตรมี รูปอย่างนี้ ทรงประสงค์ว่า มีความประพฤติเบาในคาถานี้.

ชื่อว่า มีอินทรีย์อันสงบแล้ว เพราะอรรถว่า กุลบุตรนั้นมีอินทรีย์ ทั้งหลายสงบแล้ว มีอธิบายว่า มีอินทรีย์อันไม่ฟุ้งซ่าน ด้วยอำนาจแห่งราคะ เป็นต้น ในอารมณ์ทั้งหลายมีอิฏฐารมณ์เป็นต้น.

บทว่า นิปโก ได้แก่ ผู้รู้แจ้ง คือ ผู้มีความรู้ ได้แก่ผู้มีปัญญา อธิบายว่า ผู้ถึงพร้อมแล้ว ด้วยปัญญาเป็นเครื่องตามรักษาศีล ด้วยปัญญา เป็นเครื่องพิจารณาจีวรเป็นต้น และด้วยปัญญากำหนดรู้สัปปายะ ๗ มีอาวาสเป็นต้น.

การไม่ถึงอัชฌาจารด้วยกายและวาจาในฐานเหล่านั้นๆ เลย ตรึกถึง สิ่งที่ไม่สมควรมีประการต่างๆ มีกามวิตกเป็นต้น ด้วยใจอย่างเดียว ชื่อว่า ความคะนองใจมีฐานะหลายอย่าง.

บทว่า กุเลสุ อนนุคิทฺโธ ความว่า

ม่พัวพันในสกุลทั้งหลายที่ตนเข้าหา ด้วยความอยากในปัจจัย หรือ ด้วยอำนาจแห่งการคลุกคลีกับคฤหัสถ์ อันไม่สมควร มีอธิบายว่า ไม่โศกด้วย ไม่เพลิดเพลินด้วย ไม่สุขในสกุลที่ มีความสุข ไม่ทุกข์ในสกุลที่มีความทุกข์ ไม่ถึงการประกอบด้วยตนเอง ในกรณียกิจทั้งหลายที่เกิดขึ้น

ก็ในคาถานี้ คำว่า อสฺส ใดที่กล่าวในบทว่า สุวโจ อส ส พึงประกอบคำนั้นพร้อมกับบททั้งปวงอย่างนี้ว่า สนฺตุสฺสโก จ อสฺส สุภโร จ อสฺส ดังนี้.

พระผู้มีพระภาคเจ้าครั้นตรัสบอกกิจที่ควรทำ แม้ยิ่งกว่านั้น แก่ ภิกษุผู้อยู่ป่าโดยพิเศษ ผู้ประสงค์เพื่อตรัสรู้สันตบทอยู่ หรือใคร่เพื่อปฏิบัติ เพื่อบรรลุสันตบทอย่างนี้แล้ว บัดนี้ ทรงพระประสงค์ เพื่อตรัสบอกกิจแม้ ไม่ควรทำ จึงตรัสคาถากึ่งนี้ว่า

และไม่พึงประพฤติทุจริตเล็กน้อยอะไรๆ ซึ่งเป็นเหตุให้ท่านผู้รู้เหล่าอื่นติเตียนได้

คาถานั้นมีเนื้อความว่า เมื่อทำประโยชน์ที่ควรทำนี้อย่างนี้ ชื่อไม่พึง ประพฤติทุจริตทางกาย ทางวาจาและทางใจที่เรียกว่า เล็กน้อย คือ ลามก และเมื่อไม่ประพฤติทุจริตเล็กน้อย พึงประพฤติทุจริตหยาบอย่างเดียวก็หามิได้ แต่พึงประพฤติทุจริตอะไรเล่า มีอธิบายว่า ไม่พึงประพฤติทุจริตประมาณน้อย คือ แม้เล็กน้อย แต่นั้นพึงประพฤติ คือ แสดงโทษอันจะพึงเห็นเองของ ทุจริตนั้น ซึ่งเป็นเหตุให้ท่านผู้รู้เหล่าอื่นติเตียนได้.

ก็ในคาถานี้ เพราะผู้ไม่รู้เหล่าอื่นไม่เป็นประมาณ ด้วยว่าผู้ไม่รู้แม้ เหล่านั้น ย่อมทำสิ่งที่ไม่มีโทษให้มีโทษบ้าง ย่อมทำสิ่งที่มีโทษน้อย ให้มีโทษ มากบ้าง ส่วนท่านผู้รู้ทั้งหลายเท่านั้นเป็นประมาณ เพราะ

ท่านผู้รู้เหล่านั้นพิจารณาแล้ว ใคร่ครวญแล้ว ย่อมกล่าวติเตียนแก่คนผู้ควรติเตียน ย่อมกล่าวสรรเสริญแก่คนผู้ควรสรรเสริญ

เพราะฉะนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงตรัสว่า

วิญฺญู ปเร แปลว่า ท่านผู้รู้เหล่าอื่นดังนี้. พระผู้มีพระภาคเจ้าครั้นทรงแสดงเมตตาภาวนาในสัตว์ทั้งหลาย ด้วย อำนาจแห่งการปรารถนาเพื่อถึงหิตสุขแก่ภิกษุเหล่านั้น โดยประการต่างๆ ด้วย สองคาถากึ่งว่า สุขิโน วา เป็นต้นอย่างนี้แล้ว บัดนี้ เมื่อจะทรงแสดงเมตตาภาวนานั้น แม้ด้วยอำนาจแห่งการปรารถนาเพื่อไม่ให้ประสบอหิตทุกข์ จึง ตรัสว่า น ปโร ปรํ นิกุพฺเพล. นั่นเป็นบาลีเก่าแก่. บัดนี้ สวดกันว่า ปรญฺหิ ดังนี้ก็มี นี้ไม่ดี.

บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า ปโร ได้แก่ ชนอื่น. บทว่า ปรํ ได้แก่ ซึ่งชนอื่น. บทว่า น นิกุพฺเพถ คือ ไม่พึงข่มขู่. บทว่า นาติมญฺเญถ คือ ไม่พึงดูหมิ่นล่วงเกิน. บทว่า กตฺถจิ ได้แก่ ในที่ทั้งหลายมีอาทิว่าโอกาส คาม เขต ท่ามกลางญาติ หรือ ท่ามกลางบุตร.

บทว่า นํ ได้แก่เอตํ. บทว่า กิญฺจิ ได้แก่ ซึ่งบุคคลผู้ใดผู้หนึ่งจะเป็นกษัตริย์ก็ตาม พราหมณ์ก็ตาม คฤหัสถ์ก็ตาม บรรพชิตก็ตาม คนรวยก็ตาม คนจนก็ตามเป็นต้น.

บทว่า พฺยาโรสนา ปฏีฆสญฺญา ความว่า ด้วยความฉุนเฉียว โดยพิการทางกายและวาจา และด้วยเคียดแค้น โดยพิการทางใจ. ก็เมื่อควรจะ ตรัสว่า พฺยาโรสนา ปฏีฆสญฺญาย พระองค์ก็ตรัสว่า พฺยาโรสนา ปฏีฆสญฺญา เหมือนเมื่อควรจะกล่าวว่า สมฺมทญฺญาย วิมุตฺตา ก็กล่าวว่า สมฺมทญฺญา วิมุตฺตา และเมื่อควรจะกล่าวว่า อนุปพฺพสิกขา อนุปุพฺพกิริยาย อนุปุพฺพปฏิปทาย ก็กล่าวว่า อนุปุพฺพสิกฺขา อนุปุพฺพกิริยา อนุปพฺพปฏิปทา อญฺญาราธนา.

บทว่า นาญฺญมญฺญสฺส ทุกฺขมิจฺเฉยฺย ความว่า ไม่พึงปรารถนา ทุกข์แก่กันและกัน. มีอธิบายอย่างไร มีอธิบายว่า

ไม่พึงเจริญเมตตา ด้วยอำนาจแห่งการมนสิการมีอาทิว่า จงมีความสุข มีความเกษมเถิด อย่างเดียวเท่านั้น แต่พึงเจริญมนสิการแม้อย่างนี้ว่า ทำอย่างไรหนอ บุคคลอื่นบางคนไม่พึง ข่มขู่บุคคลอื่นไรๆ ด้วยคำโกรธทั้งหลายมีการหลอกลวงเป็นต้น และไม่พึงดู หมิ่นบุคคลอื่นไรๆ ในประเทศใดประเทศหนึ่ง ด้วยเรื่องมานะมีชาติเป็นต้น คือ ไม่พึงปรารถนาทุกข์แก่กันและกัน เพราะความฉุนเฉียว หรือ เพราะความเคียดแค้น.

ครั้นทรงแสดงเมตตาภาวนาโดยเนื้อความ ด้วยอำนาจแห่งการปรารถนา เพื่อความไม่ประสบอหิตทุกข์อย่างนี้แล้ว บัดนี้ เมื่อจะทรงแสดงเมตตาภาวนานั้นนั่นแล ด้วยคำอุปมาจึงตรัสว่า มาตา ยถา นิยํ ปุตฺตํ ดังนี้.คาถานั้นมีเนื้อความว่า

มารดาพึงถนอมรักษาบุตรคนเดียวซึ่งเกิดในตน คือบุตรที่เกิดจากอก ได้แก่บุตรคนเดียวนั้น ด้วยอายุ คือสละแม้อายุของตน เพื่อป้องกันทุกข์ ที่จะมาถึงบุตรนั้น ถนอมรักษาบุตรนั้นฉันใด กุลบุตรพึงเจริญเมตตามีในใจนี้ ในสัตว์ทั้งปวง คือ พึงยังเมตตาให้เกิด ให้เจริญ บ่อยๆ และพึงเจริญเมตตานั้น ด้วยอำนาจแห่งสัตว์ไม่มีปริมาณเป็นอารมณ์ หรือ พึงเจริญเมตตานั้นไม่มีปริมาณ ด้วยอำนาจแห่งการแผ่ไปไม่มีส่วนเหลือ ในสัตว์หนึ่ง.

ครั้นทรงแสดงเมตตาภาวนา โดยอาการทั้งปวงอย่างนี้แล้ว บัดนี้

เมื่อจะทรงแสดงการเจริญเมตตาภาวนานั่นแล จึงตรัสว่า เมตฺตญฺจ สพฺพโลกสฺมึ ดังนี้.

ในคาถานั้น ชื่อว่า มิตร เพราะอรรถวิเคราะห์ว่า ย่อมรักใคร่และ ต้านทาน อธิบายว่า ย่อมเยื่อใย เพราะความเป็นผู้มีอัธยาศัยเกื้อกูล และย่อม รักษาจากการประสบสิ่งที่ไม่เกื้อกูล ภาวะแห่งมิตร ชื่อว่า เมตตา.

บทว่า สพฺพํ ได้แก่ ไม่มีส่วนเหลือ. บทว่า โลกสฺมึ คือ ในสัตวโลก. สิ่งที่มีในใจ ชื่อว่า มานัส. ก็มานัสนั้น ตรัสอย่างนี้ก็เพราะเป็นธรรมที่สัมปยุตด้วยจิต. บทว่า ภาวเย คือ พึงให้เจริญ. ชื่อว่า ไม่มีประมาณ เพราะเมตตานั้นไม่มีปริมาณ เมตตานั้น พระองค์ตรัสอย่างนี้ เพราะมีสัตว์ ไม่มีปริมาณเป็นอารมณ์.

บทว่า อุทฺธํ ได้แก่ เบื้องบน ทรงถือเอาอรูปภพด้วยบทนั้น.

บทว่า อโธ ได้แก่ เบื้องต่ำ ทรงถือเอากามภพด้วยบทนั้น.

บทว่า ติริยํ ได้แก่ ท่ามกลาง ทรงถือเอารูปภพด้วยบทนั้น.

บทว่า อสมฺพาธํ ได้แก่ เว้นจากความคับแคบ. มีอธิบายว่า มี เขตแดนทำลายแล้ว ข้าศึกเรียกว่า เขตแดน อธิบายว่า เป็นไปแล้วในเขตแดนแม้นั้น

.บทว่า อเวรํ ได้แก่ ปราศจากเวร. มีอธิบายว่า เว้นจากการปรากฏ แห่งเวรเจตนา แม้ในระหว่างๆ .

บทว่า อสปตฺตํ ได้แก่ ปราศจากข้าศึก. จริงอยู่ บุคคลผู้มีเมตตา เป็นเครื่องอยู่ ย่อมเป็นที่รักของมนุษย์ทั้งหลาย ย่อมเป็นที่รักของอมนุษย์ ทั้งหลาย ย่อมไม่มีศัตรูไรๆ ด้วยเหตุนั้น มานัสนั้นของบุคคลนั้น เรียกว่า ไม่มีศัตรู เพราะความเป็นผู้ปราศจากข้าศึกแล้ว. ก็คำว่า ข้าศึก ศัตรู นั่น เป็นคำปริยาย นี้เป็นการพรรณนาเนื้อความตามลำดับบท.

ก็การพรรณนาเนื้อความที่ประสงค์ในคาถานี้มีดังนี้ เมตตามีในใจ นั่นใด อันพระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า กุลบุตรพึงเจริญเมตตามีในใจอันไม่มี ประมาณในสัตว์ทั้งปวง แม้อย่างนี้ ก็กุลบุตรพึงเจริญเมตตาอันไม่มีปริมาณ อันมีในใจนี้นั้นในโลกทั้งปวง คือ พึงให้เจริญ ได้แก่พึงให้ถึงความเจริญ ความงอกงาม ความไพบูล อย่างไร คือ ทั้งเบื้องบน เบื้องต่ำ และเบื้องขวาง ได้แก่ เบื้องสูงจนถึงภัครพรหม เบื้องต่ำจนถึงอเวจี เบื้องขวางตลอดทิศที่เหลือ. หรือเมื่อจะแผ่เมตตาอันมีในใจ อันไม่มีส่วนเหลือเบื้องสูงไปยังอรูป พรหม เบื้องต่ำไปยังกามธาตุ เบื้องขวางไปยังรูปธาตุ และแม้เมื่อเจริญอย่างนี้

ก็พึงเจริญทำเมตตาอันมีในใจนั้น ไม่ให้คับแคบ ไม่มีเวร ไม่มีศัตรู

โดยประการที่เมตตาอันมีในใจเป็นธรรมชาติไม่คับแคบ ไม่มีเวร และไม่มีศัตรู. อีกอย่างหนึ่ง เมตตาอันมีในใจอันไม่มีปริมาณนั้นใด ถึงแล้วซึ่งภาวนา สัมปทา ไม่คับแคบในโลกทั้งปวง ด้วยอำนาจแห่งโอกาสโลก ไม่มีเวร ด้วย การกำจัดความเคียดแค้นที่ตนมีในสัตว์เหล่าอื่น และไม่มีศัตรู ด้วยการกำจัด ความเคียดแค้นที่สัตว์เหล่าอื่นมีในตน พึงเจริญ คือ พึงให้เจริญเมตตาอันมี ในใจเทียว อันไม่มีปริมาณนั้น ไม่คับแคบ ไม่มีเวร ไม่มีศัตรูในโลกทั้งสิ้น ด้วยกำหนด ๓ อย่าง คือ เบื้องบน เบื้องต่ำ และเบื้องขวาง.

ครั้งทรงแสดงการเจริญเมตตาภาวนาอย่างนี้แล้ว บัดนี้ เมื่อจะทรง แสดงความไม่มีกำหนดอิริยาบถแก่กุลบุตรผู้ตามประกอบภาวนานั้นอยู่ก่อน จึงตรัสว่า ติฏฺฐํ ฯ เป ฯ อธิฏฺเฐยฺย ดังนี้.

คาถานั้นมีเนื้อความว่า ก็กุลบุตรเมื่อจะเจริญเมตตาอันมีในใจนั่นอย่างนี้แล้ว ไม่ทำการกำหนดอิริยาบถ ดุจในประโยคมีอาทิว่า ภิกษุนั้นนั่งขัดสมาธิ ตั้งกายให้ตรง ดำรงสติเฉพาะหน้า ดังนี้ กระทำการบรรเทาเมื่อยขบอิริยาบถ อื่นๆ ตามสบาย ยืนอยู่ก็ดี เดินอยู่ก็ดี นั่งอยู่ก็ดี นอนอยู่ก็ดี พึงเป็นผู้ ปราศจากความง่วงเหงาเพียงใด ก็พึงตั้งสติในเมตตาฌานนี้ไว้เพียงนั้น. อนึ่ง ครั้นตรัสการเจริญเมตตาภาวนาอย่างนี้แล้ว บัดนี้ เมื่อจะทรงแสดงความเป็นผู้ชำนาญ จึงตรัสว่า ติฏฺฐญฺจรํ ดังนี้. ก็กุลบุตรผู้ถึงความ เป็นผู้ชำนาญ ยืนอยู่ก็ดี เดินอยู่ก็ดี ย่อมเป็นผู้ใคร่เพื่อตั้งสติในเมตตาฌานนั่น ตามอิริยาบถ.

อนึ่ง อิริยาบถทั้งหลายมีการยืนเป็นต้นว่า ติฏฺฐํ จรํ นิสินฺโน ดังนี้ ย่อมไม่ทำอันตรายแก่กุลบุตรนั้น โดยที่แท้ กุลบุตรนั้น ย่อมเป็นผู้ใคร่เพื่อ จะตั้งสติในเมตตาฌานนั้น ด้วยอิริยาบถเพียงใด ย่อมเป็นผู้ปราศจากความ ง่วงเหงาเพียงนั้น ความเป็นผู้มีปกติประพฤติเนิ่นช้าในเมตตาฌานนั้น ย่อม ไม่มีแก่กุลบุตรนั้น ด้วยเหตุนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงตรัสว่า กุลบุตรยืนอยู่ ก็ดี เดินอยู่ก็ดี นั่งอยู่ก็ดี นอนอยู่ก็ดี พึงเป็นผู้ปราศจากความง่วงเหงาเพียงใด ก็พึงตั้งสตินี้ไว้เพียงนั้น.

คาถานั้นมีอธิบายอย่างนี้ว่า เมตตานั้นใด ที่ตรัสว่า และกุลบุตรพึง เจริญเมตตาอันมีในใจไปในโลกทั้งสิ้น ดังนี้ กุลบุตรพึงเจริญเมตตานั้น โดย ประการที่ไม่ยึดถืออิริยาบถทั้งหลาย มีการยืนเป็นต้น ในอิริยาบถทั้งหลายมี การยืนเป็นต้น ตามอิริยาบถ เป็นผู้ใคร่เพื่อตั้งสติในเมตตาฌานนั่นตราบใด พึงตั้งสตินั่นไว้ตราบนั้น.

เมื่อทรงแสดงความเป็นผู้ชำนาญในการเจริญเมตตาอย่างนี้ ทรง ประกอบกุลบุตรในเมตตาวิหารนั้นว่า พึงตั้งสตินี้ไว้ ดังนี้แล้ว บัดนี้ เมื่อจะ ทรงชมเชยวิหารธรรมนั้น จึงตรัสว่า พฺรหฺมเมตํ วิหารํ อิธมาหุ แปลว่า บัณฑิตทั้งหลายกล่าววิหารธรรมนี้ว่า เป็นพรหมวิหารในธรรมวินัยของ พระอริยเจ้านี้ ดังนี้.

คาถานั้นมีเนื้อความว่า เมตตาวิหารนี้ใด อันพระผู้มีพระภาคเจ้าทรง พรรณนาแล้ว เริ่มต้นแต่คำว่า สุขิโน วา เขมิโน โหนฺตุ จนถึงคำว่า เอตํ สตึ อธิฏฺเฐยฺย บัณฑิตทั้งหลายกล่าวเมตตาวิหารนั่นว่าเป็นพรหมวิหาร คือ กล่าวว่าเป็นธรรมเครื่องอยู่ที่ประเสริฐที่สุดในธรรมวินัยของพระอริยเจ้านี้ เพราะเป็นธรรมปราศจากโทษในทิพวิหาร พรหมวิหาร อริยวิหาร และ อิริยาบถวิหารทั้งสี่ และเพราะเป็นธรรมทำประโยชน์แก่ตนบ้าง แก่สัตว์เหล่า อื่นบ้าง เพราะฉะนั้น กุลบุตรยืนอยู่ก็ดี เดินอยู่ก็ดี นั่งอยู่ก็ดี นอนอยู่ก็ดี เป็นนิจ สม่ำเสมอ ไม่จุ้นจ้าน พึงเป็นผู้ปราศจากความง่วงเหงาเพียงใด ก็ พึงตั้งสตินี้ไว้เพียงนั้น.

พระผู้มีพระภาคเจ้าครั้นทรงแสดงเมตตาภาวนา โดยประการต่างๆ แก่ภิกษุเหล่านั้นอย่างนี้แล้ว บัดนี้ เพราะเมตตาเป็นธรรมใกล้ต่ออัตตทิฏฐิ เพราะเป็นธรรมมีสัตว์เป็นอารมณ์ เพราะฉะนั้น เมื่อจะทรงแสดงการบรรลุ อริยภูมิ ทำเมตตาฌานนั้นนั่นแลให้เป็นบาทแก่ภิกษุเหล่านั้น โดยมุข คือ การกีดกันความยึดถือทิฏฐิ จึงตรัส คือ ให้เทศนาจบด้วยพระคาถานี้ว่า

ทิฏฺฐิญฺจ อนุปคมฺม และไม่เข้าไปอาศัยทิฏฐิ ดังนี้. คาถานั้นมีเนื้อความว่า เมตตาฌานวิหารนี้ใด อันพระผู้มีพระภาคเจ้า ทรงพรรณนาแล้วว่า พฺรหฺมเมตํ วิหารํ อิธมาหุ แปลว่า บัณฑิตทั้งหลาย กล่าววิหารธรรมนี้ว่า เป็นพรหมวิหารในธรรมวินัยของพระอริยเจ้านี้ และ กุลบุตรออกจากเมตตาฌานวิหารนั้นแล้ว กำหนดรูปธรรม กำหนดอรูปธรรม ตามทำนองที่กำหนดเป็นต้น ซึ่งธรรมมีวิตกวิจารเป็นต้นในเมตตาฌานวิหาร นั้น และไม่เข้าไปอาศัยทิฏฐิในกองแห่งสังขารล้วนๆ ด้วยการกำหนดนาม และรูปนี้อย่างนี้ว่า บุคคลไม่พึงได้สัตว์ในกองแห่งสังขารนี้ เป็นผู้มีศีล ด้วย โลกุตรศีล โดยลำดับ ถึงพร้อมแล้วด้วยทัศนะ กล่าวคือ สัมมาทิฏฐิใน โสดาปัตติมรรค อันสัมปยุตด้วยโลกุตรศีล และต่อจากนั้น ความยินดีในวัตถุ กามทั้งหลายนี้ใด อันเป็นกิเลสกามที่ยังละไม่ได้ ก็พึงนำออกซึ่งความยินดีใน กามทั้งหลายแม้นั้น ด้วยสกทาคมิมรรคและอนาคามิมรรค และด้วยการละ ไม่มีส่วนเหลือ ด้วยอานุภาพแห่งมรรคทั้งสองนั้น ครั้นนำออกแล้วคือสงบ ระงับแล้ว ย่อมไม่ถึงความเป็นสัตว์นอนในครรภ์อีกโดยแท้แล คือ ย่อมไม่ ถึงความนอนในครรภ์อีกโดยส่วนเดียวนั่นเทียว คือ เกิดในสุทธาวาสทั้งหลาย แล้ว บรรลุพระอรหัต ปรินิพพานในสุทธาวาสนั้นแล.

พระผู้มีพระภาคเจ้าครั้นทรงยังเทศนาให้จบอย่างนี้แล้ว จึงตรัสกะภิกษุ เหล่านั้นว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย พวกเธอจงไป จงอยู่ในราวป่านั้น และถือ เอาสูตรนี้แล้ว จงเคาะระฆังประชุมกันในวันเป็นที่ฟังธรรมทั้งแปดแห่งเดือน กระทำธรรมกถา สอบถาม อนุโมทนา เสพ เจริญ ทำให้มาก ซึ่งกรรมฐาน นี้นั่นแล อมนุษย์แม้เหล่านั้น จักไม่แสดงอารมณ์อันน่ากลัวแก่เธอทั้งหลาย จักเป็นผู้ใคร่ประโยชน์ ใคร่ความเกื้อกูล แน่แท้ ดังนี้.

ภิกษุเหล่านั้นทูลรับพระผู้มีพระภาคเจ้าว่า สาธุ ลุกจากอาสนะอภิวาท พระผู้มีพระภาคเจ้า กระทำประทักษิณ ไปในราวป่านั้นแล้ว กระทำอย่างที่ ทรงสั่งสอนนั้น เทวดาทั้งหลายคิดว่า พระผู้เป็นเจ้าทั้งหลาย ใคร่ประโยชน์ ใคร่ความเกื้อกูลแก่พวกเรา เกิดมีปีติและโสมนัส ปัดกวาดเสนาสนะเองแ จัดแจงน้ำร้อน ทำการนวดหลัง ทำ การนวดเท้า ตระเตรียมอารักขา ภิกษุ แม้เหล่านั้นเจริญเมตตาอย่างนั่นแล ทำเมตตานั่นเทียวให้เป็นบาท ปรารภ วิปัสสนา แม้ทุกรูป ก็บรรลุพระอรหัตอันมีผลเลิศ ในภายในไตรมาสนั้นทีเดียว ปวารณาวิสุทธิปวารณาในมหาปวารณา ดังนี้แล.

ก็กุลบุตรทำประโยชน์อันควรทำ ที่พระตถาคตเจ้า ผู้ทรงฉลาดในประโยชน์ เป็นใหญ่ด้วยธรรม ตรัสแล้วอย่างนี้ พึงได้เสวยความสงบแห่งหทัยอย่างยิ่ง ชนผู้มีปัญญาอันบริบูรณ์ทั้งหลาย ย่อมได้ตรัสรู้เฉพาะสันตบท เพราะฉะนั้นแล วิญญูชนผู้ใคร่เพื่อตรัสรู้อยู่ซึ่งสันตบทนั้น อันเป็นอมตะ น่าอัศจรรย์ ที่พระอริยเจ้าใคร่แล้วพึงทำประโยชน์ที่ควรทำ อันต่างด้วย ศีล สมาธิ และ ปัญญา อันหมดมลทินเนืองๆ ดังนี้แล

จบอรรถกถาเมตตสูตร


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
paderm
วันที่ 27 เม.ย. 2555

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

เมตตสูตร

เหตุเกิดเรื่องดังต่อไปนี้

พระภิกษุ 500 รูป ได้อาศัย ภูเขา แนวป่าที่หนึ่ง ชาวบ้านได้เห็นภิกษุ 500 รูป เกิด ความเลื่อมใส นิมนต์ให้อยู่จำพรรษ ชาวบ้านจะบำรุงพระภิกษุเอง พระภิกษุเหล่านั้น จึงจำพรรษที่นั่น โดยอาศัยโคนไม้ เป็นที่พักอาศัยของท่านเหล่านั้น และเพราะคุณ ธรรมของพระภิกษุ ทำให้ เทวดาที่อาศัยอยู่ในต้นไม้ ที่ไม่มีคุณธรรมเท่า ไม่สามารถ อาศัยอยู่ได้ เปรียบเหมือน เมื่อพระราชา มาที่บ้านของชาวบ้าน ชาวบ้านเหล่านั้น ย่อม สละที่อยู่ของตนให้พระราชาอยู่ เพราะด้วยความมียศใหญ่ของพระราชา ฉันใด เทวดา เหล่านั้นก็ไม่สามารถอยู่ที่ต้นไม้นั้นได้ และคิดว่า ภิกษุเหล่านี้ คงจะต้องอยู่ตลอด 3 เดือน เราไม่สามารถที่จะอยู่โดยปราศจากวิมานที่อยู่ของเราได้ จึง ออกอุบาย โดยการ ทำรูปน่ากลัว และทำเสียงน่ากลัวตอนกลางคืน ให้ภิกษุทั้งหลายกลัว ภิกษุทั้ง 500 รูป เกิดความกลัว และฉันอาหารไม่ได้ เกิดโรคผอมเหลือง จึงประชุมปรึกษากัน และได้ เดินทางไปเข้าเฝ้าพระพุทธเจ้า พระพุทธเจ้าทรงทราบเหตุการณ์ และตรวจดูว่าจะมี สถานที่อื่นเหมาะสมกับภิกษุเหล่านี้หรือไม่ ไม่ทรงเห็นสถานที่อื่น นอกเสียจาก ที่เดิม ที่ภิกษุถูก เทวดาเบียดเบียน จึงได้ตรัสสอน ด้วย เมตตสูตร ให้ภิกษุทั้งหลาย มีเมตตา กับ สรรพสัตว์ทั้งหลาย และ อบรมเจริญวิปัสสนาในที่นั้น ก็จะบรรลุธรรม พระองค์จึง ทรงได้ตรัสอนเมตตสูตรดังนี้ ดังจะอธิบายความแต่ละพระคาถาดังต่อไปนี้ ครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
paderm
วันที่ 27 เม.ย. 2555

กุลบุตรผู้ฉลาดในประโยชน์ปรารถนาเพื่อจะตรัสรู้สันตบท พึงบำเพ็ญไตรสิกขา

กุลบุตร หมายถึง ผู้ที่ประพฤติธรรม อบรมปัญญาทุกคน ควรเป็นผู้ฉลาดในประโยชน์ คือ ฉลาดที่จะเจริญกุศลประการต่างๆ เช่น การรักษาศีล การอบรมปัญญา การฟังธรรม ศึกษาพระธรรม และเจริญกุศลทุกประการ เพื่อถึงการดับกิเลส ชื่อว่า เป็นผู้ฉลาดใน ประโยชน์ ประโยชน์ในที่นี้ จึงมุ่งหมายถึง เป็นไปในกุศลธรรม เพื่อที่จะตรัสรู้ สันติบท คือ บทแห่งความสงบ สงบระงับจากกิเลสและสภาพธรรมทั้งปวง สันติบทนี้ จึงหมายถึง พระนิพพาน

ผู้ที่จะถึง สันติบท คือ พระนิพพาน ต้องเป็นผู้ฉลาดด้วยประโยชน์ คือ เจริญกุศล ทุกประการและ บำเพ็ญไตรสิกขา คือ ศีล สมาธิ ปัญญา นั่นก็คือ การเจริญสติปัฏฐาน นั่นเองครับ ขณะที่สติปัฏฐานเกิดมี ศีล สมาธิและปัญญาด้วย เป็นการเจริญไตรสิกขา และสติปัฏฐานก็เป็นทางที่จะถึง สันติบท คือ ประจักษ์ บทอันสงบ คือ พระนิพพาน

กุลบุตรนั้นพึงเป็นผู้อาจหาญ เป็นผู้ตรง ซื่อตรง ว่าง่าย อ่อนโยน ไม่เย่อหยิ่งสันโดษ เลี้ยงง่าย มีกิจน้อย มีความประพฤติเบา มีอินทรีย์อันสงบแล้ว

พึงเป็นผู้อาจหาญ ด้วยปัญญา และอาจหาญที่จะกระทำกิจน้อยใหญ่ ช่วยเหลือ กิจการงานต่างๆ ของผู้อยู่ร่วมกัน ชื่อว่า เป็นผู้อาจหาญในการเจริญกุศล นั่นเอง และ ต้องเป็นผู้ซื่อตรงด้วย จึงจะทำให้ถึง บทอันสงบ คือ พระนิพพาน ซื่อตรงด้วยกาย วาจาและใจที่ตรง ซื่อตรงที่การเจริญกุศล ซื่อตรงที่จะไม่โอ้อวด ไม่ มายา ซื่อตรงด้วย กุศลทีเกิดที่เป็นสมถภาวนา และ ซื่อตรงด้วย สภาพธรรมที่ตรง คือ รู้ความจริงของสภาพธรรมที่ไม่ใช่เรา ไม่ใช่สัตว์ บุคคล เป็นการเจริญวิปัสสนา ขณะที่ วิปัสสนาเกิด ชื่อว่า ซื่อตรงด้วยดี

 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
paderm
วันที่ 27 เม.ย. 2555

เป็นผู้ว่าง่าย ที่จะน้อมไปที่จะแก้ไข เห็นโทษของอกุศลและเจริญกุศลเพิ่มขึ้น เป็น ผู้อ่อนโยน ไม่ดุร้ายด้วยอกุศลธรรม กุศลธรรมเท่านั้นที่อ่อนโยน ไม่เย่อหยิ่ง คือ ไม่ดู หมิ่นผู้อื่น ด้วยตระกูล เป็นต้น สันโดษ ตามมีตามได้ เป็นผู้ลี้ยงง่าย คือ ได้อะไรมา ก็ บริโภคตามนั้น ไม่ปรารถนายิ่งๆ ขึ้นไป และ มีกิจน้อย คือ กิจที่เป็นไปในการเจริญ อกุศลก็มีน้อย มีความประพฤติเบา คือ พระภิกษุ มีของติดตัวน้อย ที่จะทำให้เอื้อต่อ การสะสมและเจริญอกุศล คุณธรรมทั้งหลายที่กล่าวมา ควรประพฤติ เพื่อที่จะถึง สันติ บท คือ บรรลุธรรม ประจักษ์พระนิพพาน ครับ

มีปัญญาเครื่องรักษาตน ไม่คะนอง ไม่พัวพันในสกุลทั้งหลาย และ ไม่พึงประพฤติทุจริตเล็กน้อยอะไรๆ ซึ่งเป็นเหตุ ให้ท่านผู้รู้เหล่าอื่นติเตียนได้

มีปัญญาเครื่องรักษาตน คือ อบรมปัญญา เมื่อมีปัญญา ย่อมรักษาตน คือ รักษาจิตให้พ้นจากอกุศลธรรม เป็นกุศลธรรมในขณนั้น ชื่อว่า มีปัญญารักษาตน ไม่คะนอง คือ ไม่คะนองด้วยกาย วาจาและใจที่ไม่เหมาะสม อันเกิดจากอกุศลเป็นเหตุ และไม่พัวพัน ในสกุลทั้งหลาย คือ พระภิกษุ ไม่ติดในตระกูล เขาเศร้าเราก็เศร้าด้วย เป็นต้น และไม่ ประพฤติทุจริต บาปเล็กน้อย คือ เห็นโทษของกิเลสเล็กน้อยทีเกิดขึ้น เมื่อกิเลสเกิด ขึ้น ก็มีปัญญาที่จะละอกุศลที่เกิดแล้ว โดยรู้โทษขงออกุศลและสำรวมระวังต่อไปด้วย ปัญญา เพราะอกุศลไม่ว่ามาก หรือน้อย ก็ไม่ดี นำมาซึ่งโทษและผู้รู้ที่ติเตียน ครับ

ขออนุโมทนาคุณหมอและทุกท่าน ครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 4  
 
khampan.a
วันที่ 27 เม.ย. 2555

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

การฟังพระธรรมศึกษาพระธรรมอบรมเจริญปัญญา เพื่อขัดเกลากิเลสทุกอย่าง ซึ่งถ้า ไม่รู้ตามความเป็นจริง ก็จะไม่มีการขัดเกลากิเลสใดๆ ทั้งสิ้น เพราะกิเลสทั้งหมดนั้น มาจากความไม่รู้ ซึ่งจะเห็นได้ว่า จิตของแต่ละคนนี้หลากหลายตามการสะสม และใคร จะรู้ดีกว่าตัวเอง เพราะฉะนั้น ทั้งหมดที่สะสมมาในแต่ละวัน สะสมอกุศลมามาก เพราะ ฉะนั้น สิ่งที่จะต้องขัดเกลานี้ จะมากสักแค่ไหน

บุคคลผู้ที่ได้มีโอกาสได้ยินได้ฟังธรรม พระธรรมซึ่งพระผู้มีพระอรหันตสัมมาสัม พุทธเจ้าทรงมีพระมหากรุณา ทรงแสดง เป็นผู้ที่ได้สะสมศรัทธา หิริ โอตตัปปะ มาแล้ว ในอดีต แต่ก็ยังไม่พอ เพราะว่าสะสมอกุศลมากมาย ด้วยเหตุนี้จึงต้องเป็นผู้ที่ตรงแม้ แต่การเป็นผู้ศึกษาพระธรรม ก็เพื่อขัดเกลา และการที่จะขัดเกลาได้ ก็ต่อเมื่อรู้ความจริง ไม่มีใครสามารถที่จะเอาอกุศลที่สะสมมาในจิตของตัวเองออกทิ้งหมดไปได้เลย นอกจากปัญญาที่ค่อยๆ เกิดขึ้น เพราะฉะนั้น ก็จะเป็นผู้ที่เห็นประโยชน์ของการเข้าใจ พระธรรมมากยิ่งขึ้น ไม่ว่าจะศึกษาจากพระธรรมในส่วนใด ย่อมเป็นประโยชน์ทั้งนั้นครับ

... ขอบพระคุณและขออนุโมทนาคุณหมอและทุกๆ ท่านด้วยครับ ...

 
  ความคิดเห็นที่ 5  
 
wannee.s
วันที่ 27 เม.ย. 2555

กิจอันใดอันพระอริยบุคคล บรรลุบทอันสงบแล้ว

กิจอันนั้นอันกุลบุตรผู้ฉลาดพึงทำ ค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 6  
 
kinder
วันที่ 28 เม.ย. 2555

ขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 7  
 
ผู้ร่วมเดินทาง
วันที่ 28 เม.ย. 2555

ขอบพระคุณและขออนุโมทนาคุณหมอและทุกๆ ท่านครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 8  
 
pirmsombat
วันที่ 28 เม.ย. 2555

ขอบพระคุณและอนุโมทนาคุณpaderm คุณคำปั่น คุณ wannee.s คุณผู้ร่วมเดินทาง และ ทุกท่านครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 9  
 
nong
วันที่ 28 เม.ย. 2555

ขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 10  
 
intra
วันที่ 29 เม.ย. 2555

ขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 11  
 
peem
วันที่ 10 ธ.ค. 2557

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาค่ะ

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ