สติตัวจริง

 
j-atosa
วันที่  28 เม.ย. 2555
หมายเลข  21035
อ่าน  1,384

รู้สึกอบอุ่นทุกครั้งที่ได้เข้ามาศึกษาธรรมในบ้านนี้ ขอบพระคุณที่มีเว็บนี้ค่ะ สาธุๆ ค่ะ

กราบเรียนถามอ. นะคะ ว่าเรื่องสติ การที่เรารู้ว่าจิตเรากำลังฟุ้งซ่านแล้วมีการรู้ขึ้นมาเอง แล้วก็เพียงแค่รู้ ไม่ดิ้นรนอยากเลิก ฟุ้งซ่านไม่เดือดร้อนไปตามความฟุ้งซ่าน ตัวนี้เป็นตัวสติตัวจริงหรือเปล่าคะ เพราะถ้าเราหลง ก็คือไม่มีสติในการระลึกรู้ว่าขณะนี้กำลังฟุ้งซ่าน คือไหลไปกับอารมณ์ฟุ้งซ่านในขณะนั้น..

กราบขอบพระคุณค่ะ


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
paderm
วันที่ 29 เม.ย. 2555

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

สติเป็นสภาพธรรมฝ่ายดี ขณะใดเป็นกุศล จึงมีสติ แต่ขณะที่เป็นอกุศล ไม่มีสติ กุศลทุกประเภท มีสติเกิดร่วมด้วย ทั้งกุศล ขั้นทาน ศีล และการเจริญสมถภาวนา และวิปัสสนาภาวนา สติทำหน้าที่ระลึกเป็นไปในกุศลธรรม ครับ ซึ่ง จากที่ผู้ถาม ถามนั้น เป็นเรื่องการเจริญวิปัสสนา ซึ่ง การเจริญวิปัสสนา ไม่ใช่ มีแค่สภาพธรรม ฝ่ายดี ที่เป็นสติเท่านั้น ต้องมีปัญญาด้วย และมีสภาพธรรมฝ่ายดีอื่นๆ เช่น ศรัทธา หิริ โอตตัปปะ สติ ปัญญา เป็นต้น ซึ่ง ในการเจริญวิปัสสนา จะใช้คำว่า มี สติ สัมปชัญญะ สติทำหน้าที่ระลึก ส่วน สัมปชัญญะ (ปัญญา) ทำหน้าที่รู้ตามความเป็นจริง ซึ่งการเจริญวิปัสสนา หรือ สติปัฏฐาน เป็นเรื่องลึกซึ้งมาก ดังนั้น ขณะที่รู้ว่า กำลังฟุ้งซ่านอยู่ ใครรู้ เป็นขณะที่กำลังคิดว่า ขณะนี้ฟุ้งซ่าน ขณะที่คิดว่า ตอนนี้ ฟุ้งซ่านอยู่ ไม่ใช่ การเจริญวิปัสสนา ที่เป็นสติปัฏฐาน ที่เป็นสติสัมปชัญญะ เพราะ เป็นการนึกคิดถึงสภาพธรรม ที่ดับไปแล้ว ไม่ได้รู้ตัวฟุ้งซ่านจริงๆ

ที่สำคัญที่สุด การเจริญวิปัสสนา เป็นเรื่องของปัญญา ไม่ใช่สติเท่านั้น ปัญญาทำหน้าที่รู้ ถ้าไม่มีปัญญา ก็ไม่ใช่กาเรจริญวิปัสสนา เพราะฉะนั้น การรู้เฉยๆ ไม่ดิ้นรน การรู้อย่างนั้น ไม่ใช่ปัญญา เพราะ เป็นความเฉยๆ ที่รู้ว่าฟุ้งซ่านแต่ไม่ได้รู้ว่า ความฟุ้งซ่านเป็นธรรมไม่ใช่เรา จึงไม่ได้มีสติและปัญญาเกิดร่วมด้วย เพียงรู้เฉยๆ ตามความคิดนึกว่า ฟุ้งซ่าน และก็ไม่ได้รู้ตัวฟุ้งซ่านจริงๆ ครับ เพราะ นึกคิดในสภาพธรรมที่เป็นความฟุ้งซ่านที่ดับไปแล้ว สำคัญที่ปัญญาเป็นสำคัญ ว่า ขณะนั้นปัญญารู้อะไร ไม่ใช่รู้ว่าฟุ้งซ่านอยู่ แต่ต้องรู้ว่า ฟุ้งซ่านเป็นแต่เพียงธรรม ไม่ใช่เรา ครับ สำคัญตรงนี้ครับ

ดังนั้น ขอให้เริ่มจากความเข้าใจให้ถูกต้องใหม่เป็นเบื้องต้น ครับว่า ขอให้เริ่มจากการฟังให้เข้าใจว่า ธรรมคืออะไร คือ สภาพธรรมที่มีในขณะนี้ และ ไม่สามารถที่จะบังคับให้เกิดสติได้ และสติปัฏฐาน วิปัสสนาจะต้องมี ปรมัตถ์ คือ ตัวธรรมที่กำลังปรากฏให้รู้เป็นอารมณ์ แต่ไม่ใช่การนึกคิดในสภาพธรรมที่ดับไปแล้ว และปัญญาที่เป็นการเจริญวิปัสสนา ต้องเป็นการรู้ว่า สภาพธรรมที่กำลังปรากฏ เป็นธรรมไม่ใชเรา แต่ไม่ใช่รู้ว่า กำลังฟุ้งซ่านอยู่ กำลังเดิน กำลังก้าวอยู่ ครับ ก็อาศัยการฟังพระธรรมในหนทางนี้ต่อไป ก็จะค่อยๆ เข้าใจละเอียดขึ้น ทีละเล็กละน้อย ครับ

ขออนุโมทนาที่ร่วมสนทนา

 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
khampan.a
วันที่ 29 เม.ย. 2555

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

จุดเริ่มต้น ขอให้เข้าใจสภาพธรรมที่กำลังมีในขณะนี้ก่อน ยังไม่ต้องพูดถึงการระลึกรู้สภาพธรรมก็ได้ โดยเริ่มจากการฟังพระธรรมศึกษาพระธรรม ฟังในสิ่งที่มีจริงในชีวิตประจำวันให้เข้าใจ สะสมความเข้าใจถูกเห็นถูกไปตามลำดับ เพราะตามความเป็นจริงแล้ว สิ่งที่ควรรู้ ควรศึกษาให้เข้าใจนั้น ก็ไม่พ้นไปจากสิ่งที่มีจริงในขณะนี้ ซึ่งมีจริงทุกขณะ แต่สิ่งที่ขาด คือ ความเข้าใจถูกเห็นถูก เมื่อมีความเข้าใจในเรื่องของสภาพธรรมที่มีจริง จากการได้ฟังได้ศึกษาในสิ่งที่มีจริงบ่อยๆ เนืองๆ ก็ย่อมจะเป็นเหตุให้สติเกิดขึ้นระลึกตรงลักษณะของสภาพธรรม และปัญญารู้ตามความเป็นจริงได้ โดยไม่อยู่ในอำนาจบังคับบัญชาของใครทั้งสิ้น เป็นธรรมที่เกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัยจริงๆ ครับ.

...ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ...

 
  ความคิดเห็นที่ 4  
 
เข้าใจ
วันที่ 29 เม.ย. 2555

สติตัวจริงไม่สามารถบังคับได้ นึกรู้ก็ไม่ใช่สติ แล้วดักรู้ใจใช่สติไหม เหมือนจะทำสติๆ เป็นไปในเฉพาะกุศลใช่ไหม ถ้าเป็นไปในอกุศลต่างๆ คงจะไม่ใช่สติ ถ้าภพภูมินี้ไม่มีพระธรรมที่พระผู้มีพระภาคตรัสไว้ดีแล้ว ก็คงจะมีแต่ความมืด จิตใจที่เต็มไปด้วยอกุศลที่มากมายที่สะสมมา ก็จะเป็นปัจจัยให้อกุศลเจริญเพิ่มขึ้นมาก มีตา มีหู มีจมูก มีลิ้น มีกาย มีจิตมีใจ ก็จะใช้ทวารทั้ง ๖ นี้เป็นไปในอกุศล ถ้าฟังพระธรรมมากๆ ๆ ในที่นี้คือจะนั่ง นอน ยืน เดิน ทำ พูด คิด ให้เป็นไปกับธรรมะตลอด ทุกสภาวะก็เป็นธรรมะทั้งนั้น ไม่ว่าจะอยู่ในอริยบถไหนก็คือธรรม ชีวิตนี้เกิดมาก็ไม่รู้เกิดมาจากไหน ถ้าตายแล้วก็ไม่รู้จะไปเกิดที่ไหน ถ้าจะตายๆ เมื่อไหร่ ตายที่ไหน ก็ไม่รู้ ที่แน่ๆ ตายแน่นอนหนีไม่พ้น แต่ก่อนจะตายก็ขอฟังธรรมะให้มากๆ ระลึกศึกษาพระธรรมให้มากๆ เพื่อเป็นเหตุเป็นปัจจัยให้สติและปัญญาเจริญขึ้น ทุกสภาวะไม่สามารถบังคับให้เกิดเป็นไปในกุศลหรืออกุศลได้ ปัจจุบันคือผลของกุศลและอกุศลในอดีต อนาคตจะมีกุศลมากหรืออกุศลมาก ก็แล้วแต่ปัจจุบันจะสร้างเหตุกุศลมากหรือสร้างเหตุปัจจัยอกุศลมาก กุศลเหตุหรืออกุศลเหตุ ก็คือสภาพธรรมะชนิดหนึ่งเกิดขึ้นแล้ว ก็ต้องผันแปรเปลี่ยนไป ดับไปๆ ดับไปแล้วไม่ได้ไปติดค้างอยู่ที่ไหน จะไม่กลับมาอีกเลย

ขอขอบพระคุณยิ่งที่กรุณาแบ่งปัน ขอความสุขความเจริญในกุศลธรรมและปัญญาญาณสัมประยุตต์จงมีแด่ทุกท่านครับ

ขอบคุณ และขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 5  
 
j-atosa
วันที่ 30 เม.ย. 2555

ขอขอบพระคุณทุกๆ ท่านที่ร่วมสนทนาร่วมกันนะคะ ...

พระธรรมเป็นสิ่งที่ละเอียดและลึกซึ้งจริงๆ ค่ะ แต่เป็นเรื่องที่น่าค้นหาจริงๆ เพราะเป็นสิ่งที่มีอยู่จริงแต่ไม่เคยเข้าไปรู้ในสิ่งที่มีอยู่จริงนี้เลย อย่างเรื่องที่อ. แนะนำว่าฟังให้เข้าใจเสียก่อนอย่าเพิ่งไปรีบรู้เลยว่าสติเป็นอย่างไร ฟังให้เข้าใจ ทุกๆ ครั้งที่ฟัง ก็โดนหลอกว่าเข้าใจแล้วแต่จริงๆ ยังมีความไม่รู้อยู่เต็มๆ ๆ เลย เป็นสิ่งที่รู้ได้ยากจริงๆ

ขอบพระคุณที่อธิบายเรื่องความฟุ้งซ่าน เพราะทุกครั้งที่เราเข้าไปรู้ ก็แสดงว่าสิ่งนั้นได้เกิดขึ้นไปแล้ว แล้วผ่านไปแล้วเรียบร้อย เรามารู้สึกกับความรู้สึกที่ได้ผ่านไปแล้วนั้น แต่ความไม่รู้เลยเข้าใจว่า ในขณะที่รู้นั้นเป็นการระลึกรู้ถึงอารมณ์นั้นๆ อยู่ แต่จริงๆ ไม่มีแล้ว ดับไปหมดแล้ว เรียนถามเพิ่มนะคะ

- คำว่า อบรมให้เจริญขึ้น ก็แสดงว่าต้องฝืน เพราะกิเลสเดิมที่เรามีอยู่ไหลลงตามกระแสกิเลส คือสิ่งที่สะสมมานาน แบบนี้ ไม่เรียกว่าเป็นเราเข้าไปทำหรือคะ ขอบพระคุณค่ะ.

ขอบพระคุณอย่างสูงค่ะอ. และ ทุกๆ ท่าน

 
  ความคิดเห็นที่ 6  
 
เซจาน้อย
วันที่ 30 เม.ย. 2555

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

เรียนความคิดเห็นที่ 5 ครับ

"อบรมให้เจริญขึ้นหมายถึงปัญญา (ไม่มีเรา)

ปัญญานั่นเองที่จะทำหน้าที่ (ไม่มีเรา) "

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 7  
 
intra
วันที่ 1 พ.ค. 2555

ขอบคุณ และขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 8  
 
wannee.s
วันที่ 2 พ.ค. 2555

สติในทางพระพุทธศาสนา คือสติที่เป็นไปในกุศลทั้งหมด เช่น ระลึกหรือคิดจะให้ทาน หรือ งดเว้นการฆ่าสัตว์ การลักทรัพย์ ประพฤติผิดในกาม พูดเท็จ งดการดื่มสุรา และ การอบรมเจริญภาวนา เช่น การฟังธรรมทำให้จิตใจผ่องใสและสงบจากกิเลสชั่วขณะที่ฟังธรรมแล้วเข้าใจ เป็นปัญญาที่สูงกว่าทาน ศีล ค่ะ

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ