เมตฺตํ อุเปกฺขํ

 
pirmsombat
วันที่  29 เม.ย. 2555
หมายเลข  21042
อ่าน  1,302

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต เล่ม ๑ ภาค ๕- หน้าที่ 238

คาถาที่ ๓๕

คาถาว่า เมตฺตํ อุเปกฺขํ ดังนี้ มีอุบัติอย่างไร?

ได้ยินว่า พระราชาพระองค์หนึ่งทรงได้เมตตาฌาน ท้าวเธอทรงพระ-

ราชดำริว่า ราชสมบัติกระทำอันตรายต่อความสุขในฌาน จึงทรงสละราชสมบัติ

เพื่อทรงรักษาฌานไว้ ทรงผนวชแล้ว ทรงเห็นแจ้งอยู่ได้กระทำให้แจ้ง ซึ่ง

ปัจเจกโพธิญาณ ได้ตรัสอุทานคาถานี้ว่า.

เมตฺตํ อุเปกฺขํ กรุณํ วิมุตฺตึ

อาเสวมาโน มุทิตญฺจ กาเล

สพฺเพน โลเกน อวิรุชฺฌมาโน

เอโก จเร ขคฺควิสาณกปฺโป

บุคคลเสพอยู่ ซึ่งเมตตาวิมุตติ

กรุณาวิมุตติ มุทิตาวิมุตติ และอุเบกขา

วิมุตติ ในกาลอันสมควรไม่ยินร้ายด้วยโลก

ทั้งปวง พึงเที่ยวไปผู้เดียวเหมือนนอแรด

ฉะนั้น ดังนี้.

ในคาถานั้น ความเป็นผู้ใคร่เพื่อนำเข้ามาซึ่งหิตสุข โดยนัยว่า

ขอสัตว์ทั้งหลายทั้งปวง จงมีความสุขเถิด ดังนี้เป็นต้น ชื่อว่า เมตต

ความเป็นผู้ใคร่เพื่อนำออกไปซึ่งอหิตทุกข์ โดยนัยว่า โอหนอ !

ขอเราพึงพันจากทุกข์นี้ ดังนี้เป็นต้น ชื่อว่า กรุณา

ความเป็นผู้ใคร่เพื่อไม่ให้พลัดพรากจากหิตสุขโดยนัยว่า

สัตว์ผู้เจริญทั้งหลายเพลิดเพลินหนอ เพลิดเพลินดีแท้ดังนี้เป็นต้นชื่อว่า มุทิตา

ความเป็นผู้วางเฉย ในสุขและทุกข์ทั้งหลายว่า

จักปรากฏด้วยกรรมของตนดังนี้ ชื่อว่า อุเบกขา.

แต่ท่านกล่าวเมตตาแล้วกล่าวอุเบกขา แล้ว

กล่าวมุทิตาในภายุหลัง โดยสับเปลี่ยนลำดับ ทั้งนี้เพื่อสะดวกแก่การผูกคาถา.

บทว่า วิมุตฺตึ ความว่า ก็ธรรมแม้ ๔ เหล่านั้น ชื่อว่า วิมุตติ เพราะ

เป็นธรรมพ้นแล้ว จากธรรมเป็นข้าศึกทั้งหลายของตน.

เพราะเหตุนั้น พระปัจเจกพุทธเจ้าจึงกล่าวว่า

บุคคลเสพอยู่ ซึ่งเมตตาวิมุตติ

กรุณาวิมุตติ มุทิตาวิมุตติ และอุเบกขา

วิมุตติ ในกาลอันสมควร.

ในคาถานั้น บทว่า อาเสวมาโน ความว่า อบรมอยู่ซึ่งธรรมทั้งสาม

ด้วยอำนาจแห่งฌานหมวดสามและหมวดสี่ ซึ่งอุเบกขาด้วยอำนาจแห่งจตุตถฌาน.

บทว่า กาเล ความว่า บุคคลเจริญเมตตาแล้ว ออกจากเมตตานั้น

แล้วเสพกรุณา ออกจากกรุณานั้นแล้ว เสพมุทิตา ออกจากมุทิตานั้น หรือ

จากฌานอันไม่มีปีตินอกนี้แล้ว เสพอุเบกขา เรียกว่า เสพอยู่ในกาล. หรือ

เรียกว่าเสพอยู่ในกาลอันผาสุก เพื่อจะเสพ.

บทว่า สพฺเพน โลเกน อวิรุชฺฌมาโน ความว่า

ไม่ยินร้ายด้วยโลกทั้งปวงในทิศทั้งสิบ.

จริงอยู่ เพราะความที่ธรรมทั้งหลายมีเมตตาเป็นต้น

อันตนเจริญแล้ว สัตว์ทั้งหลายก็เป็นผู้ไม่น่าเกลียด และปฏิฆะอันก่อความ

โกรธในสัตว์ทั้งหลายย่อมสงบระงับ. เพราะเหตุนั้น พระปัจเจกพุทธเจ้าจึง

กล่าวว่าไม่ยินร้ายด้วยโลกทั้งปวงดังนี้. ความสังเขปในคาถานี้มีเท่านี้. ส่วน

เมตตาทิกถา ข้าพเจ้าได้กล่าวไว้แล้ว ในอรรถกถาธรรมสังคหะ ชื่ออัฏฐลาลินี.

บทที่เหลือ เป็นเช่นกับนัยก่อนนั่นแล.

อัปปมัญญาคาถาวัณณนา จบบริบูรณ์


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
ผู้ร่วมเดินทาง
วันที่ 30 เม.ย. 2555

ขอบพระคุณและขออนุโมทนาคุณหมอครับ

ขออนุญาตเรียนสอบถามเพิ่มเติมสักนิดนะครับว่า

การเจริญพรหมวิหารธรรมสัมพันธ์กับคาถาที่ว่า

ผู้เดียวเที่ยวไปเหมือนนอแรด อย่างไรครับ

ขอบพระคุณครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
paderm
วันที่ 30 เม.ย. 2555

เรียนความเห็นทืี่ 1 ครับ

พึงเที่ยวไปผู้เดียวเหมือนดังนอแรด นอแรด มีหนึ่งเดียว ไม่มีสอง เหมือนเขา ดังนั้น

การเที่ยวไปเหมือนนอดแรด จึงเป็นการเที่ยวไปด้วยกาย ที่ไม่มีเพื่อนไป แต่ในความ

เป็นจริง อรรถ ลึกซึ้ง คือ การเที่ยวไปเหมือนนอดแรด คือ เที่ยวไปด้วยเพราะไม่มี

กิเลส มีโลภะ เป็นต้น เป็นเพื่อนอีกเลย ดังนั้น พระอรหันต์ทั้งหลาย ท่านไม่มีเพื่อน

คือ กิเลสอีก ท่านก็เที่ยวไปเหมือนนอแรด ไม่มีเพื่อนที่เป็นกิเลส แต่แม้ท่านไม่มี

กิเลส แต่ท่านก็มีจิตที่ดีงามเกิดขึ้นคือ มีเมตตาพรหมวิหาร กรุณา มุทิตา และอุเบกขา

เกิดขึ้นได้ในชีวิตประจำวัน ดังนั้น ขณะที่มีเมตตา กับสัตว์อื่น มีพระปัจเจกพุทธเจ้าที่

ท่านมีเมตตาเกิดขึ้นต่อสัตว์อื่น ท่านก็เที่ยวไปเหมือนนอดแรดด้วย คือ ไม่มีกิเลสที

เ่ป็นเพื่อน และ ท่านก็เมตตาต่อสัตว์ทั้งหลาย แม้ท่านจะเที่ยวไปผู้เดียวด้วยกายและ

จิต ครับ และ เมื่อท่านไม่ได้พบสัตว์ที่มีทุกข์อยู่ต่อหน้า ท่านก็สามารถนึกคิด ถึงความ

ที่สัตว์มีทุกข์เพราะมีกิเลส จึงเกิดความกรุณา เป็นกรุณาพรหมวิหารได้ แม้ท่านจะ

หลีกอยู่ผู้เดียว เพราะฉะนั้น พระอรหันต์ทั้งหลาย มีพระปัจเจกพุทธเจ้า เป็นต้น ท่าน

ก็เกิดจิตที่ดี มีความกรุณา ต่อสรรพสัตว์ทั้งหลาย สงสาร ด้วยจิตที่ดีด้วย ครับดังนั้น

การหลีกออกแต่ผู้เดียวด้วยปัญา ที่เป็นเที่ยวไปเหมือนนอแรด ก็สามารถมี พรหมวิหาร

เกิดได้ในชีวิตประจำวันได้ ครับ ขออนุโมทนาที่ร่วมสนทนา

 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
แก่นไม้หอม
วันที่ 30 เม.ย. 2555

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

ขอขอบพระคุณและขออนุโมทนาในกุศลจิตของคุณหมอเพิ่มสมบัติฯ

ที่นำคาถาที่ ๓๕ นี้ มาลงให้อ่านค่ะ.

 
  ความคิดเห็นที่ 4  
 
aurasa
วันที่ 30 เม.ย. 2555

ขอบคุณ และขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 5  
 
pirmsombat
วันที่ 30 เม.ย. 2555

ขอบพระคุณและอนุโมทนาคุณผู้ร่วมเดินทาง คุณผเดิม คุณแก่นไม้หอม

คุณเซจาน้อย คุณคำปั่น

และ

ทุกท่านครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 6  
 
เซจาน้อย
วันที่ 30 เม.ย. 2555

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาในกุศลจิตของคุณหมอ อ.ผเดิมและทุกๆ ท่านครับ


 
  ความคิดเห็นที่ 7  
 
khampan.a
วันที่ 30 เม.ย. 2555

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

ขออนุญาตร่วมสนทนา ในส่วนของ เมตตา กรุณา มุทิตา และอุเบกขา ครับ

เมตตา ความเป็นมิตร ความเป็นเพื่อน ความหวังดี, กรุณา ความปรารถนาที่จะช่วย

ให้เขาพ้นจากความทุกข์, มุทิตา ความพลอยยินดี เมื่อผู้อื่นได้ดี และ อุเบกขา ความ

เป็นกลางไม่เอนเอียงไปด้วยความรักหรือความชัง มีความเป็นกลางไม่ยินดียินร้าย

พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดงว่า สภาพธรรมทั้ง ๔ ประการเป็นกุศลธรรม

เป็นพรหมวิหารธรรม (ธรรมอันเป็นเครื่องอยู่อย่างประเสริฐ) เป็นธรรมฝ่ายดีที่ควรจะ

อบรมเจริญในชีวิตประจำวัน โดยที่มีเมตตา เป็นเบื้องต้น เพราะเหตุว่า ถ้าไม่มีเมตตา

ไม่มีความเป็นมิตรเป็นเพื่อนแล้วการที่จะช่วยเหลือผู้อื่นให้พ้นจากทุกข์ รวมถึงการที่

จะมีความพลอยยินดีเมื่อผู้อื่นได้รับในสิ่งที่ดี โดยไม่มีความริษยาเลยนั้น ย่อมจะเป็นสิ่ง

ที่เป็นไปไม่ได้

สำหรับกิจของอุเบกขานั้น ได้แก่ ความเป็นกลางในธรรมนั้นๆ คือ เป็นผู้วางตนเป็น

กลาง มีความเป็นไปเสมอ โดยเว้นการยินดียินร้าย คือ ไม่ยินดียินร้าย ดุจตาชั่งที่จับ

ไว้เสมอกัน เวลาที่เห็นใครกระทำผิด เบียดเบียนผู้อื่นให้ได้รับความเดือดร้อน ถ้าเป็น

ผู้ที่ได้อบรมเจริญอุเบกขา ก็จะมีความเป็นกลาง ไม่เอนเอียง จะมีความเข้าใจตามความ

เป็นจริงว่าผู้ที่กระทำในสิ่งที่ไม่ดี ผลที่ไม่ดีก็ย่อมจะเกิดขึ้นแก่บุคคลนั้นอย่างแน่นอน

หรือแม้กระทั่งเวลาที่เขาได้รับในสิ่งที่ดีที่น่าพอใจ ก็จะไม่หวั่นไหว ไม่เอนเอียงไป

ด้วยอำนาจของโลภะความติดข้องยินดีพอใจ

อุเบกขาพรหมวิหาร บางครั้งก็แปลว่า ความวางเฉย แต่ความวางเฉยที่เป็นอุเบกขา

พรหมวิหารนั้น เกิดจากการที่เห็นสัตว์ทั้งหลายมีกรรมเป็นของของตน ไม่ได้หมาย

ความว่าวางเฉย (อยู่เฉย) โดยไม่ให้ช่วยเหลือ แต่ควรช่วยเหลือเท่าที่จะช่วยได้ แต่เมื่อ

ไม่สามารถช่วยเหลือได้มากกว่านี้ ก็มีปัญญาที่เข้าใจว่าสัตว์ทั้งหลายมีกรรมเป็นของ

ของตน เขามีกรรมที่จะต้องได้รับผลอย่างนั้น ดังนั้น กิจหน้าที่ของอุเบกขาพรมหวิหาร

คือความวางเฉย เป็นกลาง ไม่เอนเอียงไปในทางอกุศลทั้งโลภะ โทสะ เป็นต้น

นั่นเอง พระธรรม จึงควรค่าแก่การศึกษาอย่างยิ่งเพื่อความเข้าใจถูก เห็นถูกยิ่งขึ้น และ

เพื่อน้อมประพฤติปฏิบัติในชีวิตประจำวัน ครับ

...ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาในกุศลจิตของคุณหมอและทุกๆ ท่านครับ...

 
  ความคิดเห็นที่ 8  
 
nong
วันที่ 3 พ.ค. 2555

ขออนุโมทนาค่ะ

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ