จริยธรรมสูงสุด

 
บริสุทธิ์
วันที่  28 เม.ย. 2555
หมายเลข  21036
อ่าน  7,366

เรียนถามว่า จริยธรรมสูงสุดของพุทธศาสนาคืออะไร

ขอบคุณ และขออนุโมทนาครับ


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
paderm
วันที่ 29 เม.ย. 2555

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

ถ้าพูดถึงจุดสูงสุดของพระพุทธศาสนา ที่เป็นแก่น การหลุดพ้นจากกิเลส และการหลุดพ้นจากสภาพธรรมทั้งปวง นั่นคือ พระนิพพาน เพราะ เหตุให้เกิดทุกข์คือ กิเลส พระพุทธเจ้าทรงแสดงหนทางดับทุกข์ เพื่อถึง สภาพธรรมที่ไม่มีทุกข์ อันเป็นสภาพธรรมสูงสุด และ เพื่อไปถึงจุดนั้น คือ การหลุดพ้นจากกิเลส (วิมุตติ) และหลุดพ้นจากการเกิดของสภาพธรรมทั้งปวง ถึงการปรินิพพาน หลุดพ้นจากสภาพธรรมทั้วปวง ถึงการดับรอบ คือ ไม่มีการเกิดขึ้นของสภาพธรรมอะไรอีกเลย เป็นอนุปาทิเสสนิพพาน ครับ นี่คือ สาระสูงสุด แก่นสูงสุดของพระพุทธศาสนา

[เล่มที่ 38] พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ทสก-เอกาทสกนิบาต เล่ม ๕ - หน้าที่ 186

๘. มูลสูตร

ว่าด้วยธรรมทั้งปวงมีฉันทะเป็นมูล มีนิพพานเป็นที่สุด

[๕๘] ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ถ้าพวกอัญญเดียรถีย์ปริพาชกพึงถามอย่างนี้ว่า ดูก่อนอาวุโสทั้งหลาย ธรรมทั้งปวงมีอะไรเป็นมูล มีอะไรเป็นแดนเกิด มีอะไรเป็นเหตุเกิด มีอะไรเป็นที่ประชุมลง มีอะไรเป็นประมุข มีอะไรเป็นใหญ่ มีอะไรเป็นยิ่ง มีอะไรเป็นแก่น มีอะไรเป็นที่หยั่งลง มีอะไรเป็นที่สุด ... เธอทั้งหลายถูกถามอย่างนี้แล้ว พึงพยากรณ์แก่อัญญเดียรถีย์ปริพาชกเหล่านั้นอย่างนี้ว่า ดูก่อนอาวุโสทั้งหลาย ธรรมทั้งปวงมีฉันทะเป็นมูล มีมนสิการเป็นแดนเกิด มีผัสสะเป็นเหตุเกิด มีเวทนาเป็นที่ประชุมลง มีสมาธิเป็นประมุข มีสติเป็นใหญ่ มีปัญญาเป็นยิ่ง มีวิมุตติเป็นแก่น มีอมตะเป็นที่หยั่งลง มีนิพพานเป็นที่สุด

[เล่มที่ 43] พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย คาถาธรรมบท เล่ม ๑ ภาค ๒ ตอน ๔ - หน้าที่ 100

บาทพระคาถาว่า วิราโค เสฏฺโ ธมฺมาน ความว่า บรรดาธรรมทั้งปวง วิราคะ กล่าวคือ พระนิพพาน ชื่อว่าประเสริฐ เพราะพระพุทธพจน์ว่า ภิกษุทั้งหลาย ธรรมทั้งหลายที่ปัจจัยปรุงแต่งก็ดี ที่ปัจจัยไม่ปรุงแต่งก็ดี มีประมาณเพียงไร, บรรดาธรรมเหล่านั้น วิราคะเรากล่าวว่า เป็นยอด."

[เล่มที่ 43] พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย คาถาธรรมบท เล่ม ๑ ภาค ๒ ตอน ๔ - หน้าที่ 99

"บรรดาทางทั้งหลาย ทางมีองค์ ๘ ประเสริฐ, บรรดาสัจจะทั้งหลาย บท ๔ ประเสริฐ, บรรดาธรรมทั้งหลาย วิราคะประเสริฐ, บรรดาสัตว์ ๒ เท้า และอรูปธรรมทั้งหลาย พระตถาคตผู้มีจักษุประเสริฐ


วิราคธรรม คือ สภาพธรรมที่ปราศจาก ราคะ (โลภะ) สำรอก คลายจากราคะ แต่ไม่ใช่เพียงราคะเท่านั้น วิราคธรรมคือสภาพธรรมที่สำรอก ละ สละ คลาย ปราศจากกิเลสทั้งปวง สภาพธรรมที่เป็นวิราคธรรมคือพระนิพพานนั่นเองครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
บริสุทธิ์
วันที่ 29 เม.ย. 2555

ขอบพระคุณเป็นอย่างสูง

จริยธรรมทางพุทธศาสนา กล่าวเกี่ยวกับความสัมพันธ์ ที่มีต่อตัวเองและสังคมไว้อย่างไรบ้างครับ?

ขั้นตอนในการยกระดับจิตใจให้สูงไปชั้นนิพพานต้องทำอย่างไรบ้างครับ? แล้วพระพุทธองค์ตรัสเกี่ยวกับประเด็นนี้ไว้อย่างไร

ขอบคุณ และขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
paderm
วันที่ 29 เม.ย. 2555

เรียนความเห็นที่ 2 ครับ

จริยธรรมทางพุทธศาสนา กล่าวเกี่ยวกับความสัมพันธ์ ที่มีต่อตัวเองและสังคมไว้อย่างไรบ้างครับ?

- จริยธรรมที่เป็นคุณธรรมที่พระพุทธเจ้าทรงแสดง คือ กุศลธรรมประการต่างๆ มี ศีล สติ หิริ โอตัปปะ ขันติ เมตตา และที่สำคัญที่สุด คือ ปัญญา ซึ่ง สรุปได้ว่า ก็คือ กุศลธรรมประการต่างๆ นั่นเอง ที่เป็นสภาพธรรมฝ่ายดี มีความสัมพันธ์เกี่ยวข้องกับตนเอง คือ พระองค์แสดงกุศลธรรมประการต่างๆ ว่าควรเจริญ ก็จะมีผลต่อตนเองที่ดี ทำให้เป็นผู้ละกิเลส ด้วยการเจริญปัญญา ทำให้ตนเองมีการประพฤติที่ดีขึ้น ย่อมเป็นประโยชน์กับผู้อื่นด้วย ในการดำเนินชีวิต เมื่อสังคมมีคุณธรรม คือ กุศลธรรม อันอาศัย จริยธรรม คุณธรรมที่พระองค์ทรงแสดงโดยอาศัยการฟังพระธรรม สังคมก็อยู่ด้วยความสงสุข นี่คือ การเกี่ยวข้องของพระธรรมที่พระพุทธเจ้าทรงแสดง ต่อตนเองและผู้อื่นและสังคม ครับ

ขั้นตอนในการยกระดับจิตใจให้สูงไปชั้นนิพพานต้องทำอย่างไรบ้างครับ? แล้วพระพุทธองค์ตรัสเกี่ยวกับประเด็นนี้ไว้อย่างไร

- พระพุทธเจ้าทรงแสดงการอบรมปัญญาเป็นไปตามลำดับ เพราะการถึงพระนิพพาน ต้องด้วยปัญญาระดับสูง แต่ก่อนจะถึงปัญญาระดับนั้น จะต้องเริ่มจากปัญญาขั้นการฟัง คือ อาศัยการฟังพระธรรมที่เป็นปริยัติ ย่อมถึงปัญญาที่ประจักษ์สภาพธรรมตามความเป็นจริงในขณะนี้ ที่เป็นปฏิบัติ และย่อมถึง ปฏิเวธ การบรรลุธรรม ประจักษ์พระนิพพานครับ ดังนั้น จึงเริ่มจาการฟังพระธรรม ศึกษาพระธรรมและปัญญาก็จะเจริญขึ้นไปตามลำดับ จนถึงพระนิพพาน ครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 4  
 
khampan.a
วันที่ 29 เม.ย. 2555

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

[เล่มที่ 13] พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย มหาวรรค เล่ม ๒ ภาค ๑ - หน้าที่ ๕๕

“การไม่ทำบาปทั้งสิ้น การยังกุศลให้ถึงพร้อม การยังจิตของตนให้ผ่องใส นี่เป็นคำสอนของพระพุทธเจ้าทั้งหลาย”

(จาก... พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย มหาวรรค มหาปทานสูตร)

พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ทรงมีพระมหากรุณาต่อสัตว์โลกทั้งปวง เมื่อพระองค์ทรงตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้าแล้วทรงแสดงพระธรรมที่พระองค์ทรงตรัสรู้ โปรดเวไนยสัตว์ ตลอดระยะเวลา ๔๕ พรรษา ทรงพร่ำสอนอยู่บ่อยๆ เนืองๆ ก็เพื่อให้ผู้ฟังมีความเข้าใจสภาพธรรมตามความเป็นจริง พร้อมทั้งน้อมประพฤติปฏิบัติตาม จนกระทั่งถึงความเป็นผู้หมดจดจากกิเลสได้ในที่สุด จึงเห็นได้ว่า สิ่งที่เป็นที่พึ่งที่แท้จริงในชีวิต คือพระธรรมที่พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงแสดง ซึ่งจะทำให้ผู้ที่ได้ฟังได้ศึกษา มีความเข้าใจตามความเป็นจริง เป็นไปเพื่อการเจริญขึ้นของปัญญา เพื่อขัดเกลากิเลสจนหมดสิ้น

ถ้าไม่ได้อาศัยพระธรรม ไม่มีการอบรมเจริญปัญญาแล้ว สังสารวัฏฏ์ก็จะดำเนินไปอย่างไม่มีวันจบสิ้น ดังนั้น จึงต้องเริ่มสะสม อบรมเจริญปัญญาด้วยตนเอง เห็นประโยชน์สูงสุดของปัญญา เพิ่มพูนความเข้าใจถูก เห็นถูกขึ้น ไปตามลำดับ หัวใจของพระพุทธศาสนาอยู่ที่ความเข้าใจธรรมตามความเป็นจริง

เพราะเหตุว่า พระพุทธศาสนา เป็นคำสอนของท่านผู้รู้อย่างสูงสุด คือ พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ซึ่งจะต้องตั้งใจฟัง ตั้งใจต้องศึกษาอย่างละเอียดรอบคอบจริงๆ ไม่ว่าพระองค์จะทรงแสดงธรรมโดยนัยใด ก็ไม่พ้นไปจากให้พุทธบริษัทได้ เข้าใจธรรมตามความเป็นจริง เป็นปัญญาของตนเอง จนกระทั่งสามารถดับกิเลสได้ตามลำดับขั้น ครับ.

...ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ...

 
  ความคิดเห็นที่ 5  
 
บริสุทธิ์
วันที่ 30 เม.ย. 2555

ขอบคุณ และขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 6  
 
intra
วันที่ 30 เม.ย. 2555

ขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 7  
 
wannee.s
วันที่ 30 เม.ย. 2555

จริยธรรมที่สูงสุด หมายถึงความประพฤติที่นำไปสู่การพ้นทุกข์ คืออริยมรรคมีองค์ ๘ เริ่มจากการฟังพระธรรม การศึกษาพระธรรม และ น้อมมาประพฤติปฏิบัติตามพระธรรมจึงจะบรรลุเป้าหมาย คือ การบรรลุ มรรค ผล นิพพาน ค่ะ

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ