เว้นสหายผู้ลามก และ คบมิตรผู้เป็นพหูสูตร

 
pirmsombat
วันที่  1 พ.ค. 2555
หมายเลข  21054
อ่าน  1,432

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต เล่ม ๑ ภาค ๕- หน้าที่ 202

คาถาที่ ๒๓

คาถาว่า ปาปํ สหายํ ดังนี้ มีอุบัติอย่างไร?

ได้ยินว่า พระราชาพระองค์หนึ่ง ในกรุงพาราณสี ทรงกระทำ

ประทักษิณพระนครอยู่ ด้วยอานุภาพแห่งพระราชาอันยิ่งใหญ่ ทรงเห็นมนุษย์

ทั้งหลายขนข้าวเปลือกเก่าเป็นต้นออกจากยุ้งฉางไว้ในภายนอก จึงตรัสถาม

อำมาตย์ทั้งหลายว่า ดูก่อนพนาย นี้อะไร? อำมาตย์ทั้งหลายกราบทูลว่า

ข้าแต่มหาราช บัดนี้ ข้าวเปลือกใหม่จักเกิดขึ้น มนุษย์เหล่านี้ จึงทิ้งข้าวเปลือก

เก่า เพื่อทำที่ว่างสำหรับข้าวเปลือกใหม่เหล่านั้น. พระราชาตรัสว่า ดูก่อน

พนาย วัตถุสำหรับนางสนมและพลกายเป็นต้น บริบูรณ์แล้วหรือ?

อ. อย่างนั้น พระมหาราช บริบูรณ์แล้ว.

ร. ดูก่อนพนาย ถ้าอย่างนั้น จงให้สร้างโรงทาน เราจักให้ทาน

อย่าให้ข้าวเปลือกเหล่านี้ เสียไปเปล่าๆ .

ลำดับนั้น อำมาตย์ผู้มิจฉาทิฏฐิคนหนึ่ง ทูลว่า ทานที่ให้แล้วไม่มีผล

พวกพาลและพวกบัณฑิต แล่นไป ท่องเที่ยวไป จักทำที่สุดแห่งทุกข์ได้ ดังนี้

แล้ว ทูลห้ามพระราชานั้น. แม้ครั้งที่ ๒ แม้ครั้งที่ ๓ ท้าวเธอก็ทรงเห็น

คนทั้งหลายยื้อแย่งยุ้งฉาง จึงตรัสสั่งอย่างนั้นเหมือนกัน แม้ครั้งที่ ๓ อำมาตย์

เจ้าทิฏฐินั้น ก็ทูลห้ามพระราชาพระองค์นั้นว่า ข้าแต่มหาราช ทานนี้ คนโง่

บัญญัติไว้ ดังนี้เป็นต้น.

พระองค์ทรงเบื่อหน่ายว่า เราไม่ได้เพื่อให้แม้ของตนเอง เราจะมี

ประโยชน์อะไรกับสหายผู้ลามกเหล่านี้ ทรงสละราชสมบัติ ทรงผนวชแล้ว

ทรงเห็นแจ้งอยู่ ได้กระทำให้แจ้งซึ่งปัจเจกโพธิญาณ และทรงติเตียนสหาย

ผู้ลามกนั้น จึงตรัสอุทานคาถานี้ว่า

ปาปํ สหายํ ปรวชฺชเยถ

อนตฺถทสฺสึ วิสเม นิวิฏฺฐํ

สยํ น เสเว ปสุตํ ปมตฺตํ

เอโก จเร ขคฺควิสาณกปฺโป

กุลบุตรพึงเว้นสหายผู้ลามก ไม่พึง

เสพด้วยตนเอง ซึ่งสหายผู้บอกความฉิบหาย

มิใช่ประโยชน์ ผู้ตั้งอยู่ในกรรมอันไม่เสมอ

ผู้ข้องอยู่ ผู้ประมาท พึงเที่ยวไปผู้เดียว

เหมือนนอแรด ฉะนั้น ดังนี้.

คาถานั้น มีความสังเขปดังนี้ สหายนี้ใด ชื่อว่า ลามก เพราะ

เป็นผู้ประกอบด้วยทิฏฐิ ๑๐ อย่าง ชื่อว่า อนัตถทัสสี เพราะอรรถว่าชี้บอก

ความฉิบหาย แม้แก่คนเหล่าอื่น และตั้งอยู่ในกรรมอันไม่เสมอ มีกายทุจริต

เป็นต้น กุลบุตรผู้ใคร่ประโยชน์ พึงเว้นสหายผู้ลามกนั้น ไม่พึงเสพด้วยตนเอง

ซึ่งสหายผู้ชี้บอกความฉิบหาย ผู้ตั้งอยู่ในกรรมอันไม่เสมอ อธิบายว่า ไม่พึง

คบ ด้วยอำนาจของตนด้วยประการนี้ ก็ถ้าตกอยู่ในอำนาจของคนอื่นไซร้

ตนเองจะอาจทำอะไรได้เล่า.

บทว่า ปสุตํ ได้แก่ ผู้ซ่านไป อธิบายผู้ข้องแล้วในอารมณ์นั้นๆ

ด้วยอำนาจทิฏฐิ. บทว่า ปมตฺตํ ได้แก่ ผู้ปล่อยจิตในกามคุณทั้งหลาย หรือ

ผู้เว้นจากกุศลภาวนา. กุลบุตรไม่พึงเสพ คือ ไม่พึงคบ ไม่พึงเข้าไปใกล้

สหายนั้น คือ ผู้เป็นเช่นนั้น โดยที่แท้ พึงเที่ยวไปผู้เดียว เหมือนนอแรด

ฉะนั้น ดังนี้แล.

ปาปสหายคาถาวัณณนา จบบริบูรณ์


คาถาที่ ๒๔

คาถาว่า พหุสฺสุตํ ดังนี้ มีอุบัติอย่างไร?

ได้ยินว่า ในกาลก่อน ปัจเจกโพธิสัตว์ ๘ องค์ บวชแล้วใน

พระศาสนาของพระผู้มีพระภาคเจ้า พระนามว่า กัสสป บำเพ็ญคตปัจจา-

คตวัตรแล้วเกิดในเทวโลก เรื่องทั้งหมดเป็นเช่นกับที่กล่าวแล้วใน อนวัชช-

โภชิคาถา นั่นแล. ส่วนความแปลกกัน ดังนี้ :-

พระราชาทรงให้พระปัจเจกพุทธเจ้าทั้งหลายนั่งแล้ว จึงตรัสว่า พวก

ท่านชื่อว่าอะไร. พระปัจเจกพุทธเจ้าเหล่านั้นทูลว่า ดูก่อนมหาบพิตร พวก

อาตมาชื่อว่า พหูสูต. พระราชาทรงมีพระราชหฤทัยยินดีว่า เราชื่อว่า

สุตพรหมทัต ย่อมไม่ถึงความอิ่มด้วยสุตะ เอาเถิด เราจักฟังสัทธรรมเทศนา

อันมีนัยวิจิตร ในสำนักของพระปัจเจกพุทธเจ้าเหล่านั้น ดังนี้แล้ว ถวายน้ำ

ทักขิโณทก ทรงอังคาสแล้ว ในที่สุดแห่งภัตกิจ ทรงรับบาตรของพระสังฆเถระ

ทรงไหว้ ประทับนั่งข้างหน้า ด้วยพระดำรัสว่า ข้าแต่ท่านผู้เจริญ ขอท่าน

จงแสดงธรรมกถาเถิด. พระปัจเจกพุทธเจ้านั้นทูลว่า มหาบพิตร ขอมหาราช

จงมีความสุข จงสิ้นราคะเถิด แล้วลุกไป. พระราชาทรงพระราชดำริว่า

พระปัจเจกพุทธเจ้าองค์นี้ ไม่ใช่พหูสูต องค์ที่ ๒ จักเป็นพหูสูต จึงทรง

นิมนต์เพื่อฉันในพรุ่งนี้ ด้วยพระราชดำริว่า เราจักฟังพระธรรมเทศนาอัน

วิจิตรในวันพรุ่งนี้ พระองค์ทรงนิมนต์พระปัจเจกพุทธเจ้าทั้งหมดจนถึงลำดับ

องค์สุดท้าย ด้วยประการอย่างนี้. พระปัจเจกพุทธเจ้าเหล่านั้นแม้ทั้งหมด

แสดงบทหนึ่งให้แปลกกันแล้วกล่าวบทที่เหลือเป็นเช่นกันบทต้นว่า ขอพระ-

มหาราชจงสิ้นโทสะ จงสิ้นโมหะ จงสิ้นคติ จงสิ้นวัฏฏะ จงสิ้นอุปธิ จงสิ้น

ตัณหา ดังนี้แล้ว จึงลุกไป.

ลำดับนั้น พระราชาทรงพระราชดำริว่า พระปัจเจกพุทธเจ้าเหล่านี้

กล่าวว่า พวกอาตมาเป็นพหูสูต แต่พระปัจเจกพุทธเจ้าเหล่านั้น ไม่มีกถา

อันวิจิตรเลย คำที่พระปัจเจกพุทธเจ้าเหล่านั้นกล่าวแล้วจะมีประโยชน์อะไร

ทรงปรารภแล้ว เพื่อทรงพิจารณาอรรถแห่งถ้อยคำของพระปัจเจกพุทธเจ้า

เหล่านั้น ครั้นทรงพิจารณาอยู่ว่า จงสิ้นราคะ ดังนี้ ก็ทรงทราบว่า เมื่อราคะ

สิ้นแล้ว โทสะก็ดี โมหะก็ดี กิเลสทั้งหลายอื่นก็ดี ย่อมเป็นอันสิ้นแล้วด้วย

จึงทรงพอพระราชหฤทัยว่า พระสมณะเหล่านี้เป็นพหูสูตโดยตรง เปรียบ

เหมือนบุรุษชี้แสดงแผ่นดินใหญ่ หรืออากาศ ด้วยนิ้วมือ ก็ไม่เป็นอันชี้แสดง

ประเทศสักนิ้วมือเลย แต่ความจริงแล เป็นอันชี้แสดงแผ่นดินและอากาศ

เหมือนกัน ฉันใด พระสมณะเหล่านี้ เมื่อชี้แสดงอรรถองค์ละข้อก็เป็นอัน

ชี้แสดงอรรถอันหาปริมาณไม่ได้ ฉันนั้น. แต่นั้นท้าวเธอทรงปรารถนาอยู่

ซึ่งความเป็นพหูสูต เห็นปานนั้นว่า ชื่อในกาลไหนหนอ แม้เราจักเป็น

พหูสูตอย่างนี้ ทรงสละราชสมบัติ ผนวชแล้วเห็นแจ้งอยู่ ได้ทำให้แจ้งซึ่ง

ปัจเจกโพธิญาณแล้ว ตรัสอุทานคาถานี้ว่า

พหุสฺสุตํ ธมฺมธรํ ภเชถ

มิตฺตํ อุฬารํ ปฏิภาณวนฺตํ

อญฺญาย อตฺถานิ วิเนยฺย กงฺขํ

เอโก จเร ขคฺควิสาณกปฺโป

บุคคลพึงคบมิตรผู้เป็นพหูสูต ทรง-

ธรรม ผู้ยิ่งด้วยคุณธรรม มีปฏิภาณ รู้จัก

ประโยชน์ทั้งหลาย กำจัดความสงสัยได้แล้ว

พึงเที่ยวไปผู้เดียว เหมือนนอแรด ฉะนั้นดังนี้.

ในคาถานั้น มีเนื้อความโดยย่อดังนี้ บทว่า พหุสฺสุตํ ความว่า

มิตรผู้พหูสูตมี ๒ อย่างคือ ผู้พหูสูตทางปริยัติ เชี่ยวชาญโดยเนื้อความ

ในไตรปิฎก ๑ ผู้พหูสูตทางปฏิเวธ เพราะความที่มรรค ผล วิชชา และ

อภิญญาอันตนแทงตลอดแล้ว ๑. ผู้มีอาคมมาแล้ว ชื่อว่า ผู้ทรงธรรม ก็ผู้

ประกอบพร้อมด้วยกายกรรม วจีกรรม และมโนกรรมอันยิ่ง ชื่อว่า ผู้ยิ่ง

ด้วยคุณธรรม ผู้มียุตตปฏิภาณ ๑ ผู้มีมุตตปฏิภาณ ๑ ผู้มียุตตมุตตปฏิภาณ ๑

ชื่อว่า มีปฏิภาณ พึงทราบผู้มีปฏิภาณ ๓ อย่าง ด้วยอำนาจแห่งปริยัติปฏิภาณ

ปริปุจฉาปฏิภาณ และอธิคมนปฏิภาณ.

จริงอยู่ ปริยัติย่อมแจ่มแจ้งแก่มิตรใด มิตรนั้นชื่อว่า ปริยัติปฏิภาณ

การสอบถามย่อมแจ่มแจ้งแก่มิตรใด ผู้สอบถามอรรถ ญาณ ลักษณะ และ

ฐานาฐานะ มิตรนั้นชื่อว่า ปริปุจฉาปฏิภาณ ธรรมมีมรรคเป็นต้นอันมิตรใด

แทงตลอดแล้ว มิตรนั้นชื่อว่า ปฏิเวธปฏิภาณ บุคคลพึงคบมิตรผู้เป็นพหูสูต

ทรงธรรม ผู้ยิ่งด้วยคุณธรรม มีปฏิภาณนั้นคือมีรูปเห็นปานนั้น แต่นั้นรู้จัก

ประโยชน์ทั้งหลายมีอเนกประการ โดยต่างด้วยประโยชน์ตน ประโยชน์คนอื่น

และประโยชน์ทั้งสอง หรือโดยต่างด้วยทิฏฐธัมมิกประโยชน์ สัมปรายิกประ-

โยชน์ และปรมัตถประโยชน์ ด้วยอานุภาพแห่งมิตรนั้น แต่นั้น กำจัดความ

สงสัยได้แล้ว ในฐานะเป็นที่ตั้งแห่งความสงสัยทั้งหลาย มีอาทิว่า ในอดีตกาล

เราได้มีแล้วหรือหนอ ดังนี้แล้ว นำออกไปซึ่งความเคลือบแคลง ให้หมดไป

มีกิจทั้งปวงอันทำแล้วอย่างนี้ พึงเที่ยวไปผู้เดียว เหมือนนอแรด ฉะนั้นแล.

พหุสุตคาถาวัณณนา จบบริบูรณ์


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
kinder
วันที่ 1 พ.ค. 2555

ขออนุโมทนาครับ

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ