มีพระธรรมบทใดเกี่ยวข้องกับการรวมกลุ่มของบุคคลหรือไม่ครับ?

 
peeraphon
วันที่  3 พ.ค. 2555
หมายเลข  21068
อ่าน  3,021

เคยได้ยินว่า มีพระธรรมบทนี้อยู่ด้วย ว่าด้วยเรื่องการอยู่รวมกันของ ผู้ที่คิดเหมือนกัน ชอบสิ่งเดียวกัน จึงมาอยู่รวมกัน อยากอ่านพระธรรมบทที่ว่านี้เพิ่มเติมครับ

รบกวน อาจารย์ทุกท่านแนะนำด้วยครับ

ขอบพระคุณและขออนุโมทนาครับ


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
paderm
วันที่ 4 พ.ค. 2555

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

พระพุทธเจ้าทรงแสดงครับว่า สัตว์ทั้งหลาย ย่อมคบค้า สมาคมอยู่ร่วมกัน ตามธาตุตามอัธยาศัย หรือ นิสัยที่เหมือนกัน สัตว์ที่มีธาตุเลว (จิต เจตสิก) อัธยาศัยเลว นิสัยไม่ดี สัตว์ทั้งหลายเหล่านั้นก็จะรวมกลุ่มกัน คบกัน เป็นพวกเดียวกัน ตามนิสัยที่เหมือนกัน สัตว์ที่มีธาตุดี อัธยาศัยดี นิสัยดี สัตว์เหล่านั้นก็จะคบค้า สมาคมกัน รวมกลุ่มกันเป็นพวกเดียวกัน

ซึ่งอรรถกถาอธิบายเพิ่มเติมครับว่า พวกนิสัยไม่ดี ก็จะมีคบค้า สมาคมกับคนที่นิสัยไม่ดี คนที่นิสัยดี ก็จะไม่คบค้า สมาคมกับคนที่นิสัยไม่ดี แต่ต่างก็ไปคบกันตามที่นิสัย การสะสมมาที่เหมือนกัน ครับ

ดังเช่น ในจังกมสูตร พระพุทธเจ้าทรงแสดงเรื่องสัตว์ทั้งหลายคบกันเพราะนิสัยเหมือนกัน ธาตุเหมือนกัน ครับ

ในครั้งนั้น ท่านพระสารีบุตรจงกรมอยู่ด้วยกันกับภิกษุหลายรูปในที่ไม่ไกลพระผู้มีพระภาคเจ้า ท่านพระมหาโมคคัลลานะก็จงกรมอยู่ด้วยกันกับภิกษุหลายรูปในที่ไม่ไกลพระผู้มีพระภาคเจ้า ท่านพระมหากัสสปก็จงกรมอยู่ด้วยกันกับภิกษุหลายรูปในที่ไม่ไกลพระผู้มีพระภาคเจ้า ท่านพระอนุรุทธก็จงกรมอยู่ด้วยกันกับภิกษุหลายรูปในที่ไม่ไกลพระผู้มีพระภาคเจ้า ท่านพระปุณณมันตานีบุตรก็จงกรมอยู่ด้วยกันกับภิกษุหลายรูปในที่ไม่ไกลพระผู้มีพระภาคเจ้า ท่านพระอุบาลีก็จงกรมอยู่ด้วยกันกับภิกษุหลายรูปในที่ไม่ไกลพระผู้มีพระภาคเจ้า ท่านพระอานนท์ก็จงกรมอยู่ด้วยกันกับภิกษุหลาบรูปในที่ไม่ไกลพระผู้มีพระภาคเจ้า แม้พระเทวทัตก็จงกรมอยู่ด้วยกันกับภิกษุหลายรูปในที่ไม่ไกลพระผู้มีฃพระภาคเจ้า.

พระพุทธเจ้าได้ตรัสกับภิกษุทั้งหลายว่า ภิกษุที่จงกรมกับสารีบุตร ล้วนมีปัญญามาก ภิกษุที่จงกรมกับโมคคัลลานะ ล้วนมีฤทธิ์มาก ภิกษุที่จงกรมกับอานนท์ ล้วนเป็นพหูสูต ภิกษุที่จงกรมกับเทวทัต ล้วนเป็นผู้ที่มีความปรารถนาลามก

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย สัตว์ทั้งหลายย่อมคบค้ากัน ย่อมสมาคมกัน โดยธาตุเทียว คือสัตว์จำพวกที่มีอัธยาศัยเลว ย่อมคบค้ากันย่อมสมาคมกันกับสัตว์จำพวกที่มีอัธยาศัยเลว สัตว์จำพวกที่มีอัธยาศัยดีย่อมคบค้ากัน ย่อมสมาคมกันกับสัตว์จำพวกที่มีอัธยาศัยดี

เชิญคลิกอ่านเต็มๆ ได้ที่นี่ ... สัตว์คบกันโดยนิสัย [จังกมสูตร]

อีกเรื่องหนึ่งที่แสดงถึงการคบค้า สมาคมกันตามนิสัยที่เหมือนกัน เรื่องนี้อยู่ในชาดก

สุหนุชาดก

เรื่องมีอยู่ว่า มีภิกษุรูปหนึ่งที่พระวิหารเชตวัน เป็นผู้ดุร้าย หยาบคายมาก และก็มีภิกษุรูปหนึ่ง อยู่ที่ชนบทเป็นผู้ดุร้าย หยาบคายเช่นกัน วันหนึ่งภิกษุผู้ดุร้ายที่อยู่ชนบทประสงค์จะทำกิจบางอย่างที่พระเชตวัน จึงเดินทางมาพระเชตวัน ภิกษุทั้งหลายทราบข่าว จึงส่งภิกษุดุร้ายที่อยู่พระเชตวันไปต้อนรับ และให้เจอกัน และภิกษุทั้งหลายก็คิดกันว่า ภิกษุสองรูปนี้ที่ดุร้ายด้วยกันทั้งคู่ คงทะเลาะกันแน่นอน ปรากฎว่าเมื่อทั้งสองเจอกัน ต่างแสดงความรัก ความสามัคคี ต่างนวดเท้าให้กันและกัน พระพุทธเจ้าทรงตรัสว่า ไม่ใช่ในบัดนี้เท่านั้น ที่ภิกษุเลวสองรูปสามัคคีกัน แม้ในอดีตแม้เกิดเป็นสัตว์เดรัจฉาน ก็รักกัน สามัคคีกัน เพราะสัตว์ทั้งหลาย ต่างคบค้า สมาคม รวมกัน ตามนิสัยที่เหมือนกัน พระองค์ทรงเล่าเรื่องในอดีตกาลว่า

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
paderm
วันที่ 4 พ.ค. 2555

พระโพธิสัตว์เกิดเป็นอำมาตย์ของพระราชา พระราชาครั้งนั้นเป็นผู้มีนิสัยโลภ จะมีพ่อค้านำม้ามาขายให้พระราชา พระราชามีม้าโกง นิสัยไม่ดี ชื่อ มหาโสณะ เมื่อพ่อค้าม้า นำม้ามา พระราชาจะปล่อยม้าโกง มหาโสณะออกไป และก็ไปกัด ทำร้ายม้าอื่น ให้มีแผล และ พระราชา ก็กดราคาม้าเหล่านั้นให้ถูก พ่อค้าม้าโดนบ่อยๆ ไม่ชอบใจ จึงไปบอกพระโพธิสัตว์ ผู้เป็นอำมาตย์ พระโพธิสัตว์แนะวิธีว่า ท่านมีม้าโกง ม้านิสัยไ่ม่ดี บ้างไหม พ่อค้ากล่าวว่ามี พระโพธิสัตว์จึงให้นำม้าโกงตัวนั้นมา ที่ชื่อว่า สุหนุ เมื่อ พระราชาปล่อยม้า มหาโสณะออกมา พวกท่านจงปล่อย ม้าสหนุ ที่ดุร้าย นิสัยไม่ดีออกมา เมื่อถึงเวลาค้าม้า พระราชาได้ปล่อยม้ามหาโสณะที่ดุร้ายออกมา พ่อค้าม้าก็ปล่อยม้าสุหนุออกมาเช่นกัน เมื่อม้าทั้งสองที่ดุร้ายทั้งคู่ แทนที่จะกัดกัน ทะเลาะกน กับเลียกัน สามัคคีกัน พระโพธิสัตว์ได้ตรัสคาถาว่า

[๑๖๕] การที่ม้าโกงสุหนุกระทำความรักกับม้าโสณะนี้ ย่อมมีด้วยปกติที่ไม่เสมอกันก็หามิได้ ม้าโสณะเป็นเช่นใด แม้ม้าสุหนุก็เป็นเช่นนั้น ม้าโสณะมีความประพฤติเช่นใด ม้าสุหนุก็มีความประพฤติเช่นนั้น

[๑๖๖] ม้าทั้งสองนั้น ย่อมเสมอกันด้วยการวิ่งไปด้วยความคะนอง และด้วยกัดเชือกที่ล่ามอยู่เป็นนิจ ความชั่วย่อมสมกับความชั่ว ความไม่ดีย่อมสมกับความไม่ดี.


- จะเห็นนะครับว่า สัตว์ทั้งหลาย ย่อมคบค้า สมาคม คุ้นเคยกัน สนิมกัน ก็ตามนิสัยที่เหมือนกัน พวกที่นิสัยดี ก็ย่อมคบกับ คนที่นิสัยดี แต่จะไม่ยอมไปคบ รวมกลุ่มกับคนนิสัยไม่ดี ส่วนผู้ที่นิสัยไม่ดี ก็ย่อมรวมกลุ่ม คบหากันกับผู้ที่นิสัยไม่ดี แต่จะไม่คบไม่ไปคุ้นเคยกับคนที่นิสัยดี ครับ ดังนั้น ในชีวิตประจำวัน ก็เป็นเครื่องเตือนเสมอว่า การคบค้ากัน สนิทกันของแต่ละคน แต่ละกลุ่ม ก็เป็นไปตามเหตุปัจจัย คือ มีเหตุเสมอ มีเหตุคือ สะสมมาเหมือนกันๆ เช่น การที่รู้สึกชอบคนนี้ อยากคบหากับคนนี้ หรือเห็นว่าคนนี้เป็นเพื่อนเรา มีอะไรก็จะคอยช่วย นั่นก็แสดงถึง การสะสมมาของทั้สองคนนั้นเหมือนกันที่มีธาตุ นิสัย เหมือนกัน แต่อย่างไรก็ตาม ผู้ที่มีปัญญา เป็นบัณฑิต เป็นผู้ที่มีอัธยาศัยดี ย่อมไม่คบค้า สมาคมกับคนที่นิสัยไม่ดี นั่นคือ ไม่คบกับอกุศลธรรม ส่วนผู้ที่มีนิสัยไม่ดี ก็จะชอบ รู้สึกคุ้นเคยกับ บุคคลบางคน ซึ่งก็เป็นผู้มีอัธยาศัยอย่างนั้นคือนิสัยไม่ดีเช่นกัน การชอบ การอยากคบ ทุกอย่างจึงมีเหตุด้วยกันทั้งนั้น ครับ

ที่สำคัญ การฟังพระธรรม ศึกษาพระธรรม ชื่อว่า กำลังสะสมอัธยาศัยที่ดี สะสมปัญญา ทำให้เป็นผู้ห่างจากผู้ที่เห็นผิด หรือ ความเห็นผิด และ ห่างจากอกุศธรรม แต่เสพคุ้นกับกุศลธรรม ซึ่งในความเป็นจริง ไม่มีสัตว์ บุคคลให้คบค้า มีแต่ จิต เจตสิกที่เกิดขึ้น เพราะฉะนั้น ในแต่ละวันก็แสดงถึงว่า โดยมาก คบค้า สมาคม สนิมสนมกับอะไร กับ อกุศล หรือ กุศล การได้ฟังพระธรรม ย่อมเป็นเหตุปัจจัยให้กุศลเจริญที่เกิดขึ้นในจิตใจ ให้คบค้า สมาคมกับสิ่งที่ดี ที่เป็นมิตร คือ กุศลธรรมที่เกิดขึ้น และย่อมละ ไม่คบค้า สมาคม กับ สิ่งที่ไม่ดี คือ อกุศลธรรม และ ปัญญาที่เกิดขึ้น ปัญญานี้เองที่เป็นธรรมที่ควรเสพคุ้น ควรคบค้าสมาคมเพราะนำมาซึ่งประโยชน์ คือ การละกิเลสที่นำมาซึ่งโทษและทุกข์ได้ครับ ด้วยการเสพคุ้น คือ การฟังพระธรรม ศึกษาพระธรรมครับ

ขออนุโมทนาที่ร่วมสนทนา

 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
peeraphon
วันที่ 4 พ.ค. 2555

กราบขอบพระคุณ และ ขออนุโมทนา ครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 4  
 
khampan.a
วันที่ 4 พ.ค. 2555

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

การคบค้าสมาคมกับบุคคลอื่น เป็นไปตามการะสมของแต่ละบุคคลจริงๆ พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ทรงสรรเสริญการคบค้าสมาคมกับมิตรดี หรือ กัลยาณมิตร ซึ่งแสดงให้เห็นว่า การมีมิตรดี เพื่อนดี เป็นทั้งหมดของพรหมจรรย์ เพราะทำให้เรามีความเข้าใจถูก เห็นถูกในสภาพธรรมตามความเป็นจริง จนกระทั่งสามารถบรรลุมรรคผลได้ ดังนั้น การคบค้า สมาคมกับผู้อื่น จึงเป็นสิ่งที่สำคัญ เป็นเครื่องส่องให้เห็นความเจริญหรือความเสื่อมในชีวิตได้ เพราะถ้าคบเพื่อนดี เพื่อนดีย่อมนำไปสู่ความเจริญ ถ้าคบเพื่อนชั่ว เพื่อนชั่วย่อมนำไปสู่ความเสื่อม บางคนในชีวิต หามิตรแท้คนเดียว ยังยาก หรือบางคนอาจจะมีเพื่อนมาก แต่ถ้าคนเหล่านั้นไม่มีความเป็นเป็นมิตรที่คอยเกื้อกูลในด้านใดๆ เลย ย่อมไม่เป็นการดี เทียบกับการมีมิตรแท้เพียงคนเดียวไม่ได้เลย แต่อย่างไรก็ตาม สิ่งที่ไม่ควรลืม นั่นก็คือ ไม่ต้องหาความเป็นมิตรแท้จากบุคคลอื่น (แต่) หาได้ที่ตัวเราเองคือ เราพร้อมที่จะมีความเป็นมิตรมีความหวังดีต่อผู้อื่นได้ทุกเมื่อ นั่นเอง เมื่อเราเป็นมิตรกับทุกคน ย่อมไม่ทุกข์ใจ ย่อมไม่เดือดร้อนแม้บุคคลอื่นจะมีพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมอย่างไรก็ตาม ครับ.

...ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ...

 
  ความคิดเห็นที่ 5  
 
wannee.s
วันที่ 4 พ.ค. 2555

ในพระไตรปิฏกแสดงไว้ พระพุทธเจ้าเปรียบเหมือนมหาสมุทร ไม่อยู่ร่วมกับซากศพ ซากศพจะถูกคลื่นซัดขึ้นฝั่ง ธรรมวินัยนี้ก็เหมือนกัน ภิกษุที่มีศีล มีคุณธรรม จะไม่อยู่ร่วมกับภิกษุทุศีล ภิกษุที่ทุศีลก็จะถูกขับไล่ไป ค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 6  
 
เซจาน้อย
วันที่ 4 พ.ค. 2555

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

" ปัญญานี้เองที่เป็นธรรมที่ควรเสพคุ้น "

ควรคบค้าสมาคมเพราะนำมาซึ่งประโยชน์ คือ การละกิเลส

ที่นำมาซึ่งโทษและทุกข์ได้ครับ ด้วยการเสพคุ้น คือ การฟังพระธรรม ศึกษาพระธรรม

สัตว์ทั้งหลาย ย่อมคบค้า สมาคม คุ้นเคยกัน สนิทกัน

เป็นไปตามการสะสมของแต่ละบุคคลโดยความเป็นธาตุที่เหมือนกัน

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 7  
 
kinder
วันที่ 6 พ.ค. 2555

ขออนุโมทนาครับ

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ